นิทานสั้นสอนใจเรื่องนี้มีที่มาแปลก ๆ ครับ คือมีอยู่คืนหนึ่งผมนั่งดูโทรทัศน์รายการพิเศษรายการหนึ่ง ในรายการมีคุณวัชระ ปานเอี่ยม มาแสดงละครเรื่องอะไรก็ไม่รู้ โดยแกสวมบทเป็นพ่อที่กำลังนั่งซ่อมเก้าอี้อยู่ ในขณะนั้น ลูกชายก็ถามพ่อว่า “พ่อจะซ่อมเก้าอี้ไปทำไม ไปซื้อใหม่ง่ายกว่า” คุณวัชระก็ตอบลูกไปในทำนองที่ว่า “ของจะมีค่ามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะใช้มันให้มีประโยชน์ได้มากสักแค่ไหน เก้าอี้ตัวนี้ยังพอซ่อมได้ พ่อจึงอยากซ่อมเพื่อให้มันใช้งานได้ต่อไป…เพื่อให้มันมีค่ามากที่สุด” (ผมเรียบเรียงไม่ตรงกับที่เขาพูดสักเท่าไหร่ เพราะจำไม่ค่อยได้ แต่รู้ว่าคำที่คุณเจี๊ยบพูดโดนใจผมมาก ๆ ) คำว่าของมีค่าจึงผุดขึ้นมาในใจของผม และทำให้ผมอยากนำความคิดดี ๆ แบบนี้มาถ่ายทอดลงไปในนิทาน ผมพยายามคิดplotเรื่องอยู่หลายรูปแบบ พอดีนึกขึ้นได้ว่าฉบับนี้จะตรงกับช่วงวันพ่อ ผมจึงพยายามคิดเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อ ๆ ลูก ๆ ให้เข้ากับเทศกาล และพยายามคิดว่าของอะไรนะที่ดูไม่มีค่า แต่จริง ๆ แล้วมันมีค่ามาก ๆ เพราะเราใช้งานมันเยอะมาก ในที่สุด ก็มาลงตัวที่รองเท้า ผมจึงผูกเรื่องรองเท้าของพ่อขึ้นมา ซึ่งมีความหมายซ่อนอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ของลูกที่พยายามเดินตามรอยเท้าพ่อ หวังว่าคงชอบกันนะครับ
นิทานเรื่อง รองเท้าของพ่อ
นานมาแล้ว มีเศรษฐีผู้หนึ่งต้องการทดสอบว่าลูกคนใดเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำครอบครัว และมีความสามารถพอที่จะรักษาทรัพย์สมบัติที่เขาทุ่มเทสร้างขึ้นให้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ ด้วยเหตุดังกล่าว เศรษฐีจึงวางแผนให้ลูกชายทั้งสามของเขาแยกย้ายกันไปสร้างหลักปักฐาน โดยเศรษฐีผู้เป็นพ่อยินดีให้ลูก ๆ แต่ละคนขอของมีค่าเป็นทุนตั้งต้นได้คนละหนึ่งอย่าง
ลูกชายคนเล็กผู้รักความสบายบอกกับพ่อโดยแทบไม่ต้องคิดว่า เขาขอเลือกเงินทองของพ่อสักจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ทำทุนในการเริ่มต้นชีวิต
ฝ่ายลูกชายคนกลางซึ่งเกิดมาในช่วงที่ครอบครัวเริ่มมีฐานะนั้น แม้เขาจะเคยเห็นพ่อทำงานหนัก แต่เขากลับไม่นึกอยากที่จะต้องทำงานหนักเหมือนกับพ่อ ด้วยเหตุนี้ ลูกชายคนกลางจึงเลือกขอบ้านพักตากอากาศพร้อมกับคนงาน 2-3 คน เพื่อเปิดบ้านเป็นที่พักชายทะเลสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว
ส่วนลูกชายคนโตซึ่งเห็นพ่อสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความอุตสาหะมาโดยตลอด เขาภูมิใจในตัวพ่อ และอยากเจริญรอยตามแนวทางที่พ่อได้กระทำไว้ ดังนั้น ลูกชายคนโตจึงขอรองเท้าคู่เก่าของพ่อ เพื่อนำไปใช้เป็นสิ่งเตือนใจในการสู้ชีวิต
เศรษฐีผู้เป็นพ่อมอบของมีค่าให้แก่ลูกทั้งสามตามคำขอ จากนั้น ท่านก็อวยพรและนัด-หมายให้ลูก ๆ สุดที่รักกลับมาเยี่ยมตนเองพร้อม ๆ กันในอีก 5 ปีข้างหน้า
นับจากวันนั้น ลูก ๆ ของเศรษฐีต่างแยกย้ายกันไปสร้างเนื้อสร้างตัวตามหนทางที่ตัวเองเลือก ลูกชายคนเล็กนำเงินที่ได้รับไปซื้อบ้านและสร้างความสุขสบายส่วนตัวจนทรัพย์สินร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ส่วนลูกชายคนกลางซึ่งเปิดบ้านเป็นที่พักชายทะเลนั้น กิจการของเขาดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เพราะเขาไม่อยากเหน็ดเหนื่อยจนเกินความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ กิจการของเขาจึงอยู่ในสภาพที่แค่พอเลี้ยงตัวได้เท่านั้น
