ช่วงที่พี่นำบุญเรียน ป.โท การศึกษาปฐมวัย ที่ ม.เกษตร อาจารย์ให้เขียนบทความวิชาการในเรื่องที่สนใจ พี่นำบุญจึงเลือกเขียนเรื่องเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก (หนังสือภาพ คือ หนังสือที่เล่าเรื่องด้วยภาพ และถ้อยคำ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Picture book แต่คนไทยชอบเรียกว่าหนังสือนิทาน ซึ่งจริง ๆ หนังสือภาพกับหนังสือนิทานมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน) หัวข้อของบทความที่พี่นำบุญทดลองเขียน มีชื่อว่า “การใช้หนังสือภาพกับการส่งเสริมการศึกษาปฐมวัยในศตวรรษที่21” วันนี้ พี่นำบุญค้นเจอบทความชิ้นนี้ เลยนำมาให้อ่านกัน
หมายเหตุ : ตอนที่เขียนบทความชิ้นนี้ ยังไม่รู้จักวิธีการเขียนอ้างอิง จึงต้องขออภัยผู้อ่านที่ไม่ได้อ้างถึงแหล่งที่มาของข้อมูลนะครับ มีโอกาสจะเขียนใหม่ให้ดีขึ้นและเขียนอ้างอิงให้ครบถ้วนเลย
การใช้หนังสือภาพกับการส่งเสริมการศึกษาปฐมวัยในศตวรรษที่21
โดย นำบุญ นามเป็นบุญ
บทนำ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ข้อมูลมหาศาลแพร่กระจายไปยังทุกมุมโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เกิดทั้งความร่วมมือและการแข่งขัน, เกิดการต่อยอดทางความคิด และเกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและในแง่อาชีพการงานมีความเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีความรู้อันเหมาะสมและมีทักษะมากพอในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงจะมีโอกาสยืดหยัดและอยู่รอดในสังคมได้
“กรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” จึงได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางให้เห็นว่า สิ่งที่นักเรียนควรได้เรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของเขาในระดับที่สูงขึ้น, เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในสภาพสังคมยุคใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันและมีความสุข ประกอบด้วยอะไรบ้าง
วิชาด้านภาษา, ศิลปะ, คณิตศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, การปกครองและหน้าที่พลเมือง รวมทั้งแนวคิดเรื่องจิตสำนึกต่อโลก, ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นวิชาแกนและแนวคิดสำคัญที่นักเรียนควรได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่ยังเล็ก
ในขณะเดียวกัน ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะชีวิตและทักษะการทำงาน, ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม, ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนก้าวไปทำงานและใช้ชีวิตในสังคมจริงได้อย่างราบรื่น
จากแนวโน้มดังกล่าว การจัดการศึกษาในทุกระดับ จึงจำเป็นต้องหาวิธีเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีความรู้ที่สำคัญ, มีทักษะชีวิต, มีความคิดเชิงวิพากษ์, รู้จักการแก้ปัญหา, สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
สำหรับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยตามกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและท้าทายครูผู้สอนมาก เพราะเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิตในในแง่พัฒนาการและการเรียนรู้ การบ่มเพาะให้เด็กมีคุณสมบัติตามเป้าหมายของกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และอาจต้องอาศัยเครื่องมือหรือวิธีการขั้นสูงที่จะนำพาเด็กไปสู่เป้าหมายได้
