Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานเด็กแว๊นซ์ : เจ้าหนูซิ่งสายฟ้า

นิทานเรื่อง “เจ้าหนูซิ่งสายฟ้า” หรือแต่เดิมมีชื่อว่า “เจ้าหนูนักซิ่ง” เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งขึ้น โดยตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า ถ้าเราจะแต่งนิทานเกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซต์ ให้เป็นนิทานที่เหมาะสำหรับเด็ก มันมีทางเป็นไปได้หรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ เรื่องราวของนิทานควรเป็นอย่างไร?

โจทย์ในการแต่งนิทานเกี่ยวกับมอเตอร์ไซต์ เกิดขึ้นเพราะผมเห็นว่า เด็กวัยรุ่นในเมืองไทยจำนวนมาก นิยมขี่มอเตอร์ไซต์ ซึ่งหลายคนอาจลืมคำนึงถึงความปลอดภัยและชอบขี่แข่งกันบนท้องถนน การห้ามเด็กวัยรุ่นไม่ให้ขี่ในวัยที่เขากำลังคึกคะนองคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การใช้นิทานในการปลูกจิตสำนึก และสร้างทัศนคติหรือมุมมองอื่น ๆ ในการขับขี่มอเตอร์ไซต์ อาจทำให้เด็กที่เติบโตขึ้น เลือกขี่มอเตอร์ไซต์ในวิถีทางที่เหมาะสมได้มากขึ้น และนี่คือความตั้งใจที่ทำให้ผมแต่งนิทานเกี่ยวกับมอเตอร์ไซต์เรื่องนี้

นิทานเรื่อง เจ้าหนูซิ่งสายฟ้า

กาลครั้งหนึ่ง มีเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งชื่อว่า “ซิ่ง”  ปู่ของซิ่งเป็นนักขี่มอเตอร์ไซค์ไต่ถังคนแรกของหมู่บ้าน  พ่อของซิ่งเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์ประจำจังหวัดที่ทุก ๆ ต่างรู้จัก  พี่ชายของซิ่งเป็นนักกีฬามอเตอร์ไซค์วิบากที่กำลังจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งในระดับประเทศ  ส่วนซิ่งเป็นเด็กน้อยที่หวังว่าสักวัน เขาจะได้รับการยอมรับจากทุก ๆ คนในฐานะ “เด็กแว้น” นักขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนนที่โด่งดังที่สุดในโลก

เมื่อแม่ทราบถึงความใฝ่ฝันของลูกชายคนเล็ก  ในตอนแรก  คุณแม่รู้สึกค่อนข้างเป็นห่วง  แต่เมื่อคุณแม่ทราบว่า  ซิ่งต้องการเป็นเด็กแว้นเพราะอยากให้คนทั่วไปยอมรับเหมือนที่คุณปู่, คุณพ่อและพี่ชายได้รับการยอมรับ  คุณแม่จึงสนับสนุน  โดยคุณแม่แนะนำให้ซิ่งหัดขี่จักรยานสองล้อดูก่อน  และให้ลูกชายไปถามเคล็ดลับในการขับขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อให้ได้รับการยอมรับ จากคุณปู่, คุณพ่อและพี่ชายด้วย

ซิ่งดีใจที่คุณแม่ไม่ขัดขวางสิ่งที่เขาใฝ่ฝัน   ด้วยเหตุนี้  ซิ่งจึงตั้งใจทำตามคำแนะนำ โดยเริ่มจากการไปสอบถามเคล็ดลับจากคุณปู่, คุณพ่อและพี่ชาย เพื่อนำเคล็ดลับมาใช้ในการหัดขับขี่จักรยานด้วยตัวเอง

เมื่อซิ่งไปสอบถามพี่ชาย  พี่ชายตอบเขาว่า  “การแข่งมอเตอร์ไซค์วิบากต้องใช้ความอดทนมาก  บางที..ความอดทนอาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้นักขับขี่มอเตอร์ไซค์อย่างพี่ได้รับการยอมรับจากทุก ๆ คนนะ”

เมื่อซิ่งไปสอบถามคุณพ่อ  คุณพ่อตอบเขาว่า  “เคล็ดลับที่ทำให้นักแข่งมอเตอร์ไซค์อย่างพ่อได้รับการยอมรับจากทุก ๆ คนอาจเป็นเพราะพ่อหมั่นฝึกซ้อมจนขี่มอเตอร์ไซค์ได้รวดเร็วแต่ปลอดภัย  ซึ่งต่างจากหลาย ๆ คนที่ขี่ได้ไวกว่าพ่อ แต่มักเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ ๆ”

ครั้นเมื่อซิ่งไปขอเคล็ดลับจากคุณปู่  คุณปู่ยิ้มแล้วตอบเขาว่า “การที่คนยอมรับปู่คงเป็นเพราะปู่ขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อทำให้คนดูมีความสุข ไม่ใช่ขี่เพื่อความสุขของตัวเองนะ”

เคล็ดลับจากคุณปู่, คุณพ่อและพี่ชาย ทำให้ซิ่งคิดหนัก  เพราะการเป็นเด็กแว้นเท่าที่เขารู้จัก คือการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มตามท้องถนนพร้อมกับเร่งเครื่องให้ส่งเสียงดังแว้น ๆ ในยามค่ำคืน  ซึ่งแม้ว่าคนขับจะต้องฝึกซ้อมขี่มอเตอร์ไซค์ให้พุ่งทะยานไปได้ไวราวกับจรวด  แต่ส่วนใหญ่มักเกิดอุบัติเหตุและสร้างความรำคาญให้ผู้คนมากกว่าจะเป็นการสร้างความสุข  ดังนั้น  ถ้าเขายังรักจะขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนนให้ผู้คนยอมรับ เขาคงต้องทำอะไรสักอย่างที่แตกต่างจากเด็กแว้นทั่ว ๆ ไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ระหว่างที่ซิ่งฝึกขี่จักรยาน  เขาก็เฝ้าครุ่นคิดหาวิธีเป็นเด็กแว้นแนวใหม่ ที่ยึดความสุขของผู้คนทั้งหลายเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ขี่เพื่อความสุขของตนเองเท่านั้น  และเมื่อซิ่งมีอายุถึงเกณฑ์ที่จะฝึกขี่มอเตอร์ไซค์  เขาก็เริ่มสังเกตเห็นลู่ทางที่เขาน่าจะใช้การขี่มอเตอร์ไซค์สร้างความสุขให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านได้

ในช่วงเวลานั้น ซิ่งสังเกตเห็นว่า หมู่บ้านของเขามีคนเฒ่าคนแก่ที่ต้องอยู่บ้านตามลำพังเป็นจำนวนมาก ซิ่งรู้สึกว่าคนเฒ่าคนแก่เกือบทุกคนเดินไปไหนต่อไหนได้อย่างยากลำบาก  ถ้าหากมีใครช่วยทำให้คนเฒ่าคนแก่ลำบากน้อยลงอีกสักนิดก็คงเป็นสิ่งที่วิเศษไม่น้อย  และในเสี้ยววินาทีที่ซิ่งรู้สึกเช่นนั้น  ความคิดบางอย่างก็สว่างวาบขึ้นในใจของเขา

ในเวลาต่อมา เมื่อซิ่งขี่มอเตอร์ไซค์ได้คล่องแคล่วและได้รับใบขับขี่ถูกต้อง เขาก็ลงมือทำตามความคิด โดยการเริ่มต้นเป็นเด็กแว้น แต่เป็นเด็กแว้นแนวใหม่ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปตามท้องถนน รวมถึงตรอกซอกซอยทั้งเวลากลางวันและกลางคืน  แม้ซิ่งจะขี่มอเตอร์ไซค์อย่างปราดเปรียวว่องไว แต่เขาไม่ลืมที่จะยึดเอาความปลอดภัยเป็นหลัก และที่สำคัญ ซิ่งจะขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อช่วยซื้ออาหารหรือหยูกยา รวมทั้งการไปตามหมอมาให้คนเฒ่าคนแก่เท่านั้น  ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์เล่นตามอำเภอใจโดยเด็ดขาด

หลังจากที่ซิ่งใช้ความเป็นเด็กแว้นเข้ามาช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ได้สักพัก  คนเฒ่าคนแก่ก็เริ่มมีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อชาวบ้านทราบเรื่อง ชาวบ้านจึงพากันชื่นชมซิ่ง เช่นเดียวกับที่เคยชื่นชมคุณปู่, คุณพ่อและพี่ชายของซิ่งมาก่อน หลังจากนั้น ข่าวคราวของซิ่งก็แพร่กระจายไปในโลกออนไลน์ จนเขาโด่งดังและได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วทั้งโลกในชั่วเวลาเพียงแค่ข้ามคืนเท่านั้น 

แต่เรื่องของซิ่งไม่ได้จบเพียงเท่านี้  เพราะเมื่อคนที่รักการขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้เห็นสิ่งที่ซิ่งทำ พวกเขาก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วหันมาขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่บ้าง  จนในที่สุด  กลุ่มนักขับขี่มอเตอร์ไซค์ทุกคนก็ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคม  แต่ไม่มีใครยอมเรียกพวกเขาว่าเด็กแว้นเลย  เพราะเวลานี้  ผู้คนทั่วทั้งโลกช่วยกันตั้งชื่อใหม่ให้พวกเขา  โดยเรียกพวกเขาว่า “เด็กว้อน” ซึ่งมาจากคำว่า WANT ที่หมายถึง  “กลุ่มของนักขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องการ”

#นิทานนำบุญ

…………………..

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานสอนใจ : เจ้าหญิงลิงจ๋อ

นิทานเรื่อง เจ้าหญิงลิงจ๋อ เป็นนิทานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าแนวธรรมะที่น้องชายของผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) นำมาเล่าให้ฟัง ซึ่งหลังจากได้ฟังแล้ว ผมรู้สึกว่า ข้อคิดจากเรื่องเล่าเรื่องดังกล่าว มีแง่มุมสอนใจเกี่ยวกับการคบเพื่อนที่น่าจะนำมาแต่งเป็นนิทานสำหรับเด็ก (หรือแม้แต่นิทานสอนใจสำหรับวัยรุ่น) หวังว่านิทานเรื่องนี้จะให้แง่คิดและความเพลินเพลินแก่ผู้อ่านทุกเพศทุกวัยนะครับ

นิทานเรื่อง เจ้าหญิงลิงจ๋อ

เจ้าหญิงลิงจ๋อเป็นเจ้าหญิงลิงองค์น้อยที่มีขนสีชมพูแสนน่ารัก เมื่อเจ้าหญิงลิงจ๋อถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน พระราชาลิงเจี๊ยกกับพระราชินีลิงจุ๋มจิ๋มได้ส่งเจ้าหญิงไปเรียนหนังสือร่วมกับลูกสัตว์อื่น ๆ ที่โรงเรียนกลางป่าใหญ่

เจ้าหญิงลิงจ๋อตื่นเต้นที่จะได้ไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก เจ้าหญิงวาดฝันไว้ว่าพระองค์จะหาเพื่อนสนิทที่น่ารักและคู่ควรเป็นเพื่อนกับพระองค์ให้จงได้ แม้มันจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยก็ตาม

เมื่อเจ้าหญิงไปถึงโรงเรียน พระองค์พบลูกสัตว์มากมายเต็มไปหมด เจ้าหญิงพยายามมองซ้ายทีขวาทีเพื่อหาลูกสัตว์ที่ดูเหมาะสมจะเป็นเพื่อนกับพระองค์มากที่สุด

เจ้าหญิงมองไปที่ลูกช้างพลางคิดในใจว่า “ลูกช้างก็น่ารักดีนะ แต่ว่าจมูกยาวและตัวใหญ่จัง…อยู่ใกล้ ๆ กันคงอึดอัดแย่ แบบนี้คงเป็นเพื่อนกันไม่ได้หรอก”

เจ้าหญิงมองไปที่เม่นน้อยพลางคิดในใจว่า “ลูกเม่นก็น่ารักดีนะ แต่ว่าขนแหลมจัง…อยู่ใกล้ ๆ กันคงอันตรายแย่ แบบนี้คงเป็นเพื่อนกันไม่ได้หรอก”

เจ้าหญิงมองไปที่เต่าน้อยพลางคิดในใจว่า “ลูกเต่าก็น่ารักดีนะ แต่ว่าคลานต้วมเตี้ยมจัง…ไปเที่ยวไหนกันคงเสียเวลารอแย่ แบบนี้คงเป็นเพื่อนกันไม่ได้หรอก”

ไม่ว่าเจ้าหญิงจะมองไปที่ลูกสัตว์ตัวใด พระองค์ก็ติลูกสัตว์เหล่านั้นได้ทั้งหมด หลายวันผ่านไป เจ้าหญิงจึงยังหาเพื่อนที่ถูกใจไม่ได้เลย!

หนึ่งเดือนต่อมา เจ้าหญิงเริ่มมีอาการซึมเศร้าเหงาหงอยจนพระราชากับพระราชินีสังเกตเห็น เมื่อพระราชากับพระราชินีถามเจ้าหญิงและได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งสองพระองค์จึงส่งยิ้มให้กัน แล้วชี้ให้เจ้าหญิงดูกล้วยที่อยู่บนโต๊ะ จากนั้น พระราชากับพระราชินีก็บอกเจ้าหญิงว่า

“กล้วยเป็นผลไม้ที่เรากินแต่เนื้อ…ไม่กินเปลือก เวลาเราไปซื้อกล้วย ถ้าเราขอซื้อแต่เนื้อกล้วยไม่เอาเปลือกกล้วย ลูกคิดว่าแม่ค้าจะยอมขายให้ไหม”

“ไม่น่าจะยอมนะเพคะ เพราะกล้วยมันมาด้วยกันอย่างนี้…มาทั้งเนื้อทั้งเปลือก” เจ้าหญิงตอบ

“เพื่อนก็เหมือนกันแหละลูก ทุกอย่างก็รวมเป็นตัวเขาทั้งนั้น ถ้าเราจะเลือกเอาแต่ข้อดี โดยไม่ยอมรับสิ่งที่เราไม่ชอบ บางทีเราอาจหาเพื่อนไม่ได้เลยนะ”

เจ้าหญิงลิงจ๋อคิดตามคำพูดของพระราชาและพระราชินี
“จริงด้วย…ถ้าเราอยากกินกล้วยแต่ไม่ยอมซื้อเปลือกกล้วยมาด้วย เราคงไม่ได้กินกล้วยแน่ ๆ และถ้าเราอยากมีเพื่อน แต่เราไม่ยอมรับในทุกสิ่งที่เพื่อนเป็น เราก็คงไม่มีเพื่อนแน่ ๆ”

เจ้าหญิงขอบคุณพระราชากับพระราชินีที่เตือนสติ นับจากวันนั้น เจ้าหญิงจึงเปลี่ยนความคิดด้วยการมองข้ามข้อด้อยบางอย่างของเพื่อน ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้พระองค์มีเพื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่นานนัก เจ้าหญิงก็มีเพื่อนรักเต็มไปหมด
เจ้าหญิงดีใจที่พระองค์เปลี่ยนแปลงความคิดได้ เจ้าหญิงอมยิ้มแล้วบอกกับตัวเองว่า “จริง ๆ แล้ว การมีเพื่อนก็เป็นแค่เรื่องกล้วย ๆ นี่นา ไม่เห็นยากตรงไหนเลยนะ”

#นิทานนำบุญ

……………………….

