นิทานก่อนนอนเรื่อง “คุณครูคนใหม่” เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งในช่วงที่ตัวเองได้ไปเรียนปริญญาโทด้านการศึกษาปฐมวัย และได้เรียนรู้ทฤษฎีทางการศึกษาที่เรียกว่า ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ซึ่งเชื่อว่า เด็กแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน การจัดการเรียนรู้ให้เด็กจึงจำเป็นต้องดูตามความถนัดของเด็ก แล้วส่งเสริมเด็กอย่างเหมาะสม แม้นิทานเรื่องนี้จะไม่ได้พูดถึงทฤษฎีดังกล่าวโดยตรง แต่แง่มุมที่นิทานเรื่องนี้พูดถึง ก็น่าจะให้ข้อคิดที่ดีทั้งกับคุณพ่อคุณแม่ คุณครู รวมถึงอาจใช้เป็นนิทานที่เล่าให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กตระหนักถึงความถนัดของแต่ละบุคคลที่มีต่างกัน และยอมรับในความแตกต่างของกันและกันมากขึ้น ขอให้มีความสุขกับนิทานเรื่องนี้นะครับ
นิทานเรื่อง คุณครูคนใหม่
นานมาแล้ว มีพระราชากับพระราชินีคู่หนึ่งทรงมีพระโอรสและพระธิดารวมสี่พระองค์ เจ้าชายและเจ้าหญิงองค์น้อยทั้งสี่ต่างน่ารักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่น่าเสียดายที่ทุกพระองค์ไม่ถนัดในการเล่าเรียนเขียนอ่าน ใครต่อใครจึงมักซุบซิบนินทาว่าทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงคงเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้อนาคต!
พระราชากับพระราชินีทรงกังวลใจมากต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งสองพระองค์จึงเชิญนักปราชญ์อาวุโสให้มาเป็นครูของเจ้าชายและเจ้าหญิง แต่เมื่อจอมปราชญ์สอนหนังสือให้ลูกศิษย์ทั้งสี่ไปได้ไม่นาน เขาก็ได้แต่ส่ายหัว เพราะในขณะที่เขาพยายามถ่ายทอดความรู้ให้เจ้าชายและเจ้าหญิงอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนว่าความรู้ต่าง ๆ จะไม่เข้าหัวลูกศิษย์ทั้งสี่เอาเสียเลย จอมปราชญ์จึงขอลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับรำพึงเบา ๆ ว่า “เด็กพวกนี้คงไม่มีอนาคตเป็นแน่”
เมื่อจอมปราชญ์ไม่ยอมสอนหนังสือต่อ พระราชากับพระราชินีจึงต้องเชิญครูสาวคนเก่งซึ่งเป็นครูชื่อดังให้มาเป็นคุณครูคนใหม่ของเจ้าชายและเจ้าหญิง แต่เมื่อครูสาวเริ่มสอนหนังสือให้ลูกศิษย์ทั้งสี่ด้วยการพูดจ๋อย ๆ ๆ ๆ ไม่ยอมหยุด เจ้าชายกับเจ้าหญิงก็ได้แต่นั่งฟังหน้าจ๋อย ๆ ๆ ๆ เพราะคิดตามคำพูดของคุณครูไม่ทัน ท้ายที่สุด ครูสาวก็ได้แต่ปลง แล้วขอลาออกพร้อมกับคิดในใจว่า “เด็กพวกนี้คงไม่มีอนาคตจริง ๆ ”
หลังจากที่ครูสาวลาออกไปแล้ว พระราชากับพระราชินีจึงให้ทหารไปป่าวประกาศรับสมัครคนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นคุณครูคนใหม่ของพระโอรสและพระธิดา
แต่อนิจจา…เมื่อชาวเมืองได้ฟังประกาศ ทุกคนก็พากันส่ายหน้า เพราะขนาดจอมปราชญ์และครูสาวชื่อดังยังสอนเจ้าชายกับเจ้าหญิงให้เก่งไม่ได้…แล้วใครจะไปสอนได้อีก
เจ้าชายและเจ้าหญิงต่างเสียใจที่ไม่มีใครยอมมาเป็นคุณครูให้พวกพระองค์เลย จริง ๆ แล้ว…เจ้าชายและเจ้าหญิงต่างตั้งใจเรียนกันอย่างเต็มที่ แต่ถึงกระนั้น ทั้งสี่พระองค์ก็ยังคงไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณครูทั้งสองท่านสอน เจ้าชายและเจ้าหญิงรู้สึกว่าพวกพระองค์ช่างไร้ความสามารถเสียเหลือเกิน ทุกพระองค์จึงได้แต่ปรับทุกข์ให้กันฟังว่า “พวกเราคงไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้ว”
