นิทานเรื่องจริง เป็นการนำเรื่องราวที่ผู้เขียนพบเจอในชีวิตของตนเอง มาเขียนเล่าเป็นเรื่องราวให้ทุกคนได้อ่าน นิทานบางเรื่องเหมาะกับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ มากกว่าเด็กเล็ก (แต่เรื่องนี้น่าจะอ่านได้หมดทุกวัย) หวังว่า นิทานเรื่องจริงแต่ละเรื่อง จะให้แง่คิดและเป็นบทเรียนชีวิตที่มีประโยชน์นะครับ
เมื่อ 20 ปีก่อน (ราวปี 2537-38) พี่นำบุญมีโอกาสได้ทำงานเด็กเป็นครั้งแรกในชีวิต และเป็นงานเด็กที่เปลี่ยนชีวิตของพี่นำบุญไปตลอดกาล
งานเด็กที่ว่า คือ รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กชื่อรายการ “บ้านน้อยซอยเก้า” เป็นรายการทุนต่ำและมีทีมงานน้อยมาก คือ มี 3 สาว พี่ต่อ พี่อุ๊ พี่แนน เป็นทีมงานหลัก ส่วนตัวพี่นำบุญ และพี่วุธ อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร เป็นพิธีกร เมื่อทีมงานหลักมีแค่ 3 คน สองคนจึงมีหน้าที่ผลัดกันเขียนบทและกำกับคนละเทป อีกคนตัดต่อและดูแลด้านART
ส่วนตัวพี่นำบุญซึ่งเป็นพิธีกรอยู่ในชุดหุ่น Mascot … ก่อนเข้าฉากก็ต้องเป็น “พี่นำบุญ” ที่คอยดูแลเด็ก ๆ 10 กว่าชีวิตที่มาร่วมในรายการ โดยพี่นำบุญจะต้องเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง และชวนเด็ก ๆ เล่นเพื่อให้พวกเขาผ่อนคลาย พอก่อนถึงเวลาถ่ายทำ พี่นำบุญก็ต้องบอกเด็ก ๆ ว่าขอตัวไปทำธุระก่อนนะ (เช่น ขอไปรับเด็กอีกโรงเรียนที่จะมารอบบ่ายก่อนนะ) แต่จริง ๆ คือ ไปใส่ชุดหุ่น Mascot เพื่อแปลงกายเป็นนาฬิกาชื่อ “พี่ติ๊กต็อก” แล้วเดินกลับเข้ามาทักทายเด็ก ๆ อีกครั้ง โดยไม่ให้เด็กรู้ว่านี่คือพี่นำบุญที่เล่นกับพวกเขามาแล้วตลอด 2 ชั่วโมงกว่า ๆ!
ตอนนั้น พี่นำบุญรู้สึกเท่มาก เหมือนตัวเองเป็นยอดมนุษย์ซูเปอร์แมน ที่ชีวิตปกติทำงานหนังสือพิมพ์ พอเกิดเหตุร้ายก็ใส่กางเกงในแปลงกายบินไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วงนั้นเวลาเดินในซอยแถวบ้าน พี่นำบุญจะ รู้สึกกร่างๆ เหมือนตัวเองเป็นคนดังหรือดาราดัง (ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้จักเราหรอก เพราะเราอยู่แต่ในชุดหุ่น)
การถ่ายทำรายการบ้านน้อยซอยเก้า…ส่วนใหญ่ เราถ่ายงานที่สตูดิโอแอคทีฟ (หรือ JSL) การถ่ายทำในสตูดิโอ ถือว่าสะดวกสบายเพราะเป็นที่ที่มีแอร์เย็น อยู่ในชุดหุ่นก็เหมือนห่มผ้านวมอุ่น ๆ ตลอดเวลา อาจหายใจยากบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลำบากจนทนไม่ไหว แต่ช่วงหลัง ๆ พวกเรามีการออกไปถ่ายนอกสถานที่บ้าง ซึ่งเวลาไปถ่ายนอกสถานที่ พี่นำบุญซึ่งอยู่ใน mascot ก็จะรู้สึกลำบากหน่อย เพราะมันร้อนสุด ๆ เลย
