Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานเรื่อง นาคน้อยผจญภัย

นิทานก่อนนอนเรื่อง “นาคน้อยผจญภัย” ตอน : เด็กชายกับลูกพญานาค เป็นนิทานก่อนนอนแนวไทยพื้นบ้าน ที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ทดลองแต่งเล่น ๆ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 หลังจากได้ดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ชื่อว่า ChatGPT

ChatGPT เป็นแชทบ็อทที่สร้างโดยหน่วยงานพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Open AI) มันมีความสามารถในการตอบคำถามของเราได้แบบอัตโนมัติ แต่การตอบคำถาม จะไม่ใช่การถามคำ-ตอบคำ แต่เป็นการตอบอย่างมีรายละเอียด หนำซ้ำ ตามข่าวยังระบุว่า ChatGPT สามารถช่วยเขียนบทความ เขียนโปรแกรม แต่งกลอน แต่งเพลง และแต่งนิทานได้

เมื่อผมได้ทราบว่า เทคโนโลยี A.I. สามารถแต่งนิทานได้ ผมจึงอยากทดลองแต่งนิทานโดยใช้ ChatGPT ตัวนี้ จะได้รู้ประสิทธิภาพว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเก่งกว่าปัญญามนุษย์มากน้อยแค่ไหน

การทดลองแต่งนิทานด้วย ChatGPT ผมได้ทำการทดลองแบบสด ๆ และบันทึกหน้าจอในช่วงที่แต่งนิทานแบบตามเวลาที่ใช้จริง เพื่อให้ผู้ชมเห็นความไวในการโต้ตอบ และลักษณะการถาม-ตอบ รวมถึงการพัฒนานิทานด้วยวิธีนี้ (แต่ช่วงท้ายของคลิปจะมีการย่นเวลาเล็กน้อย ราว 1-2 นาที และมีบางช่วงที่ภาพขาดหายไป ส่วนเสียงในคลิปเป็นการบรรยายภายหลังแล้วนำเสียงมาใส่ในคลิปครับ) การทดลองที่เกิดขึ้น สามารถดูได้จากคลิปต่อไปนี้

ในส่วนของนิทานที่เป็นผลงานจากการทดลอง ผมขอนำมาลงให้อ่านกัน โดยจะลงให้อ่านเป็น 2 แบบ

แบบแรกคือแบบที่ยังไม่ได้ขัดเกลา และ แบบที่สองจะเป็นแบบที่ผมนำนิทานในแบบแรกมาขัดเกลา เรียบเรียงให้น่าอ่านมากขึ้น (ซึ่งแบบที่สองจะนำมาลงอีกครั้งเมื่อทำเสร็จ – ขอหาเวลาก่อนนะครับ)

ถ้าพร้อมจะอ่านนิทานที่ผมร่วมแต่งกับ ChatGPT ก็ลองอ่านกันได้เลยครับ

…………………….

นิทานเรื่อง นาคน้อยผจญภัย (ตอน : เด็กชายกับลูกพญานาค)

กาลครั้งหนึ่ง มีเด็กผู้ชายที่ยากจนคนหนึ่ง อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่ริมแม่น้ำโขง

วันหนึ่ง เขาออกไปจับปลาเหมือนปกติ แต่เขาพบลูกพญานาคบาดเจ็บตัวหนึ่ง เขาจึงนำมันมารักษา

เมื่อลูกพญานาคอาการดีขึ้น มันจึงชวนให้เด็กผู้ชายเดินทางไปที่ถ้ำ ซึ่งเป็นทางเข้าแดนบาดาลกับมัน เพื่อหาสาหร่ายสมุนไพรที่เรียกว่า “ไคสวรรค์” เพื่อนำมารักษาอาการบาดเจ็บ”

เมื่อเด็กผู้ชายเดินทางไปยังถ้ำและหาไคสวรรค์พบ จนสามารถรักษาอาการบาดเจ็บให้ลูกพญานาคได้แล้ว ลูกพญานาคจึงเล่าเรื่องให้ฟังว่า มีพญาครุฑบุกมาที่เมืองบาดาลเพื่อหายารักษาอาการป่วยให้ลูก แต่แทนที่พญาครุฑจะซักถามเรื่องยาที่เหมาะสม มันกลับใช้กำลังทำร้ายพญานาคทั้งหลาย แล้วจับตัวพ่อพญานาคกับแม่พญานาคเอาไว้

ลูกพญานาคอยากแก้ไขเรื่องทั้งหมด และไม่อยากโกรธเคืองเรื่องที่เกิดขึ้น ลูกพญานาคจึงชวนเด็กผู้ชายเก็บไคสวรรค์ซึ่งเป็นยาวิเศษ เพื่อนำไปให้พญาครุฑ

เด็กผู้ชายเห็นดีด้วย เพราะการผูกใจเจ็บ แก้แค้นกันไปมา ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เด็กผู้ชายจึงช่วยลูกพญานาคเก็บไคสวรรค์ แล้วพากันเดินทางไปหาพญาครุฑในเมืองบาดาล พร้อมกับมอบไคสวรรค์ให้

พญาครุฑละอายใจที่ตนเองมุทะลุและทำร้ายเหล่านาค ทั้ง ๆ ที่เหล่านาคไม่ได้คิดร้าย แถมยังมีไมตรีจิต

พญาครุฑจึงขอโทษแล้วรีบปล่อยตัวพ่อพญานาคและแม่พญานาค จากนั้น มันก็สัญญาว่าจะปรับปรุงตัว แล้วขอผูกไมตรี

พ่อพญานาคไม่ได้ถือโกรธ จึงให้อภัยและขอให้รีบนำไคสวรรค์ไปรักษาลูกให้หาย

ในที่สุด เรื่องราวก็จบลง

แต่เรื่องของเด็กผู้ชายกับลูกพญานาคยังไม่จบ เพราะมิตรภาพของพวกเขาเพิ่งเริ่มต้น

โปรดติดตามเรื่องของพวกเขาได้ในนิทานตอนต่อไป

#นิทานนำบุญ

Posted in นิทาน, เด็ก

นิทานเรื่อง ความพยายามของชายกลัวน้ำ

ในช่วงที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เขียนหนังสือส่วนตัวเรื่อง “นักเขียนนิทานและวิธีแต่งนิทานของเขา” ซึ่งเอาประสบการณ์ในการแต่งนิทานของตัวเองมาเล่าและอธิบายให้เห็นวิธีคิดนิทานที่ใช้มาตลอดชีวิต ผมได้แต่งนิทานขนาดสั้นเรื่องใหม่ แทรกเป็นตัวอย่างเอาไว้ในเล่ม 2-3 เรื่อง


