นิทานเรื่อง “เม่นน้อยกับโยคี” เป็นนิทานทดลอง ซึ่งผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ได้แรงบันดาลใจในการแต่งมาจากหนังสือชื่อ “จินตนาการไม่รู้จบ” หรือ “The Neverending Story” ซึ่งในฉบับแปลเป็นภาษาไทยมีการกล่าวถึงการใช้ “หมึกสองสี” ในการพิมพ์หนังสือ ความคิดเรื่องการใช้หมึกสองสีในการพิมพ์หนังสือ ทำให้ผมนึกสนุก อยากแต่งนิทานที่ใช้หมึกสองสีบ้าง จึงเริ่มแต่งนิทานเรื่องใหม่ จนได้นิทานก่อนนอนเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์เรื่อง “เม่นน้อยกับโยคี” ขึ้นมา นิทานเรื่องนี้ใช้หมึกสีแดงเล่าเรื่องในส่วนของเม่น ใช้หมึกสีน้ำเงินเล่าเรื่องในส่วนของโยคี แต่เมื่อเรื่องราวมาบรรจบกัน สีของหมึกก็เปลี่ยนเป็นสีผสมระหว่างแดงกับน้ำเงิน กลายเป็นสีม่วง หวังว่านิทานเรื่องนี่้จะเป็นนิทานจะทำให้หลาย ๆ คนยิ้มกับความซนของนักเขียนนิทานคนนี้นะครับ ขอให้มีความสุขในการอ่านครับ Continue reading “เม่นน้อยกับโยคี”
Month: December 2019
นำบุญในแพรวสุดสัปดาห์
เมื่อปี 2536 สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิตยสาร สุดสัปดาห์ได้มาสัมภาษณ์ผม หลังจากที่ผมได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดรูปแบบรายการโทรทัศน์ ในโครงการสร้างฝันกับกันตนา และนี่คือบทสัมภาษณ์ครับ Continue reading “นำบุญในแพรวสุดสัปดาห์”
พี่เสือและดอกไม้
จุดเริ่มต้นของนิทานเรื่อง “พี่เสือและดอกไม้” เกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาดที่สุด! ผมยังจำได้ว่า ในวันที่ผมเริ่มคิดนิทานเรื่องนี้เพื่อเขียนส่งนิตยสารขวัญเรือน ตอนแรกผมนึกแนวเรื่องที่อยากเขียนไม่ออก แต่จู่ ๆ ผมก็หันไปเห็นหนังสือเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ของคุณนิพพาน ซึ่งเป็นหนังสือที่งดงามมากเล่มหนึ่ง วันนั้น ผมนึกสนุก อยากท้าทายตัวเอง จึงนำชื่อหนังสือเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ มาปรับเป็น “พี่เสือ” และดอกไม้ จากนั้น ถึงได้เริ่มคิดเนื้อเรื่องของนิทาน นิทานเรื่องนี้จึงเป็นนิทานหนึ่งในน้อยเรื่อง ที่มีจุดเริ่มต้นจาก “การตั้งชื่อเรื่อง” ไม่ได้เริ่มจากการตั้งแก่นเรื่อง หรือคิดเนื้อเรื่อง แล้วค่อยมาตั้งชื่อทีหลัง (ซึ่งถือว่าแปลก) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แต่งนิทานเรื่องนี้เสร็จแล้ว และได้ตีพิมพ์ ปรากฏว่า หลาย ๆ คนกลับชอบนิทานเรื่องนี้มาก ดังนั้น ผมจึงนำนิทานก่อนนอนเรื่องยาว ๆ เรื่องนี้มาให้ทุกท่านได้อ่านกันในเว็บไซต์นิทานนำบุญ ซึ่งหวังว่าจะเป็นนิทานอีกเรื่องที่ทำให้ทุกคนมีความสุขนะครับ Continue reading “พี่เสือและดอกไม้”
นิทานเรื่องพิเศษ : บ่างบิน