แต่ในความเป็นจริง การเตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัยได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะต่าง ๆ ตามกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ยากอย่างที่หลายคนกังวลใจอยู่ และเครื่องมือหลักที่สามารถนำพาเด็กไปสู่เป้าหมายได้ก็คือหนังสือภาพ (Picture book) ที่ทั้งครูผู้สอนและเด็กปฐมวัยต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ข้อมูลทางวิชาการต่อไปนี้จะชี้ให้ครูผู้สอนเห็นแนวทางการใช้หนังสือภาพในการจัดการศึกษาสำหรับปฐมวัยเพื่อให้ได้ผลสอดคล้องกับ “กรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ อาจทำให้ครูผู้สอนพบแนวทางในการพัฒนาการการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศไทยต่อไป
การใช้หนังสือภาพเพื่อส่งเสริมการคิด
ปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for Children หรือ P4C) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาให้เด็กเกิดทักษะในด้านการคิด, การให้เหตุผลและการแสดงข้อโต้แย้ง ซึ่งมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า การสอนให้เด็กมีทักษะการคิดเชิงเหตุผลตั้งแต่ยังเล็ก จะมีผลต่อการพัฒนาการทางสติปัญญาและทักษะในการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ Matthew Lipman แห่งมหาวิทยาลัยมอนแคลร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดของวิชาปรัชญาสำหรับเด็ก (P4C) โดยเริ่มในช่วงปลายทศวรรษที่1960 และมีผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 Lipman ได้สร้างหลักสูตรสำหรับครูที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ซึ่งคำว่า ปรัชญาสำหรับเด็ก (Philosophy for Children) ได้ถือกำเนิดในช่วงนั้น พร้อม ๆ กับการนำหนังสือภาพมาใช้ในการสอน
วิธีการสอนปรัชญาสำหรับเด็ก (P4C) จะใช้วิธีการแสดงความคิดเห็นในกลุ่มชุมชนแห่งการสืบสอบ (community of inquiry, communities of enquiry) ซึ่งหมายถึงกลุ่มของบุคคลที่ร่วมกันค้นหาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึกของคนอื่น ๆ โดยหัวใจหลักของกลุ่มจะอยู่ที่การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับประเด็นทางปรัชญาที่ชวนขบคิด ซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจในประเด็นที่สงสัยมากขึ้น เพราะนอกจากการได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองแล้ว ผู้เรียนยังได้ฟังความเห็นของผู้อื่น และมองเห็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจขึ้นใหม่ และนอกจากผู้เรียนจะได้ฝึกการคิดแล้ว ผู้เรียนยังได้พัฒนาความกล้าในการสื่อสาร, รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่นด้วยความเคารพ
องค์ประกอบสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของวิชาปรัชญาสำหรับเด็กมีอยู่ ๔ องค์ประกอบ ได้แก่
- การจัดการห้องเรียนโดยให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วม :
การจัดการห้องเรียนควรจัดในลักษณะครึ่งวงกลม โดยมีจำนวนผู้เรียนราว 12-16 คน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นกันในระหว่างการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างทั่วถึง
- การกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถาม
ผู้สอนอาจเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยการนำเสนอสิ่งเร้า (Stimulus) ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งสิ่งเร้าอาจเป็นข้อความ, ภาพ, หนังสือภาพ, หรือคลิปวิดีโอ จากนั้น ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนตั้งคำถามที่สงสัย หรือตั้งประเด็นที่รู้สึกสนใจ ซึ่งชวนให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาคำตอบ
ในการตั้งคำถามของผู้เรียนนั้น ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนคิดคำถามตามลำพังหรือคิดคำถามร่วมกันเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม จากนั้น เขียนคำถามทุกคำถามพร้อมวงเล็บชื่อผู้ตั้งคำถามบนกระดานเพื่อให้ทุกคนได้เห็น ซึ่งหากคำถามมีมาก อาจใช้วิธีการออกเสียงเพื่อเลือกคำถามที่เสียงส่วนใหญ่สนใจที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวันนั้น ๆ
- การรับฟังและการตอบสนองอย่างตั้งใจ
ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้สอนจะทำหน้าที่รับฟังและตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้เรียนพูดอย่างตั้งใจ ไม่ชี้นำหรือใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในความคิดของผู้เรียน แต่จะเป็นการรับฟังหรือสะท้อนแง่มุมที่อาจนำพาไปสู่การพูดคุยเชิงลึกต่อไป
- การสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของผู้เรียน
บทบาทของผู้สอนมีส่วนสำคัญที่เอื้อให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำพาผู้เรียนเข้าสู่ประเด็นสำคัญในการอภิปราย, การชวนให้ผู้เรียนอภิปรายความคิดเห็นเพิ่มเติมหากสิ่งที่พูดยังไม่กระจ่างชัดเพียงพอ, การช่วยขยายความสิ่งที่ผู้เรียนอภิปรายให้ชัดเจนขึ้น,การแนะนำให้ผู้เรียนไม่ยึดติดอยู่กับความคิดเห็นของตนเองและให้รับฟังความคิดของผู้อื่น, การชื่นชมหรือตอบสนองในเชิงบวกเมื่อผู้เรียนนำเสนอความคิดที่ดี
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า มีผู้สนใจนำหลักการของปรัชญาสำหรับเด็ก (P4C) ไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยมีการปรับใช้ในหลากหลายวิธีและมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน สำหรับการนำหนังสือภาพมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ปรัชญาสำหรับเด็กนั้น Karin Murris แห่งมหาวิทยาลัย Witwatersrand ประเทศแอฟริกาใต้ และ Joanna Haynes แห่งมหาวิทยาลัย Plymouth ประเทศอังกฤษ มีชื่อเสียงในเรื่องการนำวรรณกรรมสำหรับเด็กมาใช้เพื่อส่งเสริมการคิดตามแนวทางปรัชญาสำหรับเด็ก (P4C) ในขณะที่ Tom Watenberg แห่ง Mount Holyoke รัฐ Massachusetts ได้เขียนแผนจำนวนมากเกี่ยวกับการแลก เปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงปรัชญาโดยใช้หนังสือภาพ
หนังสือภาพเรื่อง ‘Quack!’ Said the Billy-Goat ซึ่งเขียนโดย Charles Causley & Barbara Firth Candlewick Press เป็นหนังสือภาพเล่มหนึ่งที่เวปไซต์ p4c.com/files/p4c/Picture%20Books.pdf แนะนำว่าเหมาะแก่การนำมาสอนปรัชญาเพื่อเด็ก (P4C)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเรียบง่าย เหมะสำหรับเด็กอายุ 3-7 ขวบ โดยเนื้อเรื่องพูดถึงการส่งเสียงร้องของสัตว์ต่าง ๆ (แต่ในเรื่องจะเป็นเสียงที่ผิดซึ่งรอให้เด็กช่วยแก้ไขให้ถูก) แม้เนื้อเรื่องจะไม่มีอะไรมาก แต่ภาพประกอบมีความสวยงาม และเนื้อเรื่องเรียบง่ายมากพอสำหรับนักปรัชญาที่อายุน้อยที่สุดทั้งหลาย
สำหรับคำถามที่เป็นไปได้ที่เด็ก ๆ จะนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันได้แก่คำถามที่ว่า สัตว์พูดได้ไหม? ทำไมแพะในเรื่องจึงร้องก้าบ? มันเป็นไปได้ไหมที่แพะจะร้องเหมือนเป็ด? ถ้าแพะทำเสียงเหมือนเป็ดได้ แพะจะคุยกับเป็นได้ไหม? หมายคุยกับแมว และวัวคุยกับแกะได้ไหม?