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานสระ : ฮิฮิฮะฮะ

นิทานเรื่อง ฮิฮิฮะฮะ เป็นนิทานสระอิกับสระอะ ที่ผมท้าทายตัวเองให้ลองแต่ง หลังจากได้อ่านหนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง “หนูมากับหนูมี” หนังสือเรื่องหนูมากับหนูมี เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ผูกเรื่องและใช้ภาษาได้อย่างน่ารัก โดยเล่นกับสระอาและสระอี เมื่อผมได้อ่าน จึงลองนำกลวิธีการเขียนมาใช้ จนได้นิทานเรื่อง ฮิฮิฮะฮะ ดังที่นำมาลงให้อ่านกัน นิทานเรื่องนี้อาจจัดได้ว่าเป็นนิทานฝึกอ่านภาษาไทย หรือ นิทานตลก ๆ ก่อนนอนก็ได้ เพราะถ้าใครได้ลองอ่านออกเสียงตลอดทั้งเรื่อง ส่วนมากจะเผลอยิ้มโดยไม่รู้ตัวครับ

นิทานเรื่อง ฮิฮิฮะฮะ

นี่คือมะลิ นี่คือมะระ

มะลิเป็นพี่ มะระเป็นน้อง

หนูมะลิชอบหัวเราะฮิฮิ หนูมะระชอบหัวเราะฮะฮะ

เวลามะลิกับมะระมีความสุข สองพี่น้องจะหัวเราะพร้อม ๆ กันว่า…ฮิฮะฮิฮะ

วันหนึ่ง คุณแม่พามะลิกับมะระออกไปกินข้าวนอกบ้าน

หนูมะลิอยากกินหมูกระทะ หนูมะระอยากกินหมี่กะทิ

เมื่อพ่อครัวยกหมูกระทะกับหมี่กะทิออกมา

มะลิเกิดอยากชิมหมี่กะทิของมะระ ส่วนมะระก็อยากชิมหมูกระทะของมะลิ

ดังนั้น พอคุณแม่เผลอ หนูมะลิจึงแอบเอาหมี่กะทิผสมกับหมูกระทะ

ส่วนหนูมะระก็ช่วยคลุกหมูกระทะเข้ากับหมี่กะทิ

หนูมะลิชิม “หมี่หมูกระทะกะทิ” แล้วหัวเราะฮิฮิ

หนูมะระชิม “หมูหมี่กะทิกระทะ” แล้วหัวเราะฮะฮะ

มะลิกับมะระมีความสุข สองพี่น้องจึงหัวเราะพร้อม ๆ กันว่า…ฮิฮะฮิฮะ

เมื่อคุณแม่เห็นลูกกินหมูกระทะผสมกับหมี่กะทิ จึงดุหนูมะลิ

เมื่อคุณแม่เห็นลูกกินหมี่กะทิผสมกับหมูกระทะ จึงดุหนูมะระ

“กินหมูกระทะผสมกับหมี่กะทิ หรือกินหมี่กะทิผสมกับหมูกระทะ ระวังจะปวดท้องนะ”

หนูมะลิได้ฟังก็หัวเราะฮิฮิ หนูมะระได้ฟังก็หัวเราะฮะฮะ

สองพี่น้องคิดในใจว่า “พวกหนูไม่เชื่อคุณแม่หรอกเจ้าคะ”

ตกกลางคืน

หนูมะลิท้องเสีย จึงหมดแรงหัวเราะฮิฮิ

ส่วนหนูมะระก็ท้องเสีย จึงหมดแรงหัวเราะฮะฮะ

นี่เพราะหนูมะลิกินหมูกระทะกับหมี่กะทิ

นี่เพราะหนูมะระกินหมี่กะทิกับหมูกระทะ

น่าสงสารสองพี่น้องจอมตะกละ…ไม่มีแรงหัวเราะฮิฮะฮิฮะ

#นิทานนำบุญ

…………………………………………………..

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานรักแม่ : ของขวัญจากลูกหมี

นิทานก่อนนอนเรื่อง ของขวัญจากลูกหมี เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งขึ้นในช่วงปีท้าย ๆ ของการเขียนนิทานลงในนิตยสารขวัญเรือน นิทานเกี่ยวกับลูกหมีสามตัวเรื่องนี้ เป็นนิทานที่ผมตั้งใจแต่งให้เป็นนิทานสำหรับเด็กกำพร้า โดยแต่งให้เห็นว่า เมื่อเด็ก ๆ ได้รับความรักจากแม่ผู้ดูแลบ้านเด็กกำพร้าด้วยใจที่บริสุทธิ์ ความอบอุ่นนั้นก็จะทำให้เด็ก ๆ มีหัวใจที่พร้อมจะเป็นผู้ให้ความรักแก่ผู้อื่นเช่นกัน นิทานเกี่ยวกับการให้ของขวัญแก่แม่เรื่องนี้ มีที่มาจากคำพูดของเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ที่เล่าว่า เธอมักเตรียมน้ำเย็นไว้รอคุณพ่อทุกเย็นเพื่อให้คุณพ่อมีน้ำที่สดชื่นดื่มหลังจากกลับจากทำงาน ซึ่งจากเรื่องเล่านี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นิทานเรื่องนี้เกิดขึ้น

นิทานเรื่อง ของขวัญจากลูกหมี

กาลครั้งหนึ่ง ณ บ้านรับเลี้ยงลูกหมีกำพร้า มีแม่หมีใจดีตัวหนึ่งเป็นทั้งเจ้าของบ้านและเป็นผู้ดูแลลูกหมีกำพร้าทุกตัวด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ แม้ลูกหมีทั้งสี่ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้จะขาดพ่อแม่ แต่พวกมันไม่เคยขาดความรักเลย เพราะพวกมันได้รับความรักจากแม่หมีอย่างล้นปรี่

วันหนึ่ง ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข แม่หมีตื่นแต่เช้า แล้วย่องมาที่เตียงของลูกหมีทั้งสี่ในขณะที่พวกมันยังหลับปุ๋ยอยู่ใต้ผ้าห่ม แม่หมีแอบเตรียมของขวัญชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกหมีแต่ละตัว เพื่อให้ลูกหมีรู้ว่าพวกมันยังมีแม่หมีคอยรักและห่วงใยอยู่

แม่หมีบรรจงวางตุ๊กตาหมีถักตัวเล็ก ๆ ที่ข้างหมอนของลูกหมีแต่ละตัว จากนั้น แม่หมีก็ออกจากห้อง แล้วรีบไปตลาดเพื่อซื้อของมาทำอาหารเช้าให้ลูกหมีทั้งสี่ได้กินกัน

หลังจากแม่หมีออกจากบ้านไปได้ไม่นาน ลูกหมีสีน้ำตาลซึ่งเป็นพี่ใหญ่ก็ตื่นนอนและเห็นของขวัญที่แม่หมีมอบให้ ลูกหมีดีใจจนน้ำตาแทบไหล มันรีบปลุกน้อง ๆ ซึ่งลูกหมีทุกตัวต่างก็รู้สึกดีใจไม่แพ้กัน

เมื่อลูกหมีทั้งหลายชื่นชมของขวัญที่แม่หมีมอบให้ได้สักพัก ลูกหมีสีน้ำตาลก็บอกกับน้อง ๆ ว่า “ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขแบบนี้ เราน่าจะมอบของขวัญแทนใจให้แม่หมีของพวกเราบ้างนะ”

ลูกหมีทุกตัวเห็นว่าการได้เป็นผู้มอบความรักเป็นสิ่งที่ดีพอ ๆ กับการเป็นผู้ได้รับความรัก พวกมันจึงพยักหน้า แล้วแยกย้ายกันไปเตรียมของขวัญเพื่อมอบให้แก่แม่หมี

ในเวลาต่อมา เมื่อแม่หมีกลับมาถึงบ้าน ลูกหมีสีน้ำตาลก็รีบมาช่วยแม่หมีถือตะกร้าจ่ายตลาด พร้อมกับเชิญให้แม่หมีไปนั่งพักในห้องกินข้าว

ครั้นเมื่อแม่หมีหย่อนก้นลงที่เก้าอี้แล้วเงยหน้าขึ้นมา แม่หมีก็พบว่าลูกหมีสีน้ำตาลใช้มือทั้งสองบรรจงยื่นน้ำเย็นแก้วหนึ่งมอบให้แม่หมีดื่ม พร้อมกับพูดว่า “นี่เป็นของขวัญจากใจของผมครับแม่”

แม่หมีรับน้ำเย็นมาดื่มด้วยความชื่นใจ และเมื่อแม่หมีเงยหน้าขึ้น แม่หมีก็พบว่า ลูกหมีขาวที่แสนอ่อนหวานใช้มือทั้งสองอุ้มกระถางดอกไม้แสนสวยเดินตรงมาหาพร้อมกับพูดว่า “นี่เป็นของขวัญจากใจของหนูค่ะแม่”

แม่หมีปลื้มใจมากขึ้นอีก แม่หมีก้มหน้าดมกลิ่นดอกไม้ที่หอมชื่นใจ และเมื่อแม่หมีเงยหน้า แม่หมีก็พบว่าลูกหมีแพนด้าที่ตัวเล็กกว่าลูกหมีสองตัวแรก ใช้สองมืออุ้มโถใส่น้ำผึ้งขนาดใหญ่กว่ากระถางดอกไม้ถึงสองเท่าเดินเข้ามา แล้วยื่นโถใบนั้นมอบให้แม่หมีพร้อมกับพูดว่า “นี่เป็นของขวัญจากใจของผมครับแม่”

แม่หมีดีใจเหลือเกินที่ลูกหมีกำพร้ามอบของขวัญให้ และดูเหมือนว่าของขวัญที่ลูกหมีนำมามอบให้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ ทุกที

“แล้วเจ้าลูกหมีตัวจิ๋วล่ะจะเอาอะไรมาให้นะ” แม่หมีคิด

ทันใดนั้นเอง ลูกหมีตัวจิ๋วซึ่งเป็นน้องเล็กของบ้านก็เดินเข้ามาในห้อง พร้อมกับใช้มือทั้งสองทำท่าเหมือนกำลังอุ้มอะไรบ้างอย่างที่ใหญ่กว่าแก้วน้ำมาก ๆ , ใหญ่กว่ากระถางดอกไม้มาก ๆ , ใหญ่กว่าโถใส่น้ำผึ้งมาก ๆ แต่เมื่อแม่หมีขยี้ตาดู แม่หมีกลับมองไม่เห็นสิ่งที่ลูกหมีตัวจิ๋วกำลังอุ้มอยู่!

ครั้นเมื่อลูกหมีตัวจิ๋วเดินโซเซอุ้มของที่ดูเหมือนหนักมากมาถึงตรงหน้าของแม่หมี ลูกหมีตัวจิ๋วก็หยุดยืนและมองตาแม่หมี พร้อมกับพูดว่า “แม่คะ หนูหาของขวัญอย่างอื่นมาให้แม่ไม่ทัน หนูก็เลยขอมอบสิ่งนี้ให้แม่ นั่นก็คือ….”

ลูกหมีตัวจิ๋วกลืนน้ำลายนิดนึง จากนั้น มันก็เอามือทั้งสองที่กางค้างเหมือนอุ้มของอยู่ โผเข้ากอดแม่หมีแล้วบอกแม่หมีว่า “อ้อมกอดจากหัวใจอุ่น ๆ ของหนูไงคะ หนูรักแม่นะคะ รักมาก รักที่สุดในโลกเลย”

แม่หมียิ้ม ลูกหมีตัวจิ๋วยิ้ม ลูกหมีตัวอื่น ๆ ก็ยิ้ม หลังจากนั้น ลูกหมีทั้งหมดก็พร้อมใจกันโผเข้ากอดแม่หมีผู้ใจดีอย่างแนบแน่น….ด้วยความรักสุดหัวใจ”คุณแม่น่ารักจัง ขอกอดคุณแม่แน่น ๆ และหอมแก้มหน่อยนะ จุ๊บ จุ๊บ จ้วบ จ้วบ”

#นิทานนำบุญ

………………………………..

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานสอนใจ : คำสัญญาของเบน

นิทานเรื่อง “คำสัญญาของเบน” เป็นนิทานที่มีฉากล้ำยุค คือเป็นเหตุการณ์นอกโลก (ในดาวสมมติ) แต่เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ เป็นนิทานสอนใจที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งเอาไว้เพื่อแนะนำให้เด็ก ๆ ได้เตรียมตัวเตรียมใจในการมีสัตว์เลี้ยงสักตัว และการรู้จักรักษาคำมั่นสัญญา นิทานที่ให้ข้อคิดเรื่องการรักษาสัญญามีอยู่ไม่น้อย แต่นิทานที่ปลูกฝังเรื่องการดูแลสัตว์เลี้ยง ยังมีไม่มากนัก ที่สำคัญ หัวข้อเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นหนึ่งในสาระการเรียนรู้ ของเด็ก ซึ่งคุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนเสริมในแผนการสอนหรือแผนการจัดประสบการณ์ได้

นิทานเรื่อง คำสัญญาของเบน

กาลครั้งหนึ่ง ณ ดวงดาวสีชมพูซึ่งอยู่นอกเขตจักรวาลที่พวกเราคุ้นเคย  มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านทรงกลมที่ทำจากกระจกและโลหะล้ำสมัย  เด็กน้อยคนนี้มีชื่อว่า “เบน”

เบนเป็นลูกชายคนเดียวของคุณพ่อคุณแม่  ในบ้านของเขาไม่มีญาติหรือเด็กคนอื่นอีกเลย  บางครั้ง..เบนจึงรู้สึกเหงาและอยากมีใครสักคนเป็นเพื่อน

อยู่มาวันหนึ่ง  ในขณะที่เบนออกไปเดินเล่นในป่าหญ้าปุกปุยใกล้ ๆ บ้าน  ช่วงที่เบนเดินผ่านสะพานข้ามแอ่งน้ำที่อยู่กลางป่า เบนก็เหลือบไปเห็นไข่สีเหลืองจุดม่วงฟองใหญ่ฟองหนึ่งตกอยู่ในพงหญ้าเชิงสะพาน  เบนคิดว่าในไข่ฟองนั้นอาจมีลูกสัตว์ตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่และมันอาจเป็นเพื่อนที่ช่วยให้เขาหายเหงาได้  ด้วยเหตุนี้ เบนจึงนำไข่สีเหลืองจุดม่วงฟองใหญ่กลับไปที่บ้านด้วย

เมื่อเด็กน้อยกลับถึงบ้าน  เขารีบขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ฟักไข่เพื่อให้มันเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของเขา  คุณพ่อคุณแม่ผู้ใจดีจึงถามเบนว่า “ถ้ามันเกิดมาแล้วไม่น่ารักล่ะ ลูกจะยังคงรักและเลี้ยงมันต่อไปรึเปล่า”  ในเวลานั้น  เบนมั่นใจว่าไข่สีเหลืองจุดม่วงในอ้อมกอดของเขาต้องฟักออกมาเป็นสัตว์ที่น่ารักแน่ ๆ  ดังนั้น  เบนจึงสัญญากับคุณพ่อคุณแม่ว่า “ถึงยังไง ผมก็จะดูแลมันตลอดไป…ไม่ว่ามันจะน่ารักหรือไม่ก็ตามครับ” 