นิทานก่อนนอนเรื่อง ความพยายามของชายกลัวน้ำ เป็นนิทานเรื่องหนึ่งในนั้น ซึ่งผมเห็นว่าสนุกดี จึงนำมาลงให้อ่านกันในเว็บไซต์นิทานนำบุญครับ แต่นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างในหนังสือ ผมจึงแต่งแบบกระชับ ไม่ได้ใส่อารมณ์หรือเล่าบรรยากาศมากนัก ถ้าอ่านแล้วไม่ตื่นเต้นเร้าใจ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเติมแต่งรายละเอียดเพื่อสร้างสีสันให้นิทานกันสักหน่อย ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก ขอให้มีความสุขกับนิทานนะครับ
 
…….


นิทานเรื่อง ความพยายามของชายกลัวน้ำ

ชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นลูกชาวประมงที่กลัวทะเลมาก เพราะตอนเด็ก ๆ เขาเคยออกทะเลกับพ่อแล้วบังเอิญตกน้ำจนเกือบเสียชีวิต เขาจึงฝังใจกลัวทะเลเป็นที่สุด

วันหนึ่ง เขาพบหญิงสาวมานอนสลบอยู่ที่ชายหาดใกล้ ๆ บ้านของเขา ชายหนุ่มรีบอุ้มหญิงสาวไปปฐมพยาบาลที่บ้าน เมื่อหญิงสาวรู้สึกตัว เธอก็รีบขอบคุณชายหนุ่ม แล้วบอกความจริงว่าเธอคือนางเงือกที่โดนคลื่นใต้น้ำซัดมาจนเกยตื้น เธอยังรู้สึกไม่สบายมาก จึงขอรบกวนชายหนุ่มอีกสักพัก

ชายหนุ่มแปลกใจแต่ยินดีช่วยเงือกสาว และเมื่อทั้งคู่ได้อยู่ใกล้ ๆ ชิดกันต่อมาอีกราว 1 สัปดาห์ ทั้งคู่ก็เริ่มรู้สึกว่า ดอกไม้ที่ชื่อว่าความรักได้เบิ่งบานขึ้นในใจของพวกเขาทั้งสอง

จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อของนางเงือกซึ่งเป็นเจ้าสมุทรไปแปลงกายเป็นมนุษย์แล้วมาตามหาลูกสาวถึงที่บ้านของชายหนุ่ม เมื่อเจ้าสมุทรทราบว่าชายหนุ่มช่วยลูกสาวไว้ และทราบจากลูกสาวว่าทั้งคู่มีใจให้กัน เจ้าสมุทรจึงประทานพรให้ชายหนุ่มสามารถหายใจในน้ำได้เหมือนเงือกและชาวสมุทรทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อให้ชายหนุ่มแวะไปเยี่ยมเงือกสาวได้ตามใจปรารถนา

แต่อนิจจา ชายหนุ่มเป็นคนกลัวทะเล เมื่อเงือกสาวกับเจ้าสมุทรกลับไปแล้ว เขาจึงกลุ้มใจและคิดถึงเงือกสาวจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ชายหนุ่มก็ตัดสินใจทำสิ่งที่เขาไม่เคยกล้าทำ นั่นคือ การใช้ความพยายามเพื่อไปพบหญิงสาวให้ได้

ชายหนุ่มเริ่มจากพยายามฝึกร่างกายให้แข็งแรงด้วยการวิ่งที่ริมหาดทุกวัน จากนั้น เขาก็พยายามฝึกฝนการว่ายน้ำในบ่อน้ำจืดใกล้บ้าน จนเขาว่ายน้ำได้คล่องแคล่วมากขึ้นเรื่อย ๆ

และท้ายสุด เขาก็พยายามเอาชนะความกลัวทะเล ด้วยการก้าวเดินลงไปในทะเล จากตื้นไปลึกและลองว่ายน้ำโต้กระแสคลื่นที่ทำให้เขากลัวจนตัวสั่น

ชายหนุ่มพยายาม พยายาม แล้วก็พยายาม เขาฝึกฝนทุกวัน จนร่างกายแข็งแกร่งขึ้น ว่ายน้ำได้คล่องมากขึ้น และเอาชนะความกลัวได้มากขึ้น

จนกระทั่งวันหนึ่ง ความพยายามของเขาก็ทำให้เขาพร้อมในการออกเดินทางไปหาเงือกสาว

ในที่สุด ชายหนุ่มก็ใช้พยายามพาตัวเขาไปพบกับเงือกสาวที่เขารักได้สำเร็จ

และแล้ว นิทานก็จบลงอย่างมีความสุข

#นิทานนำบุญ

Posted in นิทาน, เด็ก

นิทานเรื่อง วงดอกไม้ประดับเมือง

นิทานก่อนนอนเรื่อง วงดอกไม้ประดับเมือง เป็นนิทานเรื่องที่ 5 ในชุด หมู่บ้านย้อนเวลา การอ่านให้สนุก คือต้องอ่านนิทานเรื่องอื่น ๆ ก่อน แล้วจึงค่อยมาอ่านนิทานเรื่อง “วงดอกไม้ประดับเมือง” ซึ่งนิทานเหล่านั้น อยู่ในหมวด “นิทานชุดพิเศษ” ตามลิงค์ด้านล่างนี้

https://bit.ly/3GhMBid

นิทานเรื่อง วงดอกไม้ประดับเมือง

          ลิโลกับลุลาเป็นเด็กน้อยที่เกิดและเติบโตในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้  พวกเขามักเล่นสนุกอยู่ท่ามกลางต้นไม้และดอกไม้ได้ทั้งวันแบบไม่รู้เบื่อ  แม้ต้นไม้และดอกไม้ในเมืองของลิโลกับลุลาจะเป็นต้นไม้และดอกไม้ธรรมดา ๆ ไม่แตกต่างจากเมืองอื่น ๆ  แต่สำหรับเด็ก ๆ อย่างพวกเขา การได้เล่นอยู่ท่ามกลางต้นไม้และดอกไม้เป็นเสมือนกับการได้ผจญภัยอยู่ในดินแดนแสนงามที่มีสิ่งมหัศจรรย์ให้ค้นพบได้ไม่เว้นแต่ละวัน 

