เด็กแต่ละคนมีความถนัดและความสนใจที่แตกต่างกัน บางคนชอบการคำนวณ บางคนชอบการออกกำลัง บางคนชอบศิลปะ บางคนชอบการครุ่นคิด ฯลฯ ซึ่งความถนัดที่แตกต่างกันนี้ สอดคล้องกับทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligence) ตามแนวคิดของ ดร. โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดังนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้ลูกได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบ จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนิทานเรื่องนี้พยายามจะสื่อสารความสนุกไปยังเด็ก ๆ และสื่อสารแนวคิดนี้ไปยังคุณพ่อคุณแม่ครับ
(หมายเหตุ : แต่การชอบเล่นเกมในโทรศัพท์หรือติดโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ไม่ใช่ความชอบหรือความถนัดนะครับ ดังนั้น จึงไม่ควรสนับสนุนครับ)
นิทานก่อนนอนเรื่อง เจ้าชายกับดาบปลายดินสอ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าชายน้อยองค์หนึ่งทรงเป็นโอรสเพียงองค์เดียวของพระราชากับพระราชินีแห่งอาณาจักรนักรบอันยิ่งใหญ่
พระราชาและพระราชินีวาดหวังอยากให้เจ้าชายเชี่ยวชาญในการต่อสู้ ทั้งคู่จึงจัดครูมาสอนเจ้าชายมิได้ขาด แต่เจ้าชายไม่ถนัดเรื่องการต่อสู้หรือการใช้กำลังเลย พระองค์ทรงชอบการวาดรูปและการทำงานศิลปะมากกว่า พระราชากับพระราชินีจึงกังวลใจและเกรงว่าเมื่อเจ้าชายโตขึ้น เจ้าชายอาจปกป้องเมืองจากการรุกรานของข้าศึกศัตรูไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ พระราชากับพระราชินีจึงนำเรื่องไปปรึกษาพ่อมดหลวงซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาล้ำเลิศกว่าใคร ๆ
เมื่อพ่อมดหลวงได้ฟังเรื่องทั้งหมด พ่อมดหลวงก็บอกกับทั้งสองพระองค์ว่า การปล่อยให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบตามความถนัดเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดซึ่งพ่อแม่ควรกระทำ ส่วนการปกป้องบ้านเมืองเป็นเรื่องของอนาคต แม้เจ้าชายจะไม่ชอบการต่อสู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าชายจะทำให้ชาวเมืองมีความสุขไม่ได้
พระราชากับพระราชินีต่างไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อมดหลวงพูด แต่เพราะพ่อมดหลวงเคยทำงานรับใช้พระราชาองค์ก่อน ทั้งยังเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกอย่างลึกซึ้ง พระราชากับพระราชินีจึงจำใจอนุญาตให้เจ้าชายฝึกหัดวาดรูปตามที่สนใจ แต่ทรงขอร้องพ่อมดหลวงให้ช่วยดูแลเจ้าชายเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อพ่อมดหลวงน้อมรับหน้าที่ดังกล่าว พ่อมดหลวงก็เริ่มดูแลโดยให้อิสระแก่เจ้าชายองค์น้อยในการวาดรูป ทั้งยังช่วยแนะนำวิธีวาดรูปอย่างง่าย ๆ ให้เจ้าชายได้พัฒนาฝีมืออยู่เสมอ
การได้ทำในสิ่งที่ชอบอย่างอิสระทำให้เจ้าชายมีความสุขมาก เจ้าชายทรงวาดรูปทุกวันจนฝีมือในการวาดรูปพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และแล้ว…วันหนึ่ง เหตุการณ์ที่แสนท้าทายก็เกิดขึ้น
เช้าวันนั้น มีมังกรไฟตัวหนึ่งบินเข้ามาในอาณาจักรพร้อมกับพ่นไฟทำให้บ้านเรือนของประชาชนเสียหาย เมื่อพระราชาทราบข่าว พระองค์ก็รีบจัดกองทหารเพื่อเตรียมออกไปต่อสู้ แต่เมื่อพ่อมดหลวงประเมินสถานการณ์แล้ว พ่อมดหลวงก็บอกพระราชาว่า มังกรตัวนี้ร้ายกาจเกินกว่าที่พระราชากับกองทัพจะเอาชนะได้ แต่มีบุคคลเพียงคนเดียวที่จะปราบมังกรตัวนี้ได้อยู่หมัด นั่นก็คือเจ้าชายองค์น้อยนั่นเอง!
