ช่วงต้นปี 2563 เป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มการระบาด เมื่อสถานการณ์เริ่มมีความเสี่ยงน้อยลง รุ่นพี่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังในนิตยสารสีสัน ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) ในฐานะ นักแต่งนิทานของไทย ซึ่งตามปกติ ผมหยุดการให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่าง ๆ มานานแล้ว แต่เพราะรุ่นพี่ท่านนี้เป็นรุ่นพี่ที่คอยติดตามให้กำลังใจเพจนิทานของผมมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อรุ่นพี่ติดต่อมา ผมจึงตอบตกลงให้สัมภาษณ์ และบทความต่อไปนี้ คือ บทความสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสีสัน ปีที่ 31 ฉบับที่ 8 โดย “ดาวเอื้อมฟ้า” ซึ่งผมถือเป็นเกียรติที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองบันทึกไว้ในนิตยสารคุณภาพอย่าง “นิตยสารสีสัน” ที่ผมติดตามมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา (ราวปี 253X) อนึ่ง การพูดคุยให้สัมภาษณ์อาจมีบางช่วงบางตอนที่ดูเป็นกันเองมาก (เพราะผมถือว่าผมกับผู้สัมภาษณ์คุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง จึงคุยอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมามาก ๆ ) หากมีคำพูดใดไม่ค่อยสำรวมระวัง หรือกระทบความรู้สึกของใครก็ตาม ผมต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ ท้ายสุด ผมขอขอบคุณทางนิตยสารสีสันที่อนุญาตให้นำบทความนี้มาลงในเว็บไซต์นิทานนำบุญนะครับ ขอเชิญท่านที่สนใจลองอ่านบทความนี้กันดูนะครับ
บทสัมภาษณ์ : นักเล่านิทาน นำบุญ
กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานเท่าไหร่ ในยุทธจักรน้ำหมึก ยังมีนักเล่านิทานหนุ่มไฟแรงชื่อว่า นำบุญ นามเป็นบุญ ที่เล่เรื่องราวมากมายในนิตยสาร “ขวัญเรือน” ยาวนานถึง 17 ปีเต็ม
17 ปีกับนิทานกว่า 400 เรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาหยิบวัตถุดิบมาจากไหน? เคยตื้อตันกับการต้องเขียนต้นฉบับใหม่ ๆ ทุก 15 วันบ้างไหม? วันนี้ยังเขียนนิทานอยู่หรือเปล่า? แล้วเป้าหมายในชีวิตของนักเล่านิทานอย่างเขาคืออะไร?
อดีตนักศึกษาเอกภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยสมัครเข้า ทียู แบนด์ เพียงเพื่ออยากได้อัลบั้มเพลงของ ปรัชญ์ สุวรรณศร เคยเล่นละครเวที (แต่ไม่ชอบ) เคยได้ทุนไปศึกษาเรื่องหุ่นที่สวีเดน เคยทำรายการสำหรับเด็ก และแน่นอน – เขียนนิทาน
