Posted in ครอบครัว, เด็ก

ประวัติ : ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน

ในโลกของนิทาน ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เชื่อว่า ชื่อของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน (บางคนออกเสียงว่า แอนเดอร์สัน หรือ แอนเดอร์เซน) รวมทั้งผลงานนิทานของเขา เช่น นิทานก่อนนอนเรื่อง ลูกเป็ดขี้เหร่ (The Ugly Duckling) หรือ เงือกน้อย (The Little Mermaid) น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูของเด็ก ๆ และนักอ่านอยู่พอสมควร และในฐานะที่ผมเป็นนักแต่งนิทานคนหนึ่ง การได้เขียนบทความเกี่ยวกับนักแต่งนิทานระดับโลกอย่างฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ “นิทานนำบุญ” นี้ ถือว่าเป็นเกียรติและเป็นการแสดงความคารวะต่อนักแต่งนิทานชั้นครู ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน ไปพร้อม ๆ กันนะครับ

ข้อมูลจากหนังสือ “เบื้องลึกเทพนิยายโลก ชีวิตจริง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน” (Hans Christian Andersen and The True Story of My Life) ซึ่ง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เขียนเล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง ระบุว่า ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เกิดในประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.1805 (หรือเทียบเท่ากับ พ.ศ. 2348 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 ในประเทศไทย ) เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน มีคุณพ่อเป็นช่างทำรองเท้า ที่ชอบงานด้านกวี และรักลูกมาก ในวันอาทิตย์ พ่อของแอนเดอร์เสนมักเล่นสนุกกับลูกชาย ทั้งการทำแว่นสามมิติให้เล่น ทำโรงละครที่เปลี่ยนฉากได้ให้เล่น รวมทั้งอ่านบทละครและนิทานอาหรับราตรีให้ลูกชายฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ (รวมทั้งธรรมชาติในบ้านชนบทของแอนเดอร์เสน) หล่อหลอมให้เขามีความสนใจในเรื่องละคร การเขียน รวมถึงการแต่งนิทานในที่สุด

เมื่อมองชีวิตของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในชนบทของเดนมาร์กเมื่อราว 200 ปีก่อน ชีวิตของเขาน่าจะเป็นชีวิตแบบ “ปกติ” ของคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น คือ มีฐานะยากจน มีความศรัทธาในศาสนาสูงและมีการศึกษาน้อย (เพราะโอกาสที่คนเมื่อ 200 กว่าปีก่อนจะได้เรียนหนังสือต้องเป็นเรื่องที่พิเศษจริง ๆ) แต่นิสัยของแอนเดอร์เสนที่พิเศษกว่าใคร น่าจะเป็นเรื่องความเป็นคนที่มีจินตนาการสูง มีความฝันอยากเป็นนักแสดงละคร เป็นคนรักการอ่าน มีความจำที่ดีถึงขนาดที่สามารถจำบทละครฉากต่าง ๆ ได้ขึ้นใจ และที่น่าสนใจมากคือ มีความกล้าในการแต่งกลอนหรือเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่มีความรู้เรื่องภาษาไม่มากนัก และมีความกล้าที่จะออกเดินทางไกลเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง

คุณสมบัติต่าง ๆ ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน ทำให้เขาได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่ยินดีให้ความรู้ด้านภาษาแก่เขา แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานในช่วงแรก ๆ ของเขาก็โดนดูถูกและเย้ยหยันในเรื่องคุณภาพของงานและการใช้ภาษาที่ผิดพลาดอยู่เสมอ ๆ

การสร้างสรรค์ผลงานด้านการเขียนทั้ง ๆ ที่มีความรู้ที่จำกัด รวมทั้งการต้องเผชิญกับการดูถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นชีวิตทั้งในด้านความมุ่งมั่นและความขมขื่นของแอนเดอร์เสน

ผลงานในยุคแรก ๆ ของเขา (ราวปลายปี 1828 -1839) ไม่ใช่นิทานเด็กอย่างที่หลาย ๆ คนคิด แต่งานในยุคแรก ๆ ของเขา เป็นการแต่งบทละครและนวนิยาย ซึ่งกว่าที่ผลงานของเขาจะเริ่มได้รับการยอมรับ มันก็ใช้เวลานับ 10 ปีเลยทีเดียว

ในปี 1835 หลังจากที่นิยายเรื่อง “นักแสดงสด” ที่ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน แต่ง ได้รับการตีพิมพ์ เขาได้เริ่มแต่งและพิมพ์นิทานสำหรับเด็กเล่มแรกออกมา นิทานชุดแรกเกือบทั้งหมดนำมาจากนิทานที่เคยได้ฟังตอนเด็ก ๆ (ยกเว้นเรื่องสุดท้ายที่สนุกที่สุด) ต่อมา เขาก็เริ่มแต่งนิทานเรื่องใหม่ ๆ เองเกือบทุกเรื่อง โดยออกหนังสือนิทานเล่มใหม่ทุกปีในวันคริสต์มาส ซึ่งทำให้ต้นคริสต์มาสทุกต้นในเดนมาร์กมีหนังสือนิทานเด็กของเขาวางอยู่ด้วยเสมอ (มีข้อมูลระบุว่า นิทานเรื่องแรกที่เขาแต่งมีชื่อว่า “เทียน” ซึ่งแต่งในช่วงปี 1820-1830)

นิทานของแอนเดอร์เสนได้รับความนิยมมาก มีนักแสดงบางคนนำนิทานของเขาไปจัดแสดงบนเวที นอกจากนี้ นิทานเรื่อง ทหารดีบุก คนเลี้ยงหมู และ ลูกข่างกับลูกบอล ก็เคยถูกนำไปเล่าบนเวทีละครหลวงและโรงละครเอกชน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี

ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เขาได้พบเจอกับผู้คนมากมาย ผู้คนจำนวนหนึ่งช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจเขา ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งดูถูกและพยายามกดเขาให้ต่ำลง แอนเดอร์เสนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในยูโรปเพื่อพักใจเป็นระยะ ๆ รวมทั้งเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ และพบเจอกับบุคคลสำคัญ ๆ ในแวดวงวรรณกรรมในประเทศต่าง ๆ (รวมทั้งนักแต่งนิทานอย่างพี่น้องตระกูลกริมม์) การทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลงานช่วยเบิกทางให้ผู้คนยอมรับเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในหมู่ประชาชนทั่วไป นักเขียน บุคคลสำคัญ รวมถึงพระมหากษัตริย์

หนังสือเรื่อง “เบื้องลึกเทพนิยายโลก ชีวิตจริง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน” ทำให้ได้เห็นว่า ชีวิตของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เหมือนการเดินทางไกล ที่ก้าวไปด้วยความศรัทธาที่มั่นคงต่อพระเจ้า และการสร้างผลงานอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งเมื่อเขามุ่งมั่นก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง ท้ายที่สุด เขาก็ได้รับการยอมรับ และกลายเป็นนักเขียนขวัญใจของเด็กหลาย ๆ คนในยุคนั้น รวมถึงเด็กอีกนับล้านคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน กลายเป็นนักเขียนและบุคคลสำคัญของเดนมาร์กและของโลก (ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากที่เย้ยหยันและดูถูกเขา จากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครจดจำได้) แอนเดอร์เสนแต่งนิทานไว้ทั้งหมด 156 เรื่อง โดยได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 125 ภาษา ซึ่งจุดเด่นของนิทานของแอนเดอร์เสนคือ เป็นนิทานที่เหมาะสำหรับเด็ก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นนิทานที่มีเนื้อหาสอนใจและให้แง่คิดที่ลึกซึ้งสำหรับผู้ใหญ่

หลังจากที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ได้อ่านหนังสือ “เบื้องลึกเทพนิยายโลก ชีวิตจริง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน” จนจบ ผมก็รู้สึกว่า ชีวิตของนักแต่งนิทาน อาจมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกัน ทั้งในแง่การเป็นคนที่ต้องมีความมุ่งมั่นมาก ๆ อดทนมาก ๆ และมีจินตนาการมาก ๆ แม้คนจำนวนหนึ่งจะมองว่า อาชีพนักแต่งนิทานเป็นอาชีพที่ไม่มีความหมายอะไรมากนัก (และเป็นอาชีพที่ได้ค่าตอบแทนน้อย) แต่มันก็น่าจะเป็นอาชีพที่มีคุณค่าอยู่พอสมควร เพราะอย่างน้อยที่สุด ผลงานนิทานที่ฝากเอาไว้ ก็น่าจะช่วยสร้างรอยยิ้มและความสุข (รวมทั้งให้ข้อคิดบางอย่าง) แก่ผู้อ่าน แม้ตัวผู้แต่งจะจากโลกนี้ไปแล้ว

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.