นิทานก่อนนอนเรื่องยาว ๆ เรื่อง “บ่างบิน” เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งขึ้นเพื่อแสดงความรักที่ผมมีต่อชาวไทใหญ่ (ซึ่งเกิดขึ้นจากตอนที่ผมมีโอกาสไปนอนวัดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนพร้อมกับพ่อครูมาลา คำจันทร์ และทำให้ได้รับรู้เกี่ยวกับชีวิตของเณรชาวไทใหญ่ที่นั่น) นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมนำวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ (ในช่วงก่อนบวช) มาแต่งเป็นนิทานแนวผจญภัยแบบแฟนตาซีพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมเรื่องความกตัญญู (เรียกว่า นิทานลูกยอดกตัญญูก็ได้นะครับ) ซึ่งหวังว่านิทานเรื่องนี้จะเป็นนิทานก่อนนอนเรื่องยาว ๆ ที่ถูกใจทุก ๆ คนนะครับ ท้ายนี้ ผมขอขอบคุณภาพถ่ายเด็กชาวไทใหญ่ที่กำลังเล่น “บ่างบิน” ซึ่งนำมาจากภาพถ่ายของพ่อครู มาลา คำจันทร์ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมแต่งนิทานเรื่องนี้ครับ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ
นิทานเรื่อง บ่างบิน
นานมาแล้ว ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางหุบเขาแสนไกล ยังมีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อว่า “นางแสงฟ้า” แม้นางแสงฟ้าจะยากจนและยังคงเป็นโสด แต่นางกลับมีลูกชายถึง 7 คน ซึ่งลูกทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นเด็กกำพร้าที่นางรับมาดูแลด้วยความเมตตาทั้งสิ้น
ทันทีที่นางแสงฟ้าได้ฟัง นางก็รีบเดินทางเข้าป่าเพื่อตามหาลูก ๆ นางแสงฟ้าแกะรอยตามลูก ๆ จนรุ่งสาง แต่จนแล้วจนรอด นางก็ตามไม่พบ เมื่อเจ้าบุญเห็นแม่กลับบ้านมาด้วยสีหน้าอมทุกข์ เขาจึงรีบนำข้าวปลาอาหารมาให้แม่กิน แล้วขอให้แม่นอนพักเอาแรงสักหน่อย โดยตัวเขาอาสาจะนวดเท้าที่เลอะขี้ดินขี้เลนให้แม่ก่อนที่แม่จะออกไปตามหาพี่ ๆ อีกครั้ง
สักพักใหญ่ เจ้าบุญก็ร่อนลงตรงหน้าถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ ๆ กับหนองน้ำซึ่งมีผีพรายหลายตนยืนเฝ้าอยู่ ผีพรายเหล่านั้นเหมือนมองไม่เห็นเด็กน้อยที่บุกรุกเข้าไปในถิ่นของมัน เจ้าบุญแปลกใจจึงรวบรวมสติพลางคิดว่า บางทีอาจเป็นเพราะน้ำที่เขาลูบหัวลูบหน้ามีเศษดินจากเท้าแม่เจืออยู่ มันจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ทำให้เขาลอยขึ้นฟ้าได้และช่วยปกป้องไม่ให้ผีพรายมองเห็นเขา
………………

รีวิว : คุณพ่อนักแปลงกาย
นิทานก่อนนอนหรือหนังสือภาพสำหรับเด็กเกี่ยวกับพ่อหรือความรักของพ่อในเมืองไทยมีไม่มากนัก พี่นำบุญ จึงทดลองแต่งหนังสือเรื่อง “คุณพ่อนักแปลงกาย” เพื่อให้เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก และทำให้ได้เห็นบทบาทอันสำคัญที่พ่อมีต่อลูก Continue reading “รีวิว : คุณพ่อนักแปลงกาย”
จอมยุทธรสโอชา
นิทานก่อนนอนเรื่อง จอมยุทธรสโอชา
กาลครั้งหนึ่ง ณ ดินแดนมังกรอันกว้างใหญ่ ยังมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า ‘เหม่ยชิง’
เหม่ยชิงฝันอยากเป็นเจ้ายุทธภพที่ใครต่อใครต่างยอมสยบยกให้เป็นหนึ่ง แต่ด้วยความที่เหม่ยชิงเป็นเพียงเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ความแข็งแกร่งทางร่างกายจึงไม่อาจเทียบกับผู้ชายได้ การฝึกวิชาหมัดมวย, กระบี่กระบองหรือการต่อสู้ที่ต้องใช้พละกำลังจึงไม่เหมาะกับเธอเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้ เหม่ยชิงจึงคิดหาวิชาที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด โดยเธอใช้เวลาคิดอยู่นานหลายสัปดาห์ ลงท้าย…เธอก็ตัดสินใจเลือกศึกษาวิชาที่ไม่เคยมีจอมยุทธ์คนใดให้ความสนใจมาก่อน!
