Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

แอปเปิ้ลให้เพื่อน

นิทานก่อนนอนเรื่อง “แอปเปิ้ลให้เพื่อน” เป็นนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ที่สะท้อนให้เห็นว่า ศาสนาชินโตที่คนญี่ปุ่นนับถือ มีสาระสำคัญไม่ต่างจากศาสนาอื่น ๆ คือการกล่อมเกลาให้คนมีจิตใจที่ดีงาม นอกจากนี้ การนับถือศาสนาชินโตยังส่งผลให้คนญี่ปุ่นมองโลกในแง่ดี มีความยืดหยุ่น ยอมรับความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี

นิทานก่อนนอนเรื่อง “แอปเปิ้ลให้เพื่อน” เป็นนิทานญี่ปุ่นสั้น ๆ ที่น่ารักและมีข้อคิดสอนใจ ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ได้อ่านนิทานเรื่องนี้จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง แล้วประทับใจ จึงลองนำต้นฉบับมาเรียบเรียงให้อ่านได้ง่ายขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเนื้อเรื่องแบบเดิมเอาไว้ทั้งหมด หวังว่านิทานญี่ปุ่นพร้อมข้อคิดเรื่องนี้ จะทำให้เด็ก ๆ มีความสุขกับการฟังนิทานก่อนนอนนะครับ

นิทานเรื่อง แอปเปิ้ลให้เพื่อน

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเกษตรกรคนหนึ่งมีลูกชาย 4 คน

ลูกชายคนโตมีชื่อว่า “ทาโร่” ลูกชายคนรองมีชื่อว่า “จิโร่” ลูกชายคนที่สามชื่อว่า “ซาบุโร่” ส่วนลูกชายคนสุดท้องน้องสุดท้ายมีชื่อว่า “ชิโร่”

(แต่เนื่องจากชื่อเหล่านี้อาจทำให้เด็ก ๆ ในเมืองไทยสับสน ผู้เรียบเรียงจึงขอใช้ชื่อเล่นต่อไปนี้ แทนชื่อลูก ๆ แต่ละคน คือ ลูกคนโตที่ชื่อทาโร่ ขอเรียกเล่น ๆ ว่า “หนึ่งโร่” ลูกคนรองที่ชื่อจิโร่ ขอเรียกเล่น ๆ ว่า “สองโร่” ลูกชายคนที่สามที่ชื่อ “ซาบุโร่” ขอเรียกเล่น ๆ ว่า “สามบุโร่” และลูกชายคนที่สี่ที่ชื่อ “ชิโร่” ขอเรียกเล่น ๆ ว่า “เตาอั้งโล่” อุ๊ย! เรียกว่า “สี่โร่” ดีกว่า)

วันหนึ่ง เกษตรกรผู้เป็นพ่อเดินทางเข้าไปในเมือง แล้วพบแอปเปิ้ลผลใหญ่กว่าปกติมาก ๆ วางขายอยู่ คุณพ่อจึงซื้อแอปเปิ้ลกลับมาด้วย 7 ผล

หนึ่งโร่ สองโร่ สามบุโร่ ได้รับแอปเปิ้ลยักษ์จากคุณพ่อคนละ 2 ผล รวมเป็น 6 ผล

ส่วนน้องเตาอั้งโล่ เอ้ย! สี่โร่ ได้แอปเปิ้ลเพียงแค่ผลเดียว เพราะเป็นน้องคนเล็กที่ยังเป็นเด็กน้อยอยู่

เมื่อพ่อมอบแอปเปื้ลให้ลูก ๆ แล้ว พ่อจึงกำชับกับลูก ๆ ว่า “แอปเปิ้ลแบบนี้หากินยาก เป็นแอปเปิ้ลอย่างดี เอาไปกินซะนะ อย่าเอาไปให้ใครกินล่ะ”

ในคืนต่อมา พ่อเรียกลูก ๆ ทั้งสี่มาหาอีกครั้ง แล้วถามลูกทีละคนเกี่ยวกับแอปเปิ้ลที่ได้รับไป

พ่อถามอั้งโล่ เอ้ย! สี่โร่ลูกคนเล็กก่อนว่า “แอปเปิ้ลเป็นยังไงบ้างลูก?”

