บทความนี้ เป็นบทความตอนที่ 2 ที่เขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามว่า “ควรให้ลูกเรียนหนังสือที่โรงเรียนไหนดี?” ในบทความแรก ผู้เขียนแนะนำ “วิธีการจัดการเรียนรู้” ที่เรียกว่า “เรกจิโอ เอมิเลีย” วันนี้ ผู้เขียนจึงขอนำวิธีการจัดการเรียนรู้อีกแนวทางหนึ่ง มาแนะนำให้รู้จักกันครับ แนวทางนี้เรียกว่า “ไฮ/สโคป”
ไฮ/สโคป เป็นวิธีจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ที่ฝึกให้เด็กรู้จักวางแผน ลงมือทำ แล้วเล่าสรุปสิ่งที่ได้ทำ โดย คีย์เวิร์ดของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป คือ plan/do/review (วางแผน/ลงมือทำ/เล่าออกมา)
วิธีการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป มีแนวทางคร่าว ๆ คือ
1.ครูเตรียมกิจกรรมโดยแบ่งเป็นกิจกรรมโต๊ะ ๆ แต่ละโต๊ะมีครูคอยดูแล 1 คน เช่น กิจกรรมปั้น กิจกรรมวาดสีน้ำ วาดสีไม้ กิจกรรมพับ กิจกรรมตัด ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน (จะเห็นว่าในการจัดการเรียนรู้ ครูจะทำงานกันเป็นทีม)
2. ครูรวมเด็กให้มานั่งเป็นครึ่งวงกลมที่หน้าห้อง ครูชวนคุยชวนคิด แล้วให้เด็กแต่ละคนคิดวางแผนเพื่อเลือกสิ่งที่ตนเองสนใจอยากทำ ซึ่งเมื่อเด็กคิดเสร็จแล้ว เด็กจะนำเอาบัตรที่มีชื่อของตัวเอง มาใส่ในช่องของกิจกรรมที่กระดาน (ดังรูป)
3. จากนั้น เด็กแต่ละคนแยกย้ายไปทำกิจกรรมตามโต๊ะ โดยมีครูคอยอำนวนความสะดวกและสังเกตการณ์
4. เมื่อทำเสร็จ เด็กจะเดินกลับมาหาครูที่หน้าห้อง เพื่อคิดและวางแผนเลือกทำกิจกรรมที่สนใจอื่น ๆ ต่อไป
5. เด็ก ๆ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามขั้นตอนเหล่านี้ไปจนครบเวลา
6. ตอนท้ายชั่วโมง ครูรวมเด็กให้นั่งเป็นครึ่งวงกลม แล้วให้เด็กรีวิวหรือเล่าสิ่งที่ได้ทำในวันนี้
7. กิจกรรมที่เด็กเลือกทำ อาจไม่ครบทุกโต๊ะ ซึ่งครูที่อยู่กลางห้องจะบันทึกข้อมูลไว้ ทำให้ครูรู้ว่าเด็กแต่ละคนสนใจอะไร ทำกิจกรรมช้าหรือเร็ว และควรเพิ่มกิจกรรมเสริมทักษะด้านไหนให้เด็กคนนั้น ๆ
8. ไฮ/สโคปเป็นหลักสูตรจากอเมริกาที่มีลิขสิทธิ์ ครูต้องผ่านการฝึกจากสถาบัน จึงจะสอนได้ และต้องจ่ายค่านำหลักสูตรมาใช้
9. จากการสังเกต เด็กๆที่เรียนไฮ/สโคป จะมีลักษณะที่กระตือรือล้น สดใส และกล้าตัดสินใจ แต่ก็รักษากติกาได้ดี
มาดูคลิปกันนะครับ
ข้อคิด : “วิธีการจัดการเรียนรู้” แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่ในการเลือกวิธีการที่เหมาะสมให้แก่ลูก ๆ เช่น ถ้าอยากให้ลูกกล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีความเป็นผู้นำ แต่ก็รับฟังผู้อื่นแนวทางไฮ/สโคปก็จะเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่น่าจะเหมาะกับความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่
นอกจากนี้ ถ้าการศึกษาในระดับอื่น ๆ เช่น ในระดับประถม มัธยม หรือ มหาวิทยาลัย มีการนำแนวทางนี้มาปรับใช้ ก็อาจทำให้เกิดวิธีการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ในการสร้างบุคลากรที่มีภาวะผู้นำ ที่สามารถคิดและกำหนดแนวทางชีวิตของตนได้ดีขึ้น ทั้งยังอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ด้วยการรับฟังกันและกัน
(นำบุญ เรียบเรียง)