            อยู่มาวันหนึ่ง  พระราชากับพระราชินีผู้ปกครองเมืองของลิโลกับลุลาทรงได้ฟังนิทานเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับเกาะของตนด้วยการปลูกต้นไม้ซึ่งผลัดกันออกดอกต่างสีสันในแต่ละฤดูกาล  จนทำให้เกาะของเขาเสมือนเปลี่ยนสีได้ในทุกฤดู และทำให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศพากันหลั่งไหลมาชื่นชมความงามของเกาะจนชายคนนั้นมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  พระราชากับพระราชินีทรงอยากให้ชาวเมืองมีรายได้จากนักท่องเที่ยวและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้าง  ทั้งสองพระองค์จึงประกาศให้ชาวเมืองช่วยกันคิดหาวิธีสร้างเอกลักษณ์ให้แก่เมือง

            หลังจากที่พระราชากับพระราชินีป่าวประกาศ  ชาวเมืองทุกคน รวมทั้งลิโลกับลุลา ก็ครุ่นคิดหาวิธีสร้างเอกลักษณ์ให้เมืองกันไปต่าง ๆ นานา  จากนั้น  พวกเขาก็นำความคิดมาเสนอต่อพระราชากับพระราชินีที่พวกเขาเคารพรัก

            ชาวเมืองบางคนเสนอให้พระราชาซื้อต้นไม้หายากมาปลูกให้ทั่วเมือง  ชาวเมืองบางคนห่วงว่าการซื้อต้นไม้หายากจะสิ้นเปลือง จึงเสนอให้พระราชาหาต้นอ่อนของต้นไม้หายากที่มีราคาถูกกว่ามาเพาะเลี้ยง ซึ่งเมื่อมันโตก็น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่ต่างกัน  ชาวเมืองบางคนคิดว่าการรอให้ต้นอ่อนของต้นไม้หายากเติบโตอาจใช้เวลามากเกินไปจึงเสนอว่า การเลียนแบบนิทานด้วยการปลูกต้นไม้ธรรมดา ๆ ที่ออกดอกสลับสีกันในแต่ละฤดูอาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ประหยัดกว่าและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้รวดเร็วกว่า  ซึ่งในขณะที่ชาวเมืองผลัดกันเสนอความคิด  ลิโลกับลุลาก็แอบปลีกตัวไปช่วยกันเก็บดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงอยู่ตามพื้น แล้วนำมาเตรียมทำบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้แก่เมืองของพวกเขาได้

เมื่อเวลาผ่านไป  หลังจากที่ผู้ใหญ่คนสุดท้ายเสนอความคิดเรียบร้อยแล้ว  ลิโลกับลุลาก็ลุกขึ้นยืนแล้วลิโลก็เป็นตัวแทนกล่าวว่า “การที่พวกเราได้เล่นและคลุกคลีอยู่กับต้นไม้ดอกไม้ทุก ๆ วัน ทำให้พวกเราค้นพบว่า ต้นไม้และดอกไม้สามารถนำมาทำสิ่งมหัศจรรย์ได้มากมาย ซึ่งสิ่งที่พวกเราเชื่อว่าจะสร้างให้เมืองของเรามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ทั้งยังทำได้ไว ประหยัด สวยงาม และชวนนักท่องเที่ยวมาทำร่วมกันได้ ก็คือ การทำ วงดอกไม้ประดับเมือง แบบนี้ขอรับ”

          เมื่อลิโลพูดจบ  เด็กทั้งสองก็ลงมือจัดเรียงใบไม้และดอกไม้เป็นวงที่พื้น  ลิโลทำวงดอกไม้โดยเน้นสีที่ฉูดฉาดมีพลังแบบเด็กผู้ชาย  ส่วนลุลาทำวงดอกไม้โดยใช้สีที่อ่อนหวานตามแบบของเด็กผู้หญิง   เด็กทั้งสองใช้เวลาเรียงใบไม้และดอกไม้เป็นวงอยู่สักพัก  ในที่สุด  วงดอกไม้ประดับเมืองที่ทำจากใบไม้และดอกไม้ก็ปรากฏต่อหน้าของทุก ๆ คน และทำให้พระราชา พระราชินี รวมทั้งชาวเมืองทุกคนต่างตกตะลึงในความงามที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

            พระราชา พระราชินี รวมทั้งชาวเมืองทุกคนแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยว่า  เพียงแค่การนำดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงหล่นมาจัดเรียงกันเป็นวง จะทำให้เกิดวงดอกไม้ที่สวยงามได้มากถึงเพียงนี้  ซึ่งหากชาวเมืองแต่ละคนลงมือทำบ้าง ก็คงได้วงดอกไม้ที่งดงามแตกต่างกันไปตามฝีมือของแต่ละคน  และสามารถใช้ประดับเมืองจนนักท่องเที่ยวอยากแวะเวียนมาดูได้อย่างไม่รู้เบื่อ

            ในที่สุด  พระราชากับพระราชินีก็ตกลงใจที่จะใช้วงดอกไม้ประดับเมืองเป็นเอกลักษณ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว  โดยพระราชาทรงขอร้องให้ชาวเมืองช่วยกันเก็บดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงหล่นมาจัดเป็นวงดอกไม้ประดับเมืองทุก ๆ วัน  ส่วนพระราชินีก็ทรงเสนอแนะให้จัดเทศกาลงานประกวดวงดอกไม้ประจำปี โดยเชิญชวนให้คนต่างถิ่นเข้ามาร่วมสนุกด้วย 

หนึ่งปีต่อมา  ชื่อเสียงของเมืองเล็ก ๆ ที่มีวงดอกไม้ประดับเมืองตกแต่งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ  แน่นอนว่า ผู้คนต่างพากันหลั่งไหลมาเยี่ยมชมและทำให้ชาวเมืองมีรายได้จากนักท่องเที่ยวตามที่พระราชากับพระราชินีทรงหวังเอาไว้  ส่วนลิโลกับลุลาก็ภูมิใจที่พวกเขามีโอกาสแสดงความมหัศจรรย์ของต้นไม้ดอกไม้ให้ทุกคนได้เห็น และมีส่วนทำให้ทุก ๆ คนในเมืองมีความสุขเพิ่มมากขึ้น

#นิทานนำบุญ

………………….

