Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

เรื่องเล่าขานจากหมู่บ้านผลไม้

นิทานก่อนนอนเรื่อง “เรื่องเล่าขานจากหมู่บ้านผลไม้” เป็นนิทานนำบุญเรื่องใหม่ล่าสุดที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้เด็ก ๆ ในช่วงปีใหม่ 2565 หวังว่านิทานก่อนนอนเรื่องนี้จะทำให้เด็ก ๆ มีความสุขและได้แนวคิดดี ๆ จากการอ่านนิทานนะครับ

นิทานเรื่อง เรื่องเล่าขานจากหมู่บ้านผลไม้

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในเรื่องการปลูกผลไม้  ทุก ๆ ปี  ชาวบ้านจะปลูกผลไม้ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากพวกเขาจะส่งผลไม้ไปขายยังเมืองต่าง ๆ แล้ว  ชาวบ้านผู้มีน้ำใจยังมักจะนำผลไม้อร่อย ๆ ไปมอบให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงอยู่เสมอ

อยู่มาวันหนึ่ง  เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้น  ซึ่งโรคร้ายทำให้ไม้ผลสารพัดชนิดของหมู่บ้านแห่งนี้ล้มตายไปจนหมดสิ้น  เหล่าชาวบ้านจึงจำเป็นต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อขอเมล็ดของผลไม้มาปลูกทดแทนต้นไม้ทั้งหลายที่ตายไป

แต่อนิจจา… เมื่อชาวบ้านเอ่ยปากขอเมล็ดพันธุ์จากผู้คนในหมู่บ้านรอบข้าง  แทนที่ผู้คนเหล่านั้นจะคิดถึงความเอื้อเฟื้อที่เหล่าชาวบ้านเคยนำผลไม้มามอบให้เป็นประจำ  พวกเขากลับปฏิเสธและขับไล่ชาวบ้านผู้มีน้ำใจไปอย่างไม่แยแส   มิหนำซ้ำ  พวกเขายังคิดหาทางส่งผลไม้ไปขายแทนหมู่บ้านแห่งเก่าอีกด้วย

หลังจากที่เหล่าชาวบ้านถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า  พวกเขาก็เริ่มหมดกำลังใจและไม่อยากทำความดีหรือช่วยเหลือใคร ๆ อีก!    

เมื่อเด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกของชาวบ้านทั้งหลายเห็นพ่อแม่ของพวกเขาท้อแท้และหมดหวัง  เด็กทั้งหมู่บ้านจึงแอบมาปรึกษากัน  แล้วตัดสินใจที่จะเข้าป่าเพื่อหาผลไม้มาให้พ่อแม่ปลูกทดแทนผลไม้ที่เคยมีอยู่

เช้าวันรุ่งขึ้น  เด็กทั้งหมู่บ้านพากันเดินทางเข้าป่าด้วยความมุ่งมั่น  แม้หนทางจะยาก ลำบาก  แต่พวกเขาก็ไม่ยอมท้อถอย  จนในที่สุด  เด็ก ๆ ก็เก็บผลไม้มาได้ถึงห้าชนิด คือ ส้ม มะม่วง ชมพู่ น้อยหน่าและมะละกอ   แม้ว่าผลไม้ป่าที่เด็ก ๆ เก็บมาได้จะมีขนาดเล็กและไม่งามเหมือนผลไม้ที่เคยมีในหมู่บ้าน  แต่พวกเขาก็มั่นใจว่าผู้ใหญ่น่าจะปลูกและพัฒนาพันธุ์ให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

ระหว่างทางที่เด็ก ๆ ช่วยกันหอบผลไม้กลับไปยังหมู่บ้าน   จู่ ๆ พวกเขาก็พบลูกยักษ์ตนหนึ่งนอนหมดแรงอยู่ที่ริมแม่น้ำใหญ่  เมื่อเจ้าลูกยักษ์เห็นเด็ก ๆ เดินทางผ่านมา   เจ้าลูกยักษ์จึงขอผลไม้จากเด็ก ๆ มากินเพื่อประทังชีวิต