ในขณะนั้นเอง มีชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งเรียนจบวิชาครูมาได้ไม่นานแต่เขามีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อชายหนุ่มทราบข่าวจากเหล่าทหาร เขาจึงรีบเดินทางไปยังพระราชวังโดยเป้าหมายเดียวของเขาคือการช่วยเหลือเจ้าชายและเจ้าหญิงให้มีอนาคตที่สดใส
ครั้นเมื่อพระราชาเห็นชายหนุ่มหน้าอ่อนมาสมัครเป็นคุณครูคนใหม่ แถมเขายังมีผลการเรียนตั้งแต่เด็กจนโตไม่สู้ดีนัก พระราชาจึงตั้งใจที่จะปฏิเสธ แต่โชคดีที่พระราชินีเห็นว่าถ้าไม่ลองก็คงไม่รู้ ชายหนุ่มจึงได้ทดลองสอนเจ้าชายและเจ้าหญิงตามที่ตั้งใจเอาไว้
ชายหนุ่มผู้เรียนหนังสือไม่เก่งเข้าใจความรู้สึกของลูกศิษย์ที่เรียนหนังสือไม่เก่งเป็นอย่างดี ดังนั้น แทนที่เขาจะยัดเยียดความรู้ให้ทุกคนในคราวเดียว เขากลับใช้วิธีการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการวาดภาพประกอบเสริมความเข้าใจ, ดัดแปลงการเรียนเป็นเกมสนุก ๆ แล้วให้ลูกศิษย์ได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ จนเกิดความรู้จากการปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ครูหนุ่มยังชอบสอนหนังสือเพียงครั้งละครึ่งชั่วโมง จากนั้น เขาก็จะชวนลูกศิษย์ให้ลองไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเล่นกีฬา, การวาดภาพ, การทำขนมและการเล่นดนตรีสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน
วิธีการสอนของชายหนุ่มดูแปลกและแตกต่างจากคุณครูคนก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่ดูเหมือนว่าเจ้าชายและเจ้าหญิงจะเข้าใจบทเรียนได้มากกว่าเก่า หนำซ้ำ กิจกรรมที่ได้ลองทำเพิ่ม เติมก็ทำให้เจ้าชายและเจ้าหญิงค้นพบความเก่งกาจที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเองอย่างไม่คาดฝัน
เจ้าชายองค์โตทรงพบว่าพระองค์มีพรสวรรค์ในการเล่นกีฬาแทบทุกชนิด, เจ้าชายองค์รองทรงเพลินกับการเล่นดนตรีอย่างไม่รู้สึกเบื่อ, เจ้าหญิงอีกพระองค์ทรงมีความสุขทุกครั้งที่ได้ปรุงอาหารสูตรอร่อย, ส่วนเจ้าหญิงองค์สุดท้องก็วาดรูปได้สวยงามอย่างยากจะหาใครเทียบได้ เมื่อครูหนุ่มเห็นลูกศิษย์มีความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เขาจึงส่งเสริมให้เจ้าชายและเจ้าหญิงได้ฝึกฝนความสามารถในสิ่งที่ชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าชายและเจ้าหญิงก็มีโอกาสไปแสดงฝีมือตามความถนัดจนผู้คนในอาณาจักรข้างเคียงต่างยกย่องกันโดยถ้วนหน้า
ต่อมา เมื่อข่าวคราวเรื่องความสามารถของเจ้าชายและเจ้าหญิงเล่าลือมาเข้าหูชาวเมือง ผู้คนที่เคยดูแคลนเจ้าชายและเจ้าหญิงว่าเป็นเด็กไม่มีอนาคตก็เริ่มตระหนักว่า เด็กแต่ละคนล้วนมีความสามารถตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ซึ่งหากผู้ใหญ่ช่วยเด็กค้นหาความถนัดทางธรรมชาติจนพบ เด็กคนนั้นก็ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เสมอ
นับจากวันนั้น ชาวเมืองก็เริ่มมีทัศนคติต่อเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่งต่างไปจากเดิม ส่วนเจ้าชายและเจ้าหญิงก็ทรงมีความสุขมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
พระราชากับพระราชินีทรงดีใจที่เห็นลูก ๆ ค้นพบเส้นทางชีวิตในอนาคต ทั้งสองพระองค์จึงตั้งใจจะมอบรางวัลให้แก่ครูหนุ่มผู้สร้างปาฏิหาริย์ แต่ครูหนุ่มกลับปฏิเสธรางวัลที่ทั้งสองพระองค์เสนอให้ โดยเขากล่าวต่อพระราชาและพระราชินีอย่างนอบน้อมว่า “รางวัลอันยิ่งใหญ่ของครูคือการได้เห็นลูกศิษย์มีอนาคตที่สดใส และกระหม่อมก็ได้รางวัลนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
#นิทานนำบุญ
………………….