Posted in ข้อคิด, นิทาน, เด็ก

นิทานเรื่อง แผนร้ายของเศรษฐีเจ้าเล่ห์

ช่วงอากาศหนาว ๆ แบบนี้ มีปีละไม่กี่วัน พี่นำบุญเลยรีบหานิทานมาลงให้อ่าน หวังว่าจะเป็นช่วงเวลาดี ๆ ในการอ่านนิทานของทุก ๆ ครอบครัวนะครับ

นิทานเรื่อง แผนร้ายของเศรษฐีเจ้าเล่ห์

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีทะเลสาบอยู่ที่ใจกลางหมู่บ้าน  ทะเลสาบแห่งนี้มีความสำคัญต่อทุก ๆ คนในหมู่บ้านมาก เพราะมันเป็นแหล่งน้ำจืดแหล่งเดียวที่ชาวบ้านอาศัยดื่มกินและใช้ในการเพาะปลูกต่าง ๆ

วันหนึ่ง มีเศรษฐีจากต่างถิ่นเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน  เศรษฐีผู้นี้เป็นคนเจ้าเล่ห์แสนกล  เมื่อเศรษฐีสำรวจหมู่บ้านโดยรอบแล้ว เขาก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า หากเขาซื้อที่ดินรอบ ๆ ทะเลสาบเอาไว้ทั้งหมด เขาก็จะสามารถเก็บเงินค่าผ่านทางเมื่อชาวบ้านต้องการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทะเลสาบได้  ซึ่งมันจะทำให้เขาได้กำไรอย่างมากมายมหาศาล

เมื่อเศรษฐีเห็นช่องทางทำเงินดังกล่าวแล้ว  เศรษฐีจึงแกล้งเข้าไปตีสนิทกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบ  จากนั้น เขาก็แสดงตนเป็นคนใจดี โดยเสนอตัวขอส่งเสียลูก ๆ ของชาวบ้านให้ได้ไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ ทั้งยังมอบเงินทองให้ชาวบ้านใช้พาพ่อแม่ที่ป่วยไข้ไปรักษาตัวที่เมืองอื่น  เศรษฐียอมทุ่มเงินมากมายเพื่อทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเขาเป็นคนดีมีน้ำใจ  ซึ่งแผนการทั้งหมดนี้ เศรษฐีทำขึ้นโดยหวังจะขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่อยู่รอบทะเลสาบนั่นเอง

เศรษฐีเจ้าเล่ห์ใช้เวลาสร้างภาพหลอกชาวบ้านอยู่นานสามเดือน  ในที่สุด เศรษฐีก็สามารถซื้อที่ดินรอบทะเลสาบเอาไว้ได้จนหมด 

ครั้นเมื่อเศรษฐีได้เป็นเจ้าของที่ดินรอบทะเลสาบแล้ว  เศรษฐีก็เผยธาตุแท้ของตัวเองออกมา โดยเขาทำการล้อมรั้วรอบที่ดินของเขา (ซึ่งก็คือการล้อมรั้วรอบทะเลสาบ) แล้วปักป้ายเก็บเงินสำหรับคนที่ต้องการผ่านเข้าไปนำน้ำจากทะเลสาบมาใช้

เมื่อชาวบ้านได้เห็นการกระทำของเศรษฐี  ชาวบ้านจึงพากันมาขอร้องให้เศรษฐีเห็นใจคนยากจนอย่างพวกเขา แต่เศรษฐีกลับไม่สงสารชาวบ้านเลย  เพราะสิ่งเดียวที่เศรษฐีให้ความสำคัญก็คือผลกำไรที่เขาจะได้จากการลงทุนในครั้งนี้

คืนวันนั้น  ในขณะที่ชาวบ้านต่างทุกข์ทรมานที่ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้  เศรษฐีกลับนอนกระดิกเท้าฝันหวานว่าอีกไม่นานชาวบ้านทั้งหลายก็คงต้องยอมมาจ่ายเงินเพื่อขอผ่านทางเข้ามาตักน้ำจากทะเลสาบไปใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เศรษฐีคิดถึงเงินทองที่จะไหลมาเทมาแล้วก็เผลอหลับไปอย่างมีความสุข  ส่วนชาวบ้านก็ได้แต่นั่งจับกลุ่มคุยกันเพราะต่างคนต่างก็มองไม่เห็นหนทางที่พวกเขาจะหาน้ำมาดื่มมาใช้ได้เหมือนดังแต่เก่าก่อน

เช้าวันรุ่งขึ้น เศรษฐีตื่นนอนอย่างอารมณ์ดี แล้วค่อย ๆ เดินไปที่ด่านเก็บเงินของเขาพลางนึกภาพว่าวันนี้ชาวบ้านทุกคนคงพากันมาจ่ายเงินเพื่อขอเข้ามาดื่มน้ำในทะเลสาบ  เศรษฐีดีใจจนลืมสังเกตถึงความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น  จวบจนเมื่อเวลาผ่านไปพักใหญ่ ๆ  เศรษฐีจึงเพิ่งรู้สึกตัวว่า วันนี้…หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านดูเงียบเชียบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เศรษฐีพยายามเงี่ยหูฟังเสียงของชาวบ้าน  แต่จนแล้วจนรอด  เขาก็ไม่ได้ยินเสียงใด ๆ เลย เศรษฐีแปลกใจมาก  เขาจึงเดินออกจากบ้าน แล้วพยายามมองหาชาวบ้านทั้งหลาย

อนิจจา…เศรษฐีผู้น่าสงสารไม่รู้เลยว่า  ตลอดทั้งคืนที่ตัวเขานอนฝันหวานอยู่นั้น  ชาวบ้านที่ต้องลำบาก (เพราะความเห็นแก่ตัวของเศรษฐี) ได้ปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปว่า ในเมื่อหมู่บ้านของพวกเขาไม่มีทั้งน้ำดื่มน้ำใช้และแล้งซึ่งน้ำใจของเพื่อนมนุษย์  หมู่บ้านแห่งนี้จึงไม่ใช่ที่ที่พวกเขาควรจะอยู่อาศัยต่อไปอีก  ด้วยเหตุนี้เอง  ชาวบ้านทั้งหมดจึงตัดสินใจเก็บข้าวของแล้วอพยพออกจากหมู่บ้านเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่