ตอนนี้ เขาหยุดเขียนนิทานไปแล้ว และนำผลงานเก่า ๆ ที่เขียนไว้ มาลงในเว็บไซต์ส่วนตัว พร้อมกับเพจ “นิทานนำบุญ” ในเฟซบุ๊ก อนาคตเขาอาจเปิดช่องยูทูบ หรืออาจจะมีพอดแคสต์ ให้แฟนคลับนิทานของเขาได้ติดตามกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยเหตุผลเดียว “ผมรักเด็กจริง ๆ นะ”

“จริง ๆ ผมเคยฝันอยากเป็นนักเขียนนิทาน คืออยากแต่งน่ะ ผมไม่เคยคิดอยากเป็นนักเขียนนะ”
นำบุญเกริ่นกับฉันในบ่ายวันหนึ่งที่บ้านพักของเขาย่านปู่เจ้าสมิงพราย เป็นความฝันของเด็กชายผู้อ่านขวัญเรือนมาแต่เด็ก ๆ ตามผู้เป็นแม่ “ถ้าเราได้เขียนลงขวัญเรือนก็คงดีเนอะ เออ มีความเป็นนักเขียนอยู่ตรงนี้-ที่คิด คิดแบบบาง ๆ แล้วช่วงนั้นแบบว่า…ก่อนที่ผมจะเป็นนักเขียน ผมไปเปิดดูในขวัญเรือน เออ มีคนเขียนอยู่ ไม่เห็นสนุกเลย ถ้าเราได้เขียนคงดีเนอะ คิดแค่นี้เลย”
นักเล่านิทานหนุ่มใหญ่หัวเราะลงลูกคอก่อนลดเลี้ยวไปถึงช่วงที่เขาไม่มีความสุขกับการอยู่ที่สวีเดน ที่ที่เขาควรจะได้เก็บความรู้เรื่องหุ่นและนำกลับมาประยุกต์ใช้สอดรับกับความฝันที่อยากทำงานเกี่ยวกับเด็ก แต่ไม่เป็นอย่างที่หวัง นำบุญตัดสินใจกลับเมืองไทย
“อยู่ประมาณปีหนึ่งแล้วก็พบปัญหาบางอย่างว่าเขาไม่ได้จริงใจกับเรานัก เช่น ให้ทุนไปแต่ไม่สอน เราก็ต้องเรียนรู้เอง เขาบอกว่าไม่มีเวลาสอนนะ ผมก็ไม่เป็นไร ช่วงเช้าผมทำ ช่วงเช้าผมทำงานด้วยนะครับ เป็นเทคนิคเชี่ยน เพราะภาษาสวีเดนเราไม่ได้ แต่กลางคืนปุ๊บ ผมก็ลงไปทำหุ่นที่ห้องใต้ดิน ดูหุ่นของเพื่อนทีทำหุ่นสไตล์ญี่ปุ่น เป็นหุ่นกลไก ขยับตาขยับปากได้ นำบุญก็นั่งทำ หัดแกะสลักไม้ หัดทำกลไก ซึ่งมันไม่ใช่ผมเลย งานเทคนิคเชี่ยนก็ไม่ใช่ผมเลย แต่ก็หัดทำ ก็คือเรียนรู้น่ะฮะ พอเวลาผ่านไป เขามีเปิดคอร์สระดับสูงเหมือนระดับปริญญาอะไรอย่างนี้ นักเรียนในสวีเดนได้เรียน แต่ผมไม่ได้เรียน ไปอ๊อบเสิร์ฟก็ไม่ได้ ไม่ได้แล้วฉันจะอยู่ทำไม ผมก็เลยกลับมาฝึกที่เมืองไทยดีกว่า”
“กลับมาก็ต้องมองหางาน ตอนนั้น ใจผมน่ะอยากทำงานเด็ก เท้าความหน่อยว่าผมเคยทำโทรทัศน์เด็ก แล้วก็ค้นพบว่าตัวเองรักงานเด็กมาก คือผมอยากทำให้เด็กยิ้ม อยากเห็นเด็กยิ้ม อยากให้เขามีความสุขมาก ๆ เหนื่อยแค่ไหนใจเราก็ยังยิ้มน่ะ อย่างเดียวที่ทำให้ผมมีความสุขได้ในตอนนั้น ทำให้ผมไปยอมเหนื่อยที่สวีเดน อยากจะมีหุ่นมาเล่นกับเด็ก ง่าย ๆ เลย คิดโง่มาก คิดแค่นี้เลย”
น้ำเสียงนุ่ม ๆ ของเขาเจือความสุข-ฉันสัมผัสได้ “พอกลับมา เฮ้ย นิทานมันก็เป็นเรื่องของเด็กนี่หว่า ระหว่างที่คิดก็บังเอิญว่าได้งานที่หนึ่ง เป็นผู้สอนวิทยาศาสตร์ หลักสูตรของแคนาดา กติกาข้อหนึ่งว่า สามารถไปเมืองนอก แคนาดาไม่เคยไป (หัวเราะ) แล้วถ้าเล่นกับของเล่นได้นี่ (ยิ้ม) ของเล่นนี่ของชอบเลย ผมชอบของเด็ก ๆ แล้วก็ต้องสอนเด็กได้ ผมตรงหมดเลยน่ะ ก็ได้งาน”
