คำว่า “ความเท่าเทียม” เป็นคำที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ได้ยินมานาน ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัด คือสมัยที่ได้ฟังเพลง “สองเราเท่ากัน” ของเรวัต พุทธินันทน์ ที่พูดถึงความเท่าเทียมของผู้ชายผู้หญิงที่ควรก้าวเดินไปพร้อม ๆ กันอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในโลกของเด็ก คำว่า “ความเท่าเทียม” ไม่ได้มีความหมายแบบในโลกของผู้ใหญ่ เด็กรู้จักการแบ่งขนมให้เท่า ๆ กัน แบ่งของเล่นให้เท่า ๆ กัน แต่ถ้าแบ่งแล้วไม่เป๊ะ ก็มองข้ามได้ เพราะแทนที่จะมานั่งปวดหัวกับเรื่องแบบนี้ สู้กินขนมให้เสร็จ ยิ้มให้กัน แล้วไปเล่นกันต่อดีกว่า มิตรภาพในป่าเท่าเทียมเป็นนิทานเด็กที่ผมแต่งไว้ราว 10 ปีแล้ว แต่ข้อคิดของนิทานเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลาย ๆ คน
นิทานเรื่อง มิตรภาพในป่าเท่าเทียม
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีลูกช้าง ลูกกระต่าย และลูกเต่าเป็นเพื่อนกัน
ลูกช้าง ลูกกระต่าย และลูกเต่า เกิดในป่าเท่าเทียม ซึ่งทุกสิ่งทุกทุกอย่างในป่าแห่งนี้มีขนาดที่เท่า ๆ กันไปหมด ส่วนนกน้อยเพิ่งเดินทางเข้ามาในป่าได้ไม่นาน และเพิ่งเป็นเพื่อนกับลูกสัตว์ทั้งสามได้เพียงไม่กี่วัน มันจึงมีขนาดตัวที่แตกต่างจากเพื่อน ๆ และแตกต่างกับทุกสิ่งทุกอย่างในป่าเท่าเทียม จนเพื่อนทั้งสามคิดว่าคงต้องหาทางช่วยให้นกน้อย “เหมือน” กับทุก ๆ สิ่งในป่าโดยเร็วที่สุด
ลูกเต่ายิ้มให้นกน้อยแล้วบอกว่า “ฉันจะหาอาหารที่มีขนาดเท่ากับตัวฉัน มาให้เธอกินนะ เธอก็แค่กิน ๆ ๆ กินจนกว่าจะตัวโตเท่ากับฉัน สู้ ๆ นะ…เพื่อนรัก”
ลูกกระต่ายยิ้มให้นกน้อยแล้วบอกว่า “ส่วนฉันจะฝึกให้เธอกระโดดดึ๋ง ๆ ๆ ๆ ผ่านป่าที่ต้นไม้ทุกต้น ก้อนหินทุกก้อน มีขนาดเท่ากับตัวฉัน ฉันจะฝึกให้เธอมีร่างกายที่แข็งแรงและค่อย ๆ เติบโตจนมีขนาดตัวเท่ากับฉันให้ได้ สู้ ๆ นะ…เพื่อนรัก”
ลูกช้างอมยิ้มแล้วพูดขึ้นบ้างว่า “ถ้าสองวิธีแรกไม่ได้ผล ฉันจะใช้งวงจุ๊บที่ปากของเธอ แล้วเป่าลมปู้ด ๆ ๆ ๆ ให้เธอพองลมจนตัวโตเท่ากับทุกสิ่งทุกอย่างในป่า พวกเรารักเธอมากนะ สู้ ๆ นะ…เพื่อนรัก”
นกน้อยฟังเพื่อน ๆ พูดจนจบ มันครุ่นคิดอยู่สักพัก แล้วมันก็ถามเพื่อน ๆ ว่า “เอ่อ.. ฉันอยากรู้จัง ที่พวกเธอยอมรับให้ฉันเป็นเพื่อน พวกเธอชอบฉันที่ตรงไหนกันเหรอจ๊ะ”
ลูกเต่ารีบตอบทันทีว่า “ฉันชอบที่เธอให้เกียรติและเอ่ยปากขอเป็นเพื่อนกับพวกเราก่อนยังไงล่ะ มันทำให้รู้สึกดีจริง ๆ เลยนะ”
ลูกกระต่ายคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า “ฉันชอบเวลาเธอพูด เธอพูดเพราะ ฟังแล้วสบายใจ”
ส่วนลูกช้างตอบว่า “ฉันชอบเวลาเธอร้องเพลงนะ ฟังทีไร เพลินทุกทีเลยล่ะ”
นกน้อยฟังคำตอบของเพื่อน ๆ แล้วก็ยิ้ม จากนั้น มันก็บอกกับเพื่อน ๆ ว่า “ถ้าพวกเธอรับฉันเป็นเพื่อนโดยไม่เกี่ยวข้องกับขนาดร่างกายของฉัน ฉันอยากจะขอเป็นตัวเองแบบนี้ต่อไปจะได้ไหม เพราะฉันก็ชอบพวกเธออย่างที่พวกเธอเป็นเหมือนกันนะจ๊ะ”
คำพูดของนกน้อยทำให้ลูกสัตว์ทั้งสามได้คิด
การเปลี่ยนให้เพื่อนมีขนาดตัวเหมือนเราไม่ใช่สิ่งที่เท่าเทียมกันเลย แต่การรักและให้เกียรติเพื่อนอย่างเท่าเทียมกับที่เพื่อนรักและให้เกียรติเราต่างหาก ที่เป็นความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
ลูกสัตว์ทั้งสามตัวขอโทษนกน้อยที่คิดจะเปลี่ยนเพื่อนรักให้เป็นอย่างที่ตนเองอยากให้เป็น แทนที่จะยอมรับในสิ่งที่เพื่อนเป็นอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อลูกสัตว์ทั้งสี่ปรับความเข้าใจจนตรงกัน มิตรภาพของพวกมันจึงราบรื่น
และแล้ว ลูกช้าง, ลูกกระต่าย, ลูกเต่าและนกน้อยก็คบหาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันสืบมาตราบนานเท่านาน
#นิทานนำบุญ
……………………….