หลังจากที่เบนให้คำมั่นสัญญา  คุณพ่อคุณแม่จึงอนุญาตให้ลูกชายฟักไข่และเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้  ซึ่งทันทีที่คุณพ่อคุณแม่อนุญาต เบนก็รีบนำผ้านวมหนานุ่มของเขามาปูที่หน้าเตาผิงไฟฟ้า แล้วเอาเสื้อหนาวกับผ้าพันคอมาล้อมเป็นรัง จากนั้น เบนก็เข้าไปนอนกอดไข่ฟองใหญ่ฟองนั้นเพื่อให้ความอบอุ่น…จนตัวของเขาหลับไปในที่สุด

เช้าวันต่อมา  เมื่อเบนตื่นนอนได้สักพัก  ไข่สีเหลืองจุดม่วงของเขาก็ค่อย ๆ กระดุกกระดิกกระดุ๊กกระดิ๊ก  จากนั้น เปลือกไข่ก็กระเทาะ แล้วลูกสัตว์ประหลาดตัวกลม ๆ ที่มีขนปุกปุยเหมือนไหมพรมสีเหลืองฟู ๆ ก็ลืมตาออกมาดูโลก      

เบนหลงรักสัตว์เลี้ยงของเขาทันทีที่ได้เห็น  เขาตั้งชื่อมันว่า “มุยมุย” พลางคิดเข้าข้างตัวเองว่า “เห็นไหมล่ะ มันออกมาน่ารักอย่างที่เขาคิดจริง ๆ ด้วย”

ในขณะที่เด็กน้อยกำลังดีใจ  คุณพ่อคุณแม่ก็เตือนลูกชายให้จำคำสัญญาเอาไว้ให้ดี  เพราะสัตว์บางอย่างจะมีรูปร่างเปลี่ยนไปเมื่อโตขึ้น  แต่ในเวลานั้น  เบนมั่นใจว่าถึงอย่างไรมุยมุยก็จะน่ารักแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  เขาจึงย้ำกับคุณพ่อคุณแม่ว่า “ถึงยังไง ผมก็จะดูแลมันตลอดไป…ไม่ว่ามันจะน่ารักหรือไม่ก็ตามครับ” 

หลายเดือนต่อมา  มุยมุยค่อย ๆ  เติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมีเด็กน้อยเฝ้าดูแลเป็นอย่างดี  แต่เมื่อมุยมุยอายุครบ 1 ปี   ขนสีเหลืองที่ฟูและนุ่มนวลของมันก็เริ่มร่วง จากนั้น มันก็กลายเป็นสัตว์ประหลาดจมูกโต  ที่มีเนื้อตัวเป็นสีม่วง แถมผิวหนังยังดูปุ่มป่ำ เป็นดอกเป็นดวงคล้ายกับเป็นขี้เรื้อนเสียอีก แน่นอนว่า มุยมุยไม่เหลือเค้าความน่ารักแบบสมัยที่มันยังเป็นเด็กอยู่เลย

เบนตกใจมากต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  แม้เขาจะรักสัตว์เลี้ยงของเขา แต่การที่มันเปลี่ยนรูปร่างไปเช่นนี้ก็ทำให้เบนรู้สึกไม่อยากอยู่ใกล้ ๆ มัน รวมทั้งไม่ยอมให้มันเข้ามานอนใกล้ ๆ  อีกด้วย

มุยมุยเสียใจที่เจ้านายเปลี่ยนไป  แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่อยากทำให้เจ้านายที่มันรักต้องลำบากใจ  ด้วยเหตุนี้  มันจึงได้แต่นั่งหงอย ๆ อยู่ที่มุมห้องอย่างเหงา ๆ    

คืนวันหนึ่ง…หลังจากที่เบนตีตัวออกห่างจากมุยมุยมาได้สักระยะ  เขาเข้านอนแล้วน้ำตาก็ไหลออกมาด้วยความอึดอัดใจ  เบนรู้สึกแปลก ๆ ถ้าเขาจะต้องกอดสัตว์เลี้ยงที่มีรูปร่างน่าเกลียด แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกผิดที่ไม่รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้

“ถึงยังไง ผมก็จะดูแลมันตลอดไป…ไม่ว่ามันจะน่ารักหรือไม่ก็ตามครับ” 

คำสัญญาที่พูดออกมาง่าย ๆ   ถ้าไม่รักษาไว้ มันก็คงเรียกว่าคำสัญญาไม่ได้  คงเป็นเพียงคำพูดลอย ๆ ของคนที่ไร้ค่าเท่านั้น  

เบนไม่อยากเป็นคนไร้ค่า และเจ้ามุยมุยก็ไม่ได้ทำอะไรผิดสักนิด  มันยังคงเป็นเจ้ามุยมุยตัวเดิมของเขา เพียงแค่รูปร่างหน้าตาของมันเปลี่ยนแปลงไปเฉย ๆ   

ถ้าวันหนึ่งตัวเขาเปลี่ยนไปจนดูไม่น่ารัก แล้วหากพ่อกับแม่ไม่ต้องการเขาอีกต่อไปล่ะ เขาจะรู้สึกอย่างไรหนอ?

เบนครุ่นคิดอย่างจริงจังที่สุดในชีวิต  และแล้ว…เขาก็ตัดสินใจว่าเขาควรจะรักษาคำสัญญาที่ให้ไว้ 

เช้าวันรุ่งขึ้น  เบนตื่นแต่เช้าแล้วตรงเข้าไปอุ้มเจ้ามุยมุยมากอดเอาไว้ในอ้อมแขนแทนคำขอโทษ  จากนั้น เขาก็คอยดูแลมันเหมือนในวันเก่า ๆ 

มุยมุยดีใจมากที่เจ้านายของมัน…ยังคงรักมันไม่แปรเปลี่ยน  ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ดีใจที่ลูกชายคิดได้และกลับมารักษาคำสัญญาที่ให้ไว้

หลังจากที่เบนมองข้ามรูปร่างหน้าตาของมุยมุยแล้วกลับมารักมันดังเดิมได้ไม่กี่เดือน  ร่างกายของมุยมุยก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยคราวนี้มันกลายสภาพเป็นสัตว์ตัวกลมที่มีขนฟู ๆ สีเหลืองสลับสีม่วง แถมยังมีประกายวิบวับ ซึ่งดูสวยกว่าตอนแรกเกิดหลายเท่า

แต่ถึงมุยมุยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม มันก็ไม่มีผลใด ๆ ต่อเบนเลย เพราะเขารู้แล้วว่า “ถึงอย่างไร เขาก็จะดูแลมันตลอดไป…ไม่ว่ามันจะน่ารักหรือไม่ก็ตาม

#นิทานนำบุญ

………………

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานรักพ่อเรื่อง เหมือนกับพ่อ

ตลอดช่วงเวลาที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ทำอาชีพเป็นนักเขียนนิทานไทย ผมแต่งนิทานเกี่ยวกับความรักระหว่างแม่กับลูกเอาไว้หลายเรื่อง แต่นิทานเกี่ยวกับความรักระหว่างพ่อกับลูกอยู่มากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ในช่วง 10 กว่าปีแรกของการเป็นนักแต่งนิทาน ผมมีเรื่องขัดแย้งกับพ่ออุย่างรุนแรง การคิดและเขียนเรื่องความรักของพ่อที่มีต่อลูกจึงค่อนข้างฝืนกับความรู้สึก จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้ก้าวข้ามความขัดแย้งนั้น ด้วยการลดทิฐิมานะ จากนั้น พ่อกับผมก็ค่อย ๆ ปรับความสัมพันธ์ที่มีต่อกันให้ดีขึ้น ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมก็สามารถแต่งนิทานความรักที่มีต่อพ่อได้ แม้นิทานเรื่องนี้จะเป็นนิทานก่อนนอนสั้น ๆ ที่อาจไม่มีฉากตื่นเต้นหรือเนื้อเรื่องที่ชวนให้ประทับใจ แต่มันเป็นนิทานที่มีความหมาย ซึ่งผมแต่งออกมาจากใจ เพื่ออุทิศให้พ่อของผมเอง

นิทานรักพ่อเรื่อง เหมือนกับพ่อ

ฉันเป็นลูกเต่าตัวน้อย    พ่อของฉันเป็นพ่อเต่าต้วมเตี้ยม   ฉันเฝ้ามองพ่ออยู่เงียบ ๆ ทุกวัน และฉันแอบคิดบางสิ่งบางอย่างอยู่ในใจ

วันหนึ่ง ฉันเห็นลูกสิงโตเพื่อนของฉันเดินมากับพ่อสิงโตเจ้าป่า  พ่อสิงโตดูยิ่งใหญ่, ดุดันและน่าเกรงขามกว่าพ่อของฉันมาก  พ่อเต่าที่ชอบหดหัวเข้าไปหลบอยู่ในกระดอง   คงเทียบกับพ่อสิงโตยอดนักสู้ไม่ได้  แต่เธอรู้ไหม…ฉันคิดอะไรอยู่

อีกวันหนึ่ง  ฉันเห็นลูกนกยูงผู้น่ารักเดินมากับพ่อนกยูง  พ่อนกยูงรำแพนหางงามสง่าชวนให้ตื่นตาตื่นใจ  พ่อเต่าที่มีเพียงกระดองสีหม่นอาจเทียบความหล่อกับพ่อนกยูงไม่ได้  แต่เธอรู้ไหม…ฉันคิดอะไรอยู่

ต่อมา…ฉันเห็นพ่อกระต่ายป่ากระโดดนำหน้าลูกกระต่ายป่าเพื่อนของฉันไปอย่างคล่องแคล่ว พ่อกระต่ายป่าดูปราดเปรียวและเคลื่อนไหวได้ว่องไวราวกับสายลมพัด  พ่อเต่าต้วมเตี้ยมไม่มีทางเทียบความกระฉับกระเฉงกับพ่อกระต่ายป่าได้   แต่เธอรู้ไหม…ฉันคิดอะไรอยู่

ฉันมองพ่อของเพื่อน ๆ แล้วหันกลับมามองพ่อของฉันอีกครั้ง

ฉันคิดว่า…ฉันชอบที่พ่อของฉันมักหดหัวเข้ามาหลบในกระดอง แทนที่จะใช้กำลังทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ๆ ไปทั่ว

นอกจากนี้ ฉันยังชอบกระดองของพ่อที่แม้จะไม่สวยสักเท่าไร แต่มันมีประโยชน์และช่วยป้องกันภัยได้อย่างดีเยี่ยม

ที่สำคัญ ฉันชอบที่พ่อคลานต้วมเตี้ยมอย่างมีสติทุกลมหายใจ เพราะมันทำให้จิตใจของพ่อมั่นคงเข้มแข็งด้วยปัญญาและสมาธิ

เธอรู้ไหม…เมื่อไม่นานมานี้ พ่อของฉันป่วยหนัก…หนักจนหลายคนคิดว่าพ่อจะอยู่กับฉันได้อีกไม่นานนัก  หากเป็นพ่อของคนอื่น เขาอาจกลัวจนทำอะไรไม่ถูก  แต่ด้วยสติที่มั่นคงของพ่อ  พ่อเต่าต้วมเตี้ยมของฉันกลับไม่ตื่นตระหนกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พ่อน้อมรับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เจ็บป่วย แล้วค่อย ๆ รักษาตัวเองที่ละน้อย ๆ จนกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิมอีกครั้งราวกับปาฏิหาริย์

ใคร ๆ ก็คงรักพ่อของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ฉันเองก็รักพ่อของฉัน 

ฉันรักหัวใจของพ่อที่แข็งแกร่งเหมือนเหล็กเหมือนเพชร  และฉันหวังว่าสักวัน ฉันจะเติบโตขึ้นเป็นเต่าต้วมเตี้ยมที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็งเหมือนกับพ่อ

#นิทานนำบุญ

……………………………………

Posted in ครอบครัว, นิทาน

บทสัมภาษณ์ในนิตยสารสีสัน

ช่วงต้นปี 2563 เป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มการระบาด เมื่อสถานการณ์เริ่มมีความเสี่ยงน้อยลง รุ่นพี่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังในนิตยสารสีสัน ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ในฐานะ นักแต่งนิทานของไทย ซึ่งตามปกติ ผมหยุดการให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่าง ๆ มานานแล้ว แต่เพราะรุ่นพี่ท่านนี้เป็นรุ่นพี่ที่คอยติดตามให้กำลังใจเพจนิทานของผมมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อรุ่นพี่ติดต่อมา ผมจึงตอบตกลงให้สัมภาษณ์ และบทความต่อไปนี้ คือ บทความสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสีสัน ปีที่ 31 ฉบับที่ 8 โดย “ดาวเอื้อมฟ้า” ซึ่งผมถือเป็นเกียรติที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองบันทึกไว้ในนิตยสารคุณภาพอย่าง “นิตยสารสีสัน” ที่ผมติดตามมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา (ราวปี 253X) อนึ่ง การพูดคุยให้สัมภาษณ์อาจมีบางช่วงบางตอนที่ดูเป็นกันเองมาก (เพราะผมถือว่าผมกับผู้สัมภาษณ์คุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง จึงคุยอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมามาก ๆ ) หากมีคำพูดใดไม่ค่อยสำรวมระวัง หรือกระทบความรู้สึกของใครก็ตาม ผมต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ ท้ายสุด ผมขอขอบคุณทางนิตยสารสีสันที่อนุญาตให้นำบทความนี้มาลงในเว็บไซต์นิทานนำบุญนะครับ ขอเชิญท่านที่สนใจลองอ่านบทความนี้กันดูนะครับ

บทสัมภาษณ์ : นักเล่านิทาน นำบุญ

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานเท่าไหร่ ในยุทธจักรน้ำหมึก ยังมีนักเล่านิทานหนุ่มไฟแรงชื่อว่า นำบุญ นามเป็นบุญ ที่เล่เรื่องราวมากมายในนิตยสาร “ขวัญเรือน” ยาวนานถึง 17 ปีเต็ม

17 ปีกับนิทานกว่า 400 เรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาหยิบวัตถุดิบมาจากไหน? เคยตื้อตันกับการต้องเขียนต้นฉบับใหม่ ๆ ทุก 15 วันบ้างไหม? วันนี้ยังเขียนนิทานอยู่หรือเปล่า? แล้วเป้าหมายในชีวิตของนักเล่านิทานอย่างเขาคืออะไร?

อดีตนักศึกษาเอกภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยสมัครเข้า ทียู แบนด์ เพียงเพื่ออยากได้อัลบั้มเพลงของ ปรัชญ์ สุวรรณศร เคยเล่นละครเวที (แต่ไม่ชอบ) เคยได้ทุนไปศึกษาเรื่องหุ่นที่สวีเดน เคยทำรายการสำหรับเด็ก และแน่นอน – เขียนนิทาน

ตอนนี้ เขาหยุดเขียนนิทานไปแล้ว และนำผลงานเก่า ๆ ที่เขียนไว้ มาลงในเว็บไซต์ส่วนตัว พร้อมกับเพจ “นิทานนำบุญ” ในเฟซบุ๊ก อนาคตเขาอาจเปิดช่องยูทูบ หรืออาจจะมีพอดแคสต์ ให้แฟนคลับนิทานของเขาได้ติดตามกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยเหตุผลเดียว “ผมรักเด็กจริง ๆ นะ”

“จริง ๆ ผมเคยฝันอยากเป็นนักเขียนนิทาน คืออยากแต่งน่ะ ผมไม่เคยคิดอยากเป็นนักเขียนนะ”

นำบุญเกริ่นกับฉันในบ่ายวันหนึ่งที่บ้านพักของเขาย่านปู่เจ้าสมิงพราย เป็นความฝันของเด็กชายผู้อ่านขวัญเรือนมาแต่เด็ก ๆ ตามผู้เป็นแม่ “ถ้าเราได้เขียนลงขวัญเรือนก็คงดีเนอะ เออ มีความเป็นนักเขียนอยู่ตรงนี้-ที่คิด คิดแบบบาง ๆ แล้วช่วงนั้นแบบว่า…ก่อนที่ผมจะเป็นนักเขียน ผมไปเปิดดูในขวัญเรือน เออ มีคนเขียนอยู่ ไม่เห็นสนุกเลย ถ้าเราได้เขียนคงดีเนอะ คิดแค่นี้เลย”

นักเล่านิทานหนุ่มใหญ่หัวเราะลงลูกคอก่อนลดเลี้ยวไปถึงช่วงที่เขาไม่มีความสุขกับการอยู่ที่สวีเดน ที่ที่เขาควรจะได้เก็บความรู้เรื่องหุ่นและนำกลับมาประยุกต์ใช้สอดรับกับความฝันที่อยากทำงานเกี่ยวกับเด็ก แต่ไม่เป็นอย่างที่หวัง นำบุญตัดสินใจกลับเมืองไทย

“อยู่ประมาณปีหนึ่งแล้วก็พบปัญหาบางอย่างว่าเขาไม่ได้จริงใจกับเรานัก เช่น ให้ทุนไปแต่ไม่สอน เราก็ต้องเรียนรู้เอง เขาบอกว่าไม่มีเวลาสอนนะ ผมก็ไม่เป็นไร ช่วงเช้าผมทำ ช่วงเช้าผมทำงานด้วยนะครับ เป็นเทคนิคเชี่ยน เพราะภาษาสวีเดนเราไม่ได้ แต่กลางคืนปุ๊บ ผมก็ลงไปทำหุ่นที่ห้องใต้ดิน ดูหุ่นของเพื่อนทีทำหุ่นสไตล์ญี่ปุ่น เป็นหุ่นกลไก ขยับตาขยับปากได้ นำบุญก็นั่งทำ หัดแกะสลักไม้ หัดทำกลไก ซึ่งมันไม่ใช่ผมเลย งานเทคนิคเชี่ยนก็ไม่ใช่ผมเลย แต่ก็หัดทำ ก็คือเรียนรู้น่ะฮะ พอเวลาผ่านไป เขามีเปิดคอร์สระดับสูงเหมือนระดับปริญญาอะไรอย่างนี้ นักเรียนในสวีเดนได้เรียน แต่ผมไม่ได้เรียน ไปอ๊อบเสิร์ฟก็ไม่ได้ ไม่ได้แล้วฉันจะอยู่ทำไม ผมก็เลยกลับมาฝึกที่เมืองไทยดีกว่า”

“กลับมาก็ต้องมองหางาน ตอนนั้น ใจผมน่ะอยากทำงานเด็ก เท้าความหน่อยว่าผมเคยทำโทรทัศน์เด็ก แล้วก็ค้นพบว่าตัวเองรักงานเด็กมาก คือผมอยากทำให้เด็กยิ้ม อยากเห็นเด็กยิ้ม อยากให้เขามีความสุขมาก ๆ เหนื่อยแค่ไหนใจเราก็ยังยิ้มน่ะ อย่างเดียวที่ทำให้ผมมีความสุขได้ในตอนนั้น ทำให้ผมไปยอมเหนื่อยที่สวีเดน อยากจะมีหุ่นมาเล่นกับเด็ก ง่าย ๆ เลย คิดโง่มาก คิดแค่นี้เลย”

น้ำเสียงนุ่ม ๆ ของเขาเจือความสุข-ฉันสัมผัสได้ “พอกลับมา เฮ้ย นิทานมันก็เป็นเรื่องของเด็กนี่หว่า ระหว่างที่คิดก็บังเอิญว่าได้งานที่หนึ่ง เป็นผู้สอนวิทยาศาสตร์ หลักสูตรของแคนาดา กติกาข้อหนึ่งว่า สามารถไปเมืองนอก แคนาดาไม่เคยไป (หัวเราะ) แล้วถ้าเล่นกับของเล่นได้นี่ (ยิ้ม) ของเล่นนี่ของชอบเลย ผมชอบของเด็ก ๆ แล้วก็ต้องสอนเด็กได้ ผมตรงหมดเลยน่ะ ก็ได้งาน”

“จำไม่ได้ว่าทำอยู่กี่เดือน ขวัญเรือนเขามีการเปลี่ยนแปลง นักเขียนเก่าเขาออก แล้วน้องที่ขวัญเรือนเป็นน้องที่วารสารฯ รู้จักกับพี่ดาว รักษิตา จะติดต่อให้พี่ดาวไปเขียน ผมเข้าใจอย่างนั้นนะ แล้วพี่ดาวก็แนะนำว่ามาหานำบุญสิ พี่ดาวรู้จักผมเพราะเมื่อก่อนผมเคยไปเล่านิทานที่ “ร้านหนังสือเล็ก ๆ” มันก็โยง ๆ กันน่ะ น้องที่ขวัญเรือนก็รู้จักผมด้วย เขาก็ติดต่อมา พอโอกาสมา มันชนกันใช่มั๊ยครับ ระหว่างงานประจำซึ่งเลี้ยงชีพได้กับงานนักเขียน”

ตอนแรกนำบุญคิดว่า “น่าจะทำไปพร้อมกันได้” แต่ในความจริง การทุ่มเททำงานที่รัก 2 อย่างพร้อมกันกลับยากกว่าที่คาด “พอเริ่มทำจริง ๆ งานหนักมาก เพราะว่างานสอนมันไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องทำบท ต้องไปช่วยเจ้านายขาย แล้วต้องเทรนนิ่งรุ่นน้องให้ขึ้นมาเป็นครูผู้สอน แล้ววิธีการสอนมันยากมาก แต่ผมทำได้ เพราะมันคือชีวิตของผม เหนื่อยแต่ผมมีความสุข เด็กแฮ๊ปปี้มาก พอเวลาว่างปุ๊บก็กลับมาเขียนงาน เขียนนิทาน แล้วดันเป็นนิทานลายปักษ์ 15 วันต้องได้เรื่องหนึ่ง มันเหมือนแบบางวันไม่อยากออกไข่ก็ต้องออกให้ได้” เขาหัวเราะก่อนบอกว่า ช่วงแรกก็ยึดสูตรที่คุ้นเคย เรื่องเจ้าหญิงเจ้าชาย ยักษ์ และพ่อมดแม่มด ฯลฯ แล้วก็พบว่า มันยากขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมเป็นคนเขียนหนังสือไม่เก่ง ผมเป็นสายพูด ผมจะเล่าเรื่อง ผมจะถนัดใช้กระบวนการคิด ก็จะวางแปลนว่าเราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร มีส่วนต้น ส่วนกลาง ส่วนท้าย เล่าอย่างนี้จะคล่อง แต่พอเป็นการเขียนปุ๊บ วิชาเขียนข่าวก็สอบคะแนนห่วย”

เสียงหัวเราะเขาฟุ่มเฟือยจริง ๆ

“งานเขียนผมไม่ดี แต่งานไอเดียผมได้ เพราะพอเขียนเสร็จก็ไปถ่ายเป็นภาพยนตร์ ไม่ได้เขียนเรื่องสละสลวย พอมาเจอนิทาน เป็นงานเขียนจริง ๆ เป็นอาชีพนักเขียน แล้วเราไม่ใช่นักเขียน ก็…เอา ลองดู เอารูปประโยค subject+verb+object (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ช่วงแรกนิทานก็จะเป็นคำที่เราคุ้นเคยจากนิทานต่าง ๆ มาเรียงไปเรียงมา คนจะไม่รู้นะ แต่ผมรู้ (หัวเราะเบาๆ) แล้วจะจบลงด้วยว่า “และแล้ว นิทานเรื่องนี้ก็จบลงด้วยความสุข” ทุกเดือน (หัวเราะ) เป็นปีเลยล่ะครับ จนขวัญเรือนบอกพี่ไม่ต้องจบแบบนี้ก็ได้ แล้วเราก็พยายามบิดให้นิทานของเรามีมุมที่มัน…ไม่เหมือนกัน เวลาแต่ง สร้างบทหนัง ก็คิดมุมไปเรื่อย ๆ ให้มันไม่ซ้ำ ไม่ซ้ำกับนิทานที่มีอยู่ในโลก ไม่ซ้ำกับนิทานที่เราเคยแต่ง ก็เลยยากขึ้น ๆ บีบคั้นขึ้นเรื่อย ๆ”

“ได้ไอเดียในการแต่งมาจากไหน เขียนมาเป็น 400 กว่าเรื่องอย่างนี้?” ฉันถาม

เหมือนเดิม – เขาพาฉันย้อนกลับไปวัยเยาว์ของเขา วันเก่า ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านชานเมืองย่านสมุทรปราการ “จะเมืองก็ไม่เมือง จะบ้านนอกก็ไม่บ้านนอก” แต่ในความรู้สึกก้ำกึ่งนั้น นำบุญบอกว่าสิ่งที่เขามีมันคืออีกดินแดนหนึ่ง ดินแดนที่ทุกอย่างเป็นไปได้ตามแต่เขาจะจินตนาการ “มันคือโลกของผมเอง พอผมคิดแบบนั้นได้ ทุกอย่างก็คลี่คลาย เพราะว่าโลกของผม ต้นไม้ไม่ใช่สีเขียว-ก็ได้ ต้นไม้เป็นสีชมพู มีสัตว์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ที่อื่น พอเราเจอทางของเราว่า นี่คือพื้นที่ของฉัน มันก็ไม่ได้ยากมาก ทีนี้พอมาเขียนนิทาน ก็ยึดตรงนี้ว่า ถ้าผมจะต้องเล่านิทานในแบบของผม มันก็คือโลกของผมไงโลกของผมจะมีนางฟ้าแบบนี้ และนางฟ้าอีกแบบ และอีกแบบ ๆ ๆ มันก็เลยมีนางฟ้าหลายแบบ”

“ผมอาจโชคดีตรงที่ว่า ชีวิตวัยเด็กผมมีพี่น้อง 5 คน เราก็เล่นกันในบ้าน ตอนเด็ก บ้านผมเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงห่าน ต้องไปเก็บไข่ไก่ทุกเช้า มีบ่อน้ำอยู่หลังบ้าน ลงไปว่ายน้ำกับเป็ด เอาลูกเป็ดลงน้ำแล้วลงไปว่ายน้ำกับเป็ด (หัวเราะ) และก็เดินเล่นกับห่าน แล้วห่านก็ไล่ตอดเรา มีหมา มีงู บางทีก็มีคนงาน มาช่วยทำไอ้นี่เล่นกัน ทำนาฬิกาจากใบมะพร้าว คือ หาเรื่องเล่นทุกวัน แม้กระทั่งห้องที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ เอ้า ปิดผ้าม่าน เอาโซฟามาพลิกทำเป็นถ้ำ อยู่ในถ้ำกันเถอะ บ้านเราต้องมีหิมะ เอาแป้งมาโรยเต็มบ้าน เราจะเล่นอย่างนี้แหละครับ โลกของเราคือโลกแห่งการเล่น เพราะฉะนั้น ความทรงจำวัยเด็กจะเยอะมาก ผมจำเรื่องราวชีวิตวัยเด็กได้จนกระทั่งผมเข้ามหาวิทยาลัย”

นั่นเป็นที่มาส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการแต่งนิทานนำบุญ อีกส่วนหนึ่งมาจากความหลงใหลในการ์ตูนที่มีทั้งของไทย อย่าง ชัยพฤกษ์, ตุ๊กตา ของญี่ปุ่นอย่าง แคนดี้จอมแก่น (อ่านตามพี่สาว), กุหลาบแวร์ซาย (อ่านตามเพื่อน) และ โดราเอมอน (ค้นพบเอง) เขาอ่าน “จนกระทั่งผมจำโครงเรื่องได้หมด ถ้าคนนี้เขียนปุ๊บเดี๋ยวจะต้องเป็นแนวนี้ จนเลิกอ่านเลยครับ สิ่งที่เราได้มันอาจจะเป็นการผูกเรื่องด้วย ก็เลยได้หลาย ๆ อย่าง ความทรงจำวัยเด็ก ทั้งประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมเยาวชนกับการ์ตูน ได้โครงเรื่องนี้มาผนวกกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเราผูกเรื่องได้ เขียนเรื่องได้ แล้วก็หลุดจากกรอบแบบ…เป็นโลกของเราเอง พอสร้างดินแดนได้ มันก็ง่ายขึ้น”

หลังจากนั้น…ทุกอย่างก็หลั่งไหลพรั่งพรูต่อเนื่องมา 17 ปี จากจุดเล็ก ๆ ในความคิด กลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือที่เรียงร้อยเป็นเรื่องเล่าความยาวสองหน้ากระดาษ ฉันถามเขาว่าได้พล็อตแต่ละเรื่องมายังไง? เขาบอกว่า “มันอาจจะมาจากทัศนคติพื้นฐานก่อน ว่าเรามองโลกยังไง อย่างเราไม่เชื่อเรื่องที่ว่า เงินซื้อความสุขได้ เขียนยังไงก็เขียนไม่ได้ว่าเงินซื้อความสุขได้ เราเชื่อเรื่องการเกื้อกูลแบ่งปันช่วยเหลือ นิทานผมจะเป็นเรื่องพวกนี้ การใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา นิทานผมจะมีแต่เรื่องแบบนี้ หรือเรื่องการปลูกต้นไม้ ธรรมชาติ เราเชื่อแบบนี้ ข้อสรุปในนิทานแต่ละเรื่องจะวน ๆ อยู่ประมาณนี้แหละครับ เห็นคุณค่าของครอบครัว เห็นคุณค่าของมิตรภาพ เห็นคุณค่าของเพื่อน เพราะเราเพื่อนน้อยไง เราเลยรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่มีค่า”

“เนื่องจากมันมีเวลา 15 วัน เราไม่ได้มีเวลาในการแพลนมากหรอกว่ามันจะอะไร นิทานบางเรื่อวคิดจากการมีตัวละครขึ้นมาก่อน อยู่ ๆ ก็….ต้องมีตัวละครสักตัวหนึ่ง ใครดี ๆ ๆ ๆ (เสียงค่อย ๆ ดังขึ้น) อ๊ะ เป็นเด็กผู้ชายสักคน แล้วเขาเป็นใครล่ะ ผมยังไม่เห็นหน้าเขาเลย ผมเขียนไม่ได้ ก็…เอ้า เด็กหัวฟู ๆ ชื่ออะไรดี ๆ ๆ บางทีชื่อก็มาก่อน ชื่อ ฮันนู ฮันนู เหมือนชื่อเพื่อนที่ฟินแลนด์ เอา ฮันนู นี่แหละเป็นชื่อตัวละครตัวนี้ แต่บุคลิกไม่ใช่เขาเลยนะ ฟังฟู ๆ ทำนิทานสระอูดีกว่าเว้ย ก็กลายเป็น “ฮันนู เป็นเด็กหัวฟู เขาเกิดที่ประเทศเปรู” อะไรอย่างนี้ มันก็จะทำให้เราไล่ต่อไปได้ นิทานบางเรื่องมาจากตัวละครที่ มีบุคลิกบางอย่าง สมมตินะครับ เป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ทอดทิ้ง เราอยากเขียนนิทานเด็กกำพร้า นิทานบางเรื่องเป็นเรื่องของคุณตาที่ยิ้มได้ทั้งวัน มองโลกแง่ดีมาก”

