Posted in ครอบครัว, นิทาน

ความฝันของนักเขียนนิทาน

ความฝันของนักเขียนนิทาน

คำว่า “นักเขียนนิทาน” หรือ “นักแต่งนิทาน” ถ้าจะบอกว่าเป็น “อาชีพ” มันก็ดูจะแปลก ๆ อยู่สักหน่อย เพราะถ้ามันเป็นอาชีพ มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำเงินเลี้ยงชีวิตได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว…ไม่ใช่

“นักเขียนนิทาน” หรือ “นักแต่งนิทาน” จึงน่าจะเป็นสถานะหรือบทบาทอะไรสักอย่าง ที่เวลาคนถามเราว่า “คุณทำงานอะไร” แม้ผมจะตอบว่า “เป็นนักเขียนนิทานครับ” แต่ความรู้สึกลึก ๆ ผมไม่ได้บอกว่า “ผมมีอาชีพเป็นนักเขียนนิทานครับ” ผมอยากสื่อสารเหมือนเวลาที่บอกว่า “ผมเป็นผู้ชายครับ ผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนครับ ผมเป็นนักเขียนนิทานครับ” อะไรทำนองนี้

การบังเอิญได้เป็นนักเขียนนิทาน แถมบังเอิญเป็นอยู่นาน จนแต่งนิทานเอาไว้เยอะมาก ทำให้ผมแอบมีความฝันอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความฝันที่ไม่สลักสำคัญอะไร แค่อยากเฉย ๆ นั่นคือ การรวบรวมนิทานที่ผมแต่งเอาไว้ทั้งหมด พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ แบบหนังสือโบราณที่เห็นในหนังหรือเห็นในรูปภาพต่าง ๆ

ความฝันนี้อาจมีที่มาจากการที่ผมเป็นคนชอบหนังสือ (ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือนะครับ ผมชอบความเป็นหนังสือ ชอบกระดาษ ชอบรูปเล่ม ชอบสิ่งที่มันเป็น) ตอนเด็ก ๆ ผมชอบไปซื้อหนังสือการ์ตูนที่แผงหนังสือ พอเข้าชั้นมัธยมต้น ก็หัดเข้าร้านหนังสือ ในช่วงเดียวกัน ผมก็เริ่มรู้จักการเข้าไปนั่งเล่นอยู่ในห้องสมุด เพื่อค้นหนังสือเก่า ๆ ตามชั้นหนังสือมามานั่งดู มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเหมือนการค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแบบในสมัยนี้ และการที่ผมได้เห็นหนังสือโบราณเล่มหนา ๆ จากต่างประเทศ (ซึ่งสมัยนั้นการได้สัมผัสสื่อจากต่างประเทศเป็นเรื่องยาก) มันจึงทำให้ผมแอบรู้สึกว่า ถ้าตัวเองมีหนังสือแบบนั้นบ้างก็คงจะดีทีเดียว

การทำหนังสือรวมนิทานเล่มหนา ๆ ขายเป็นเรื่องที่….ผมไม่ทำแน่ ๆ เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยทำสำนักพิมพ์เล็ก ๆ และพิมพ์นิทานรวมเล่มของตัวเองมาหลายเล่ม ซึ่งประสบการณ์ตอนนั้นสอนให้รู้ว่า อย่าทำอีก

แต่ความฝันในการรวมผลงานนิทานเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ แบบหนังสือโบราณเป็นความคิดที่ต่างออกไป เพราะผมไม่ได้คิดจะทำขาย แต่เป็นการทำเพื่อรวบรวม “งานชีวิต” ที่ตัวเองได้ทำเอาไว้ ให้ตัวเองได้ภูมิใจในสิ่งเล็ก ๆ ที่ตัวเองทำฝากไว้ให้เด็ก ๆ

ก่อนหน้าที่ผมจะได้เริ่มทำเว็บไซต์นิทานนำบุญ ความฝันเรื่องการรวมผลงานในลักษณะนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะนิทานมีมากถึง 417 เรื่อง แถมมีความหลากหลายจนผมคิดไม่ออกจริง ๆ ว่า จะจัดเรียงนิทานและจัดรูปเล่มของหนังสืออย่างไรให้เหมาะสม แต่เมื่อผมได้ทำเว็บไซต์นิทานนำบุญ และได้แบ่งนิทานออกเป็นหมวดหมู่ (ตาม Keyword เพื่อทำ SEO) ผลที่ตามมาคือ มันทำให้ผมเห็นแนวทางการจัดเรียงนิทานในเล่มได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