ทันทีที่เด็ก ๆ ได้ฟังคำขอร้องของลูกยักษ์ที่น่าสงสาร  เด็ก ๆ  ผู้มีจิตใจเอื้ออารีจึงมอบผลไม้ทั้งหมดให้แก่เจ้าลูกยักษ์    เจ้าลูกยักษ์รีบขอบคุณเด็ก ๆ ผู้มีน้ำใจ  แล้วมันก็จัดการหม่ำผลไม้ที่เด็ก ๆ ให้จนไม่เหลือแม้แต่เมล็ด   

หลังจากที่เด็ก ๆ เห็นว่าเจ้าลูกยักษ์กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมแล้ว  เด็กทั้งหมดจึงตั้งท่าจะเดินทางเข้าป่าเพื่อหาผลไม้ไปปลูกอีกครั้ง  แต่เนื่องจากเจ้าลูกยักษ์อยากตอบแทนน้ำใจของเด็ก ๆ มันจึงเชิญเด็กทุกคนให้ไปกินอาหารเย็นที่บ้านของมันเสียก่อน  

ณ บ้านของเจ้าลูกยักษ์  แม่ยักษ์บรรจงทำอาหารเลี้ยงเด็ก ๆ ที่ช่วยเหลือลูกของนางอย่างสุดฝีมือ   และเมื่อทุกคนกินอาหารจนอิ่ม  แม่ยักษ์ก็นำเอาส้ม มะม่วง ชมพู่ น้อยหน่าและมะละกอซึ่งมีขนาดมหึมา (เพราะเป็นผลไม้ของยักษ์)  ออกมาให้เด็ก ๆ กินเป็นการปิดท้าย

ผลไม้ของยักษ์มีรสชาติอร่อยอย่างวิเศษ  เมื่อเด็ก ๆ ได้ชิมแล้ว พวกเขาจึงขออนุญาตนำเมล็ดของผลไม้เหล่านั้นกลับไปปลูกที่หมู่บ้าน

แม่ยักษ์ลังเลอยู่สักพัก  แต่เมื่อลูกยักษ์ช่วยขอร้อง  แม่ยักษ์จึงยอมให้เด็ก ๆ นำเมล็ดของผลไม้เหล่านั้นกลับไปปลูกได้ 

เมื่อเด็ก ๆ ช่วยกันแบกเมล็ดของผลไม้กลับไปถึงหมู่บ้าน  พวกเขาก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พ่อกับแม่ฟัง  พ่อแม่ของเด็ก ๆ ต่างรู้สึกละอายใจที่พวกเขาคิดจะเลิกทำดีต่อผู้อื่น  เพราะจริง ๆ แล้ว พวกเขาก็คือคนที่คอยพร่ำสอนให้ลูก ๆ เป็นคนดีมีน้ำใจมาโดยตลอดนั่นเอง   

พ่อแม่ทุกคนพากันขอบใจลูกที่ทำให้พวกเขาหูตาสว่างขึ้น  เพราะท้ายที่สุด  คนที่ทำดีก็ย่อมได้สิ่งที่ดีตอบแทนเสมอ    เมื่อพ่อแม่ของเด็ก ๆ คิดได้เช่นนั้นแล้ว  พวกเขาจึงตั้งใจที่จะเป็นคนดีต่อไปอย่างไม่ลังเลอีก 

หลังจากวันนั้น  ชาวบ้านทุกคนก็ช่วยกันเพาะเมล็ดของผลไม้ที่เด็ก ๆ นำกลับมา  จนเมล็ดของผลไม้ทั้งห้าชนิดค่อย ๆ งอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่และออกผลชวนให้คนที่เห็นถึงกับน้ำลายไหล

แน่นอนว่า…ชาวบ้านผู้มีน้ำใจจัดการส่งผลไม้เหล่านั้นไปขายจนเกิดรายได้มากมาย-มหาศาล  แต่ในขณะเดียวกัน  พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะแบ่งปันผลไม้บางส่วนเพื่อมอบให้แก่ผู้คนที่ขาดแคลน รวมทั้งส่งไปตอบแทนลูกยักษ์กับแม่ยักษ์ที่ให้เมล็ดพันธุ์อันแสนวิเศษนี้มาด้วย

ในที่สุด  เรื่องเล่าขานจากหมู่บ้านผลไม้ก็จบลงอย่างมีความสุข

#นิทานนำบุญ

………………………………………

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.