“จำไม่ได้ว่าทำอยู่กี่เดือน ขวัญเรือนเขามีการเปลี่ยนแปลง นักเขียนเก่าเขาออก แล้วน้องที่ขวัญเรือนเป็นน้องที่วารสารฯ รู้จักกับพี่ดาว รักษิตา จะติดต่อให้พี่ดาวไปเขียน ผมเข้าใจอย่างนั้นนะ แล้วพี่ดาวก็แนะนำว่ามาหานำบุญสิ พี่ดาวรู้จักผมเพราะเมื่อก่อนผมเคยไปเล่านิทานที่ “ร้านหนังสือเล็ก ๆ” มันก็โยง ๆ กันน่ะ น้องที่ขวัญเรือนก็รู้จักผมด้วย เขาก็ติดต่อมา พอโอกาสมา มันชนกันใช่มั๊ยครับ ระหว่างงานประจำซึ่งเลี้ยงชีพได้กับงานนักเขียน”
ตอนแรกนำบุญคิดว่า “น่าจะทำไปพร้อมกันได้” แต่ในความจริง การทุ่มเททำงานที่รัก 2 อย่างพร้อมกันกลับยากกว่าที่คาด “พอเริ่มทำจริง ๆ งานหนักมาก เพราะว่างานสอนมันไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องทำบท ต้องไปช่วยเจ้านายขาย แล้วต้องเทรนนิ่งรุ่นน้องให้ขึ้นมาเป็นครูผู้สอน แล้ววิธีการสอนมันยากมาก แต่ผมทำได้ เพราะมันคือชีวิตของผม เหนื่อยแต่ผมมีความสุข เด็กแฮ๊ปปี้มาก พอเวลาว่างปุ๊บก็กลับมาเขียนงาน เขียนนิทาน แล้วดันเป็นนิทานลายปักษ์ 15 วันต้องได้เรื่องหนึ่ง มันเหมือนแบบางวันไม่อยากออกไข่ก็ต้องออกให้ได้” เขาหัวเราะก่อนบอกว่า ช่วงแรกก็ยึดสูตรที่คุ้นเคย เรื่องเจ้าหญิงเจ้าชาย ยักษ์ และพ่อมดแม่มด ฯลฯ แล้วก็พบว่า มันยากขึ้นเรื่อย ๆ
“ผมเป็นคนเขียนหนังสือไม่เก่ง ผมเป็นสายพูด ผมจะเล่าเรื่อง ผมจะถนัดใช้กระบวนการคิด ก็จะวางแปลนว่าเราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร มีส่วนต้น ส่วนกลาง ส่วนท้าย เล่าอย่างนี้จะคล่อง แต่พอเป็นการเขียนปุ๊บ วิชาเขียนข่าวก็สอบคะแนนห่วย”
เสียงหัวเราะเขาฟุ่มเฟือยจริง ๆ
“งานเขียนผมไม่ดี แต่งานไอเดียผมได้ เพราะพอเขียนเสร็จก็ไปถ่ายเป็นภาพยนตร์ ไม่ได้เขียนเรื่องสละสลวย พอมาเจอนิทาน เป็นงานเขียนจริง ๆ เป็นอาชีพนักเขียน แล้วเราไม่ใช่นักเขียน ก็…เอา ลองดู เอารูปประโยค subject+verb+object (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ช่วงแรกนิทานก็จะเป็นคำที่เราคุ้นเคยจากนิทานต่าง ๆ มาเรียงไปเรียงมา คนจะไม่รู้นะ แต่ผมรู้ (หัวเราะเบาๆ) แล้วจะจบลงด้วยว่า “และแล้ว นิทานเรื่องนี้ก็จบลงด้วยความสุข” ทุกเดือน (หัวเราะ) เป็นปีเลยล่ะครับ จนขวัญเรือนบอกพี่ไม่ต้องจบแบบนี้ก็ได้ แล้วเราก็พยายามบิดให้นิทานของเรามีมุมที่มัน…ไม่เหมือนกัน เวลาแต่ง สร้างบทหนัง ก็คิดมุมไปเรื่อย ๆ ให้มันไม่ซ้ำ ไม่ซ้ำกับนิทานที่มีอยู่ในโลก ไม่ซ้ำกับนิทานที่เราเคยแต่ง ก็เลยยากขึ้น ๆ บีบคั้นขึ้นเรื่อย ๆ”
“ได้ไอเดียในการแต่งมาจากไหน เขียนมาเป็น 400 กว่าเรื่องอย่างนี้?” ฉันถาม