พระราชาทรงแปลกใจที่พ่อมดหลวงพูดเช่นนั้น ครั้นเมื่อพ่อมดหลวงขออนุญาตให้เจ้าชายออกไปจัดการกับผู้บุกรุก โดยจะมอบดาบวิเศษให้เจ้าชายนำไปใช้ พระราชาผู้ชื่นชอบการต่อสู้จึงอนุญาตเพราะเชื่อว่าดาบวิเศษคงคมมากเป็นพิเศษและน่าจะใช้ฟาดฟันมังกรร้ายให้สิ้นฤทธิ์ได้ไม่ยากนัก
แต่อนิจจา! พระราชาทรงไม่รู้เลยว่า ดาบที่พ่อมดมอบให้เจ้าชายนั้น เป็นดาบที่ไม่มีความคมเลย แถมยังไม่มีอำนาจวิเศษอะไรมากมายนัก นอกจากการเป็นดาบที่มีปลายเป็นดินสอ ซึ่งเมื่อใช้วาดรูปอะไรในอากาศ รูปที่วาดก็จะกลายเป็นของจริงขึ้นมาได้
แม้ดาบวิเศษจะเป็นดาบที่ค่อนข้างธรรมดา แต่มันเป็นดาบที่เหมาะกับเจ้าชายมากที่สุด เมื่อเจ้าชายได้รับดาบจากพ่อมดหลวง พระองค์จึงนำความคิดมารวมเข้ากับฝีมือ แล้วใช้ดาบวาดรูปมังกรหิมะในอากาศ ซึ่งหลังจากนั้นเพียงชั่วอึดใจเดียว…มังกรหิมะก็ปรากฏตัวขึ้น
ทันทีที่เจ้าชายเห็นมังกรหิมะ พระองค์ก็รีบกระโดดขึ้นนั่งบนหลังของเจ้ามังกร แล้วบอกให้มังกรทะยานตัวขึ้นฟ้ามุ่งหน้าไปหามังกรไฟจอมเกเรทันที
เมื่อเจ้ามังกรไฟเผชิญหน้ากับมังกรหิมะซึ่งตัวโตกว่ามันถึงสองเท่า มันก็รู้ว่าสู้ไม่ไหว เจ้ามังกรไฟจึงรีบบินหนีแล้วปล่อยให้มังกรหิมะพ่นหิมะดับไฟที่กำลังลุกลามอยู่
หลังจากไฟดับแล้ว เจ้าชายก็พบว่าบ้านเรือนในอาณาจักรเสียหายเป็นจำนวนมาก พระองค์มองประชาชนด้วยความสงสาร ด้วยเหตุนี้ เจ้าชายจึงตวัดดาบวาดบ้านหลังใหม่ที่สวยงามกว่าเก่าให้ประชาชนทุก ๆ คน แล้ววาดข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งของเล่นปลอบใจเด็ก ๆ พร้อมกับวาดต้นไม้ดอกไม้เพื่อนำพาความสดชื่นกลับมายังหัวใจของชาวเมืองอีกครั้ง
ชาวเมืองต่างโห่ร้องด้วยความดีใจที่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าชายองค์น้อย ส่วนพระราชากับพระราชินีก็ทรงเบาใจเมื่อได้พบว่า การปล่อยให้ลูกได้ทำในสิ่งที่รักเป็นสิ่งที่สมควรทำ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกมีความสุขแล้ว มันยังช่วยปกป้องอาณาจักรและทำให้ชาวเมืองมีความสุขได้จริงดังคำที่พ่อมดหลวงได้เคยกล่าวเอาไว้.
#นิทานนำบุญ
…………………….

One thought on “เจ้าชายกับดาบปลายดินสอ”