คนที่คิดว่ารู้จักสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ (Twitter) ดีแล้ว ลองอ่านบทความนี้ แล้วชวนลูกหลานมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ บางทีอาจมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์บ้างครับ
นับตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงปัจจุบัน เราไม่ต้องพึ่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ หรือสื่อใด ๆ คัดกรองข่าวสาร ก่อนที่จะนำเสนอข่าวให้เราได้รับรู้ เพราะเดี๋ยวนี้ ข่าวสารสารพัด ทั้งในรูปแบบของข้อความ ภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ จะพุ่งเข้าสู่โทรศัพท์มือถือของเราและลูก ๆ ได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง เรื่องปลอม เรื่องที่มีประโยชน์ หรือเรื่องที่มีพิษภัย วันนี้ ผู้เขียนขอพูดถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Twitter ซึ่งโดดเด่นในแง่ความกระชับฉับไว สามารถโพสต์ภาพได้ โพสต์คลิปวิดีโอสั้น ๆ ได้ และสามารถแชร์ต่อ ๆ กันได้ (ที่เรียกว่า Re-tweet) ซึ่งทำให้สิ่งที่ถูกโพสต์ แพร่กระจายไปในเครือข่ายออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว แต่คุณ ๆ รู้ไหมว่า นอกจาก Twitter จะเป็นช่องทางในการส่งข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แล้ว Twitter ยังมีแง่มุมอันตรายที่คุณ ๆ อาจคิดไม่ถึง ดังต่อไปนี้
โรงหนังโป๊ 24 ชั่วโมง
ทันทีที่คุณให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ และลูกเริ่มใช้ Twitter คุณทราบไหมว่า ลูกของคุณมีโอกาสในการชมคลิปวิดีโอโป๊ทุกรูปแบบ ที่ผู้เล่น Twitter ถ่ายตัวเองขณะมีกิจกรรม คลิปหลุด หรือนำคลิปจากภาพยนตร์โป๊ต่าง ๆ มาเผยแพร่ลงใน Twitter และมีการ Re-tweet ต่อ ๆ กันจนมาถึงหน้าจอโทรศัพท์ของลูกเราได้อย่างไม่ยากนัก คลิปโป๊เหล่านี้มีความยาวไม่เกิน 140 วินาที มีตั้งแต่ระดับวาบหวิว รุนแรง จนถึงระดับวิตถาร คำถามที่น่าสนใจคือ คุณรู้ไหมว่ามีสิ่งนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือของลูก? และ ลูกของคุณรู้ไหมว่า คลิปวิดีโอโป๊ที่พวกเขาดูอยู่นั้น ไม่ใช่พฤติกรรมปกติ ที่มนุษย์ทั่วไปพึงกระทำ โดยเฉพาะการนำเสนอกิจกรรมดังกล่าวสู่สาธารณะ
ทัศนคติที่บิดเบี้ยว
นอกจากการนำเสนอคลิปโป๊แล้ว สิ่งที่ปรากฏใน Twitter และน่าวิตกมากกว่าก็คือ การปลูกฝังทัศนคติที่ผิดเพี้ยนให้เกิดขึ้นในใจผู้ชม คุณ ๆ ที่เคยเข้าไปในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ Twitter น่าจะเคยเห็นข้อความในลักษณะที่ว่า “ทุกคนมีด้านมืด ดังนั้น การลงคลิปโป๊ การใช้คำหยาบคาย และการแสดงด้านมืดออกมาในสื่อ จึงเป็นเรื่องปกติ” หรือคำพูดที่ว่า “สังคมไม่ควรมี กบว. มาเซ็นเซอร์ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ มีสติปัญญา มีวิจารณญาณ ในการเลือกรับข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตัวเอง”
เรื่องทุกคนมีด้านมืด เป็นคำพูดที่ไม่ผิด แต่สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ ไม่ใช่การกระทำตามกิเลส หรือสนับสนุนคนอื่นให้เดินลงทางต่ำ แต่สิ่งที่พึงกระทำ คือการพยายามปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้ตนเองเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น และหักห้ามใจตนเองไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดี ที่เรียกว่าด้านมืด (แต่ใน Twitter เสมือนแนะนำไปอีกทาง ซึ่งอันตราย)
ผู้ที่ลงคลิปโป๊ทั้งหลายใน Twitter อาจไม่รู้ว่า สิ่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล คือ ความล้ำสมัย ที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้งาน ตำแหน่งที่อยู่ และข้อมูลที่เขาเหล่านั้นใช้สื่อดิจิทัลอื่น ๆ แล้วประมวลผล จนค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมาได้ (แม้จะใช้ชื่อปลอมในการเปิดบัญชี Twitter ก็ตาม) ดังจะเห็นได้จาก เมื่อเรา search ข้อมูลท่องเที่ยวในบางประเทศ ไม่นานนัก เราจะเห็นโฆษณาสายการบินที่ไปประเทศนั้น ๆ ปรากฏขึ้นที่หน้าจอของเรา ซึ่งเป็นเพราะระบบฐานข้อมูลออนไลน์มีการเชื่อมโยงกันนั่นเอง และหากลูกของเราดูหรือโพสต์คลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสมลงในสื่อออนไลน์ แม้จะอำพรางชื่อและหน้าตา แต่วันหนึ่ง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาถึงจุดหนึ่ง เมื่อถึงเวลา ด้านมืดเหล่านี้ก็จะถูกเปิดเผย และมันอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานและชีวิตของลูกของเราได้ในที่สุด (นี่คือสิ่งที่เด็กหลายคนยังไม่รู้ และเมื่อรู้แล้ว เด็ก ๆ คิดว่าตนเองรับมือต่อผลที่จะเกิดขึ้นไหวไหม?)