เมื่อชาวบ้านย้ายออกไปจนหมด  เศรษฐีจึงมีไม่โอกาสหากำไรจากการเก็บค่าผ่านทางดังที่เขาวางแผนเอาไว้  เงินทองทั้งหมดที่เศรษฐีใช้จ่ายไปเพื่อซื้อที่ดินและจ่ายให้แก่ชาวบ้านตามแผนของเขา จึงเท่ากับสูญเปล่าและทำให้เศรษฐีที่เคยมีเงินมากมายกลายเป็นแค่คนเคยรวยที่ตอนนี้มีเพียงบ้านและที่ดิน  โดยนอกเขตรั้วบ้านของเขากลับไม่มีผู้คนอยู่อาศัยเลยแม้แต่คนเดียว

เศรษฐีเจ้าเล่ห์ถึงกับหน้าถอดสีที่พบกับเรื่องไม่คาดฝันเช่นนี้  ผลของการคิดร้ายต่อผู้อื่น…ทำให้สิ่งเลวร้ายย้อนกลับมาหาตัวเขาในที่สุด  

คืนวันนั้น เศรษฐีจึงได้แต่นอนคลุมโปงฟังเสียงหมาหอนอย่างวังเวงตามลำพัง   ส่วนชาวบ้านที่เดินทางออกจากหมู่บ้านนั้น  พวกเขาโชคดีที่ได้พบกับเพื่อน ๆ ที่ขายที่ดินและย้ายออกไปก่อน  เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นได้รู้เรื่องราวทั้งหมด  พวกเขาจึงนำเงินที่ได้จากเศรษฐีมาใช้เป็นทุนในการก่อตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่  โดยเลือกทำเลที่ดีขึ้นและมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น

ในที่สุด ชาวบ้านทั้งหมดก็ได้ตั้งต้นชีวิตใหม่ในหมู่บ้านแห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม และชาวบ้านทุกคนก็ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอีกครั้ง

#นิทานนำบุญ

………………….

Posted in ข้อคิด, นิทาน, เด็ก

นิทานเรื่อง สามทหารเสือ

กลางเดือนธันวาคม อากาศเริ่มหนาว พี่นำบุญเลยนำนิทานเรื่องใหม่มาฝากเด็ก ๆ ครับ (เป็นนิทานที่เคยพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือนมาแล้ว)

นิทานเรื่องนี้แต่งในแนวนิทานอีสป เนื้อเรื่องจะเป็นแนวนิทานสอนใจสั้น ๆ ที่มีตัวละครเป็นสัตว์ นิทานแนวนิทานอีสปเป็นนิทานที่พี่นำบุญแต่งเอาไว้น้อยมาก เพราะคิดว่าโลกมีนิทานแนวนิทานอีสปมากพอแล้ว แต่ในวันนึง พี่นำบุญอยากท้าทายตัวเอง เลยลองแต่งนิทานแนวนี้ออกมาบ้าง หวังว่าคงพอใช้ได้นะครับ ขอให้มีความสุขกับนิทานเรื่องนี้ครับ

นิทานเรื่อง สามทหารเสือ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีสิงโตตัวหนึ่งเป็นเจ้าป่าซึ่งคอยดูแลปกป้องป่าให้สงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน  ครั้นเมื่อสิงโตแก่ตัวลงจนเขี้ยวเล็บเริ่มสึกกร่อน  เหล่านายพรานที่เคยเกรงกลัวสิงโตก็พากันเข้ามาในป่าแล้วเที่ยวไล่ล่าสัตว์ต่าง ๆ เล่นอย่างสนุกสนาน   เมื่อสิงโตเห็นว่าตัวของมันแก่ชราเกินกว่าจะปกป้องป่าตามลำพังได้  มันจึงไปขอร้องเสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำต่างเคารพสิงโตในฐานะที่เป็นเจ้าป่าอาวุโส  พวกมันจึงยอมมาช่วยโดยไม่หวังสิ่งใด ๆ ตอบแทน   แต่สิงโตเจ้าป่าไม่อยากเอาเปรียบเสือทั้งสาม  มันจึงเสนอที่จะสั่งการให้สัตว์ในป่าผลัดกันหาอาหารมาให้เสือทั้งสามกินทุก ๆ มื้อ

หลังจากที่สิงโตกับเหล่าเสือตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำก็เริ่มออกลาดตระเวนไปทั่วทั้งป่า โดยหมายจะสั่งสอนนายพรานทั้งหลายที่บังอาจรุกล้ำเข้ามาในเขตปกครองของสิงโตเฒ่า 

นอกจากนี้  เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำยังต้องการให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้ฝึกฝนการดูแลตัวเอง  ดังนั้น พวกมันจึงสั่งให้สัตว์ต่าง ๆ แบ่งหน้าที่กันเป็นเวรยามเฝ้าระวังการบุกรุกของเหล่านายพรานด้วย  

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา   ไม่ว่านายพรานจะแอบลอบเข้ามาในป่า ณ จุดใด  พวกเขาก็จะพบเสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำปรากฏกายต้อนรับด้วยเขี้ยวขาว ๆ และกรงเล็บอันแหลมคม ณ ที่นั้น ๆ เสมอ   ไม่นานนัก…ป่าที่เคยมีนายพรานเข้ามาก่อความไม่สงบก็กลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกครั้ง

แม้พวกสัตว์จะได้ความสงบสุขกลับคืนมา  แต่การที่พวกมันยังคงต้องผลัดเปลี่ยนกันเป็นเวรยาม รวมทั้งต้องหาอาหารมาเลี้ยงเสือทั้งสาม ทำให้สัตว์ทั้งหลายรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง  

“เมื่อไม่มีนายพรานมารังควาญ งานระแวดระวังภัยต่าง ๆ ก็น่าจะสิ้นสุดลงได้แล้ว”  

พวกสัตว์จอมขี้เกียจคิดเช่นนั้นเพราะพวกมันอยากมีชีวิตสุขสบายที่ไม่ต้องรับผิดชอบงานใด ๆ  เลยแม้สักอย่าง  ด้วยเหตุนี้เอง  สัตว์ทั้งหลายจึงรวมตัวกันแล้วเดินทางไปหาสิงโต เพื่อขอให้สิงโตเจ้าป่าขับไล่เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำไปเสียให้พ้น ๆ

