สมัยที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ได้เข้าวัดครั้งแรก ๆ ผมเห็นป้ายเขียนที่หน้าวัดว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ตอนนั้น ผมยอมรับว่า “ไม่เข้าใจความหมายมากนัก” คิดแค่ว่า คงเป็นคำเตือนใจว่ามาอยู่วัด “อย่าเห็นแก่ตัว ให้ช่วยเหลืองานคนอื่น ๆ ด้วย” แต่หลังจากที่ผมได้ฝึกเจริญสติอยู่นานพอสมควร (เป็นปี) ความเข้าใจในความหมายของคำว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ก็ชัดเจนขึ้น เพราะเมื่อเรามองเห็นกิเลสในใจของเราเอง ซึ่งมีทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง เราจึงเข้าใจว่า กิเลสเหล่านี้แหละ ที่เราต้องมีสติรู้เท่าทัน และ “อย่าเห็นแก่ตัว” ทำทุกอย่างตามใจกิเลสของเรา หลังจากเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ผมจึงแต่งนิทานธรรมะก่อนนอน เรื่อง “พรเทวดา” เพื่อเตือนจิตสะกิดใจทุกๆคนครับ
นิทานเรื่อง พรเทวดา
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัวและมีปัญหาต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด แต่โชคยังดีที่เมืองแห่งนี้มีเทวดาคุ้มครองอยู่ เมื่อปัญหาสะสมมากจนยากจะสะสาง ชาวเมืองจึงพากันไปขอให้เทวดาช่วยเหลือ
แม้เทวดาจะมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ชาวเมือง แต่ตลอดระยะเวลาที่เทวดาเฝ้ามองความเป็นไปของเมืองแห่งนี้ เทวดากลับไม่เคยเห็นชาวเมืองพยายามแก้ไขปัญหาด้วยกำลังของตัวเองเลย ด้วยเหตุนี้ แทนที่เทวดาจะใช้พรวิเศษปัดเป่าปัญหาต่าง ๆ ให้หายไปในชั่วพริบตา เทวดากลับเลือกใช้วิธีให้ชาวเมืองทั้งหมดขอพรได้เพียง 1 ข้อ โดยต้องระบุอย่างชัดเจนว่า อยากให้สิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทันทีที่ชาวเมืองได้ฟัง พวกเขาก็เสนอว่า อยากเปลี่ยนให้สินค้าต่าง ๆ มีราคาถูกลงมาก ๆ พอเหล่าพ่อค้าได้ฟัง พวกพ่อค้าก็รีบเสนอว่า อยากเปลี่ยนให้สินค้าต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้นอีกมาก ๆ
ครั้นเมื่อคนที่ขับรถซึ่งเจอรถติดทุกวันได้ฟัง พวกเขาก็เสนอว่า อยากเปลี่ยนให้มีถนนเพิ่มขึ้นมาก ๆ แต่เมื่อคนที่ต้องดมกลิ่นควันรถทุกวันได้ฟัง พวกเขาก็เสนอว่า อยากเปลี่ยนให้มีรถน้อยลงมาก ๆ
เทวดาฟังความปรารถนาของคนในเมืองแล้วก็ได้แต่ส่ายหน้า เพราะดูเหมือนว่าทุก ๆ คนต่าง “คิดถึงประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น”
ในขณะที่เทวดากำลังหมดหวัง จู่ ๆ ก็มีเด็กคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “สิ่งที่หนูอยากให้เปลี่ยนไปจากเดิมคือ หนูอยากเปลี่ยนให้ทุก ๆ คนเลิกเห็นแก่ตัวเสียที”
คำพูดของเด็กน้อยทำให้บรรยากาศที่จอแจ กลับเงียบสนิทในพริบตา จากนั้น เด็กน้อยก็พูดต่อไปว่า “ถ้าทุกคนเลิกขอแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง แล้วคิดถึงคนอื่นเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย บางที…ปัญหาต่าง ๆ ในเมืองของเราอาจจะเบาบางลงก็ได้นะครับ”
หลังจากที่ชาวเมืองคิดทบทวนอยู่สักพัก ชาวเมืองก็เริ่มเห็นด้วยกับคำแนะนำของเด็กน้อย และคิดว่าพวกเขาน่าจะเปลี่ยนคำว่า “มาก ๆ” เป็นคำว่า “นิดหน่อย” ซึ่งน่าจะเป็นการขอเปลี่ยนที่ดูถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ขอให้สินค้าราคาถูกลงอีกนิดหน่อย, ขอให้สินค้าราคาแพงขึ้นอีกนิดหน่อย, ขอให้มีถนนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย, ขอให้มีรถน้อยลงอีกนิดหน่อย
ยิ่งทบทวนคำพูดของเด็กน้อยมากเท่าไร ชาวเมืองก็ยิ่งตระหนักถึง “ความเห็นแก่ตัว” ที่ตนเองมีอยู่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันเป็นต้นเหตุที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสารพัดต่อทุกชีวิตในเมืองแห่งนี้
เมื่อเทวดาเห็นว่าชาวเมืองพบต้นตอของปัญหา เทวดาจึงคิดว่าถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะให้ชาวเมืองเลือกขอพร 1 ข้อตามเงื่อนไขที่เทวดาได้ให้ไว้
แน่นอนว่า ชาวเมืองต่างลงความเห็นขอให้เทวดา “เปลี่ยนแปลงนิสัยชาวเมืองทุกคนให้เห็นแก่ตัวน้อยลง” ซึ่งหลังจากที่เทวดาให้พรแก่ชาวเมืองได้ไม่กี่วัน ปัญหาที่สะสมอยู่ในเมืองก็ค่อย ๆ คลี่คลายลงราวกับเกิดปาฏิหาริย์
เพียงแค่ลดความเห็นแก่ตัว ปัญหาที่เหมือนจะแก้ยากก็กลับเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหาไปเสียเฉย ๆ
หลังจากที่ทุกคนได้เห็นถึงข้อดีของความไม่เห็นแก่ตัว ทุกคนจึงพยายามลดความเห็นแก่ตัวลงอีกจนในที่สุด เมืองที่เคยมีแต่ปัญหาก็กลับกลายเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและเต็มไปด้วยความสุขอย่างที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อน
#นิทานนำบุญ