“เริ่มจากตรงนี้ จากตัวละคร นี่คือกลุ่มที่เริ่มจากชื่อ แล้วเราก็ฝันต่อ ฝันมีละก้าว เหมือนต่อจิ๊กซอว์น่ะครับ วางจิ๊กซอว์ เปิดเรื่องแบบนี้ โครงเรื่องจะไปไหนยังไม่รู้เลยนะ ด้นไป ตัวที่ 2 วาง คิดเรื่องต่อ ไม่ได้ เอาจิ๊กซอว์ตัวนี้ทิ้ง สร้างตัวใหม่ เช่น ตัวนี้ไปเจอเหตุการณ์ที่ 1 ขึ้นมา มี…เจอแม่มด แม่ป่วยไม่สบาย-นี่เป็นสูตรประจำเลย เด็กคนหนึ่งอาศัยอยู่กับแม่ วันหนึ่งแม่ต้องเจออะไรสักอย่าง แม่ป่วยไม่สบาย (หัวเราะ) เออ พอได้ ๆ แม่ป่วยไม่สบายแล้วยังไงเหรอ มีใครมาบอกว่าต้องเอาอะไรมารักษา มันก็เริ่มก้าวไปไงครับ แต่เราคิดแบบนี้ปุ๊บ เราบอกว่า เฮ้ย ไอ้มุขแม่ป่วย ไม่สบาย มันมีหลายครั้งแล้วนะ เรายกจิ๊กซอว์นี้ออก มองหาตัวอื่น นี่คือสูตรนี้นะครับ คือ สูตรสร้างตัวละครแล้วต่อจิ๊กซอว์ไป”

“กับสูตรประเภทที่ว่า เห็นเหตุการณ์ในสังคม อย่างผมดูพวก อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย บางทีก็เป็นเรื่องได้ (หัวเราะ) บางทีดูเรื่องการเมือง อย่างช่วงการเมืองที่มีสีเสื้อเยอะ ๆ ผมก็แต่งเป็นเรื่องเลยนะ แต่งแบบไม่มีใครรู้เลยว่า มันเป็นเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องความคิดทางการเมือง ผมก็จะหามุมในเรื่องของความกมเกลียว ในเรื่องของพลัง ในเรื่องของอะไรที่มันดีกว่า เหมือนกับว่าเป็นการเยียวยาตัวเองด้วย และสังคมด้วย ว่าแบบ…สังคมที่ทะเลาะกันเยอะ ๆ แบบนี้ มันไม่ได้สร้างอะไรเลย ปลูกต้นไม้ก็ยังดีกว่า”

“ลึก ๆ ผมเคยวิเคราะห์ตัวเอง คนที่มันมีเพื่อนน้อย มันอยากมีเพื่อนน่ะ อยากมีเพื่อนมาก ๆ เลย ถ้าจะมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มีความสุข ก็จะต้องมีเพื่อนดี ๆ มีสังคมน่ารัก งานแนวนี้ โครงเรื่องแนวนี้ จะมีเยอะมาก และเนื่องจากว่านิทานผมจะเป็นโครงสร้างแบบ เกริ่นนำเรื่อง มีปม 3 ปม หนึ่ง-สอง-สาม แล้วปิดท้าย สังเกตก็คือว่า ปมที่ 1-แก้ ปมที่ 2-แก้ ปมที่ 3-ไคลแม็กซ์แก้ ปัง! จบ ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เพราะว่ามีหน้าให้เขียนสองหน้า ต้องจบอย่างสมบูรณ์ในสองหน้า แล้วก็ถ้าเขียนเต็มสองหน้า ภาพประกอบก็จะได้น้อย ก็พยายามแบบว่า…หลัง ๆ อยากใส่ดีเทล เคยมีคนบอกผมว่า “พี่ ๆ เวลาเขียน ต้องเขียนแบบแสงแดดทอประกายระยิบระยับ ต้นไม้แกว่งไกว” ผมพยายามอยู่ปีหนึ่งในการเขียนแบบนี้ ให้มันมีอรรถรส ปรากฎเขียนไปเขียนมา มันไม่ใช่ตัวเรา มันดัดจริตมากเลย (เสียงเข้ม) คือผมรำคาญ”

“สุดท้ายผมแต่งนิทาน นิทานของผมไง ในเมื่อเราหลุดจากกรอบของโลกคนอื่นมาอยู่ที่โลกของผมแล้ว ทำไมผมยังต้องใช้ภาษาแบบคนอื่น ผมพยายามเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ให้มากที่สุดเท่าที่ความรู้ในการเรียนตั้งแต่ป.1 ถึงปริญญามันมี ผมรู้เท่านี้จริง ๆ ไม่ได้แกล้ง ผมทำเต็มที่แล้ว ถ้าผิดก็ช่วยแนะนำผม ผมรับฟังนะ หลัง ๆ ก็ผ่อนคลาย เป็นภาษาปากบ้าง มีไดอะล็อกที่ตัวละครพูดบ้าง สมัยก่อนไม่มี เป็นแบบแนวเล่า หลัง ๆ ก็จะมีตัวนั้นตัวนี้พูด ผมชอบ แต่ว่ามันขี้โกงน่ะ มันทำให้จบง่าย ก๊อปปี้คำซ้ำแล้วก็เพสต์ มันจะพูดคล้าย ๆ กันน่ะ โครงเรื่องนิทานน่ะ ผมก็ก๊อปปี้-เพสต์ เฮ้ย! นี่เราจะเอาตังค์เขาง่าย ๆ อย่างนี้เชียวหรือ (หัวเราะ)”

สมกับเป็นคนที่อุดมจินตนาการ แถมชำนาญการเล่าเรื่องหาตัวจับยาก ฉันรู้สึกตัวเหมือนเป็นเด็กน้อย ฟังเขาอธิบายเพลินไป

เว็บไซต์ นิทานนำบุญ

“เคยอยากเขียนที่แสดงให้เห็นมุมลบ ๆ ของสังคมมั๊ย?”

“ครั้งหนึ่ง ผมเขียนนิทานที่ไม่ได้จบแบบสดใส และเป็นครั้งเดียวที่บรรณาธิการโทร.มาหา (หัวเราะ) ผมเขียนเรื่องแม่ แต่งนิทานให้แม่ ตอนจบแม่ตาย มันผิดขนบของนิทานเด็กในประเทศไทย แต่ในประเทศอื่นมันโอเค. นิทานไม่ได้เลวร้ายหรอก แต่มันจบด้วยความผิดหวัง แค่นี้ก็โดนแล้ว คือ ขวัญเรือนให้เกียรติมาก แต่บางอันเขาก็จะเตือน มันเป็นนิทานเด็ก นิทานลงในนิตยสาร อย่าจบแบบนี้ดีกว่า แต่เขาก็พิมพ์ให้นะ ผมก็โอเค. ดังนั้น นิทานผมก็จะเป็นแนวไม่รันทด แต่อย่างนิทานเรื่อง “หญิงสาวผู้หลงรักภูเขา” โคตรจะรันทดเลย ดราม่าสุดขีด คือเจ็บปวดมาก มันคือเรื่องชีวิตคนน่ะ มันคือนิยาย ไม่ใช่นิทาน เด็กจะเก็ทแค่แปลก ๆ ว่า ตัวละครมันเป็นผู้หญิงกับภูเขาหลงรักกัน ผู้หญิงหลงรักฝ่ายเดียว แล้ววันหนึ่งผู้หญิงก็ไป แต่ถ้าตีความเป็นเรื่องนิยายผู้ใหญ่ก็…คนสองคนหลงรักกัน คนหนึ่งไม่สนใจ วันหนึ่งเธอไม่สนใจฉัน ฉันก็ไป เธอจะไม่เจอฉันอีกเลยแม้ว่าเธอจะดีขนาดไหน มันก็นิยายโรแมนติกน่ะ ทราจิดี้ด้วยซ้ำ ประมาณนั้น”

“ทีนี้ ถ้าถามว่าเรือ่งที่ดาร์คมาก ๆ ผมอยากเขียนมั้ย คือไม่ใช่อย่างนั้น ลึก ๆ ผมเป็นคนที่มีมุมซูเปอร์ดาร์คเลย อ่านเน็ทเห็นคนด่ากัน ผมก็กล้าพูดได้ว่า ถ้าใครมาด่าผมในเน็ท ผมตามถึงบ้าน ผมเป็นคนขนาดนั้น สุดขั้วไหมครับ ถ้าไม่เคยเข้าวัดจะขนาดไหน ตอนนี้ก็เจริญสติเนาะ มันก็คือความคิดที่ออกมาหลอกเราเฉย ๆ”

เขาหัวเราะหน้าเป็น

“นิทานผมส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทุกเรื่อง มาในแนวอ่อนโยน นิทานแนวหวานซะเยอะ มีตลกบ้าง แต่ส่วนใหญ่แบบนุ่มนวล แสนดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่เหมือนตัวคนแต่งเลย เสร็จแล้วมันก็เหมือนดอกไม้ที่มีสีจาง ๆ” เขาเปรียบตัวเองแบบนั้น “คนอาจจะชอบดอกกุหลาบ ดอกไม้แฟชั่นที่คนนิยมซื้อ แต่ดอกไม้ที่ไม่มีราคา คนบางทีไม่ชอบ ผมเองเป็นคนชอบดอกไม้บ้าน ๆ ผมจะชอบดอกไม้แบบนั้นจริง ๆ นะ เออ เราก็เปลี่ยนเป็นดอกไม้สีจางแล้วกัน ดอกอะไรก็ไม่รู้ นะ โลกของเรานี่ แล้วก็เล่าเรื่องไปว่า คนที่ 1 มาเจอ ไม่ชอบเพราะมันสีจางไป คนที่ 2 มาเจอก็ไม่ชอบเพราะกลิ่นมันจางไป อะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายวันหนึ่ง มันจะมีคนที่เห็นว่า ดอกไม้สีจางมันมีมุมสวย ๆ ผมคิดว่า ถ้ามีเด็กสักคนที่เห็นเรา เราก็ดีใจแล้ว เหมือนที่ผมโพสต์ลงไปในเพจว่า “ผมมีความสุขที่ได้อ่านนิทานของพี่” หรือ “ผมติดตามพี่ตั้งแต่อยู่ ขวัญเรือน ตอนนี้ผมโตแล้วนะ” แล้วเขาตามมาที่เพจ ส่งข้อความมา ผมก็แบบ…อือ อย่างน้อย สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำน่ะ มันทำให้เด็กได้อะไรบ้าง”

“หรืออย่างที่ผมเคยเล่าในเพจ ผมเคยสอนวิทยาศาสตร์ วันหนึ่งเด็กโตขึ้นมา เรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วบอกว่า ค่ายวิทย์ที่ผมเคยทำคือความทรงจำที่ดีที่สุดในวัยเด็กของเขา ซึ่งวันที่ผมรับรู้เรื่องนี้คือวันที่ผมกำลังดาวน์มาก งานผมมันไม่ได้ทำเงินหรอก พูดจริง ๆ เพราะผมไม่รวยน่ะ คือถ้าบ้านผมไม่ซัพพอร์ท ผมก็หมาตัวหนึ่ง หมาจริง ๆ คือไม่มีอะไรเลย เพราะว่ารายได้ที่เห็นมันน้อยมาก แต่เรามุ่งมั่นกับสิ่งนี้ เรารู้สึกว่า เด็กควรจะได้รับสิ่งดี ๆ เหมือนที่เราเคยได้รับตอนเด็ก ควรมีนิตยสารดีๆ มีรายการสำหรับเด็กอย่าง ผึ้งน้อย หรือรายการที่…อย่าง ชัยพฤกษ์การ์ตูน ที่เขาคลีนมาก ๆ คัดทุกอย่างมาให้เด็กแบบ…บริสุทธิ์น่ะ ผมก็อยากทำสื่อแบบนี้ อยากทำมาก (เน้นเสียง) ในสวีเดน ผมไปคุยกับโปรดิวเซอร์ที่โน่น คุยเสร็จผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมควรเกิดที่นี่ เพราะเขามีช่องโทรทัศน์แห่งชาติที่มีเงินก้อนแล้วก็เหมือนกับว่าบังคับคุณว่าคุณต้องทำรายการเด็ก เพื่อเด็กจริง ๆ โดยไม่ต้องไปอ้างอิงกับอะไร ผมไม่ต้องปรับชีวิต อาจต้องมีสปอนเซอร์นิดหน่อย แต่ผมไม่ยอม ไท-อิน เลยนะ ผมเคยคุยกับ พี่ซุป (วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ เจ้าของรายการ “ซูเปอร์จิ๋ว”) ซึ่งพี่เขาจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าผม เขาเป็นคนรักเด็กมาก ๆ แต่เขาก็ต้องเลี้ยงบริษัทให้อยู่ได้ เขาอยู่กับความเป็นจริงไง แต่ผมจะอยู่กับอุดมการณ์ เป็นแนวสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ดอน กิโฆเต้ มาก เป็นเรื่องที่ผมชอบนะ “สุดมือเอื้อมคว้าข้าจะฝัน” คือผมเลย”

“แล้ววันหนึ่งก็รู้ว่า เราไม่ต้องคว้ามากก็ได้ มันเหนื่อย (หัวเราะ) แต่กว่าเราจะรู้ก็ผ่านมา 20 ปี”

ระยะเวลาที่ผ่านไป บวกประสบการณ์ที่พบเจอในโลกจริง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากชายหนุ่มผู้มองโลกผ่านแว่นตาสีรุ้ง กลายเป็นหนุ่มใหญ่ที่สวมแว่นตาใสธรรมดา โลกที่สวยงามกลายเป็นโหดร้าย ความเชื่อที่เคยมี ลดน้อยลงจนกระทั่งไม่อาจเล่าเรื่องราวใหม่ ๆ ได้

“ผมเริ่มอยู่กับความจริงมากขึ้น เราเห็นความจริงว่าโลกน่ะ ไม่ได้มีแต่เด็กนะ มันมีผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่ที่ดีก็มี ผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวมาก ๆ ก็มี ผู้ใหญ่ที่…ใช้คำว่ามนุษย์ดีกว่า มนุษย์ที่เห็นแก่ตัวที่แก้ไขอะไรไม่ได้ก็มี คนที่พร้อมจะให้ทุกคนมันก็ยังมี มันก็อยู่ปะปนกัน การมองโลกแบบนิทานทั้งหมดอาจจะดีกับเด็กในการกล่อมเกลาเขา แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องให้เขาเห็นความจริงของโลกว่า โลกจริง ๆ มันมีมุมไหนบ้าง เพื่อเขาจะได้ปลอดภัยจากอันตราย”