ฝ่ายลูกชายคนโตซึ่งขอรองเท้าที่พ่อเคยใส่ทำงานแทนของมีค่าอื่น ๆ เมื่อเขาได้รับรองเท้าจากมือพ่อ เขาก็บรรจงขัดรองเท้าคู่เก่าของพ่อจนเงาวับ หลังจากนั้น เขาก็สวมรองเท้าที่พ่อเคยใส่ แล้วเริ่มออกเดินทางเพื่อหางานทำ โดยเขาตั้งใจที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ดังเช่นที่พ่อของเขาเคยทำเป็นแบบอย่างให้เขาเห็น
เมื่อเวลาผ่านไปครบ 5 ปี ลูก ๆ ทั้งสามต่างเดินทางกลับมาหาเศรษฐีผู้เป็นพ่อตามที่ได้สัญญากันไว้ ลูกชายคนเล็กสารภาพกับพ่อตามตรงว่า เขาใช้เงินทองที่พ่อมอบให้จนหมด และคิดว่าคงไม่อาจที่จะดูแลตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว ส่วนลูกชายคนรองรายงานให้พ่อทราบว่า กิจ-การของเขาไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าใดนัก มิหนำซ้ำ คนงานก็ค่อย ๆ ลาออกไปทีละคนสองคนอีกด้วย
ฝ่ายลูกชายคนโตซึ่งมาถึงบ้านของพ่อเป็นคนสุดท้ายรีบตรงเข้ากราบที่ตักพ่อ แล้วเล่าให้ทุก ๆ คนฟังว่า หลังจากที่เขาสวมรองเท้าของพ่อออกเดินทาง เขารู้สึกเสมอว่าพ่ออยู่เคียงข้างเขาซึ่งมันทำให้เขามีพลังและรู้สึกอบอุ่นใจอย่างประหลาด ทุกสถานที่ที่เขาเดินทางไปถึง ผู้คนต่างก็พากันจับจ้องรองเท้าคู่เก่าของพ่อที่เขาดูแลและใส่ใจขัดจนเงาวับ มิหนำซ้ำ เมื่อเขาเล่าว่านี่เป็นรองเท้าคู่เก่าที่พ่อใช้ใส่ทำงานเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ผู้คนต่างก็ชื่นชมพ่อ…และพลอยชมมาถึงตัวเขา มีคนมากมายนำรองเท้ามาให้เขาขัด ซึ่งแน่นอนว่า…เขายอมขัดรองเท้าให้แก่คนเหล่านั้นโดยไม่คิดว่ามันเป็นงานที่ต่ำต้อย ชื่อเสียงในการขัดรองเท้าของเขาได้รับการบอกต่อกันไปปากต่อปาก ลูกค้าที่เขาขัดรองเท้าให้มีตั้งแต่พระราชาจนถึงยาจก และในทุกวันนี้ เขาได้กลายมาเป็นเจ้าของร้านรองเท้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านของพ่อมากนัก
เศรษฐีผู้เป็นพ่อชื่นชมในความสำเร็จของลูกชายคนโตเอาเสียมาก ๆ และแล้ว…เศรษฐีก็ทราบแน่ชัดว่า ลูกชายคนโตคือคนที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้นำครอบครัวต่อไป เมื่อเศรษฐีเอ่ยปากที่จะมอบสมบัติที่เหลืออยู่ให้ลูกชายคนโตเป็นผู้ดูแล ลูกชายคนโตได้กล่าวกับพ่อของเขาว่า “แบบอย่างที่พ่อได้กระทำมาเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดซึ่งพ่อได้มอบให้แก่ลูกแล้ว ลูกไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใดจากพ่ออีก แต่ลูกสัญญาว่าจะเก็บสมบัติของพ่อเพื่อมอบให้แก่น้องทั้งสอง โดยลูกจะสอนให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้วิธีในการทำงานตามแบบของพ่อ เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลทรัพย์สมบัติของพ่อได้ดังที่พ่อตั้งใจหวัง”
เศรษฐีปลื้มปีติที่ได้ฟังคำกล่าวของลูกชายผู้เดินตามรอยเท้าของพ่อ และหลังจากนั้นไม่นาน ลูกชายคนกลางกับคนเล็กก็ได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง จนสามารถทำให้พ่อของเขาชื่นใจได้ไม่แพ้พี่ชายของพวกเขา
#นิทานนำบุญ
……………………….