หลังจากวันนั้น เหม่ยชิงก็เริ่มฝึกวิชาด้วยการไปช่วยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านทำอาหารต่าง ๆเมื่อผู้คนซักถาม เหม่ยชิงก็มักตอบไปตามตรงว่า เธอกำลังฝึกวิชาเพื่อเป็นเจ้ายุทธภพในอนาคต
ไม่ว่าใครที่ได้ยินคำตอบของเด็กผู้หญิงตัวน้อยต่างก็พากันหัวเราะในความไร้เดียงสา เพราะการทำอาหารจะเอาชนะวิชาการต่อสู้ต่าง ๆ ได้อย่างไร
เหม่ยชิงรู้ดีว่าสิ่งที่เธอทำอาจดูน่าขันสำหรับคนอื่น แต่กับตัวเธอแล้ว มันเป็นเพียงวิธีเดียวที่เด็กผู้หญิงอย่างเธอจะเอาชนะและเป็นที่ยอมรับของยอดฝีมือทั้งหลายได้ เหม่ยชิงจึงตั้งใจเรียนรู้วิชาทำอาหารจากทุก ๆ บ้าน, ศึกษาวิธีเลือกวัตถุดิบและเคล็ดลับของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งออกเดินทางไปเรียนรู้วิชาในต่างถิ่นแล้วนำมาพลิกแพลงจนกลายเป็นเคล็ดลับประจำตัว
เวลาผ่านไปหลายปี จวบจนกระทั่งวันคัดเลือกเจ้ายุทธภพมาถึง จอมยุทธจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินทางมายังลานประลองฝีมือกันโดยถ้วนหน้า จอมยุทธบางคนเก่งวิชาหมัดมวย, บางคนถนัดการใช้กระบี่หรือดาบ, บางคนเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธแปลกตาสารพัด แต่มีเพียงคนเดียวที่มีอาวุธเป็นกระทะ, ตะหลิว, เครื่องครัวและวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ใช่แล้ว จอมยุทธที่มีเครื่องครัวเป็นอาวุธก็คือสาวน้อยเหม่ยชิงนั่นเอง
เมื่อจอมยุทธคนอื่นเห็นสาวน้อยผู้ที่นำของพะรุงพะรังมาร่วมในงานประลองยุทธ์ (ราวกับจะมาทำกับข้าวนอกสถานที่) ทุกคนจึงมองข้าม แล้วหันหน้าเข้าประลองยุทธ์กับคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือสูสีกัน ผู้ที่เก่งดาบก็เลือกสู้กับผู้ที่เก่งดาบ ผู้ที่ถนัดกระบี่ก็เลือกสู้กับผู้ที่ถนัดกระบี่ จอมยุทธที่ถนัดในแต่ละด้านพยายามสู้กันเองเพื่อหาคนที่เก่งที่สุดไปสู้กับยอดฝีมือในด้านอื่นต่อไป
เมื่อไม่มีใครสนใจประลองฝีมือกับเหม่ยชิง สาวน้อยจึงจัดแจงตั้งโต๊ะทำครัว, เตรียมข้าวของและเครื่องปรุงต่าง ๆ จากนั้น จอมยุทธผู้เชี่ยวชาญในการทำอาหารก็เริ่มใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้ร่ำเรียนมา ปรุงอาหารที่เธอคัดสรรมาเป็นอย่างดี