เหมือนเดิม – เขาพาฉันย้อนกลับไปวัยเยาว์ของเขา วันเก่า ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านชานเมืองย่านสมุทรปราการ “จะเมืองก็ไม่เมือง จะบ้านนอกก็ไม่บ้านนอก” แต่ในความรู้สึกก้ำกึ่งนั้น นำบุญบอกว่าสิ่งที่เขามีมันคืออีกดินแดนหนึ่ง ดินแดนที่ทุกอย่างเป็นไปได้ตามแต่เขาจะจินตนาการ “มันคือโลกของผมเอง พอผมคิดแบบนั้นได้ ทุกอย่างก็คลี่คลาย เพราะว่าโลกของผม ต้นไม้ไม่ใช่สีเขียว-ก็ได้ ต้นไม้เป็นสีชมพู มีสัตว์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ที่อื่น พอเราเจอทางของเราว่า นี่คือพื้นที่ของฉัน มันก็ไม่ได้ยากมาก ทีนี้พอมาเขียนนิทาน ก็ยึดตรงนี้ว่า ถ้าผมจะต้องเล่านิทานในแบบของผม มันก็คือโลกของผมไงโลกของผมจะมีนางฟ้าแบบนี้ และนางฟ้าอีกแบบ และอีกแบบ ๆ ๆ มันก็เลยมีนางฟ้าหลายแบบ”

“ผมอาจโชคดีตรงที่ว่า ชีวิตวัยเด็กผมมีพี่น้อง 5 คน เราก็เล่นกันในบ้าน ตอนเด็ก บ้านผมเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงห่าน ต้องไปเก็บไข่ไก่ทุกเช้า มีบ่อน้ำอยู่หลังบ้าน ลงไปว่ายน้ำกับเป็ด เอาลูกเป็ดลงน้ำแล้วลงไปว่ายน้ำกับเป็ด (หัวเราะ) และก็เดินเล่นกับห่าน แล้วห่านก็ไล่ตอดเรา มีหมา มีงู บางทีก็มีคนงาน มาช่วยทำไอ้นี่เล่นกัน ทำนาฬิกาจากใบมะพร้าว คือ หาเรื่องเล่นทุกวัน แม้กระทั่งห้องที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ เอ้า ปิดผ้าม่าน เอาโซฟามาพลิกทำเป็นถ้ำ อยู่ในถ้ำกันเถอะ บ้านเราต้องมีหิมะ เอาแป้งมาโรยเต็มบ้าน เราจะเล่นอย่างนี้แหละครับ โลกของเราคือโลกแห่งการเล่น เพราะฉะนั้น ความทรงจำวัยเด็กจะเยอะมาก ผมจำเรื่องราวชีวิตวัยเด็กได้จนกระทั่งผมเข้ามหาวิทยาลัย”
นั่นเป็นที่มาส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการแต่งนิทานนำบุญ อีกส่วนหนึ่งมาจากความหลงใหลในการ์ตูนที่มีทั้งของไทย อย่าง ชัยพฤกษ์, ตุ๊กตา ของญี่ปุ่นอย่าง แคนดี้จอมแก่น (อ่านตามพี่สาว), กุหลาบแวร์ซาย (อ่านตามเพื่อน) และ โดราเอมอน (ค้นพบเอง) เขาอ่าน “จนกระทั่งผมจำโครงเรื่องได้หมด ถ้าคนนี้เขียนปุ๊บเดี๋ยวจะต้องเป็นแนวนี้ จนเลิกอ่านเลยครับ สิ่งที่เราได้มันอาจจะเป็นการผูกเรื่องด้วย ก็เลยได้หลาย ๆ อย่าง ความทรงจำวัยเด็ก ทั้งประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมเยาวชนกับการ์ตูน ได้โครงเรื่องนี้มาผนวกกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเราผูกเรื่องได้ เขียนเรื่องได้ แล้วก็หลุดจากกรอบแบบ…เป็นโลกของเราเอง พอสร้างดินแดนได้ มันก็ง่ายขึ้น”