“แล้วทำไมถึงหยุดเขียน?” ฉันสงสัย

“ส่วนหนึ่งมันคือความไม่พร้อมของเราด้วย” เขาตอบ “ตอนนั้น ผมอายุ 43 ผมเขียนนิทานมาสามร้อยกว่าเรื่องแล้ว หรือสี่ร้อยประมาณนี้ ผมเริ่มรวมเล่ม โดยลดเงื่อนไขลงที่ว่า ไม่ต้องให้พี่ที่วาดให้ผมที่ขวัญเรือนวาดก็ได้ ผมเคยมีช่วงที่ทำสำนักพิมพ์เอง ลงทุนเอง ซึ่งเหนื่อยมาก เพราะต้องดีลกับนักวาด ทะเลาะกับโรงพิมพ์รุนแรงมาก หลาย ๆ อย่าง แล้วผมรู้สึกว่า ทำไปไม่ได้กำไร แต่มันไม่ได้ขาดทุนมาก ผมหมดเงินกับหนังสือที่ทำเองเป้นครึ่งล้านน่ะ เพื่อ? แล้วเราไปอบรมกับหน่วยงานที่เขาได้เงินจากรัฐมาจัด แล้วจะเอาลิขสิทธิ์เราไปอีกหรือ? คนที่เป็นคนสร้างสรรค์งานจริง ๆ เป็นนักเขียน ตกลงได้อะไร ได้ค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุม เดินทางครั้งละพัน ไปหกครั้งได้หกพัน เหรอ? แค่นี้เลยเหรอ? นี่คือสังคมเราหรือวะ? ผมไม่โอเค. ผมไม่ลำบากเรื่องการเงินจริง ๆ นะ แต่ว่าถ้าคนประสานงานได้เงินมากกว่าคนสร้างงาน ผมไม่โอเค (หัวเราะ) ผมพูดแรงมากเลยนะ คุณจะมาหวานใส่ผม มาประสานงาน คุณมีเงินเดือนเดือนละสามหมื่น แล้วผมทำโปรเจ็คท์นี้ ผมได้เงินหมื่นนึง โปรเจ็คเดียวนี่นะ…เพื่อ? ผมไม่ทำ ผมอีโก้ก็อรโก้นะ ผมไม่รู้จะพูดยังไง ผมซัฟเฟอร์ ผมทำไม่ได้”

“เจอบทเรียนแบบนี้บ่อย ๆ จนถึงวัย 43 ผมก็โอเค งั้นเราตั้งหลักใหม่ จะไม่ทำสนพ.เราเองแล้ว เราส่งไปที่สนพ.อื่ร ไปขายเขา เพราะเรามีเรื่องเยอะ ก็ใช้เส้นสายเล็กน้อยแบบ…คือการไปขอเขา ผมไม่เคยไปขอเขาไง ผมไม่ใต้โต๊ะ แต่พอเราตรง ๆ ก็ไม่เคยได้ สุดท้ยายก็มีสนพ.ที่ยอมพิมพ์ ก็ต้องขอบคุณเขามาก ๆ บก.รู้จักกัน ก็ช่วยนำเสนอ ช่วยขัดเกลา ก็ได้หนังสือดี ๆ ออกมาหลายชุด ซึ่งผมก็แฮ็ปปี้ รู้สึกว่าเท่านี้ก็โอเคแล้วสำหรับชีวิตเรา พอดีมีอุบัติเหตุในชีวิต ทั้งเรื่องอาม่า ทั้งเรื่องส่วนตัว เหนื่อยจังเลย ชีวิตมันเหนื่อยจังเลย ชีวิตเข้ามาถึงช่วงกลางคนแล้ว ศรัทธาในเรื่องการทำความดีเริ่มลดถอยลงมาก ๆ ศรัทธาในการทำงานเด็กมันหายไป มันเห็นความจริงของชีวิตว่ามันเป็นยังไง เริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด”

“เพราะฉะนั้น งานที่ผมเคยเชื่อมาตลอด ผมเริ่มไม่เชื่อ ถ้าผมเริ่มไม่เชื่อ ผมไม่อยากจะเอามันออกไปน่ะ คือผมรักงานทุกชิ้นจริง ๆ นะ มันอาจจะไม่ทุกชิ้น แต่ผมรักมันมาก ผมรักนิทานผมเกินร้อยเรื่อง ผมรักมันจริง ๆ นะ แล้ววันหนึ่งที่ผมไม่มั่นใจในมัน ผมก็ไม่อยากนำมันไปให้เด็กที่ผมรักมากได้อ่าน”

ความขี้เล่นในน้ำเสียงหายไปแล้ว นำบุญยอมรับว่าเขาขาดพลัง ขาดแรงบันดาลใจเช่นเดียวกับความรู้สึกที่ว่าตัวเองเหมาะสมกับการทำงานเด็ก “ผมไม่แน่ใจว่า ผมใช้คำถูกหรือเปล่านะ คือผมเคยคิดมาตลอดตอน…ก่อนเข้าวัดนะครับว่า ถ้าเราเป็นคนดี ไม่ได้อะไรตอบแทนเท่าไหร่ แต่เราก็จะมีชีวิตที่โอเคประมาณหนึ่ง ไม่ได้แย่มาก แต่ปรากฏว่า พอถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ช็อค เฮ้ย! มันไม่ใช่แล้ว เราไปศึกษาความจริงมากขึ้น เราก็เลยรู้ว่ามีอะไรลึกซึ้งมากกว่านิทาน แล้วก็งานเด็กคืองานเพื่อคนอื่น เราทำมามาก ทำมามากจริง ๆ ตลอด 20 ปีของผม และมันไม่ใช่แค่นิทาน แต่มีทั้งการสอนในห้องเรียน การทำรายการโทรทัศน์ด้วย ทำค่ายเจอกับเด็กจริง ๆ ด้วย มันไม่ใช่งานแบบเปเปอร์ในกระดาษ รวมถึงตอนเรียนป.โท ปฐมวัยด้วย”

“และผลลัพธ์ก็คือ เราทำงานเต็มที่ขนาดนั้น แล้วเราเรียนไม่จบ มันก็บอกอะไรเราหลายอย่างว่า ในโลกความจริง ตัวจริง ของจริง ความทุ่มเทของเราจริง ๆ มันไม่ได้บอกว่า เราจะได้ผลแบบ…ดีทั้งหมด จะเรียนเพื่อไปทำให้คนอื่น เรียนเพื่อไปทำหนังสือให้เด็ก ใช่เหรอ? ชีวิตวันนี้ เรายังไม่พบกับความสุขร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบ..ความสุขน่ะ เพราะฉะนั้น เราน่าจะใช้ชีวิตตามฝันของเราจริง ๆ

“แล้วความฝันจริง ๆ ของนำบุญ คืออะไร?”

“ฝันผมเล็กมาก ผมอยากมีชีวิตที่เรียบง่าย มีชีวิตเล็ก ๆ อย่างมีความสุข” เขาพูดเสียงเบา “ถ้ามีเพื่อนได้ก็ดี สักคนสองคน สามคน สี่คนก็พอแล้ว ไม่ต้องอะไรมาก ทำงานกระจ๊อกกระแจ๊กไป ถ้าพอมีรายได้ได้-ก็ดี คือผมไม่ได้ฝันอะไรใหญ่ ไม่มีเลยจริง ๆ และถ้าเกิดไปเล่านิทานตามสื่ออะไรก็ตาม เพื่อจะเป็นดารา เพื่อให้โฆษณามาลง มันไม่ได้อยู่ในฝันผมน่ะ คือผมโง่ขนาดที่ว่าต่อมตัวเลขผมมันพัง ผมไม่รู้ว่าเลขหนึ่งหมื่นกับเลขหนึ่งแสนมันต่างกันยังไง คือผมไม่ได้เห็นคุณค่าในพวกนั้น”

“ผมรู้สึกว่า เป้าหมายในชีวิตมันไม่ใช่การมีชื่อเสียง แล้วก็การทำงานด้านเด็ก หากเราทำมากไปกว่านี้ มันจะกินตัวเรา เพราะเราทำมาถึง 20 ปี มันพิสูจน์แล้วว่าเราได้ทำ แต่เราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ถือว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วนะ ถึงเวลาที่เราต้องปล่อย ปล่อยวางแล้วเราไปทำพาร์ทชีวิตส่วนตัวที่เหลือของเรา ซึ่งอาจจะเหลือหนึ่งปี สองปี สิบปี ไม่รู้ ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายใจ ให้พออยู่ได้ในโลกใบนี้ ในแบบที่มันเป็น”

แม้จะไม่มีนิทานเรื่องใหม่มาเสนอ หากนำบุญก็ตัดสินใจทำเว็บไซต์ http://www.nitannambun.com คัดเลือกนิทานเก่า ๆ ที่เคยเขียนไว่้ มาจัดหมวดหมู่โดยมีเฟซบุ้กเพจ “นิทานนำบุญ” เป็นเหมือนช่องทางในการเชิญชวนให้คนแวะเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ และบางที..วันหนึ่งข้างหน้า อาจจะมีช่อง “คุยกับพี่นำบุญ” (อันนี้ฉันคิดเอง) ทางยูทูบ

อันที่จริง ความคิดในการทำเว็บไซต์และเพจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความต้องการของเขาโดยตรง “เพจนี่เริ่มทำตอนไปเรียนป.โท บังคับทำ ตอนแรกก็มีอยู่แค่ไม่กี่เ่รื่อง พอเพื่อนชวนทำเว็บไซต์ผมก็เอามาต่อยอด เออ ทำไปแบบเรียนรู้ ไม่คิดอะไรมาก ทำเป็นหน้าที่ ถามว่าแฮปปี้ในการทำมากมั้ย ก็ไม่มาก คือผมก็ยังรู้สึกไม่เชื่อในบางอย่าง แต่ค่อย ๆ คลี่คลายขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เฮ้ย มันก็ดีนะ เหมือนพอเวลามันผ่าน เราก็เห็นว่าในปัจจุบันนี้ ความจริงของโลกเป็นแบบนี้ แต่ฉันจะไม่ยอมให้ความจริงของโลกมาทำลายสิ่งที่ฉันทำความดีอยู่ ฉันจะทำมันโว้ย” เขาตะโกนใส่โทรศัพท์ของฉันที่ทำหน้าที่บันทึกเสียง “ก็จะเห็นว่าผมอัพถี่อัพบ่อย เพราะผมเริ่มมองเห็นว่า นิทานที่คนไม่มอง คนไม่เคยสนใจ ดอกไม้สีจางที่คนไม่ดู ไม่! เราแค่ทำมันไม่เป็น พอเราทำ SEO ทำให้คนเห็นงานเราได้ เขาก็มาดูงานเราทุกวันทุกคืนเลยนะ เพราะเขาชอบมัน งั้นเราก็ทำให้เขาสิ เราก็ทำให้เขาได้อ่านแบบไม่มีโฆษณาเด้งๆ”

“แล้วผมก็อยากทำยูทูบ มันมีอยู่ในใจว่า อยากทำเป็นพูดคุย วันนี้มีใครเหนื่อยบ้าง ผมก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ผมไปสัมภาษณ์คน ๆ หนึ่งมา เขาพูดมากเลย บ้านก็อยู่ในซอยลึกมากเลย แต่เขาก็มีมุมที่น่าสนใจเหมือนกันนะ อยากฟังมั้ย เหนื่อยก็นอนไปได้นะ เดี๋ยวพี่เล่าให้ฟัง อยากทำเรื่องเล่าแบบนี้ เหมือนพอดแคสต์ เหมือนอะไร ผมก็ใช้ชีวิตเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขงของผมไป อัดแบบนี้ใครอยากฟังก็ฟัง ผมไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วนี่ ถ้าไม่คาดหวังก็ไม่รู้สึกอะไร ทำแก้เหงา”

“ผมไม่อยากเป็นนำบุญ ผมเป็นใครก็ได้ ผมไม่ได้เกลียดคนฟังเลย ผมหวังดีกับเขา ผมไม่รู้ว่าคนในเพจรู้สึกยังไงกับผม เวลาแจกของผมไม่ได้หวังให้เขาจะมาดูเพจผมมากขึ้น หรือแชร์ออกไป ไม่เคยพูดประโยคนี้ แชรสิบแชร์แล้วให้ไม้จิ้มฟัน ซื้อเองก็ได้ มันไม่ใช่ ทุกอย่างต้องเป็นเงินเป็นผลประโยชน์ มันไม่ใช่ผม ผมไม่เอา นั่นคือส่วนดี ๆ ที่ยังเหลืออยู่ในใจผม ผมคิดอย่างนั้น แต่ผมต้องระวังใจดี ๆ ว่า ถ้าทำอย่างนั้น หมดตัวนะ แล้วผมก็ไม่ขอหน่วยงาน เพราะผมเป็นครีเอเตอร์ ให้ผมสร้างสรรค์งานแล้วต้องไปทำรายงานเพื่อนำเสนอ ไม่เอา ฉันไม่เขียนรายงาน (หัวเราะ)”

ก่อนปิดบทสนทนายาวนานในบ่ายวันนั้น ฉัน-ผู้เสียดายความสามารถในการเล่าเรื่องของเขา-หยอดคำถามสุดท้ายไปว่า…..

“จะกลับมาเขียนนิทานอีกไหม?”