หากผู้สอนให้ผู้เรียนนั่งเป็นครึ่งวงกลม แล้วอ่านหนังสือภาพเล่มนี้ให้เด็กฟัง จากนั้น ให้เด็ก ๆ ลองตั้งคำถาม ซึ่งคำถามอาจเป็นคำถามที่มีลักษณะตามตัวอย่างข้างต้นหรือเป็นคำถามอื่น ๆ ตามแต่เด็กจะนำเสนอ แล้วเปิดโอกาสให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับประเด็นคำถามที่น่าขบคิดเหล่านั้น โดยผู้สอนมีหน้าที่เพียงเป็นผู้สนับสนุน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกิดขึ้นนี้เอง คือพื้นฐานของการพัฒนาทักษะการคิด, การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ ตามแนวทางปรัชญาเพื่อเด็ก(P4C) ทั้งยังสอดคล้องกับกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างพอเหมาะพอเจาะอีกด้วย
การใช้หนังสือภาพเพื่อให้ความรู้
นอกจากการใช้หนังสือภาพในการส่งเสริมทักษะการคิดตามแนวทางปรัชญาเพื่อเด็ก (P4C) แล้ว ยังมีข้อมูลทางวิชาการอีกเป็นจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นถึงการนำหนังสือภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้แก่เด็กปฐมวัยในวิชาแกนต่าง ๆ
บทความทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้หนังสือภาพในการให้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัย ซึ่งเขียนโดย Lucia M. Flevares และ Jamie R. Schiff แห่ง มหาวิทยาลัย Ohio State ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งคู่ได้ทำการศึกษาเอกสารและระบุว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมามีความสนใจในการใช้วรรณกรรมสำหรับเด็กในการส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ พวกเขาได้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้หนังสือภาพในการสอนคณิตศาสตร์ โดยเน้นที่การสอนเรขาคณิต พวกเขาพบว่า แม้หลักในการสอนเรื่องรูปทรงเรขาคณิตควรให้เด็กได้หยิบจับรูปทรงเรขาคณิตเพื่อให้เกิดความเข้าใจจากการลงมือสัมผัสจริง แต่หนังสือภาพสำหรับเด็กสามารถทำให้เด็กเข้าใจเรื่องรูปทรงเรขาคณิตแบบสองมิติได้
Lucia M. Flevares และ Jamie R. Schiff กล่าวต่อไปว่า แนวคิดเกี่ยวกับเรขาคณิต (Geometry)เป็นเรื่องที่ท้าทายความเข้าใจของเด็กเล็ก ๆ แต่ปัญหาหลักประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคอยู่ที่ครูผู้สอนที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเมื่อต้องสอนเรขาคณิตให้เด็ก การใช้หนังสือภาพประกอบการอบรมครูจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจของครูปฐมวัย ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรขาคณิตไปยังเด็กเล็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในแง่ของการส่งเสริมความรู้ด้านภาษา เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่นโยบายในการวางแผนหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของประเทศสิงคโปร์มีการนำหนังสือภาพสำหรับเด็กมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้แก่เด็ก ๆ
สำหรับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของประเทศสิงคโปร์ ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ (MOE) ได้กำหนดหลักสูตรสำคัญ (flagship Programmes) ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรย่อย 2 หลักสูตร ได้แก่ HI-Light Programme และ Starlight Literacy Programme
HI-Light Programme ครอบคลุมขอบข่ายการเรียนรู้ 6 ด้าน คือ สุนทรียศาสตร์และการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์, การสำรวจโลก , ภาษาและการรู้หนังสือ, พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว, ความเข้าใจในตัวเลขและการรู้จักใช้ตัวเลขในทางคณิตศาสตร์ , พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์
Starlight Literacy Programme เป็น หลักสูตรที่ใช้เรื่องราวเป็นฐาน (story-base curriculum) เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัย โดย Starlight Literacy Programme เป็นการสอนเด็กปฐมวัยแบบ 2 ภาษา มีภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีภาษาแม่ให้เลือกเรียนอีก 1 ภาษา (จากตัวเลือก 3 ภาษา)
