นิทานก่อนนอนไทยพื้นบ้านเรื่อง “คนต่อเทียน” เป็นนิทานที่มีความหมายสำหรับผมมาก ตอนที่ผมแต่งนิทานเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจว่าผู้อ่านจะชอบนิทานเรื่องนี้ไหมหรือจะเข้าใจเนื้อหาของนิทานไหม แต่หัวใจของนิทานเรื่องนี้คือสิ่งที่ผมเชื่อจริง ๆ เหมือนที่ผมเลือกแต่งนิทาน เพราะผมเชื่อว่า การทำให้เด็กมีความสุขเป็นสิ่งที่ผมควรทำ
หลังจากนิทานได้พิมพ์ลงในนิตยสารขวัญเรือนไปแล้ว นิทานเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับเสียงสะท้อนใด ๆ จากผู้อ่าน (ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) แต่เมื่อผมนำนิทานเรื่องนี้ไปพิมพ์เป็นหนังสือภาพกับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ หนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง “คนต่อเทียน” ก็ได้รับรางวัลราว 3-4 รางวัล รวมถึงรางวัลที่สำคัญที่สุดในอาชีพนักเขียนนิทานของผม แต่ถ้อยคำในหนังสือคนต่อเทียน กับ นิทานต้นฉบับมีความแตกต่างกันตามรูปแบบของสื่อหนังสือภาพและสื่อนิทาน ดังนั้น ผมจึงอยากเชิญชวนให้คุณผู้อ่านลองอ่านนิทานเรื่องนี้ในแบบดั้งเดิม และถ้าถูกใจอาจลองหาฉบับหนังสือภาพของสำนักพิมพ์สถาพรบุ้กส์มาอ่านอีกครั้ง ผมเชื่อว่านิทานและหนังสือภาพเรื่อง “คนต่อเทียน” เป็นผลงานที่มีคุณค่าสำหรับเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตครับ
นิทานเรื่อง คนต่อเทียน
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในป่าลึกที่ห่างไกลจากความเจริญ ผู้คนในหมู่บ้านล้วนแล้วแต่เป็นคนยากจนและมีชีวิตที่ลำบาก หนำซ้ำ…หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน ชาวบ้านทุกคนก็แทบจะไม่กล้าออกจากเรือนพัก เพราะรอบ ๆ หมู่บ้านเป็นป่าทึบที่แม้แต่แสงจันทร์ก็ยังยากที่จะส่องลงมาได้ ทำให้สัตว์ร้ายต่าง ๆ มักแฝงตัวอยู่ในความมืด แล้วหาโอกาสทำร้ายชาวบ้านหรือนักเดินทางที่บังเอิญผ่านไปผ่านมาอยู่เสมอ ๆ
วันหนึ่ง ชายชราซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของหมู่บ้านรู้สึกเป็นห่วงลูก ๆ หลาน ๆ และผู้คนที่อาจโดนสัตว์ป่าทำร้ายไม่วันใดก็วันหนึ่ง ชายชราจึงปรึกษากับภรรยาที่มีอายุไล่เลี่ยกันเพื่อหาวิธีป้องกันอันตรายให้แก่ทุก ๆ คน
หลังจากที่สองตายายปรึกษาหารือกันอยู่หลายวัน ในที่สุด ทั้งคู่ก็ตัดสินใจนำเงินที่ตั้งใจเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตไปซื้อเทียนไขจำนวนหนึ่งหมื่นเล่ม แล้วทำการจุดเทียน พร้อมกับนำมันไปติดตั้งบนก้อนหินทั้งในตัวหมู่บ้านและในราวป่า จนหมู่บ้านและป่าที่เคยมืดสนิทในยามค่ำคืนกลับสว่างไสวด้วยแสงเทียนดูงามตาน่าพิศวง
แสงเทียนที่งดงามทำให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศอยากรู้ว่าแสงสว่างกลางป่ามีที่มาอย่างไร ชาวเมืองที่อยู่ห่างไกลบางคนเข้าใจว่า ผู้ที่นำเทียนมาติดตั้งในป่าอาจเป็นคนของพระราชาผู้ครองแคว้น, บางคนเดาว่าอาจเป็นความเมตตาของเศรษฐีใจบุญที่มีเงินมหาศาล, บางคนคิดไปว่าอาจเป็นฝีมือของเทวดาที่แอบมาช่วยเหลือมนุษย์ เมื่อความสงสัยทวีมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวเมืองทั้งหลายจึงพากันเข้าไปในป่าเพื่อหาคำตอบ