นักแต่งนิทานผู้เล่าเรื่องตัวเองใน “ความฝันของชายที่รักดอกไม้สีจาง” – นิทานเรื่องสุดท้ายที่พิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือน – คิดนิดหนึ่งก่อนตอบ – นิทานอาจจะยาก เพราแพสชั่นไม่มี มันหายไป แพสชั่นของนิทานนะครับ เราเขียนมา 415 เรื่อง เรื่องที่ 416 มันเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญระหว่างเล่นเน็ตตอนที่คุยกับอาจารย์ที่ม.แห่งหนึ่ง เขาวิ่งทุกเช้า แล้วเขาวิ่งกับเพื่อน เขาบอกเขาต้องวิ่งแบบช้า ๆ เพื่อให้เพื่อนเขาวิ่งทัน เพื่อนเพิ่งหัดวิ่ง ผมก็แต่งนิทาน ปับ ๆ ๆ เสร็จในเวลาสามนาที พิมพ์เสร็จด้วย ส่งให้เลย ผมบอกว่าเอาไปลงเพจผมนะ เพราะว่าสิ่งที่เขาให้มันคือแก่นเรื่อง มันคือธีมที่แข็งแรงมาก อยากอยู่กับเพื่อนให้มีความสุข ก็ผ่อนแรงลงหน่อย คนอื่นอยู่กับเราได้ ก็เป็นเพื่อนกับเราได้ เพื่อนไม่ต้องวิ่งตามเรา เฮ้ย นี่มันพล็อตเรื่องดี ๆ เลยนะ ผมเขียนเสร็จภายในสามนาที พระเจ้า! คือมันไวขนาดนั้นน่ะครับ

“ถามว่าผมอยากทำงานนิทานต่อไปมั้ย ผมถามตัวเองกลับไปว่า นำบุญเขียนนิทานมา 415 เรื่อง มันยังไม่พออีกเหรอ ฮีนส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน แต่งนิทานประมาณสองร้อยกว่าเรื่อง กริมส์ ไม่ได้แต่งแต่รวบรวม อีสปแต่งเองหรือเปล่าไม่รู้ ไม่มีใครบอก หรือรวบรวม เอ้า ยูแต่งเองนะ สี่ร้อยกว่าเรื่อง พอแล้ว และเราเองก็รู้ว่า ช่วงหลัง ๆ นิทานเริ่มวน มันเป็นแค่เปลี่ยนเสื้อ ใช้เทคนิคนำหัวใจ มีนิทานบางเรื่อง ด้วยความเก่งในการแต่ง ใครมันคล้าย แต่ธีมมันแข็งแรง หมัดน็อคมันน็อคได้ มันจึงสวยงาม แต่มันไม่ได้มีความแบบ “วิบวับ” เหมือนช่วงปีแรก ๆ”

“นิทานบางเรื่องมันมาได้ยังไงไม่รู้ คือต้องเป็นตัวละครนี้เท่านั้น และต้องเจอตัวนี้เท่านั้น บทสรุปต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น คือ กลม จบ ถ้าไม่ใช่จากนี้ผมจะเฉย ๆ ไม่เจ๋ง เพราะฉะนั้นพอมันเจ๋งปุ๊บ ฉันจะไม่มีวันทำสูตรนี้ได้เจ๋งกว่านี้อีกแล้ว อย่าง “เม่นน้อยกับโยคี” เป็นนิทานทดลอง “วิธีคิดแบบภาพยนตร์ทดลอง” ตอนนั้นจำได้ว่าอ่าน Never Ending Story หน้าแรก ๆ เขาพิมพ์ภาษาไทยเป็นหมึกสองสี แค่นี้เอง “ฉันจะแต่งนิทานสู้ Never Ending Story” (หัวเราะ) ในนิทาน บรรทัดที่คำพูดมันพูดถึงเม่นน้อย ตัวหนังสือจะเป็นสีเขียว โยคีเป็นสีส้ม เม่นน้อยเดินทางไปไหนเจอใครจะเป็นสีเขียวตลอด โยคีเจออะไรจะเป็นสีส้ม สลับกันไปเรื่อย ๆ พอมาผสมกันจะเป็นส้มบวกเขียวจะกลายเป็นสีนี้ สมมตินะครับ หมึกจะรวมกัน นั่นคือเรื่องของหมึก เรื่องมันก็โอเค เทคนิคก็โอเค. โห เจ๋งว่ะ คิดได้ไง เขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว”

เขายิ้มนิด ๆ แล้วทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาในบ่ายนั้นด้วยบทสรุปที่ว่า…..

“ผมเป็นนักเขียนนิทานเด็ก ผมไม่ได้เขียนหนังสือสละสลวยเหมือนคนอื่น แต่ผมเชื่อว่าคุณค่ามันมี อย่างน้อยมันก็ทำให้เด็กบางคนยิ้มได้จริง ๆ ทำให้เด็กบางคนบอกว่า หนูจะไม่ทำแบบนี้ เขาพูดเอง แม่ไม่ได้สอน ผมโอเคมากเลย เพราะผมไม่ได้ทำให้พ่อแม่มาสอน แต่ตั้งใจให้เด็กรู้สึกกับเรื่องนั้นเอง”

#นิทานนำบุญ

………………………………………………………………………………….

หมายเหตุจากนำบุญ : เมื่อผมได้อ่านบทสัมภาษณ์อีกครั้งตอนที่นำมาลงในเว็บไซต์ ผมเห็นว่ามีข้อความบางช่วงที่พาดพิงถึงนิทานในขวัญเรือนของผู้แต่งท่านอื่น ซึ่งผมคิดว่า เป็นถ้อยคำที่ไม่สมควรเลย (เพราะงานของทุกคนล้วนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง และผมก็ไม่ได้ติดตามอ่านนิทานของท่านเหล่านั้นอย่างจริงจัง) ด้วยเหตุนี้ ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) จึงขออภัยหากมีข้อความใดที่ดูเหมือนเป็นการล่วงเกิน ขอโทษจริง ๆ ครับ 🙂

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

ช่างตัดผมผู้มีพรสวรรค์

ในบรรดานิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เคยแต่งและพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือน มีนิทานเพียงไม่กี่เรื่อง ที่ผมไม่มั่นใจว่า เด็ก ๆ จะเข้ามุกที่ผมนำมาใช้ในนิทานหรือเปล่า เพราะมุกบางมุก อาจเป็นที่เข้าใจของคนวัยหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนอีกรุ่นหนึ่งอาจจะไม่เข้าใจก็เป็นได้ แต่หลังจากที่ผมนำนิทานตลก ๆ ก่อนนอนเรื่องนี้ไปลงในเพจนิทานนำบุญ คุณแม่หลายท่านได้ส่งข้อความมาบอกว่า ในระหว่างที่ฟังนิทาน ลูก ๆ พูดออกมาก่อนเลยว่าช่างตัดผมในเรื่อง ควรนำพรสวรรค์ไปทำอาชีพบางอย่าง (ซึ่งตรงกับที่ผมในฐานะผู้แต่งคิดเอาไว้) ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมั่นใจมากขึ้นว่า นิทานก่อนนอนเรื่องนี้น่าจะทำให้เด็ก ๆ มีความสุขได้ไม่แพ้นิทานเรื่องอื่น ๆ ครับ

นิทานเรื่อง ช่างตัดผมผู้มีพรสวรรค์

กาลครั้งหนึ่งในเมืองที่แสนจะยากจน ยังมีช่างตัดผมคนหนึ่งเป็นช่างตัดผมที่ไม่มีใครอยากจะไปตัดผมด้วย  ไม่ใช่เป็นเพราะเขาไม่มีความสามารถในการตัดผมหรือมีนิสัยที่ไม่น่าคบหา  แต่เหตุผลจริง ๆ ที่ทำให้ใครต่อใครไม่อยากจะไปตัดผมกับเขา ก็เป็นเพราะพรสวรรค์ของช่างตัดผมคนนี้ที่ลงมือตัดผมครั้งใด ผมของลูกค้ามีอันต้องยาวขึ้นกว่าตอนก่อนตัดถึงสองเท่าทุกครั้ง  ช่างตัดผมไม่รู้ว่าพรสวรรค์ในการตัดผมให้ยาวขึ้นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร  แต่เขารู้ดีว่าเขาคงไม่เหมาะกับอาชีพตัดผมนี้เสียแล้ว

ช่างตัดผมจึงเปลี่ยนอาชีพไปเป็นช่างตัดเสื้อ เขาคิดว่าอาชีพตัดเสื้อเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับเขาไม่ใช่น้อย เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็สามารถนำกรรไกรตัดผมที่เขามีอยู่มาใช้ในการตัดเสื้อได้โดยไม่ต้องซื้อหาของใหม่

เมื่อชาวบ้านรู้ว่าช่างตัดผมผู้น่าสงสาร (เพราะมีพรสวรรค์ผิดประเภท) เปลี่ยนอาชีพมาเป็นช่างตัดเสื้อ  ชาวบ้านจึงพากันนำเสื้อผ้ามาให้ช่างช่วยตัดช่วยแก้เป็นการใหญ่  ช่างตัดผมซาบซึ้งในน้ำใจของชาวบ้านจึงพยายามวัดตัวและตัดเสื้อผ้าอย่างประณีตที่สุด  แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะทั้งๆ ที่ช่างตัดผมวัดขนาดและตัดเสื้อผ้าให้ชาวบ้านอย่างพอดิบพอดีแล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงวันรับของ เสื้อผ้าของชาวบ้านกลับยาวยืดเกินขนาดออกไปถึงสองเท่า ช่างตัดผมรู้ตัวทันทีว่า เขาคงไม่เหมาะกับอาชีพนี้เสียแล้ว

ช่างตัดผมจึงคิดหาอาชีพใหม่ ซึ่งควรจะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก ช่างตัดผมมองดูกรรไกรที่อยู่ในมือพลางคิดกลับไปกลับมาอยู่หลายตลบ  ในที่สุด เขาก็คิดได้ว่าเขาควรจะลองเป็นช่างตัดหญ้าดูสักครั้ง 

ช่างตัดผมเริ่มต้นงานตัดหญ้าด้วยการรับอาสาตัดหญ้าให้ชาวบ้านโดยไม่คิดเงิน ช่างตัดผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นการขอโทษที่เขาทำให้เสื้อผ้าของใครต่อใครยาวผิดขนาดกันไปหมด

การตัดหญ้าเป็นไปด้วยดีตั้งแต่เช้าจรดเย็น ช่างตัดผมตัดหญ้าได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเพราะเขามีทักษะในการตัดผมมาก่อน  ทุกๆ คนต่างพากันชื่นชมในผลงานของช่างตัดผม  ส่วนช่างตัดผมเองก็คิดว่านี่คงเป็นงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขา

แต่น่าเสียดายที่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อช่างตัดผมและชาวบ้านตื่นขึ้นมาในเช้าวันรุ่งขึ้นสิ่งที่พวกเขาเห็นได้นำความประหลาดใจมาให้พวกเขาเป็นอันมาก เพราะสนามหญ้าที่ช่างตัดผมเพิ่งจะตัดหญ้าไปเมื่อวานนี้กลับมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด แถมหญ้ายังยาวกว่าตอนก่อนตัดถึงสองเท่า  ช่างตัดผมรู้ทันทีว่านี่คงเป็นผลมาจากพรสวรรค์ของเขาแน่ๆ  พรสวรรค์ที่เมื่อเขาตัดอะไรก็ตาม มันก็จะยาวขึ้นกว่าเดิมเป็นสองเท่าเสมอ  ช่างตัดผมรู้สึกท้อแท้และไม่ชอบพรสวรรค์ของเขาเอาเสียเลย

ช่างตัดผมพยายามตัดใจที่จะไม่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการตัดอะไรๆ อีกต่อไป เขารู้แล้วว่าพรสวรรค์ของเขาจะทำให้สิ่งที่เขาคิดจะตัด กลับยืดยาวออกไปเป็นสองเท่าจากที่เขาตั้งใจเสมอ   ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงจากพรสวรรค์ที่เขาไม่ต้องการนี้ก็คือ การตัดใจไม่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการตัดทุกชนิด

แต่เช้าวันรุ่งขึ้น ช่างตัดผมกลับเกิดความรู้สึกที่อยากจะทำงานเกี่ยวกับการตัดมากขึ้นกว่าเดิมเป็นสองเท่า พรสวรรค์ของเขาทำให้การตัดใจไม่ทำอาชีพเกี่ยวกับการตัดกลับพลิกผันไปในทางตรงกันข้าม  ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกิดความรู้สึกที่อยากจะทำงานเกี่ยวกับการตัดขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาบอกกับตัวเองว่า เขาต้องคิดให้รอบคอบกว่าเดิมสักหน่อย

ช่างตัดผมคิดทบทวนว่าเขาควรจะตัดอะไรดี   การตัดที่ทำให้สิ่งต่างๆ ยาวขึ้นเป็นสองเท่านี้ มันพอจะมีประโยชน์อะไรบ้างไหมหนอ  ช่างตัดผมคิด คิด แล้วก็คิด  ในที่สุด ช่างตัดผมก็ได้ความคิดดีๆ

ช่างตัดผมรีบเดินทางไปที่พระราชวังและขอสมัครงานในตำแหน่งคนสร้างถนนซึ่งเรียกว่าพนักงานตัดถนนทันที  แม้งบประมาณในการตัดถนนของเมืองจนๆ แห่งนี้จะมีไม่มากนัก แต่เมื่อช่างตัดผมผู้ซึ่งมีพรสวรรค์ในการตัดสิ่งต่างๆ ให้ยาวขึ้นได้มารับตำแหน่งเป็นพนักงานตัดถนน  ไม่นานนัก เมืองทั้งเมืองก็มีถนนสายยาวๆ เต็มไปหมด

ชาวบ้านต่างมีความสุขกันถ้วนหน้าที่มีถนนหนทางดีๆ ใช้  ส่วนช่างตัดผมเองก็รู้สึกภูมิใจที่เขาได้ใช้ พรสวรรค์ของเขาให้เป็นประโยชน์เสียที  และแล้วนิทานเรื่องนี้ก็จบลงอย่างมีความสุข

#นิทานนำบุญ

………………….

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานสั้นสอนใจ : รองเท้าของพ่อ

นิทานสั้นสอนใจเรื่องนี้มีที่มาแปลก ๆ ครับ   คือมีอยู่คืนหนึ่งผมนั่งดูโทรทัศน์รายการพิเศษรายการหนึ่ง  ในรายการมีคุณวัชระ ปานเอี่ยม มาแสดงละครเรื่องอะไรก็ไม่รู้ โดยแกสวมบทเป็นพ่อที่กำลังนั่งซ่อมเก้าอี้อยู่   ในขณะนั้น  ลูกชายก็ถามพ่อว่า “พ่อจะซ่อมเก้าอี้ไปทำไม  ไปซื้อใหม่ง่ายกว่า”   คุณวัชระก็ตอบลูกไปในทำนองที่ว่า  “ของจะมีค่ามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะใช้มันให้มีประโยชน์ได้มากสักแค่ไหน  เก้าอี้ตัวนี้ยังพอซ่อมได้ พ่อจึงอยากซ่อมเพื่อให้มันใช้งานได้ต่อไป…เพื่อให้มันมีค่ามากที่สุด”  (ผมเรียบเรียงไม่ตรงกับที่เขาพูดสักเท่าไหร่  เพราะจำไม่ค่อยได้  แต่รู้ว่าคำที่คุณเจี๊ยบพูดโดนใจผมมาก ๆ )  คำว่าของมีค่าจึงผุดขึ้นมาในใจของผม และทำให้ผมอยากนำความคิดดี ๆ แบบนี้มาถ่ายทอดลงไปในนิทาน   ผมพยายามคิดplotเรื่องอยู่หลายรูปแบบ  พอดีนึกขึ้นได้ว่าฉบับนี้จะตรงกับช่วงวันพ่อ  ผมจึงพยายามคิดเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อ ๆ ลูก ๆ ให้เข้ากับเทศกาล   และพยายามคิดว่าของอะไรนะที่ดูไม่มีค่า  แต่จริง ๆ แล้วมันมีค่ามาก ๆ เพราะเราใช้งานมันเยอะมาก  ในที่สุด ก็มาลงตัวที่รองเท้า   ผมจึงผูกเรื่องรองเท้าของพ่อขึ้นมา ซึ่งมีความหมายซ่อนอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ของลูกที่พยายามเดินตามรอยเท้าพ่อ    หวังว่าคงชอบกันนะครับ     

นิทานเรื่อง รองเท้าของพ่อ

นานมาแล้ว  มีเศรษฐีผู้หนึ่งต้องการทดสอบว่าลูกคนใดเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำครอบครัว และมีความสามารถพอที่จะรักษาทรัพย์สมบัติที่เขาทุ่มเทสร้างขึ้นให้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้   ด้วยเหตุดังกล่าว  เศรษฐีจึงวางแผนให้ลูกชายทั้งสามของเขาแยกย้ายกันไปสร้างหลักปักฐาน โดยเศรษฐีผู้เป็นพ่อยินดีให้ลูก ๆ แต่ละคนขอของมีค่าเป็นทุนตั้งต้นได้คนละหนึ่งอย่าง 