หลังจากนั้น…ทุกอย่างก็หลั่งไหลพรั่งพรูต่อเนื่องมา 17 ปี จากจุดเล็ก ๆ ในความคิด กลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือที่เรียงร้อยเป็นเรื่องเล่าความยาวสองหน้ากระดาษ ฉันถามเขาว่าได้พล็อตแต่ละเรื่องมายังไง? เขาบอกว่า “มันอาจจะมาจากทัศนคติพื้นฐานก่อน ว่าเรามองโลกยังไง อย่างเราไม่เชื่อเรื่องที่ว่า เงินซื้อความสุขได้ เขียนยังไงก็เขียนไม่ได้ว่าเงินซื้อความสุขได้ เราเชื่อเรื่องการเกื้อกูลแบ่งปันช่วยเหลือ นิทานผมจะเป็นเรื่องพวกนี้ การใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา นิทานผมจะมีแต่เรื่องแบบนี้ หรือเรื่องการปลูกต้นไม้ ธรรมชาติ เราเชื่อแบบนี้ ข้อสรุปในนิทานแต่ละเรื่องจะวน ๆ อยู่ประมาณนี้แหละครับ เห็นคุณค่าของครอบครัว เห็นคุณค่าของมิตรภาพ เห็นคุณค่าของเพื่อน เพราะเราเพื่อนน้อยไง เราเลยรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่มีค่า”
“เนื่องจากมันมีเวลา 15 วัน เราไม่ได้มีเวลาในการแพลนมากหรอกว่ามันจะอะไร นิทานบางเรื่อวคิดจากการมีตัวละครขึ้นมาก่อน อยู่ ๆ ก็….ต้องมีตัวละครสักตัวหนึ่ง ใครดี ๆ ๆ ๆ (เสียงค่อย ๆ ดังขึ้น) อ๊ะ เป็นเด็กผู้ชายสักคน แล้วเขาเป็นใครล่ะ ผมยังไม่เห็นหน้าเขาเลย ผมเขียนไม่ได้ ก็…เอ้า เด็กหัวฟู ๆ ชื่ออะไรดี ๆ ๆ บางทีชื่อก็มาก่อน ชื่อ ฮันนู ฮันนู เหมือนชื่อเพื่อนที่ฟินแลนด์ เอา ฮันนู นี่แหละเป็นชื่อตัวละครตัวนี้ แต่บุคลิกไม่ใช่เขาเลยนะ ฟังฟู ๆ ทำนิทานสระอูดีกว่าเว้ย ก็กลายเป็น “ฮันนู เป็นเด็กหัวฟู เขาเกิดที่ประเทศเปรู” อะไรอย่างนี้ มันก็จะทำให้เราไล่ต่อไปได้ นิทานบางเรื่องมาจากตัวละครที่ มีบุคลิกบางอย่าง สมมตินะครับ เป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ทอดทิ้ง เราอยากเขียนนิทานเด็กกำพร้า นิทานบางเรื่องเป็นเรื่องของคุณตาที่ยิ้มได้ทั้งวัน มองโลกแง่ดีมาก”
“เริ่มจากตรงนี้ จากตัวละคร นี่คือกลุ่มที่เริ่มจากชื่อ แล้วเราก็ฝันต่อ ฝันมีละก้าว เหมือนต่อจิ๊กซอว์น่ะครับ วางจิ๊กซอว์ เปิดเรื่องแบบนี้ โครงเรื่องจะไปไหนยังไม่รู้เลยนะ ด้นไป ตัวที่ 2 วาง คิดเรื่องต่อ ไม่ได้ เอาจิ๊กซอว์ตัวนี้ทิ้ง สร้างตัวใหม่ เช่น ตัวนี้ไปเจอเหตุการณ์ที่ 1 ขึ้นมา มี…เจอแม่มด แม่ป่วยไม่สบาย-นี่เป็นสูตรประจำเลย เด็กคนหนึ่งอาศัยอยู่กับแม่ วันหนึ่งแม่ต้องเจออะไรสักอย่าง แม่ป่วยไม่สบาย (หัวเราะ) เออ พอได้ ๆ แม่ป่วยไม่สบายแล้วยังไงเหรอ มีใครมาบอกว่าต้องเอาอะไรมารักษา มันก็เริ่มก้าวไปไงครับ แต่เราคิดแบบนี้ปุ๊บ เราบอกว่า เฮ้ย ไอ้มุขแม่ป่วย ไม่สบาย มันมีหลายครั้งแล้วนะ เรายกจิ๊กซอว์นี้ออก มองหาตัวอื่น นี่คือสูตรนี้นะครับ คือ สูตรสร้างตัวละครแล้วต่อจิ๊กซอว์ไป”