สี่โร่แลบลิ้นเลียริมฝีปากแล้วตอบพ่อว่า “ผมกินหมดแล้ว หมดเกลี้ยงเลย อร่อยมาก ๆ”

พ่อยิ้มแล้วถามหนึ่งโร่ลูกชายคนโตบ้างว่า ” แล้วลูกล่ะ แอปเปิ้ลเป็นยังไงบ้าง?”

หนึ่งโร่ตอบว่า “ผมกินหมดแล้ว มันอร่อยมาก แล้วผมก็เอาเมล็ดของมันไปปลูกเรียบร้อยแล้วครับ” พ่อยิ้มพร้อม ๆ กับชมหนึ่งโร่ว่า “เยี่ยมเลย เจ้านี่สมกับเป็นลูกชายคนโตของเกษตรกรจริง ๆ”

หลังจากนั้น พ่อก็ถามสองโร่ลูกชายคนรองว่า “แล้วเจ้าล่ะ แอปเปิ้ลเป็นยังไงบ้าง?”

สองโร่ตอบพ่อเขิน ๆ ว่า “ผมยังไม่ได้กินหรอกพ่อ คือ ผมเอาแอปเปิ้ลไปให้เพื่อนดู เพื่อนอยากกิน ผมก็เลยขายไปทั้งสองลูก ได้กำไรเยอะเลยครับ” พ่อส่ายหัวด้วยความเอ็นดูแกมระอาใจ แล้วจึงพูดว่า “เจ้านี่ชอบทำอะไรออกนอกลู่นอกทางอยู่เรื่อย ซื้อมาให้กินกลับเอาไปขาย แต่ก็ยังดีที่มีหัวการค้า”

ท้ายสุด พ่อหันมาถามลูกชายคนที่สามบ้างว่า “แล้วเจ้าล่ะสามบุโร่ แอปเปิ้ลเป็นยังไงบ้าง?”

สามบุโร่เป็นคนหัวอ่อน พูดน้อย แต่จิตใจดี เมื่อพ่อถาม เขากลับก้มหน้าหลบสายตาพ่อ และไม่ยอมตอบพ่อ จนพ่อต้องถามเขาอีกหลายครั้ง

พ่อเห็นท่าทางของลูกชายก็พอจะคาดเดาได้ พ่อจึงบ่นออกมาว่า “อุตส่าห์ซื้อแอปเปิ้ลอย่างดีมาฝาก แต่พอให้อะไรไป เจ้าก็คงเอาไปแบ่งให้คนอื่นเหมือนทุกครั้งอีกใช่ไหม”

สามบุโร่เม้มปาก ตาแดง เหมือนคนที่กำลังจะร้องไห้ เด็กหัวอ่อนที่เชื่อฟังพ่อรู้สึกผิด จากนั้น เขาก็สารภาพกับพ่อว่า “พอดี….เพื่อนของผมไม่สบายมาก เขานอนป่วยอยู่หลายวันแล้ว ผมเลย….เอาแอปเปิ้ลอย่างดีที่พ่อให้ เอาไปให้เขา แต่ผมไม่ได้เอาไปให้เขากินนะ ผมแค่…..แค่วางไว้ที่ข้างเตียงของเขาเฉย ๆ แล้วก็กลับมา”

สามบุโร่บอกพ่อ เหมือนอยากบอกให้พ่อรู้ว่า เขาไม่เคยลืมคำที่พ่อกำชับไว้เลย แต่เขาอยากให้กำลังใจเพื่อนที่ป่วยอยู่

เมื่อพ่อมองลูกชายผู้มีจิตใจดีงาม พ่อก็ส่งยิ้มให้สามบุโร่อย่างอ่อนโยน จากนั้น พ่อก็พูดกับลูก ๆ ทุกคนว่า “สามบุโร่เป็นคนที่มีจิตใจดี ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา สิ่งที่พวกเราต้องจำไว้คือ พวกเราต้องไม่ลืมหัวใจดีงามแบบนี้นะ”

ลูก ๆ ทุกคนพยักหน้าและมองสามบุโร่ด้วยความชื่นชม ในที่สุด นิทานเรื่องนี้ก็จบลงอย่างมีความสุข

#นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น

…………………

2 thoughts on “แอปเปิ้ลให้เพื่อน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.