เมื่อชาวเมืองทั้งหลายพากันเข้ามาในป่า พวกเขาก็เห็นชายชรากับภรรยาค่อย ๆ เดินจุดเทียนไปทีละเล่ม ๆ จนครบทั้งหนึ่งหมื่นเล่มอย่างไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย หลังจากนั้น ชาวเมืองก็ตามสองตายายกลับไปที่เรือนพัก ซึ่งเพียงแค่เห็นสภาพของเรือนพัก ทุกคนก็รู้ในทันทีว่า ผู้เฒ่าทั้งสองไม่น่าจะเป็นคนที่มีเงินทองเหลือกินเหลือใช้แต่อย่างใดเลย
ชาวเมืองทั้งหลายจึงสงสัยว่า ชายชรากับภรรยาได้อะไรจากการจุดเทียนไปทั่วทั้งป่า (หรือมีคนจ้างวานให้ทำเช่นนี้) แต่เมื่อชาวเมืองได้ฟังคำตอบของผู้เฒ่าทั้งสอง ชาวเมืองก็ถึงกับพูดไม่ออก เพราะทั้งคู่ตอบว่า สิ่งที่ได้จากการจุดเทียนมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น
จริง ๆ แล้ว สองตายายผู้คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในป่าไม่จำเป็นต้องอาศัยแสงสว่างในยามค่ำคืนเลยแต่เพียงเพราะผู้เฒ่าทั้งสองอยากป้องกันภัยให้ลูก ๆ หลาน ๆ ในหมู่บ้านของตัวเองและผู้คนทั้งหลายที่อาจจำเป็นต้องเดินทางผ่านป่าในยามค่ำคืน ชายชราและภรรยาจึงเสียสละเงินส่วนตัวก้อนสุดท้ายและเรี่ยวแรงที่มี ทำการจุดเทียนหนึ่งหมื่นเล่มทุกวันเพื่อให้ทุก ๆ คนปลอดภัยจากสัตว์ร้ายในป่า
ความตั้งใจดีของสองตายายจุดประกายให้ทุก ๆ คนนึกอยากทำความดีเพื่อผู้อื่นบ้าง ชาว เมืองทั้งหลายจึงผลัดกันนำเทียนเล่มใหม่มาแทนเทียนหนึ่งหมื่นเล่มของชายชราและภรรยาที่ค่อย ๆ สั้นลงทุกวัน ๆ รวมทั้งพวกเขายังบริจาคเงินทองและแบ่งปันข้าวของให้แก่ชาวบ้านในป่าที่มีฐานะยากจนกว่าอีกด้วย
ส่วนชาวบ้านในป่านั้น พวกเขาก็นำอ่างใส่น้ำดื่มมาตั้งไว้ที่หน้าบ้าน, ทำเพิงนั่งพักให้คนที่เหนื่อยอ่อนจากการเดินทางได้ใช้หลบแดด, ติดป้ายและกระดิ่งที่ประตูให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือเรียกหาได้ทุกเวลา, จัดขนมผัดขนมต้มและผลไม้วางไว้ให้นักเดินทางได้ใช้รองท้อง และพยายามเสนอตัวช่วยเหลือคนทุกคนตามกำลังที่มีอยู่
ความดีที่ผู้สูงอายุทั้งสองได้กระทำลงไปเปรียบเหมือนการเริ่มต้นจุดเทียนให้แสงสว่างแก่สังคมที่มืดมิด แม้ในตอนแรกแสงอาจยังน้อย แต่เมื่อผู้คนเห็นดีเห็นงามกับการทำความดีและพร้อมใจกันต่อเทียนแห่งความดีด้วย ทุกหนทุกแห่งจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความดีงามและความสุข
สองตายายดีใจมากที่ได้เห็นคนทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนผู้คนทั้งหลายนั้น เมื่อพวกเขาเล็งเห็นถึงจิตใจอันดีงามของผู้เฒ่าทั้งสอง ทุกคนจึงช่วยกันดูแลชายชราและภรรยาผู้เป็นบุคคลต้นแบบให้มีความสุขสืบมา…ตลอดชั่วชีวิตของท่าน
#นิทานนำบุญ
…………………………..

เป็นนิทานที่ดีมากเลยคะ สามารถนำมาเป็นคติสอนใจได้ด้วย
LikeLike
ขอบคุณมาก ๆ นะครับ ช่วยกันทำความดีต่อ ๆ กันนะครับ
LikeLike
อ่านให้ลูกฟังก่อนนอน ดีมากๆเลยค่ะ
LikeLike