Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานปรับพฤติกรรมเด็ก : ฤาษีกับลิงจ๋อ

“ฤาษีกับลิงจ๋อ” เป็นนิทานก่อนนอนที่จัดอยู่ในหมวดนิทานสอนลูกให้เป็นคนดี  ซึ่งเรื่องราวของนิทานมีลักษณะเป็นนิทานพื้นบ้านไทย มีตัวละครหลักเป็นฤาษี ซึ่งเลี้ยงลิงจ๋อจอมซนไว้ด้วยความรัก  นิทานเรื่องนี้มีข้อคิดที่น่าจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซุกซนและเกเรของเด็ก ๆ ได้ โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเล่านิทานเรื่องนี้ให้ฟังบ่อย ๆ แต่ไม่ต้องสอนอะไร เพียงแค่ชื่นชมลิงจ๋อหลังจากที่เล่านิทานจบแล้ว  เมื่อเด็ก ๆ ได้ฟังพ่อแม่รำพึงหลังจากเล่านิทานจบบ่อย ๆ  เด็ก ๆ ก็จะซึมซับสิ่งที่พ่อแม่พูด แล้วน่าจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด  ลองดูนะครับ

นิทานเรื่อง  ฤาษีกับลิงจ๋อ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีฤาษีตนหนึ่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่ามาช้านาน   วันหนึ่ง ฤาษีพบลูกลิงกำพร้าตัวหนึ่งนอนหมดสติอยู่ที่ชายป่า  ด้วยความสงสาร…ฤาษีจึงนำลูกลิงมาชุบเลี้ยง

ฤาษีรักลิงน้อยเหมือนลูก  ส่วนลูกลิงซึ่งฤาษีเรียกว่า “ลิงจ๋อ” ก็รักฤาษีเหมือนพ่อ แต่เมื่อลิงจ๋อโตขึ้นหน่อย ฤาษีก็เริ่มปวดหัว เพราะลิงจ๋อชอบหาเรื่องเกะกะเกเรกับใครต่อใครไปทั่วทั้งป่า

ฤาษีพยายามสอนลิงจ๋อให้เป็นเด็กดี, ขัดเกลาจิตใจด้วยศีลและธรรม ทั้งยังให้นั่งสมาธิ เพื่อฝึกควบคุมอารมณ์ก่อนจะไปเกะกะระรานใคร  แต่ลิงจ๋อดื้อด้านเอาแต่ทำหน้าทะเล้นโดยไม่คิดที่จะทำตามคำสอนของฤาษีเลยสักนิด

อยู่มาวันหนึ่ง ลิงจ๋อไปเจอธิดาวานรซึ่งเป็นลูกลิงที่มีขนสีขาวแสนน่ารักกำลังเดินเล่นอยู่ในป่า  ลิงจ๋อหมั่นไส้จึงเข้าไปแกล้งจนธิดาวานรร้องไห้แง ๆ   เมื่อพญาวานรกับราชินีวานรทราบเรื่อง ทั้งคู่ก็ส่งข่าวให้ฤาษีพาลิงจ๋อไปหาเพื่อลงโทษ

ทันทีที่ฤาษีทราบข่าว  ฤาษีเห็นว่าลิงจ๋อผิดจริง ทั้งเรื่องเกเรและเรื่องรังแกผู้หญิง (ซึ่งแย่มาก) ฤาษีจึงตัดสินใจพาลิงจ๋อไปหาพญาวานร โดยเตรียมไม้ไป 3 ชนิด ได้แก่ ไม้กระบอง, ไม้เรียวและไม้ก้านมะยม เพื่อให้พญาวานรเลือกใช้ในการลงโทษ

ลิงจ๋อเห็นฤาษีผู้เปรียบเสมือนพ่อเลือกไม้ชนิดต่าง ๆ และจะพาตนไปให้พญาวานรลงโทษ…ลิงจ๋อก็ร้องไห้บอกว่า พ่อใจร้าย ไม่รักลูก…ไม่ปกป้องลูก ฤาษีได้แต่มองลิงจ๋อโดยไม่โต้ตอบ แล้วทั้งลากทั้งจูงลิงจ๋อมุ่งหน้าไปยังดินแดนของพญาวานรที่อยู่ในป่าลึก

ครั้นเมื่อฤาษีไปถึงดินแดนของพญาวานร  ฤาษีก็ขอโทษพญาวานรและบอกพญาวานรว่าตนได้นำไม้มา 3 ชนิดเพื่อให้พญาวานรเลือกใช้ลงโทษตามความโกรธที่มีอยู่

