Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

เรือรบของพระราชา

นิทานก่อนนอนเรื่อง “เรือรบของพระราชา” เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ได้แนวความคิดมาจากเรื่องราวที่ได้ฟังสมัยไปอยู่ที่ประเทศสวีเดนเกี่ยวกับเรือรบลำหนึ่ง เรื่องราวของเรือลำนี้มีความสำคัญมาก จนมีการสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ส่วนเรื่องราวในนิทาน “เรือรบของพระราชา” เป็นเรื่องที่ผมแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด (ไม่มีตัวละครหรือเรื่องราวส่วนใดเกี่ยวข้องกับเรื่องจริงในอดีตเลย) นิทานก่อนนอนเรื่องนี้อาจใช้เป็นสื่อก่อนสอนเด็ก ๆ ในเรื่องการลอยการจม หรือในเรื่องสะเต็มศึกษา(Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM Education) หวังว่านิทานเรื่องนี้จะให้ทั้งความสนุกและประโยชน์แก่ทุก ๆ คนนะครับ

นิทานเรื่อง  เรือรบของพระราชา

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ในสมัยที่ทุกเขตแคว้นมีแต่ความสงบสุข   มีเจ้าชายองค์หนึ่ง ทรงมีจิตใจหยาบกระด้างและชอบทำสงครามเป็นที่สุด    เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาสืบต่อจากพระบิดา   พระองค์จึงวางแผนที่จะไปรุกรานอาณาจักรอื่น ๆ  เพื่อขยายดินแดนของตนเองให้กว้างใหญ่ไพศาลมากกว่าที่เป็นอยู่  

ในขณะที่พระราชาองค์ใหม่เตรียมไพร่พลและอาวุธสำหรับการออกรบ   พระราชาแห่งอาณาจักรอื่น ๆ กลับไม่ระแคะระคายถึงภยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาเลยแม้แต่น้อย  ด้วยเหตุนี้เอง  เมื่อพระราชาผู้มีจิตใจหยาบกระด้างยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ  พระองค์และเหล่าทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจึงสามารถเอาชนะการต่อสู้ได้ง่ายดายราวกับพลิกฝ่ามือ

ไม่ช้าไม่นานนัก  กองทัพของพระราชาก็ยึดครองอาณาจักรที่อยู่ใกล้เคียงได้จนหมด  พระราชาทรงปลื้มปีติต่อชัยชนะของตนเองมาก   พระองค์กวาดต้อนผู้คนและยึดทรัพย์สินจากเมืองที่แพ้สงครามมาเป็นจำนวนมากมาย  แต่พระราชาผู้คลั่งสงครามก็ยังคงไม่พอใจเพียงแค่นั้น  เพราะพระองค์ทรงอยากประกาศแสนยานุภาพโดยทำสงครามขยายอาณาเขต (และทำลายความสงบสุข) ออกไปให้ไกลจนสุดขอบโลก

เมื่อพระราชาตั้งใจที่จะรุกรานดินแดนอื่น ๆ ต่อไปอีก  พระองค์จึงตัดสินใจสร้างเรือรบเพื่อใช้เดินทางข้ามมหาสมุทรไปทำสงครามยังทวีปต่าง ๆ    แต่เนื่องจากพระราชาไม่ชอบเรือรบธรรมดา ๆ อย่างที่เคยมีมาในอดีต  พระองค์จึงลงมือออกแบบเรือรบด้วยตัวของพระองค์เอง

เรือรบที่พระราชาทรงวาดหวังไว้เป็นเรือรบขนาดยักษ์ที่สามารถบรรทุกทหารได้ถึงหนึ่งหมื่นคน  โดยเรือของพระองค์ต้องบรรทุกปืนใหญ่และปืนยาวได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นกระบอก  นอกจากนี้  ทั่วลำเรือยังจะต้องมีเพชรนิลจินดา รวมทั้งทองคำแท้ ๆ ประดับตกแต่งเพื่อแสดงความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้ชาวโลกได้รับรู้อีกด้วย

เมื่อพระราชาวาดแบบเรือเสร็จ  เหล่าทหารก็เกณฑ์เชลยศึกจากเมืองต่าง ๆ ให้ช่วยกันสร้างเรือรบขนาดยักษ์ตามความนึกฝันของพระราชาผู้บ้าอำนาจ   ชาวเมืองผู้แพ้สงครามต้องทำงานตามคำสั่งของพวกทหารกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ   คนที่ขัดขืนหรือทำงานไม่ไหวจะถูกทหารของพระราชาเฆี่ยนตีโดยไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก ผู้หญิงหรือคนชรา  เชลยศึกทุกคนต่างรู้สึกว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในขุมนรก!  

เวลาผ่านไปจนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว   ผู้คนที่ถูกบังคับให้สร้างเรือรบค่อย ๆ หมดแรงกายและแรงใจลงเรื่อย ๆ  ซึ่งหลังจากการแก้ไขและต่อเติมเรือรบตามความฟุ้งฝันของพระราชาซ้ำ-แล้วซ้ำเล่า  ในที่สุด  เรือรบที่มีความสูงเท่ากับตึกเจ็ดชั้น มีขนาดใหญ่กว่าพระราชวังถึงสิบเท่า และประดับประดาด้วยเพชรพลอยและทองคำสุกปลั่ง ก็พร้อมที่จะพากองทัพของพระราชาไปแสดงแสนยานุภาพให้ชาวโลกได้ประจักษ์

เมื่อถึงวันปล่อยเรือ  พระราชาและเหล่าทหารเกือบทั้งหมดพากันขึ้นเรือรบลำยักษ์ด้วยความฮึกเหิม  แสงอาทิตย์ส่องกระทบกับทองคำและเหลี่ยมมุมของเพชรพลอยทำให้เรือรบดูเปล่งประกายเจิดจรัส  แต่ในขณะที่เรือรบเคลื่อนตัวสู่ห้วงสมุทรอันหนาวเหน็บ   จู่ๆ สิ่งที่ทุก ๆ คนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น!

เพราะหลังจากที่เรือรบลำยักษ์มุ่งหน้าออกทะเลไปได้เพียงไม่กี่อึดใจ  น้ำหนักของปืนในเรือและรูปร่างที่สูงผิดปกติของเรือก็ทำให้เรือรบเริ่มเอียงและเอียงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

และก่อนที่เรือรบจะเคลื่อนตัวพ้นเส้นขอบฟ้า  เรือรบลำมหึมาที่บรรทุกพระราชา เหล่าทหาร ปืนใหญ่ ปืนยาวและเครื่องตกแต่งอันเลิศหรู ก็ค่อย ๆ จมลงสู่มหาสมุทรอันเย็นยะเยือก…ท่ามกลางความตื่นตะลึงของเหล่าเชลยศึกที่เฝ้ามองอยู่บนฝั่ง

ไม่มีใครในเรือสักคนเดียวที่สามารถว่ายน้ำกลับเข้าสู่ฝั่งได้  น้ำทะเลอันหนาวเหน็บแช่แข็งทุกสิ่งทุกอย่างให้จมอยู่ใต้น้ำตลอดชั่วกัลปาวสาน  เชลยศึกทุกคนนึกขอบคุณสวรรค์ที่ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากซึ่งเกิดจากพระราชาผู้คลั่งสงครามให้ผ่านพ้นไปอย่างที่พวกเขาเองก็คาดไม่ถึง  

ในที่สุด  คนใจร้ายก็พบจุดจบที่เลวร้าย และความสงบสุขก็กลับคืนสู่ชีวิตของคนที่รักความสงบสุขอีกครั้ง 

#นิทานนำบุญ

………………………..

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.