Posted in ครอบครัว, เด็ก

บทความ : เจ้าชายน้อยกับฉัน

ช่วงโควิด  นิตยสารสารคดีมีกิจกรรมให้ผู้อ่านเขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง “เจ้าชายน้อย”  เพื่อคัดเลือกไปลงในนิตยสารสารคดี ฉบับเจ้าชายน้อย   ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เป็นคนหนึ่งที่เคยอ่านหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย และรู้สึกพิเศษกับหนังสือเรื่องนี้  ผมจึงเขียนบทความส่งไปในเพจของนิตยสารสารคดี และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารในเวลาต่อมา ตอนนี้นิตยสารสารคดีฉบับดังกล่าวได้วางแผงไปหลายเดือนแล้วผมจึงนำบทความนี้มาลงในเว็บไซต์นิทานนำบุญ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก  ถือว่าเป็นบันทึกความรู้สึกนึกคิดของนักแต่งนิทานคนไทยคนนี้ที่มีต่อหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยนะครับ  ลองอ่านกันดูครับ

f736a777badb24381c1618d3ff3f5929

เจ้าชายน้อยกับฉัน

ผมอ่านหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ครั้งแรก น่าจะราว ๆ ชั้นประถมหรือมัธยมต้น เป็นเจ้าชายน้อยฉบับ ทวพ. จำความรู้สึกได้ว่า “ไม่สนุก” มันเป็นแค่เรื่องผจญภัยอะไรสักอย่างที่อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง สู้หนังสือ “เมืองในตู้เสื้อผ้า” ก็ไม่ได้

spd_20140305221515_b

เมื่อเวลาผ่านไป น่าจะเป็นช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ได้กลับมาอ่านเจ้าชายน้อยอีกครั้ง เป็นฉบับแปลของพี่เอ๋ อริยารอบนี้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น ชอบภาพประกอบโดยเฉพาะตัวเจ้าชายน้อย เพราะตะมุตะมิ แต่ก็ยังรู้สึกว่า “หนังสือไม่เห็นจะสนุกเลย สู้ติสตูก็ไม่ได้”

ติสตู

ผ่านไปอีกหลายปี ได้ไปอยู่ที่ประเทศสวีเดน พี่เอ๋ อริยา มอบหนังสือเจ้าชายน้อยเล่มเล็กปกสีเขียวให้นำติดตัวไปอ่าน รอบนี้ รู้สึกกับเรื่องราวในหนังสือเจ้าชายน้อยมากขึ้น อาจเพราะโตขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น จึงเข้าใจความหมายของเรื่องราวและสัญลักษณ์ที่ผู้แต่งซุกซ่อนเอาไว้มากขึ้น ตอนนั้น ชอบเจ้าชายน้อย พอ ๆ กับหนังสือของแอสตริด ลินเกรนด์หลาย ๆ เล่มที่ได้อ่านที่สวีเดน

ในเวลาต่อมา เมื่อชีวิตได้พบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้นอีก ยิ่งโต ก็ยิ่งเข้าใจเจ้าชายน้อยที่อยู่ที่ดาว B-612 เกือบจะเพียงลำพัง ความเข้าใจในบทบาทของกุหลาบ หมาจิ้งจอก ความสำคัญของความสัมพันธ์ มิตรภาพ และอื่น ๆ “เติบโตไปตามชีวิต” เมื่อถึงจุดหนึ่ง เจ้าชายน้อยกลายเป็นหนังสือที่เศร้ามาก เศร้าในความจริงที่เป็นจริง ความจริงที่ทำให้ชีวิตเคว้งคว้างเหมือนอยู่ในจักรวาล

ความรู้สึกที่มีต่อเจ้าชายน้อย ทั้งในแบบตื้น ๆ และในแบบลึกซึ้ง เห็นได้จากการเริ่มเก็บอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับเจ้าชายน้อยไปเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งเคยทำป้ายติดคอเสื้อยืดเป็นลายเจ้าชายน้อย มีเข็มกลัดสีเงินรูปเจ้าชายน้อย นาฬิกาแสตมป์หนังสือ ภาพวาดฝีมือน้องบิน หนังตะลุงฝีมือน้องอั๋น รูปปั้นงานศิลป์ฝีมือคุณกบ โมเดลเจ้าชายน้อยฝีมือเฮียเส่ง ของที่ระลึกหลายอย่างจากพี่หุยและพี่สาว (น้องชายก็มี) ภาพวาดพี่ตูนวิ่งในชุดเจ้าชายน้อยฝีมือคุณมาโนช รวมทั้งงานผ้าปักฝีมือเด็กที่หลวงพระบาง ฯลฯ

เจ้าชายน้อย สะสม

แต่สิ่งที่ตัวเองคิดว่าอาการหนักที่สุด คือการเขียนนิทานเรื่องพลูโต ที่แม้แก่นเรื่องจะต่างกับเจ้าชายน้อย แต่เมื่อเอากลับมาอ่าน ก็ทำให้เห็นว่า โครงเรื่องแทบจะเป็นอันเดียวกัน (โดยไม่รู้ตัวจริง ๆ) บางที…เจ้าชายน้อยอาจสิงเข้าไปร่างของผมแล้วก็ได้
02
ในฐานะคนเขียนนิทานผมขอยืนยัน นั่งยัน กินยันว่า เจ้าชายน้อย ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็ก เพราะผมนึกไม่ออกว่า มีส่วนไหนในหนังสือที่จะทำให้เด็กสนุกได้ แต่หนังสือเล่มนี้ เหมาะกับคนที่มีหัวใจ การอ่านเจ้าชายน้อยในแต่ละบท อาจทำให้คุณเห็นตัวเองว่า “เจ้าชายน้อยกับฉัน” มันก็คนเดียวกันนี่นา

นำบุญ นามเป็นบุญ เจ้าชายน้อย

……………………………………………………………………………………………………..

หมายเหตุ : อ่านพลูโตได้ที่

นิทานก่อนนอนเรื่อง พลูโต

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.