พญาวานรมองไม้กระบองเหมือนอยากใช้ไม้กระบองในการลงโทษ   ราชินีวานรมองไม้เรียวเหมือนอยากใช้ไม้เรียวในการลงโทษ   ธิดาวานรมองไม้ก้านมะยมเหมือนอยากใช้ไม้ก้านมะยมในการลงโทษ   ส่วนลูกลิงมองวารนรทั้งสาม พลางร้องไห้แง ๆ ด้วยความกลัวและเสียใจที่ฤาษีไม่รัก

แต่ก่อนที่เหล่าวานรจะตัดสินใจเลือกไม้ในการทำโทษ  ฤาษีได้กล่าวขอโทษพญาวานรอีกครั้ง โดยขออภัยที่ตนเองสอนลิงจ๋อได้ไม่ดีพอ ทำให้มีนิสัยเกเรไม่น่ารัก   ฤาษีพูดว่า ในฐานะที่ข้าเป็นเสมือนพ่อของเจ้าลิงจ๋อ ไม่ว่าท่านจะเลือกไม้ชนิดใดในการลงโทษ ก็ขอให้ท่านนำมาตีข้าแทนลูกชายเพื่อไถ่โทษด้วยเถิด

ลิงจ๋อตกใจมากเมื่อได้ยินฤาษีกล่าวเช่นนั้น  ฤาษีไม่ได้ทำอะไรผิด ซ้ำยังอายุมากแล้ว  ถ้าโดนตี…ท่านคงต้องตายแน่ ๆ

ลิงจ๋อคิดภาพฤาษีถูกตีด้วยไม้กระบอง, ไม้เรียวและไม้ก้านมะยม…มันคิดแล้วก็ร้องไห้โฮใหญ่  พร้อมกับกระโดดเข้ากอดฤาษี พลางร้องว่า จ๋อเป็นคนผิดเอง จ๋อเกเรไม่เคยเชื่อฟัง  ถ้าจะตีก็ตีจ๋อเถิด จ๋อทำผิดไปแล้วจริง ๆ

เมื่อพญาวานรและครอบครัวเห็นความรักของพ่อที่มีต่อลูกและลูกที่มีต่อพ่อ  ทั้งหมดก็ซาบซึ้ง ท้ายที่สุด พญาวานรจึงเอ่ยปากว่า “ถ้าลิงจ๋อสัญญาจะปรับปรุงตัวไม่เกเรอีก ความผิดครั้งนี้ พวกเราก็จะยอมยกโทษให้”

ลิงจ๋อดีใจมากที่ครอบครัววานรให้อภัย มันสัญญาว่ามันจะเป็นเด็กดีและไม่เกเรหรือแกล้งใคร ๆ อีก  จากนั้น ฤาษีก็พาลิงจ๋อกลับบ้าน

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ลิงจ๋อก็เชื่อฟังคำสอนของฤาษี ไม่ดื้อไม่ซน แถมยังหมั่นนั่งสมาธิและยึดหลักศีลธรรมในการดำรงตนตามที่ฤาษีพร่ำสอน

ในที่สุด ลิงจ๋อก็รู้แล้วว่า ฤาษีรักและใส่ใจมันมาก…มากกว่าที่มันรักและใส่ใจฤาษีเสียอีก ด้วยเหตุนี้ มันจึงต้องเป็นเด็กดีเพื่อให้คู่ควรกับความรักของฤาษีและเพื่อให้ฤาษีผู้เปรียบเสมือนพ่อภาคภูมิใจในตัวของมัน

#นิทานนำบุญ

…………………..

6 thoughts on “นิทานปรับพฤติกรรมเด็ก : ฤาษีกับลิงจ๋อ

  1. ขอบคุณมากๆนะคะที่แต่งนิทาน น่ารัก สนุกสนาน และแฝงไปด้วยคุณธรรม ให้ดิฉันได้อ่านให้ลูกชายในท้องฟังก่อนนอนทุกวัน จะป่มเพาะให้เค้าเป็นคนดีนะคะ ขอบคุณค่ะ

    Like

    1. ผมตั้งใจทำเว็บไซต์นี้ เพื่อฝากสิ่งดีงามจากใจของผม ให้เด็ก ๆ ทุกคน นิทานทุกเรื่องคือทั้งหมดในชีวิตที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ ขอบพระคุณคุณแม่ที่ให้เกียรติติดตามเว็บไซต์นี้นะครับ ผมดีใจที่สุดที่นิทานของผม พอจะมีประโยชน์ต่อใคร ๆ บ้าง ขอบคุณจริง ๆ ครับ

      Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.