ลูกชายคนเล็กผู้รักความสบายบอกกับพ่อโดยแทบไม่ต้องคิดว่า  เขาขอเลือกเงินทองของพ่อสักจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ทำทุนในการเริ่มต้นชีวิต  

ฝ่ายลูกชายคนกลางซึ่งเกิดมาในช่วงที่ครอบครัวเริ่มมีฐานะนั้น  แม้เขาจะเคยเห็นพ่อทำงานหนัก  แต่เขากลับไม่นึกอยากที่จะต้องทำงานหนักเหมือนกับพ่อ   ด้วยเหตุนี้  ลูกชายคนกลางจึงเลือกขอบ้านพักตากอากาศพร้อมกับคนงาน 2-3 คน  เพื่อเปิดบ้านเป็นที่พักชายทะเลสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว  

ส่วนลูกชายคนโตซึ่งเห็นพ่อสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความอุตสาหะมาโดยตลอด  เขาภูมิใจในตัวพ่อ และอยากเจริญรอยตามแนวทางที่พ่อได้กระทำไว้   ดังนั้น  ลูกชายคนโตจึงขอรองเท้าคู่เก่าของพ่อ เพื่อนำไปใช้เป็นสิ่งเตือนใจในการสู้ชีวิต

เศรษฐีผู้เป็นพ่อมอบของมีค่าให้แก่ลูกทั้งสามตามคำขอ  จากนั้น ท่านก็อวยพรและนัด-หมายให้ลูก ๆ สุดที่รักกลับมาเยี่ยมตนเองพร้อม ๆ กันในอีก 5 ปีข้างหน้า

นับจากวันนั้น  ลูก ๆ ของเศรษฐีต่างแยกย้ายกันไปสร้างเนื้อสร้างตัวตามหนทางที่ตัวเองเลือก  ลูกชายคนเล็กนำเงินที่ได้รับไปซื้อบ้านและสร้างความสุขสบายส่วนตัวจนทรัพย์สินร่อยหรอลงเรื่อย ๆ    ส่วนลูกชายคนกลางซึ่งเปิดบ้านเป็นที่พักชายทะเลนั้น   กิจการของเขาดำเนินไปได้ด้วยดี  แต่เพราะเขาไม่อยากเหน็ดเหนื่อยจนเกินความจำเป็น   ด้วยเหตุนี้  กิจการของเขาจึงอยู่ในสภาพที่แค่พอเลี้ยงตัวได้เท่านั้น 

ฝ่ายลูกชายคนโตซึ่งขอรองเท้าที่พ่อเคยใส่ทำงานแทนของมีค่าอื่น ๆ   เมื่อเขาได้รับรองเท้าจากมือพ่อ  เขาก็บรรจงขัดรองเท้าคู่เก่าของพ่อจนเงาวับ   หลังจากนั้น  เขาก็สวมรองเท้าที่พ่อเคยใส่  แล้วเริ่มออกเดินทางเพื่อหางานทำ โดยเขาตั้งใจที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ  ดังเช่นที่พ่อของเขาเคยทำเป็นแบบอย่างให้เขาเห็น

เมื่อเวลาผ่านไปครบ 5 ปี   ลูก ๆ ทั้งสามต่างเดินทางกลับมาหาเศรษฐีผู้เป็นพ่อตามที่ได้สัญญากันไว้   ลูกชายคนเล็กสารภาพกับพ่อตามตรงว่า เขาใช้เงินทองที่พ่อมอบให้จนหมด และคิดว่าคงไม่อาจที่จะดูแลตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว    ส่วนลูกชายคนรองรายงานให้พ่อทราบว่า  กิจ-การของเขาไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าใดนัก  มิหนำซ้ำ  คนงานก็ค่อย ๆ ลาออกไปทีละคนสองคนอีกด้วย

ฝ่ายลูกชายคนโตซึ่งมาถึงบ้านของพ่อเป็นคนสุดท้ายรีบตรงเข้ากราบที่ตักพ่อ  แล้วเล่าให้ทุก ๆ คนฟังว่า  หลังจากที่เขาสวมรองเท้าของพ่อออกเดินทาง  เขารู้สึกเสมอว่าพ่ออยู่เคียงข้างเขาซึ่งมันทำให้เขามีพลังและรู้สึกอบอุ่นใจอย่างประหลาด    ทุกสถานที่ที่เขาเดินทางไปถึง  ผู้คนต่างก็พากันจับจ้องรองเท้าคู่เก่าของพ่อที่เขาดูแลและใส่ใจขัดจนเงาวับ   มิหนำซ้ำ  เมื่อเขาเล่าว่านี่เป็นรองเท้าคู่เก่าที่พ่อใช้ใส่ทำงานเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว   ผู้คนต่างก็ชื่นชมพ่อ…และพลอยชมมาถึงตัวเขา   มีคนมากมายนำรองเท้ามาให้เขาขัด   ซึ่งแน่นอนว่า…เขายอมขัดรองเท้าให้แก่คนเหล่านั้นโดยไม่คิดว่ามันเป็นงานที่ต่ำต้อย   ชื่อเสียงในการขัดรองเท้าของเขาได้รับการบอกต่อกันไปปากต่อปาก  ลูกค้าที่เขาขัดรองเท้าให้มีตั้งแต่พระราชาจนถึงยาจก   และในทุกวันนี้  เขาได้กลายมาเป็นเจ้าของร้านรองเท้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านของพ่อมากนัก

เศรษฐีผู้เป็นพ่อชื่นชมในความสำเร็จของลูกชายคนโตเอาเสียมาก ๆ   และแล้ว…เศรษฐีก็ทราบแน่ชัดว่า ลูกชายคนโตคือคนที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้นำครอบครัวต่อไป   เมื่อเศรษฐีเอ่ยปากที่จะมอบสมบัติที่เหลืออยู่ให้ลูกชายคนโตเป็นผู้ดูแล   ลูกชายคนโตได้กล่าวกับพ่อของเขาว่า “แบบอย่างที่พ่อได้กระทำมาเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดซึ่งพ่อได้มอบให้แก่ลูกแล้ว   ลูกไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใดจากพ่ออีก  แต่ลูกสัญญาว่าจะเก็บสมบัติของพ่อเพื่อมอบให้แก่น้องทั้งสอง  โดยลูกจะสอนให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้วิธีในการทำงานตามแบบของพ่อ เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลทรัพย์สมบัติของพ่อได้ดังที่พ่อตั้งใจหวัง”

เศรษฐีปลื้มปีติที่ได้ฟังคำกล่าวของลูกชายผู้เดินตามรอยเท้าของพ่อ   และหลังจากนั้นไม่นาน  ลูกชายคนกลางกับคนเล็กก็ได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง จนสามารถทำให้พ่อของเขาชื่นใจได้ไม่แพ้พี่ชายของพวกเขา  

#นิทานนำบุญ

……………………….

Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานปริศนา : ก้าวก้าวก้าว

นิทานก่อนนอนเรื่อง “ก้าวก้าวก้าว” เป็นนิทานปริศนาที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งเนื่องในโอกาสที่นิตยสารขวัญเรือนก้าวเข้าสู่ฉบับที่ “999” นิทานเรื่อง “ก้าวก้าวก้าว” จึงเป็นนิทานเฉพาะกิจ ที่ตั้งใจแต่งเพื่อฉลองโอกาสพิเศษให้แก่นิตยสารที่ยืดหยัดมาเนิ่นนาน แต่ในความเป็นนิทานเด็ก ไม่ว่าจะแต่งนิทานเพื่อโอกาสอะไร ก็ต้องแต่งนิทานให้เหมาะสำหรับเด็กด้วย ดังนั้น การแต่งนิทานเรื่องนี้จึงยากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้แต่ง ผมหวังว่านิทานเรื่องนี้ที่ผูกเรื่องในแนว “นิทานการเดินทางแสนสนุก”ผสมเข้ากับ “นิทานปริศนา” น่าจะถูกใจเด็ก ๆ นะครับ ซึ่งถ้าตอนที่คุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง ลองหยุดเล่าช่วงกลางเรื่อง แล้วให้ลูกทายตัวเลขดู หรือหาวิธีให้ลูกพูดคำที่ปรากฏซ้ำ ๆ ในนิทาน (เพื่อให้ลูกพูดคำทายออกมาเอง) ผมว่า นิทานเรื่องนี้อาจทำให้เด็ก ๆ ยิ้มกว้างโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ

นิทานเรื่อง ก้าวก้าวก้าว

“มรรค” เป็นเด็กผู้ชายตัวน้อยที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ที่เขารัก 

วันหนึ่ง ในช่วงที่คุณพ่อต้องเข้าไปทำงานในเมืองติดต่อกันนานหลายเดือน  คุณแม่ของมรรคเกิดล้มป่วย ซึ่งสิ่งที่จะใช้ปรุงยารักษาคุณแม่ได้มีเพียง “ผลไม้ดวงดาว” เท่านั้น

ผลไม้ดวงดาวเป็นผลไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าลึก ต้องเดินขึ้นภูเขา, เผชิญหน้ากับสัตว์ป่า และอาจต้องพบกับภูตผู้พิทักษ์ที่คอยปกป้องผลไม้ดวงดาวไม่ให้ผู้คนแอบมาเก็บเอาไปขาย

มรรคอยากให้คุณแม่หายป่วย เขาจึงรวบรวมความกล้า แล้วตัดสินใจเดินทางเข้าป่าโดยบอกกับตัวเองว่า “ถึงจะลำบากแค่ไหน ยังไงก็ต้องก้าว…ก้าว…ก้าว”

เมื่อมรรคเริ่มเดินทางเข้าป่าไปได้ไม่นาน  หนทางในป่าก็ค่อย ๆ ลาดชันขึ้น ๆ  ยิ่งนานเด็กน้อยก็ยิ่งอ่อนล้า แต่เมื่อมรรคคิดถึงแม่ เขาจึงกัดฟันสู้แล้วบอกกับตัวเองว่า “ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน ยังไงก็ต้องก้าว…ก้าว….ก้าว”

มรรคเดินทางขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ จนเข้าเขตป่าที่ทั้งมืดและวังเวง มรรคกลัวสัตว์ร้ายและภูตผีปิศาจ แต่เมื่อมรรคคิดถึงแม่ เขาจึงกัดฟันสู้แล้วบอกกับตัวเองว่า “ถึงจะกลัวแค่ไหน ยังไงก็ต้องก้าว…ก้าว….ก้าว”

 มรรคก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จนมองเห็นต้นไม้ใหญ่ซึ่งน่าจะเป็นต้นของผลไม้ดวงดาว  เด็กน้อยรีบมุ่งหน้าไปยังต้นไม้ต้นนั้น แต่แล้วเขากลับพบว่าเส้นทางเบื้องหน้าเต็มไปด้วยไม้หนามที่ขึ้นกั้นขวางทำให้เขาเดินทางต่อไปไม่ได้ 

โชคดีที่มรรคเห็นถ้ำเล็ก ๆ ถ้ำหนึ่ง แม้ถ้ำจะดูลึกลับน่ากลัว แต่มรรคเชื่อว่ามันน่าจะมีทางทะลุไปยังต้นไม้ดวงดาวได้ เขาจึงเดินตรงไปที่ถ้ำแล้วบอกตัวเองว่า “ถึงจะเสี่ยงแค่ไหน ยังไงก็ต้องก้าว…ก้าว….ก้าว”

หลังจากที่มรรคเดินเข้าไปในถ้ำได้สักพัก  เขาก็พบประตูหินและภูตผู้พิทักษ์ยืนขวางทางไม่ให้เขาไปต่อ  มรรครีบทำความเคารพภูตผู้พิทักษ์แล้วเล่าให้ภูตฟังว่า เขาตั้งใจมาเก็บผลไม้ดวงดาวไปรักษาแม่

ภูตผู้พิทักษ์ฟังคำของมรรคก็เห็นใจ เพราะการที่เด็กสักคนจะดั้นด้นเข้าป่าและขึ้นมายังภูเขาที่เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่การจะมอบผลไม้ดวงดาวให้เด็กน้อยในทันทีก็คงไม่เหมาะ  ภูตผู้พิทักษ์จึงให้มรรคเลือกเลข 3 ตัวเพื่อไขรหัสที่ประตูหิน ถ้ามรรคเลือกตัวเลขได้ถูกต้อง ประตูก็จะเปิดออก และเขาก็จะมีโอกาสเก็บผลไม้ดวงดาวได้ตามที่ปรารถนา แต่ถ้ามรรคเลือกเลขผิด เขาจะต้องออกจากถ้ำแล้วกลับบ้านในทันที

มรรคขอบคุณภูตผู้พิทักษ์ แล้วเริ่มคิดถึงตัวเลข 3 ตัวที่น่าจะเป็นไปได้ เขาใช้ความคิดอยู่นาน แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่กล้าเอ่ยปากเดาตัวเลขใด ๆ ออกมาเลย

โอกาสที่มีเพียงครั้งเดียว ถ้าเดาถูก คุณแม่ก็น่าจะหายป่วย แต่ถ้าเดาผิด เขาก็คงช่วยคุณแม่ให้หายป่วยไม่ได้  มรรคคิดกลับไปกลับมาจนเริ่มท้อ  แต่เมื่อมรรคคิดถึงแม่ เขาจึงกัดฟันสู้ แล้วพูดกับตัวเองเบา ๆ ว่า  “ถึงโอกาสจะน้อยแค่ไหน ยังไงก็ต้องก้าว…ก้าว….ก้าว”

ทันใดนั้นเอง ประตูหินก็เปิดออกทั้ง ๆ ที่มรรคยังไม่ได้เลือกตัวเลขใด ๆ เลย!

มรรคงงจนพูดอะไรไม่ถูก  ส่วนภูตผู้พิทักษ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลการเปิดปิดประตูหินก็ส่งยิ้มให้มรรคพลางกล่าวแสดงความยินดีว่า  “ดีใจด้วยนะ เก้าเก้าเก้าคือรหัสในการเปิดประตูบานนี้  เจ้าจงไปเก็บผลไม้ดวงดาวแล้วนำไปรักษาแม่เถิด”

ภูตผู้พิทักษ์รีบดันหลังให้มรรคเดินผ่านประตูไปยังต้นไม้ แล้วให้เวลาเด็กน้อยเก็บผลไม้ดวงดาวอยู่ครู่ใหญ่  จากนั้น ภูตผู้พิทักษ์ก็เสกให้มรรคเดินทางข้ามมิติมาปรากฏตัวที่ชายป่าโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินย้อนกลับทางเก่าอีก

มรรคไม่รู้เลยว่าภูตผู้พิทักษ์ฟังคำว่า “ก้าวก้าวก้าว” ที่เขาพูดออกมาแล้วเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตัวเลข “เก้าเก้าเก้า” หรือภูตผู้พิทักษ์จงใจฟังผิดเพื่อหาทางช่วยเขาให้ได้ผลไม้ดวงดาวมารักษาคุณแม่ 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มรรคก็รู้สึกขอบคุณภูตผู้พิทักษ์และดีใจที่เขาเก็บผลไม้ดวงดาวมาได้สมดังที่ตั้งใจเอาไว้  หลังจากนั้น  มรรคก็รีบนำผลไม้ดวงดาวมุ่งหน้ากลับบ้านด้วยการ “ก้าว…ก้าว…ก้าว”

#นิทานนำบุญ

………………………………..