แนวทางของหลักสูตรเน้นการเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งครูจะทำกิจกรรมการอ่านหนังสือร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก ๆ โดยใช้หนังสือภาพขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Big Book เป็นสื่อในการสอนภาษา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของ Big Book จะพบว่ามีการออกแบบให้หนังสือมีภาพที่ช่วยให้เด็กพูดถึงสิ่งที่ได้เห็นและเชื่อมโยงภาพเหล่านั้นกับประสบการณ์ในชีวิตของตนเอง โดยเด็กอาจเดาเรื่องจากภาพที่เห็นก่อนที่ครูจะอ่านเรื่องราวให้ฟัง เป้าหมายของการพัฒนาทักษะทางภาษาในช่วงแรกนี้จะเน้นที่ความ เพลิดเพลินและความเข้าใจ โดยเด็กจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษก่อนที่จะเรียนเรื่องไวยากรณ์
เป้าหมายของการอ่านหนังสือร่วมกัน มีดังนี้
-การให้ประสบการณ์ที่เพลิดเพลินกับหนังสือแก่เด็ก
-จูงใจให้เด็กต้องการที่จะอ่านเรื่องราวอีกครั้งในภายหลัง ทั้งในแบบกลุ่มและในรายบุคคล
-สอนภาษาเขียนที่เป็นแบบแผนจากหนังสือผ่านการพูด และสอนภาษาพูดให้เด็กได้รู้
-ส่งเสริมให้เด็กลองใช้ภาษาอังกฤษในบรรยากาศที่ไม่มีความกดดัน
-ส่งเสริมทักษะการอ่านเบื้องต้นด้วยเรื่องราวจากหนังสือและกิจกรรมที่น่าสนใจ
-สอนและย้ำคำศัพท์รวมถึงโครงสร้างทางภาษา
การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษาด้วยหนังสือภาพขนาดใหญ่ (Big Book) เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากการดำเนินกิจกรรมจะประกอบไปด้วยการอ่าน, การร้องเพลง, เกม, โคลงกลอนและคำคล้องจอง บนพื้นฐานของความเพลิดเพลินแล้ว Starlight Literacy Programme ยังเน้นการพัฒนาชุดหนังสือที่สอดคล้องกับชีวิตของเด็กสิงคโปร์แทนการนำหนังสือภาพที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมาใช้งาน การพัฒนาหนังสือโดยยึดสิ่งที่เด็กคุ้นเคยในชีวิตประจำวันเป็นฐานในการออกแบบ ทำให้เด็ก ๆ สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับภาพที่ได้เห็น และสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆ กันได้อย่างเป็นธรรมชาติ
การพัฒนาหนังสือภาพโดยมีวัตถุประสงค์และหลักการรองรับที่ชัดเจนดังเช่นการออกแบบ หนังสือภาพขนาดใหญ่ (Big Book) ใน Starlight Literacy Programme เป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจมากในการถ่ายทอดความรู้ด้วยการใช้หนังสือภาพให้แก่เด็กปฐมวัย การพัฒนาหนังสือภาพอย่างเหมาะสมอาจเป็นวิธีการหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิชาแกนและแนวคิดสำคัญอื่น ๆ ให้แก่ผู้เรียนที่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ได้อย่างสนุกสนานและมีประสิทธิภาพ
การใช้หนังสือภาพเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ
“กรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ได้แสดงให้เห็นว่า นอกจากความสามารถในการคิดและความรู้เกี่ยวกับวิชาแกนต่าง ๆ แล้ว ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพตามกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว, ความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง, ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม, การเพิ่มผลผลิตและความรู้รับผิด (การรู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและการรู้จักใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า), ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ ซึ่งหากกล่าวโดยรวมแล้ว ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพก็คือ คุณลักษณะที่มนุษย์พึงมีเพื่อให้สามารถอยู่สังคมได้อย่างมีความสุข
การเตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัยมีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพอาจทำได้โดยการพัฒนาหนังสือภาพที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีต่อทักษะชีวิตหรือทักษะอาชีพตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งการกำหนดแก่นเรื่องเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมหรือค่านิยมอันดีเป็นสิ่งที่พบได้ในหนังสือภาพสำหรับเด็กโดยทั่วไป เช่น การศึกษาหนังสือภาพจาก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดย Maria Suprawati, Florencia K. Anggoro และ Danuta Bukatko ได้ระบุไว้ว่า จากการศึกษาช่วยสนับสนุนให้พวกเราเข้าใจและเห็นถึงวิธีการที่หนังสือภาพส่งผ่านข้อมูลอันมีคุณค่าไปยังเด็กเล็ก ๆ เพื่อเด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมอันดีและพฤติกรรมที่พึงประสงค์เกี่ยวกับการใช้ความพยายามเอาชนะอุปสรรค