เหม่ยชิงก่อเตาโดยนำไม้ชนิดพิเศษมาทำฟืน ความร้อนที่เกิดจากไม้ชนิดนี้ทำให้เธอควบคุมความร้อนของไฟได้ดังใจปรารถนา ระหว่างที่เหม่ยชิงรอเวลาให้ไฟร้อนได้ที่ เธอก็จัดการหั่นผัก, สับหมู, แล่เนื้อ, หมักไก่ และเตรียมเครื่องปรุงสารพัดชนิดอย่างว่องไวจนตาแทบมองไม่ทัน
ครั้นเมื่อถ่านไม้ร้อนได้ที่แล้ว เหม่ยชิงก็นำกระทะขึ้นตั้งเตา ใส่น้ำมันที่กลั่นจากเมล็ดดอกไม้หอม จนน้ำมันส่งเสียงร้องว่าร้อนจัด เหม่ยชิงก็สาดผัก 7 สีออกจากจานให้พุ่งลงไปในกระทะ ผักสะดุ้งไฟเล็กน้อยแล้วลอยตัวขึ้นสัมผัสกับอากาศด้วยพลังข้อมือของเหม่ยชิงที่ฝึกฝนการทำครัวมาเป็นอย่างดี ทันใดนั้น กลิ่นของผัดผักสายรุ้งก็หอมฟุ้งคลุ้งกระจายไปทั่วทั้งลานประลอง ทำให้จอมยุทธทุกคนท้องร้องจ๊อก ๆ จนไม่มีสมาธิในการประลองฝีมืออีกต่อไป
แม้จอมยุทธหลายคนจะทำเป็นไม่สนใจในกลิ่นหอมของอาหารที่เหม่ยชิงปรุง แต่เมื่อพวกเขาเหลือบมาเห็นความงามของอาหารแต่ละจาน จิตใจของทุกคนก็เริ่มปั่นป่วนกันอีกครั้ง
จอมยุทธบางคนอดใจไม่ได้จึงตัดใจยอมแพ้แล้วรีบมา ขอชิมอาหารที่ดูน่ากินยิ่งนัก ซึ่งทันทีที่อาหารสัมผัสกับปลายลิ้น เขาก็คุกเข่าลงร้องไห้ด้วยความปลื้มปีติ เพราะนอกจากอาหารที่เหม่ยชิงทำจะมีกลิ่นหอม, หน้าตาชวนรับประทานและมีรสชาติแสนอร่อยแล้ว มันยังทำให้คนที่ได้ชิมรู้สึกถึงรสอาหารที่แม่เคยป้อนตอนเด็ก ๆ ด้วย
น้ำตาของจอมยุทธคนนั้นทำให้จอมยุทธทั้งหลายอดใจไม่ไหวจนอยากลองลิ้มชิมอาหารของเหม่ยชิงบ้าง เมื่อจอมยุทธทุกคนมาขอชิมอาหาร เหม่ยชิงจึงจัดการแบ่งปันให้ทุกคนได้ชิมกันอย่างทั่วถึง
รสชาติของอาหารทำให้จอมยุทธแต่ละคนหวนคิดถึง “รสมือแม่” และทำให้พวกเขาตื้นตันจนไม่อยากประลองฝีมือกันอีก
จอมยุทธคนหนึ่งจึงเอ่ยปากขึ้นว่า “วิทยายุทธในการปรุงอาหารของสตรีผู้นี้ยอดเยี่ยมถึงขั้นที่ทำให้พวกเราทุกคนอิ่มเอมใจจนไม่อยากประลองฝีมือกันต่อ ดังนั้น ในปีนี้ข้าพเจ้าคิดว่า พวกเราน่าจะยกตำแหน่งเจ้ายุทธภพให้แก่จอมยุทธผู้มีฝีมือล้ำเลิศผู้นี้กันดีไหม”
จอมยุทธทุกคนมองเหม่ยชิงด้วยแววตาชื่นชม แม้เหม่ยชิงจะไม่มีวิชาการต่อสู้แบบที่ต้องใช้พละกำลัง แต่เธอฉลาดพอที่จะเลือกฝึกวิชาซึ่งเหมาะสมกับตนเอง ทั้งยังเรียนรู้และฝึกฝนได้อย่างแตกฉาน จอมยุทธทุกคนจึงยอมสยบและยกให้เหม่ยชิงเป็นเจ้ายุทธภพ จากนั้น ทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้านโดยมีรสชาติของอาหารที่แสนวิเศษอบอวลอยู่ในปากและมีความปีติเอ่อล้นอยู่ในหัวใจ
#นิทานนำบุญ
………………………………….