บทความนี้จึงเป็นเสมือนบันทึกความคิดของผมเกี่ยวกับโครงสร้างของหนังสือรวมนิทานที่ผมแอบฝันเอาไว้ ผมคงเขียนและแก้ไขไปเรื่อย ๆ เท่าที่คิดได้ ซึ่งเมื่อลงตัวเมื่อไหร่ ก็คงนำสิ่งที่เขียนไปเป็นแนวทางในการจัดรูปเล่มของหนังสือต่อไป ดังนั้น บทความนี้อาจไม่มีสาระมากนักสำหรับคุณผู้อ่าน แต่สำหรับผมนั้น ผมเชื่อว่าอย่างน้อยผมก็ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการทบทวนความคิด และอาจใช้เป็นแนวทางในการพิมพ์หนังสือ หากผมไม่ได้เป็นคนจัดการเอง (เพราะชีวิตไม่แน่นอน)

หากไม่นับหน้าคำนำและสารบัญของหนังสือ ผมอยากเริ่มต้นหนังสือของผมด้วยการเขียน “บทเกริ่นนำ” เพื่อเล่าความรู้สึกนึกคิดของการได้มาเป็นนักเขียนนิทาน รวมถึงแนวทางที่ผมใช้ในการแต่งนิทาน ให้คนอ่านได้รู้ ผมว่าการบอกเล่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่า เพราะมันทำให้คนอ่านเข้าใจ “โลกของคนเขียน” ชัดเจนยิ่งขึ้น (ผมเองก็อยากรู้ความคิดของนักแต่งนิทานในอดีตมาก ๆ แต่ก็หาอ่านไม่ค่อยได้)

ลำดับถัดไป ผมอยากเริ่มนิทานเรื่องแรกของเล่ม ด้วยนิทานเรื่อง “ชายผู้ปลูกดอกไม้สีจาง” และปิดท้ายเล่ม ด้วยนิทานเรื่อง “ความฝันของชายผู้รักดอกไม้สีจาง” เพราะนิทานทั้งสองเรื่อง เป็นนิทานแทนตัวผม

https://bit.ly/3uEaiJ8
https://bit.ly/2RKj9KJ

เนื้อหาของเล่ม ผมอยากเริ่มด้วย “นิทานแสนรัก” ซึ่งผมอยากคัดเลือกนิทานที่ผมแต่งโดยมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตตัวเอง คนในครอบครัว หรือนิทานเรื่องพิเศษบางเรื่องที่มีความหมายกับชีวิตบางช่วงของผมมาก ๆ มาให้อ่านกันเป็นหมวดแรก เพราะนิทานเหล่านี้สะท้อนตัวตนภายในของผมในฐานะนักแต่งนิทานได้มาก

ลำดับถัดไป ผมอยากนำนิทานแต่ละหมวดในเว็บไซต์นิทานนำบุญ มาจัดเรียงนำเสนอที่ละหมวด ซึ่งนิทานในแต่ละหมวดจะมีอยู่ราว 10 เรื่อง (ยกเว้นบางหมวดที่อาจมีไม่ถึง 10 เรื่อง) เช่น นิทานก่อนนอนสั้น ๆ นิทานตลก ๆ ก่อนนอน นิทานก่อนนอนความรัก นิทานธรรมะก่อนนอน นิทานพ่อมดแม่มด นิทานปรับพฤติกรรมเด็ก (ควรปรับชื่อใหม่) ฯลฯ โดยนิทานแต่ละหมวดควรมีหน้าเปิด 1 หน้าเป็นหน้าคั่น เพื่อแยกนิทานแต่ละหมวดออกจากกัน และหากเป็นไปได้ ผมอยากให้นิทานทุกเรื่องมีภาพประกอบลายเส้นขาวดำ เรื่องละอย่างน้อย 1 ภาพ และอาจเขียนเกริ่นนำเกี่ยวกับนิทานในแต่ละชุด เพื่อให้ผู้อ่านได้พักอารมณ์จากนิทานในชุดก่อนหน้าสักนิด และเป็นพื้นที่ที่ให้ผมได้สื่อสารความรู้สึกนึกคิดกับผู้อ่านเกี่ยวกับมุมมองของผมที่มีต่อนิทานเหล่านั้น