สิงโตพยายามทัดทานและชี้ให้สัตว์ป่าเหล่านั้นเห็นถึงผลร้ายที่อาจจะตามมาในอนาคต  แต่จนแล้วจนรอด  สัตว์ทั้งหลายก็ยังคงดื้อดึงและพยายามกดดันให้สิงโตเจ้าป่าขับไล่เสือทั้งสามไปโดยเร็วที่สุด  

สิงโตเสียใจที่ความพยายามของมันไร้ผล   มันจึงจำใจต้องขอให้เสือทั้งสามยุติภารกิจปกป้องป่าดังที่มันเคยขอร้องเอาไว้

หลังจากที่เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำลาสิงโตไปได้ไม่นาน  สิงโตเจ้าป่าก็ล้มป่วยลงด้วยความชรา   จนในที่สุด  สิงโตผู้เฝ้าดูแลป่ามาตลอดชั่วชีวิตก็หมดลมหายใจและจากสัตว์ทั้งหลายไปอย่างสงบ 

เมื่อนายพรานได้ข่าวว่าในป่าไม่มีทั้งสิงโตและเหล่าเสือคอยปกป้อง  พวกนายพรานจึงบุกเข้ามาในป่าอีกครั้ง แล้วทำการไล่ล่าสัตว์ป่าน้อยใหญ่กันอย่างสบายใจไร้ผู้ขัดขวาง

มาถึงตอนนี้…แทนที่เหล่าสัตว์จอมขี้เกียจจะแค่ทำงานโดยผลัดเปลี่ยนกันดูแลป่าคนละเล็กละน้อย   พวกมันกลับต้องคอยซ่อนตัวและวิ่งหนีกระสุนปืนของเหล่านายพรานจนแทบไม่มีเวลาได้พัก 

สัตว์ป่าทั้งหมดต่างรู้สึกเสียใจต่อความโง่เขลาเบาปัญญาของตัวเองที่ดื้อดึงไม่ยอมฟังคำเตือนของสิงโตเจ้าป่า   พวกมันอยากให้เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำกลับมาช่วยปกป้องป่าดังเดิมอีก  แต่น่าเสียดาย….เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้สายเกินแก้ไปเสียแล้ว   

#นิทานนำบุญ

…………………………….

Posted in Uncategorized

เรื่องเล่าจากพี่นำบุญ

วันที่ผมเขียนบทความนี้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม 2565

ผมเขียนบทความครั้งก่อนเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 ตอนนั้น ผมคิดว่าเว็บไซต์นิทานนำบุญคงลงตัวแล้ว เพราะมีนิทานมากถึง 320 เรื่อง น่าจะพอใช้งานได้ทั้งปี แถมมีเงินค่ากาแฟจากผู้อ่านไว้ดูแลเว็บไซต์ ดังนั้น ผมน่าจะปล่อยมือจากการพัฒนาเว็บไซต์ แล้วเอาเวลาไปทำสื่อในช่องทางอื่นเพื่อหารายได้ให้ตัวเองบ้าง

แต่หลังจากที่เขียนบทความในครั้งนั้น จนกระทั่งถึงวันนี้ (ราวปีเศษ) มีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายเรื่อง ทั้งดีและแย่ บางเรื่องทำให้รู้สึกอยากปิดเว็บไซต์ เพราะรู้สึกว่ามันแย่จริง ๆ

วันนี้ ผมจึงขอมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปีหน้าให้ได้ทราบกันครับ

เรื่องทั่วไป

ในเรื่องความเป็นไปของเว็บ นับตั้งแต่ต้นปี 65 ที่ผมโพสต์นิทานไว้ 10 เรื่อง จากนั้น ผมก็แทบจะไม่ได้โพสต์นิทานเรื่องใหม่ ๆ อีกเลย ในตอนแรก ผมคิดว่าคนอ่านจะลดลงเมื่อไม่ได้โพสต์นิทานเรื่องใหม่ แต่ปรากฎว่า ยอดของผู้ที่เข้าใช้งานเว็บไซต์มีมากขึ้น คือมากถึง 3600 คนในบางวัน (แต่เดิมมีราว 3000 คน)

ในเรื่องการขอสปอนเซอร์สนับสนุนเว็บไซต์ หลังจากที่มีผู้สนับสนุนมา 3 ราย ผมก็ไม่เคยขอการสนับสนุนจากที่ไหนอีก ผมคิดว่าการไปขอสปอนเซอร์มาสนับสนุนเว็บไซต์เล็ก ๆ ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ผมสะดวกใจนัก ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างเกรงใจที่จะขอเงินก้อนใหญ่ ๆ จากใครก็ตาม

ในเรื่องการทำเว็บไซต์ใหม่หรือทำช่องยูทูบช่องใหม่ ในช่วง 1ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกได้ว่าร่างกายของผมเสื่อมลงตามวัย สายตามองจอนาน ๆ ไม่ค่อยไหว เสียงเริ่มไม่ทนทาน เวลาอ่านออกเสียง เสียงมักแหบและทุ้มลง ซึ่งแต่ก่อนทำได้ดีกว่านี้ ส่วนแรงจูงใจในการสร้างคอนเทนต์มีไม่มากเท่ากับตอนที่เริ่มทำเว็บไซต์นิทานนำบุญ การทำเว็บไซต์ใหม่หรือช่องยูทูบใหม่จึงไม่คืบหน้านัก

เรื่องบั่นทอนจิตใจ

ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่มีเรื่องบั่นทอนจิตใจหลายเรื่อง หลัก ๆ คือการถูกละเมิดลิขสิทธิ์โดยนำนิทานไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำนิทานนำบุญไปทำคลิป การนำไปเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ชื่อดัง การนำไปทำอีบุ๊คแล้วเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต การนำชื่อนิทานนำบุญไปหลอกคน การหารายได้ด้วยการรับจ้างแต่งนิทาน แต่นำนิทานจากในเว็บนี้ไปส่งให้ผู้จ้าง ฯลฯ ซึ่งคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์มีทั้งคนทั่วไป อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา นักเรียนมัธยมทั้งม.ต้นและม.ปลาย

การถูกละเมิดลิขสิทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการต้องคอยแจ้งให้ลบหรือหาทางให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ช่วยลบ เป็นเรื่องที่ทำให้เสียทั้งความรู้สึกและเสียเวลามาก บางครั้งผมก็คิดว่า ถ้าตัวเองไม่ทำเว็บไซต์ คนเหล่านี้ก็คงก๊อปปี้นิทานไปเผยแพร่ไม่ได้ การทำเว็บไซต์แบบไม่ได้หวังผลกำไร แค่อยากให้เด็ก ๆ มีนิทานอ่าน กลายเป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเอาเปรียบตัวผม เรื่องแบบนี้พอเจอบ่อย ๆ ก็ทำใจยอมรับลำบาก

ส่วนอีกเรื่องหนักกว่าและทำให้รู้สึกแย่กว่า คือ ผมได้ไปแจ้งความคดีละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ 1 คดี ตอนเดือนธันวาคม ปี 2564 ตอนนี้ เกือบครบหนึ่งปี คดีไม่มีคืบหน้า หลักฐานที่ส่งไปมีความชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำผิด แต่เรื่องเงียบอย่างประหลาด ทักไลน์สอบถาม เจ้าหน้าที่่ก็ไม่ตอบ ผมเคยไปสอบปากคำ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผมต้องหาหลักฐานยืนยันว่าตัวเองเป็นคนแต่งนิทานเอง! (ทำให้ต้องค้นหาไฟล์ต้นฉบับ หาหนังสือที่ตีพิมพ์นิทานครั้งแรกไปยืนยัน) ดูเหมือนว่า อาชีพนักเขียนนิทานนี้ไม่มีค่า และไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ ทุกขั้นตอน ทั้งเสียเวลาและมีค่าใช้จ่าย ในอนาคต เมื่อต้องฟ้องต่อ ผมก็ต้องจ้างทนายให้ดำเนินการอีก ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มาก

การทำเว็บไซต์แล้วถูกละเมิด รวมเข้ากับการที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองเราอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ผมถามตัวเองว่า “ผมกำลังทำอะไรอยู่” เพราะเว็บไซต์นิทานนำบุญไม่ใช่เว็บที่ทำขึ้นเพื่อสร้างรายได้ แต่ทำไปทำมา เหมือนตัวผมจะต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียอารมณ์ กับสิ่งที่เกิดตามมา ความรู้สึกแบบนี้บั่นทอนให้ตัวเองอยากปิดเว็บไซต์ครับ มันเป็นความรู้สึกแย่ ๆ ในช่วงปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า เด็ก ๆ ไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมผมจึงต้องปิดเว็บไซต์ที่ทำให้เขามีช่วงเวลาดี ๆ กับพ่อแม่ล่ะ? ดังนั้น ผมจึงตั้งใจที่จะอดทน และสู้ต่อไปให้สุดทาง

เรื่องที่สร้างกำลังใจ

ในช่วงปีที่รู้สึกแย่ ๆ สิ่งที่ทำให้ผมมีกำลังใจเสมอ คือ ข้อความที่คุณพ่อคุณแม่ทักมาเล่าให้ฟังว่า ลูก ๆ มีความสุขกับนิทานในเว็บไซต์นี้มาก หลายคนเล่าว่าลูก ๆ ยังคอยนิทานเรื่องใหม่ ๆ เสมอ บางคนเล่าว่า…นิทานในเว็บไซต์นี้ทำให้ตัวเองซึ่งมีอาการซึมเศร้าจนนอนแทบไม่ได้ ได้ผ่อนคลายจากความทุกข์ไปได้บ้าง

นอกจากนี้ ในปี 2565 เว็บไซต์นิทานนำบุญยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในฐานะสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม รางวัลนี้เป็นรางวัลใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งสื่อที่ได้รางวัลต้องผ่านการคัดกรองจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก การได้รางวัลนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า นิทานและเว็บไซต์นิทานนำบุญมีคุณภาพและดีสำหรับเด็ก

ที่สำคัญ การได้รางวัลนี้ น่าจะเปลียนทัศนติเพื่อนรุ่นน้องป.โทที่เคยดูถูกคนแก่ ๆ อย่างพี่นำบุญว่า “พี่นำบุญได้แต่ชื่นชมผลงานในอดีตของตัวเอง” รางวัลนี้จึงน่าจะทำให้เขาได้เห็นคุณค่าในความพยายามของผู้อื่นได้บ้าง เพราะแม้พี่นำบุญจะเกิดก่อนยุคดิจิทัล แต่เมื่อพี่นำบุญพยายาม มันก็ทำให้เกิดเว็บไซต์ที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้จริง ๆ (ตามกำลังของคนในวัยพี่นำบุญ)

ทิศทางในอนาคตของเว็บไซต์นิทานนำบุญ

หลังจากที่ผมพบเจอเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และกลไกทางกฎหมายที่ไม่คุ้มครองนักเขียนอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งได้เห็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องร้อง และหากต้องการพัฒนาเว็บไซต์ต่อ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายจิปาถะเกิดขึ้นอีก ดังนั้น ผมจึงคิดว่า “ถ้าเราอยากให้เว็บไซต์นิทานนำบุญอยู่ได้อย่างมั่นคง เราควรมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น การปรารถนาดีต่อเด็กแบบเดิมเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรอยู่กับความเป็นจริงมาก ๆ”

หลายคนอาจไม่รู้ว่า อาชีพนักเขียนนิทาน มีรายได้จาก 2 ทาง คือ รายได้ที่เกิดขึ้นตอนส่งต้นฉบับนิทานให้นิตยสาร และ รายได้จากการให้เช่าใช้ลิขสิทธิ์

รายได้แรกเป็นเงินราว 2000 บาทต่อเรื่อง (หักภาษี ณ ที่จ่ายจะเหลือราว 1900 บาท) ถือว่าน้อยมาก

รายได้อีกส่วนมาจากการให้เช่าลิขสิทธิ์ (สมมติมีสำนักพิมพ์อยากนำนิทานไปใช้พิมพ์เป็นหนังสือ นักเขียนจะได้เงินราว 5-10% ของราคาปกหนังสือ คูณด้วยจำนวนพิมพ์ คิดเป็นรายได้คร่าว ๆ อยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นบาท (ต่อเรื่อง)