ส่วนเรื่องสังคมไม่ควรมีกบว. เพราะทุกคนคิดเองได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งในยุคดิจิทัล แม้จะมีหน่วยงานเซนเซอร์ แต่ในความจริง ก็ไม่สามารถต้านทานพลังของสื่อดิจิทัลที่เข้าถึงผู้คนได้อยู่ดี ความรับผิดชอบของผู้เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อ และบทลงโทษที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ควรมีการพูดคุยให้เกิดข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน
คนแปลกหน้าที่ฉันเชื่อถือ!
เรื่องที่น่าตกใจอีกอย่างสำหรับสื่อออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้ง Twitter คือ แม้ในชีวิตจริง เรามักไม่เชื่อถือคนแปลกหน้า แต่สำหรับสื่อออนไลน์นั้น ความใกล้ชิดที่เกิดจากการใช้งานสื่อออนไลน์อยู่เกือบตลอดเวลา ผนวกกับการได้เห็นภาพหล่อ ๆ สวย ๆ และได้อ่าน “ความคิด” ของบุคคลต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ จนเกิดเป็น “ภาพในใจ” หรือ “ตัวตน” ของบุคคลเหล่านั้น ทำให้เรา “ยอมรับและเชื่อถือ” คนแปลกหน้าคนนั้นราวกับรู้จักเขาเป็นอย่างดี เมื่อใจของเราเปิดรับคนแปลกหน้าที่เรารู้สึกคุ้นเคย เราจึงมีแนวโน้มที่จะฟังและคล้อยตามสิ่งที่เขาพูดหรือนำเสนอ
คำถามที่น่าสนใจคือ เราและลูกของเรารู้จักบุคคลที่กำลังสื่อสารกับเราผ่านสื่อออนไลน์นั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน? วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ฐานะระดับเศรษฐี หน้าตาที่สวยหล่อไม่แพ้ดารา ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิสารพัด ยืนยันได้ไหมว่า เขามีจิตใจที่เป็นปกติ? ไม่ได้มีปมปัญหาในจิตใจ? ภาพที่ดูยิ้มแย้ม นั่นแสดงว่าเขาอารมณ์ดีตลอดเวลา หรือเขาเลือกภาพที่เขาดูดีมาให้เราดู? และ เรากำลังเชื่อคนแปลกหน้าที่เรารู้จักเขาเพียงแค่บางมุม หรือ เรากำลังเชื่อคนที่เรารู้จักอย่างแท้จริงในชีวิตจริง ๆ กันแน่ (คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ เราควรชวนคนในครอบครัวพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน)
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำร่วมกับลูก ๆ
เมื่อเราได้เห็นภัยที่ซ่อนอยู่ในโทรศัพท์มือถือของลูก คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจตกใจ และคิดจะห้ามไม่ให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถืออีก แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า ในยุคดิจิทัล การห้ามไม่ช่วยอะไรเลยครับ แต่การลดความเป็นพ่อเป็นแม่ แล้วเพิ่มความเป็นเพื่อน น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยเหลือลูกให้ปลอดภัยจากสื่อออนไลน์ได้มากกว่า
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตือนตัวเองเสมอ คือ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นความรู้ใหม่ ที่เรากับลูก ๆ ถือว่าเริ่มเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน คุณพ่อคุณแม่อาจมีประสบการณ์ในชีวิตมากกว่า จึงอาจให้มุมมองในชีวิตจริงแก่ลูก ๆ ได้ ส่วนลูก ๆ อาจมีความคุ้นเคยในการใช้งานสื่อดิจิทัลที่มากกว่า จึงอาจให้มุมมองที่เกี่ยวกับโลกออนไลน์ให้พ่อแม่ได้เช่นกัน เมื่อเราเปิดหัวใจรับฟังกัน มีอะไรก็ปรึกษากัน เป็นทีมเดียวกัน แนะนำกันด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ไม่คาดคั้นให้เชื่อ ไม่จับผิด ไม่ห้าม แต่ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยงต่อมิจฉาชีพหรือคนที่มีความผิดปกติทางใจ ช่วยกันตั้งข้อสงสัย ช่วยกันคิด ช่วยกันมอง ช่วยกันระวัง โดยให้ลูกมีอิสระในการตัดสินใจ ในการเลือก โดยพ่อแม่ยืนยันที่จะประคับประคอง หากการตัดสินใจนั้น ๆ ผิดพลาด สิ่งเหล่านี้ น่าจะเป็นเกราะป้องกันให้ลูก ๆ มีความปลอดภัยในการใช้งานสื่อดิจิทัลมากขึ้น และทำให้ลูกกล้าปรึกษาพ่อแม่เมื่อเกิดความไม่แน่ใจในประเด็นต่าง ๆ
สรุป
สื่อสังคมออนไลน์มีทั้งประโยชน์และโทษ การรู้เท่าทันสื่อ และการเปิดหัวใจให้แก่กันในครอบครัว เป็นแนวทางที่จะช่วยให้ลูก ๆ ปลอดภัยจากพิษภัยของสื่อเหล่านี้ได้มากขึ้น
“ถึงสื่อออนไลน์จะดุ แต่คงสู้ความรักของทุก ๆ คนในครอบครัวไม่ได้”
ขอให้โชคดีทุก ๆ คนนะครับ