การทำรายการโทรทัศน์ที่มีทีมงานน้อย งบจำกัด ทั้งยังตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่บังคับให้เด็กเฮหรือปรบมือ (เพราะเด็ก ๆ เป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งของที่จะต้องทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้สึกแบบนั้น) แถมพิธีกรในชุดหุ่น ยังมีบทที่ต้องอ่าน มีไมค์ซ่อนอยู่ด้านใน ต้องดำเนินรายการสด ๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสมือนเป็นพิธีกรอีกคน ทั้งหมดจึงเป็นโจทย์ที่ทำให้พี่นำบุญได้ฝึกฝนตัวเองมาก ๆ ทั้งเรื่องการพูดที่มีใช้ได้แค่ท่าทางกับน้ำเสียง โดยไม่มีสีหน้า (เพราะหน้าหุ่นยิ้มตลอด) ทำให้ได้ฝึกการใช้เสียง ใช้ท่าทาง เพื่อสื่อความหมาย เป็นการฝึกการสื่อสารจากใจถึงใจ เช่นเมื่อเนื้อหาของรายการค่อนข้างเศร้า แต่หุ่นมีหน้าที่ยิ้มตลอดเวลา พี่นำบุญก็จะต้องพยายามสื่ออารมณ์เศร้าผ่านน้ำเสียงและท่าทางออกไปให้ได้ มันจึงท้าทายมาก และเป็นภารกิจที่ท้าทายยอดมนุษย์จริง ๆ
ช่วงเทปท้าย ๆ ที่ทำงานกัน พวกเรายกทีมไปถ่ายทำกันที่ปราณบุรี มีจังหวะนึง พวกเราออกไปถ่ายฉาก นอกสถานที่ที่ริมทางรถไฟร้อน ๆ แล้วบังเอิญมีเด็ก ๆ มามุง พอถ่ายเสร็จ พี่นำบุญต้องขึ้นรถ แต่ไม่อยากถอดชุด เพราะไม่อยากทำลายความฝันของเด็ก ซึ่งตอนนั้น อากาศข้างในชุดหุ่นเหลือน้อยมาก ทรมานมาก พอขึ้นไปนั่ง รถร้อนมาก ลมไม่เข้ามาในรูเล็ก ๆ ที่ตาเลย ตัวก็ติดอยู่กับที่นั่ง เหมือนถูกล็อค ขยับไม่ได้ อึดอัด ทุรนทุราย มันเหมือนคนที่กำลังจะไม่ไหว แต่พี่นำบุญก็…อดทน อดทน พร้อมกับบอกพี่ ๆ ทีมงานด้วยเสียงอ่อย ๆ ว่า “ออกรถเลยครับ ออกรถเลย” พี่นำบุญพูดได้เท่านี้ จนรถออกไปพ้นสายตาเด็ก จากนั้น ถึงได้จอดรถแล้วถอดชุดออก นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เฉียด” จริง ๆ เพราะมันอึดอัดเหมือนร่างกายจะไม่ไหวแล้ว แต่ยอดมนุษย์ก็รอดมาได้
รายการบ้านน้อยซอยเก้า เป็นงานเด็กงานแรกที่พี่นำบุญได้ทำ และมันก็เปลี่ยนชีวิตของพี่นำบุญ ให้กลายมาเป็นคนทำงานเด็กตลอด 20 ปีหลังจากนั้น การทำงานเด็ก ใช้พลัง ความทุ่มเทและความอดทนมาก ส่วนสิ่งที่ได้รับตอบแทน มันไม่ใช่เงิน แต่เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น นั่นคือความสุขและความทรงจำที่ดีของเด็ก
จนถึงวันนี้ ประสบการณ์การทำรายการบ้านน้อยซอยเก้าและความทรงจำในวันนั้น ก็ยังสว่างไสวอยู่ในใจของพี่นำบุญ มันคงเป็นภารกิจของยอดมนุษย์..แม้จะเป็นยอดมนุษย์ที่ไม่มีใครรู้จักก็ตาม แต่มันก็เป็นงานที่มีคุณค่ามากจริง ๆ นะ