“กับสูตรประเภทที่ว่า เห็นเหตุการณ์ในสังคม อย่างผมดูพวก อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย บางทีก็เป็นเรื่องได้ (หัวเราะ) บางทีดูเรื่องการเมือง อย่างช่วงการเมืองที่มีสีเสื้อเยอะ ๆ ผมก็แต่งเป็นเรื่องเลยนะ แต่งแบบไม่มีใครรู้เลยว่า มันเป็นเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องความคิดทางการเมือง ผมก็จะหามุมในเรื่องของความกมเกลียว ในเรื่องของพลัง ในเรื่องของอะไรที่มันดีกว่า เหมือนกับว่าเป็นการเยียวยาตัวเองด้วย และสังคมด้วย ว่าแบบ…สังคมที่ทะเลาะกันเยอะ ๆ แบบนี้ มันไม่ได้สร้างอะไรเลย ปลูกต้นไม้ก็ยังดีกว่า”
“ลึก ๆ ผมเคยวิเคราะห์ตัวเอง คนที่มันมีเพื่อนน้อย มันอยากมีเพื่อนน่ะ อยากมีเพื่อนมาก ๆ เลย ถ้าจะมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มีความสุข ก็จะต้องมีเพื่อนดี ๆ มีสังคมน่ารัก งานแนวนี้ โครงเรื่องแนวนี้ จะมีเยอะมาก และเนื่องจากว่านิทานผมจะเป็นโครงสร้างแบบ เกริ่นนำเรื่อง มีปม 3 ปม หนึ่ง-สอง-สาม แล้วปิดท้าย สังเกตก็คือว่า ปมที่ 1-แก้ ปมที่ 2-แก้ ปมที่ 3-ไคลแม็กซ์แก้ ปัง! จบ ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เพราะว่ามีหน้าให้เขียนสองหน้า ต้องจบอย่างสมบูรณ์ในสองหน้า แล้วก็ถ้าเขียนเต็มสองหน้า ภาพประกอบก็จะได้น้อย ก็พยายามแบบว่า…หลัง ๆ อยากใส่ดีเทล เคยมีคนบอกผมว่า “พี่ ๆ เวลาเขียน ต้องเขียนแบบแสงแดดทอประกายระยิบระยับ ต้นไม้แกว่งไกว” ผมพยายามอยู่ปีหนึ่งในการเขียนแบบนี้ ให้มันมีอรรถรส ปรากฎเขียนไปเขียนมา มันไม่ใช่ตัวเรา มันดัดจริตมากเลย (เสียงเข้ม) คือผมรำคาญ”
“สุดท้ายผมแต่งนิทาน นิทานของผมไง ในเมื่อเราหลุดจากกรอบของโลกคนอื่นมาอยู่ที่โลกของผมแล้ว ทำไมผมยังต้องใช้ภาษาแบบคนอื่น ผมพยายามเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ให้มากที่สุดเท่าที่ความรู้ในการเรียนตั้งแต่ป.1 ถึงปริญญามันมี ผมรู้เท่านี้จริง ๆ ไม่ได้แกล้ง ผมทำเต็มที่แล้ว ถ้าผิดก็ช่วยแนะนำผม ผมรับฟังนะ หลัง ๆ ก็ผ่อนคลาย เป็นภาษาปากบ้าง มีไดอะล็อกที่ตัวละครพูดบ้าง สมัยก่อนไม่มี เป็นแบบแนวเล่า หลัง ๆ ก็จะมีตัวนั้นตัวนี้พูด ผมชอบ แต่ว่ามันขี้โกงน่ะ มันทำให้จบง่าย ก๊อปปี้คำซ้ำแล้วก็เพสต์ มันจะพูดคล้าย ๆ กันน่ะ โครงเรื่องนิทานน่ะ ผมก็ก๊อปปี้-เพสต์ เฮ้ย! นี่เราจะเอาตังค์เขาง่าย ๆ อย่างนี้เชียวหรือ (หัวเราะ)”
สมกับเป็นคนที่อุดมจินตนาการ แถมชำนาญการเล่าเรื่องหาตัวจับยาก ฉันรู้สึกตัวเหมือนเป็นเด็กน้อย ฟังเขาอธิบายเพลินไป

“เคยอยากเขียนที่แสดงให้เห็นมุมลบ ๆ ของสังคมมั๊ย?”
