นิทานก่อนนอนเรื่อง “เรื่องเล่าจากเกาะทะลุ” เป็นนิทานแนวนิทานสระ หรือนิทานตลก ๆ ก่อนนอนที่อาจใช้เป็นนิทานสอนอ่าน สำหรับให้เด็กได้ฝึกอ่านภาษาไทย แม้คำศัพท์ในนิทานเรื่องนี้อาจจะยากอยู่สักหน่อย แต่เมื่อเด็ก ๆ ได้ฟังนิทานหลาย ๆ ครั้งและเข้าใจความหมายของคำมากขึ้นแล้ว เมื่อต้องอ่านเอง ถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นคำคล้องจองซึ่งลงท้ายด้วยสระอุทั้งหมด ก็น่าจะทำให้เด็ก ๆ คาดเดาคำที่อ่านได้ไม่ยากเกินไปนัก หวังว่านิทานก่อนนอนเรื่อง “เรื่องเล่าจากเกาะทะลุ” จะเป็นนิทานอีกเรื่องที่เด็ก ๆ ชื่นชอบนะครับ
นิทานเรื่อง เรื่องเล่าจากเกาะทะลุ
เรื่องจริง…ไม่ใช่เรื่องกุ
มีเด็กน้อยชื่อว่า ‘วสุ’
เป็นเด็กหน้าตาคิขุ
อาศัยอยู่ที่เกาะทะลุ
ในวันแดดร้อนระอุ
เด็กน้อยมักไปนอนอุตุ
หลบแดดที่เพิงผุผุ
ตรงชายหาดใกล้บ่อน้ำพุ
วันหนึ่ง มีฝูงวัตถุ
คลานมาหาเด็กชายวสุ
พวกมันคือเต่าตนุ
ตัวนิดเดียวแต่ดูอ้วนตุ๊
วสุถามเต่าตนุ
“มาจากไหนโปรดจงระบุ”
พวกเต่าบอกเด็กคิขุ
“ช่วยเราด้วย สาธุ…สาธุ…
พวกเราเจอยักษ์ยอดดุ
เขี้ยวแหลมแหลมแถมแก้มฉุฉุ
มันอยากกินเต่าตนุ
จึงไล่จับเราใส่กระชุ
โชคดีกระชุมันผุ
มีไม้ไผ่เป็นวัสดุ
พวกเราลูกเต่าตนุ
จึงมุดหนีตรงรูทะลุ”
เต่าน้อยอ้อนวอนวสุ
ให้ช่วยปราบเจ้ายักษ์ยอดดุ
ไม่นาน…เด็กน้อยคิขุ
ก็ยอมช่วยเต่าตามแรงยุ
ขั้นแรกเจ้าหนูวสุ
เริ่มจากหาตำราในกรุ
เป็นสูตรยาอันเอกอุ
ตำรับของพระวิษณุ
จากนั้น เด็กน้อยคิขุ
ก็ปรุงยาตามสูตรระบุ
ผสม ‘จุนสีสตุ’
ในเตาไฟที่ร้อนคุคุ
เมื่อเสร็จ..เด็กชายวสุ
ก็บอกกับเหล่าเต่าตนุ
ขออึที่เหม็นตุตุ
ใส่เข้าไปเป็นอันล่วงลุ
พวกเต่าหัวเราะหุหุ
เมื่อทราบสูตรยาของวสุ
เด็กน้อยบอกเต่าตนุ
“อย่าเอ็ดไป จุ๊จุ๊จุ๊จุ๊”
จากนั้น เด็กชายวสุ
ก็ทำการห่อพัสดุ
ส่งให้เจ้ายักษ์หน้าฉุ
หลอกว่าเป็นขนมทองพลุ
เจ้ายักษ์หลงกลวสุ
กินขนมจากพัสดุ
ด้วยความที่มันกินจุ
ฤทธิ์ของยาจึงเริ่มประทุ
สงสาร..เจ้ายักษ์ยอดดุ
ที่ขนพองท้องไส้ระอุ
ฟันฟางก็ค่อยค่อยผุ
หมดเรี่ยวแรงแทบสิ้นอายุ
เมื่อเห็นว่ายักษ์หน้าฉุ
สิ้นฤทธิ์ด้วยยาของวสุ
บรรดาพวกเต่าตนุ
จึงฉลองด้วยการยิงพลุ
นี่คือเรื่องของวสุ
กับการช่วยเหลือเต่าตนุ
จบแล้วนิทานสระอุ
ช่วยหัวเราะ “ฮุฮุฮุฮุ”
#นิทานนำบุญ
—————————
คำศัพท์น่ารู้ :
กระชุ หมายถึง ภาชนะสานอย่างหนึ่งใช้บรรจุของ
กรุ หมายถึง ห้องที่ทำไว้ใต้ดิน
คิขุ หมายถึง น่ารัก (ใช้ในภาษาพูด)
จุนสีสตุ หมายถึง สารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งเป็นส่วนผสมของทองแดงและกำมะถัน
พระวิษณุ หมายถึง เทพเจ้าฮินดูผู้ปกปักรักษาโลก
เอกอุ หมายถึง เป็นเลิศ