อาชีพนักเขียนนิทานจึงคล้ายกับการปลูกต้นไม้ เราได้เงินค่าปลูกต้นไม้เล็กน้อยพอเป็นค่าแรง จากนั้น เราต้องรอให้ต้นไม้ออกดอกออกผล ถ้าคนชอบใจดอกผลแล้วมาขอซื้อ เราจึงจะเริ่มมีรายได้เพิ่มเติมที่อาจเก็บกินไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้ชีวิตบั้นปลายไม่ลำบากมากนัก (แต่ถ้าคนไม่ชอบดอกผลของต้นไม้ที่เราปลูก งานที่ทำก็แทบจะสูญเปล่า)

ผมมองภาพความเป็นจริง แม้ผมพอจะมีเงินดูแลตัวเองอยู่บ้าง แต่เมื่อต้องมีการฟ้องร้องคดีความต่าง ๆ หรือต้องการพัฒนาเว็บไซต์ในอนาคต (เช่น จ่ายเงินค่าแอพพลิเคชั่น ซื้อภาพที่มีลิขสิทธิ์มาใช้งาน หรือจ้างคนมาช่วยทำงานในส่วนที่เราทำไม่ได้) หากผมไม่อยู่กับความเป็นจริง ผมคงต้องนำเงินเก็บมาใช้ ซึ่งอาจทำให้ตัวเองลำบากมากในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ผมจึงนั่งคิดกลับไปกลับมาอยู่หลายวัน ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจว่า ผมอยากลองสมมติให้เว็บไซต์นิทานนำบุญ เป็นเหมือนบ้านหรือออฟฟิศของนักเขียนนิทานคนหนึ่ง (ผมเอง) ในบ้านจะมีผลงานนิทานจัดแสดงไว้ ให้ผู้อ่านที่แวะเข้ามาได้เยี่ยมชม หากได้อ่านนิทานเรื่องไหนแล้วชอบใจ ก็สามารถโอนเงินให้กำลังใจนักเขียนได้ตามสะดวก (ถ้าไม่สะดวก ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ เพราะที่นี่ยินดีต้อนรับเสมอครับ)

กรณีนี้อาจดูคล้ายกับโครงการเลี้ยงกาแฟ (ตามที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว) แต่คราวนี้ เป็นการใช้คุณค่าของนิทานแต่ละเรื่อง เพื่อตอบแทนการทำงานของผู้แต่งนิทาน (ผมเอง) ซึ่งมันก็น่าจะคล้าย ๆ กับเป็นค่าลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา ที่ตอบแทนผู้สร้างผลงานนั่นเอง 🙂

ภาพน่าจะออกมาประมาณนี้ครับ ซึ่งผมจะลงไว้ในตอนท้ายของนิทานแต่ละเรื่อง เพื่อไม่ให้รบกวนสายตาของผู้อ่าน ใครสะดวกจะสนับสนุนก็ยินดี ส่วนใครไม่สะดวกก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองก็อยากรู้ว่า เมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่ง ผลงานนิทานหรือผลของต้นไม้ที่ผมได้ปลูกเอาไว้ มีค่าจริง ๆ รึเปล่า มีค่ามากน้อยแค่ไหน และผมจะดูแลชีวิตบั้นปลายของตัวเองด้วยนิทานเหล่านี้ได้ไหม

………

ทิศทางของปีหน้า (2566) และน่าจะเป็นปีต่อ ๆ ไป จึงเป็นการจัดระบบเว็บไซต์นิทานนำบุญให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น หากที่นี่เป็นเสมือนบ้านหรือออฟฟิศ (ที่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงมากพอ และผมสามารถปกป้องผลงานจากการละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยที่ไม่ลำบากตัวเองมากนัก) บางที ผมอาจมีกำลังในการทำอะไร ๆ ต่อไปได้อีก

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 ผมจะพยายามทำคลิปวิดีโอเล่านิทานลงในช่องยูทูบมากขึ้น และคงทำไปเรื่อย ๆ ตามกำลัง จนกว่าเว็บตัดต่อที่เข้าไปใช้งานจะเริ่มเก็บเงิน ก็คงต้องพัก เพราะผมไม่เคยเตรียมทุนในส่วนนี้ไว้เลย (ปัจจุบัน เขายังให้ใช้แบบฟรีอยู่ครับ)

ส่วนนิทานในเว็บไซต์นิทานนำบุญ ผมเตรียมนิทานที่ตัวเองแต่งไว้ส่วนหนึ่ง เตรียมลงในช่วงปีใหม่ (ความล่าช้าเกิดจากการหาภาพปกทีตรงกับนิทานไม่ได้) และในระหว่างปี หากมีเงินเข้ามาสนับสนุนมากพอ ผมก็อาจจะจ้างคนมาช่วยพิมพ์นิทาน แปลนิทานพื้นบ้านหรือนิทานนานาชาติ เพื่อนำมาลงในเว็บไซต์เพิ่มเติมอีก

ส่วนการแต่งนิทานเรื่องใหม่ ๆ มาลงในเว็บไซต์ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผมยังไม่กล้ารับปาก เพราะปกติแล้ว ผมแต่งนิทานได้ราวเดือนละ 2 เรื่อง (เดือนละ 2 เรื่องก็เครียดแล้ว) การแบกความเครียดโดยไม่มีรายได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในวัยขนาดนี้ (52 ขวบ) และการแต่งนิทาน 2 เรื่องต่อเดือนเพื่อให้เลี้ยงตัวเองให้ได้ ผมคิดว่าราคาค่าแต่งคงต้องแพงพอสมควร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่…เป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงขอดูสถานการณ์ไปก่อนนะครับ หากต้นไม้ที่ปลูกไว้งอกงามดี ผมอาจใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิต แต่งนิทานในแบบที่ไม่เคยแต่งมาให้อ่านกันขอรอดูสถานการณ์ไปก่อนนะครับ

ท้ายนี้ เนื่องในโอกาสใกล้วันปีใหม่ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ให้ช่วยคุ้มครองทุก ๆ ท่าน ให้มีความสุขกายสบายใจ คิดสิ่งดี ๆ สิ่งใด ก็ขอให้สมความปรารถนา

ด้วยความรัก

นำบุญ นามเป็นบุญ

……..

#อ่านเรื่องเล่าของปีก่อนได้จากลิงค์ข้างล่างนี้ครับ

https://bit.ly/3ma2RI9