เมื่อนำเสนอนิทานทีละหมวด ๆ หนังสืออาจคั่นนิทานเหล่านั้นด้วยนิทานหมวดพิเศษ คือ หมวดของนิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อให้หนังสือไม่ราบเรียบจนเกินไป

https://bit.ly/33rHXdm

หลังจากนั้น จึงค่อยนำเสนอนิทานในหมวดอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ หรือหากรวมเป็นหมวดไม่ได้ ก็อาจนำเสนอนิทานที่เหลือในรูปแบบของคลังนิทานที่เรียงลำดับนิทานที่เหลือตามลำดับตัวอักษร (แต่วิธีการนี้อาจทำให้นิทานกระจัดกระจายไม่น่าอ่าน ดังนั้น จึงควรพิจารณาอีกครั้ง)

ก่อนเข้าสู่นิทานเรื่องสุดท้าย (ความฝันของชายผู้รักดอกไม้สีจาง) ผมอยากปิดเล่มด้วยหมวดของ “นิทานที่เป็นเกียรติต่อชีวิตนักเขียนนิทานอย่างผม” ซึ่งได้แก่นิทานเรื่อง “พระราชาผู้เป็นที่รัก”และนิทานที่เคยพิมพ์เป็นเล่มในชุดตามรอยพระราชา เช่น “ของขวัญแด่พระราชา” และ “คนต่อเทียน” รวมทั้งนิทานเรื่องอื่น ๆ ที่ให้แง่คิดสอนใจในลักษณะเดียวกัน เพราะนิทานเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับผมมาก

ท้ายเล่ม หลังจบนิทานเรื่อง “ความฝันของชายผู้รักดอกไม้สีจาง” หากมีโอกาส ผมก็อยากเขียนขอบคุณบุคคลทุกคนที่เกี่ยวกับการที่ผมได้มาเป็นนักเขียนนิทาน ทั้งครอบครัว ครูบาอาจารย์ นิตยสารขวัญเรือน เพื่อน และผู้อ่าน

ความฝันเรื่องการทำหนังสือรวมผลงานนิทานของชีวิต ดูแล้วน่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น แถมปัจจุบัน การพิมพ์หนังสือก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก ผมจึงเชื่อว่า ฝันนี้น่าจะเป็นจริงได้ในสักวัน

#นิทานนำบุญ

2 thoughts on “ความฝันของนักเขียนนิทาน

  1. ดิฉันก็ชอบหนังสือที่มันมีความเป็นหนังสือมากกว่าอ่านผ่านมือถือให้ลูกๆฟังนะ (ถึงแม้ข้อดีของมือถือคือเราไม่ต้องเปิดไฟอ่าน แต่ถึงยังไงดิฉันก็ชอบที่จะอ่านผ่านหนังสือมากกว่า) ถ้าคุณนำบุญทำหนังสือออกมาก็อยากจะข่วยอุดหนุนนะคะ ถึงแม้ว่าคุณนำบุญไม่อยากพิมพ์หนังสือเพื่อการขายก็ตาม

    Like

    1. สวัสดีครับ ผมเองก็ชอบหนังสือมาก ๆ ครับ ความรู้สึกที่ได้สัมผัส ได้อ่านเรื่องราวจากหนังสือเป็นความรู้สึกพิเศษ มันมีความลึกซึ้งมากกว่าการอ่านเรื่องราวออนไลน์ เมื่อสองปีก่อน ผมพยายามเสนอโครงการขอทุนมาพิมพ์หนังสือนิทานแจกผู้อ่านจากหน่วยงานหนึ่ง เพราะตอนนั้นเรามียอดคนเข้าชมเว็บไซต์วันละ 3000 คน (ราว 1 หมื่นวิว) ถ้าเด็กที่ติดตามเว็บไซต์ ได้หนังสือนิทานเล่มน้อยไปอ่านอีกที ผมว่าคงดีมาก แต่น่าเสียดายที่โครงการนั้นไม่ได้ทุนสนับสนุน ถ้ามีโอกาส ผมจะพยายามหาวิธีทำหนังสือนิทานออกมานะครับ (ผมเคยทำหนังสือเล่มน้อยมีนิทานราว 4-5 เรื่อง ทุนทำไม่ถึง 10 บาท คล้ายหนังสือธรรมะที่เขาแจกกันเป็นธรรมทานน่ะครับ) สุดท้ายนี้ ผมต้องขอบพระคุณมาก ๆ ที่ส่งความคิดเห็นและข้อแนะนำมานะครับ นี่คือกำลังใจที่มีค่ามาก ๆ เลยครับ

      Like

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.