ในประเทศไทยก็มีหนังสือภาพที่มีเนื้อค่าส่งเสริมคุณธรรมหรือค่านิยมอันเหมาะสมอยู่เป็นจำนวนมาก และหนังสือบางเล่มก็มีแก่นเรื่องสอดคล้องกับทักษะชีวิตหรือทักษะอาชีพที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 แต่หากมีการจัดตั้งโครงการพัฒนาชุดหนังสือเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตหรือทักษะอาชีพอย่างชัดเจน มีการกำหนดทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่เห็นเป็นรูปธรรมและใช้เป็นแก่นของหนังสือแต่ละเล่ม และมีการพัฒนาชุดหนังสือโดยออกแบบกิจกรรมก่อนและหลังการใช้หนังสือ การใช้หนังสือภาพเพื่อปูรากฐานให้เด็กปฐมวัยมีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 ก็น่าจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและทำให้เด็กมีความสุขในการใช้งานหนังสือภาพโดยได้เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ไปในเวลาเดียวกัน
บทสรุป
การใช้หนังสือภาพเพื่อส่งเสริมการศึกษาปฐมวัยในศตวรรษที่21 เป็นแนวทางที่น่าสนใจและไม่ยุ่งยากจนเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลเชิงวิชาการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจะพบว่า
-การพัฒนาหนังสือภาพขนาดใหญ่ (Big Book) ขึ้นใช้เองใน Starlight Literacy Programme ของประเทศสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อาจเป็นต้นแบบสำคัญในการพัฒนาชุดหนังสือเพื่อถ่ายทอดความรู้วิชาแกนในหมวดอื่น ๆ นอกเหนือจากความรู้ด้านภาษา ที่น่าจะช่วยทำให้การเรียนการสอนเต็มเพื่อเตรียมเด็กปฐมวัยให้มีความพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่เพลิดเพลิน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-การปลูกฝังทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ รวมถึงทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี อาจทำได้ไม่ยากนัก หากมีการพัฒนาหนังสือภาพเพื่อใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดค่านิยมอันดีงามและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ไปยังเด็ก ๆ
-การนำแนวคิดปรัชญาเพื่อเด็ก (P4C) มาใช้ เป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่งในการส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์, การสื่อสารและการร่วมมือกันทำงานของเด็ก ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น หากเด็กได้ฝึกฝนจนเกิดทักษะในการคิดที่ดีพอ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเชิงกลุ่มในประเด็นต่าง ๆ ก็จะทำให้เด็ก ๆ เกิดทักษะและความเข้าใจตามกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มากขึ้นด้วย
-การใช้หนังสือภาพเป็นสื่อหรือเครื่องมือนั้น นอกจากจะถูกใจเด็ก ๆ แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้การพัฒนาครูเป็นไปได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ เมื่อมีการวางแผนหลักสูตรโดยใช้หนังสือภาพเป็นเครื่องมือหรือมีการพัฒนาหนังสือภาพด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน จากนั้น ทำการอบรมครูให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายและวิธีการใช้งานหนังสือที่เหมาะสม เมื่อครูนำหนังสือและองค์ความรู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาใช้งานจริง ผลประโยชน์ที่ได้ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ด้วยเหตุผลและข้อมูลต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว การใช้หนังสือภาพเพื่อส่งเสริมการศึกษาปฐมวัยในศตวรรษที่21 จึงเป็นแนวทางที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษาปฐมวัยพึงให้ความสนใจ และอาจสร้างความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาให้การใช้หนังสือภาพกับเด็กปฐมวัยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป.