นิทานก่อนนอนเรื่อง “เจ้าชายผู้หลงใหลนิทาน” เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เขียนเป็นนิทานภาคต่อ จากนิทานเรื่อง “หมู่บ้านย้อนเวลา” โดยเขียนห่างกันราว 1 ปี (สมัยที่เขียนลงนิตยสารขวัญเรือน) นิทานทั้งสองเรื่อง เป็นนิทานที่จบสมบูรณ์ในตัวเอง แต่ทำไมผมในฐานะผู้แต่งนิทาน จึงบอกว่าเป็นนิทานภาคต่อ ประเด็นนี้ คงต้องของให้ลองย้อนกลับไปอ่านนิทานเรื่องหมู่บ้านย้อนเวลา แล้วค่อยมาอ่านนิทานเรื่องนี้นะครับ แล้วจะเข้าใจครับ
นิทานเรื่อง เจ้าชายผู้หลงใหลนิทาน
เจ้าชายองค์หนึ่งทรงชอบนิทานมาก เพราะนิทานทำให้พระองค์มีความสุขและเกิดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งดีงามต่าง ๆ เจ้าชายมีหนังสือนิทานเป็นร้อย ๆ เล่ม พระองค์มักใช้เวลาว่างอ่านนิทานสนุก ๆ อยู่เสมอ เจ้าชายหวังว่าสักวันพระองค์จะสามารถสร้างห้องสมุดนิทานและทำให้เด็กทั่วทุกหนทุกแห่งมีความสุขได้เช่นเดียวกับพระองค์
วันหนึ่ง เจ้าชายได้อ่านนิทานเรื่อง “หมู่บ้านย้อนเวลา” ซึ่งเป็นเรื่องของชายชราที่ขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างจุดเด่นให้หมู่บ้านด้วยการหันกลับมาใช้ชีวิตแบบโบราณ จนหมู่บ้านที่ยากจนของพวกเขากลายเป็นหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมชม ส่งผลให้ผู้คนในหมู่บ้านมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เจ้าชายเห็นว่าข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้อาจนำไปปรับใช้กับอาณาจักรของพระองค์ได้ เจ้าชายจึงนำเรื่องไปเล่าให้พระบิดาฟัง
ทันทีที่เจ้าชายเล่านิทานจบ พระราชาและเหล่าเสนาบดีต่างพากันหัวเราะเยาะในความไร้เดียงสาของเจ้าชาย ทุกคนบอกกับเจ้าชายว่า “นิทานเป็นเพียงเรื่องหลอกเด็ก…ไร้สาระ” เจ้าชายทรงเสียใจมาก พระองค์จึงปลีกตัวไปนั่งคิดอะไรเงียบ ๆ อยู่คนเดียว แล้วรอดูพวกผู้ใหญ่แก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีที่มีสาระ!
ในการประชุมแก้ปัญหาของบ้านเมือง เหล่าเสนาบดีเสนอให้พระราชาทุ่มเงินทองจำนวนมหาศาลสร้างสิ่งทันสมัยต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว พระราชาทรงเห็นชอบกับความคิดดังกล่าว พระองค์จึงอนุญาตให้ใช้จ่ายเงินในท้องพระคลังได้อย่างเต็มที่
เมื่อเวลาผ่านไป แม้อาณาจักรของพระราชาจะดูทันสมัยเหมือนอาณาจักรอื่น ๆ แต่มันกลับไม่ดึงดูดใจผู้คนต่างถิ่นให้มาเยี่ยมชมเลยแม้แต่น้อย (เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครอยากไปเที่ยวในที่ ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับบ้านเมืองของตนเอง) เมื่อความพยายามของเหล่าเสนาบดีล้มเหลวไม่เป็นท่า เจ้าชายจึงเสนอตัวขอแก้ปัญหาให้บ้านเมืองบ้าง
เจ้าชายเริ่มงานของพระองค์ด้วยการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วอาณาจักร จากนั้น พระองค์ก็เล่านิทานเรื่องหมู่บ้านย้อนเวลาให้ชาวเมืองเกิดแรงบันดาลใจ แล้วจึงเสนอแผนพัฒนาเมืองให้ชาวเมืองได้รับรู้ ซึ่งแผนของเจ้าชายก็คือการทำให้เมืองทุกเมืองในอาณาจักรมีจุดเด่นหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนทั้งหลายได้
เจ้าชายทรงยกตัวอย่างให้ชาวเมืองแต่ละเมืองฟังว่า เมืองที่เคยค้นพบซากกระดูกมังกร อาจตั้งชื่อให้เป็นเมืองแห่งมังกร แล้วทำที่พักในรูปแบบของถ้ำมังกร, ทำเครื่องเงินเครื่องทองหรือทอผ้าเป็นลายมังกรต่าง ๆ , ปลูกแก้วมังกรขาย หรือทำอาหารโดยให้มีคำว่ามังกรประกอบอยู่ในชื่อ
ส่วนเมืองที่เชี่ยวชาญในเรื่องมวยโบราณ ชาวเมืองก็อาจเน้นจุดเด่นในเรื่องหมัดมวย เช่น การเปิดสำนักสอนมวยต่าง ๆ , การจัดชกมวยประจำปี, การทำน้ำมันมวยสารพัดสูตรออกขาย หรือสาว ๆ ก็อาจจะพร้อมใจกันไว้ผมมวยให้เมืองทั้งเมืองดูมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น
สำหรับเมืองที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้าย ๆ กัน เช่น อยู่ติดทะเลเหมือน ๆ กัน ก็อาจสร้างจุดเด่นให้เป็นเมืองทะเลสำหรับเด็กบ้าง, เมืองทะเลที่เน้นการผจญภัยแบบโจรสลัดบ้าง หรือเมืองทะเลแห่งความรักบ้าง แล้วคิดกิจกรรม, อาหาร, ที่พักอาศัย, ข้าวของเครื่องใช้ให้เหมาะกับเมืองของตน เป็นต้น
เมื่อชาวเมืองแต่ละเมืองได้ฟังความคิดของเจ้าชาย ทุกคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า แนวคิดของเจ้าชายเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากมันจะเป็นเรื่องสนุกที่ได้ใช้ความคิดสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับเมืองของตนเองแล้ว มันยังทำได้ไม่ยากและไม่ต้องใช้เงินทองเป็นถุงเป็นถังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วย
หลังจากที่ชาวเมืองทุกเมืองตอบรับความคิดของเจ้าชาย ไม่นานนัก…เมืองแต่ละเมืองจึงมีจุดเด่นและดูน่าสนใจขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผู้คนในอาณาจักรอื่น ๆ ทราบข่าว ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจึงพากันมาเยี่ยมชมเมืองที่มีเอกลักษณ์ทั้งหลายในอาณาจักรของเจ้าชายกันอย่างท่วมท้น
ในที่สุด พระราชาและเหล่าเสนาบดีที่เคยดูถูกนิทานก็ได้บทเรียนว่า จริง ๆ แล้ว นิทานไม่ใช่เป็นแค่เรื่องเพ้อฝันไร้สาระ เพราะหากเรารู้จักนำข้อคิดจากนิทานมาปรับใช้ เราก็สามารถทำให้มันเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้
เมื่อชาวเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเขาจึงอยากตอบแทนบุญคุณของเจ้าชายบ้าง ดังนั้น พวกเขาจึงช่วยกันสร้างห้องสมุดนิทานขึ้นในทุก ๆ เมือง เพื่อให้สมกับที่เจ้าชายผู้หลงใหลนิทานได้วาดหวังเอาไว้
#นิทานนำบุญ
……………………