“ครั้งหนึ่ง ผมเขียนนิทานที่ไม่ได้จบแบบสดใส และเป็นครั้งเดียวที่บรรณาธิการโทร.มาหา (หัวเราะ) ผมเขียนเรื่องแม่ แต่งนิทานให้แม่ ตอนจบแม่ตาย มันผิดขนบของนิทานเด็กในประเทศไทย แต่ในประเทศอื่นมันโอเค. นิทานไม่ได้เลวร้ายหรอก แต่มันจบด้วยความผิดหวัง แค่นี้ก็โดนแล้ว คือ ขวัญเรือนให้เกียรติมาก แต่บางอันเขาก็จะเตือน มันเป็นนิทานเด็ก นิทานลงในนิตยสาร อย่าจบแบบนี้ดีกว่า แต่เขาก็พิมพ์ให้นะ ผมก็โอเค. ดังนั้น นิทานผมก็จะเป็นแนวไม่รันทด แต่อย่างนิทานเรื่อง “หญิงสาวผู้หลงรักภูเขา” โคตรจะรันทดเลย ดราม่าสุดขีด คือเจ็บปวดมาก มันคือเรื่องชีวิตคนน่ะ มันคือนิยาย ไม่ใช่นิทาน เด็กจะเก็ทแค่แปลก ๆ ว่า ตัวละครมันเป็นผู้หญิงกับภูเขาหลงรักกัน ผู้หญิงหลงรักฝ่ายเดียว แล้ววันหนึ่งผู้หญิงก็ไป แต่ถ้าตีความเป็นเรื่องนิยายผู้ใหญ่ก็…คนสองคนหลงรักกัน คนหนึ่งไม่สนใจ วันหนึ่งเธอไม่สนใจฉัน ฉันก็ไป เธอจะไม่เจอฉันอีกเลยแม้ว่าเธอจะดีขนาดไหน มันก็นิยายโรแมนติกน่ะ ทราจิดี้ด้วยซ้ำ ประมาณนั้น”
“ทีนี้ ถ้าถามว่าเรือ่งที่ดาร์คมาก ๆ ผมอยากเขียนมั้ย คือไม่ใช่อย่างนั้น ลึก ๆ ผมเป็นคนที่มีมุมซูเปอร์ดาร์คเลย อ่านเน็ทเห็นคนด่ากัน ผมก็กล้าพูดได้ว่า ถ้าใครมาด่าผมในเน็ท ผมตามถึงบ้าน ผมเป็นคนขนาดนั้น สุดขั้วไหมครับ ถ้าไม่เคยเข้าวัดจะขนาดไหน ตอนนี้ก็เจริญสติเนาะ มันก็คือความคิดที่ออกมาหลอกเราเฉย ๆ”
เขาหัวเราะหน้าเป็น
“นิทานผมส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทุกเรื่อง มาในแนวอ่อนโยน นิทานแนวหวานซะเยอะ มีตลกบ้าง แต่ส่วนใหญ่แบบนุ่มนวล แสนดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่เหมือนตัวคนแต่งเลย เสร็จแล้วมันก็เหมือนดอกไม้ที่มีสีจาง ๆ” เขาเปรียบตัวเองแบบนั้น “คนอาจจะชอบดอกกุหลาบ ดอกไม้แฟชั่นที่คนนิยมซื้อ แต่ดอกไม้ที่ไม่มีราคา คนบางทีไม่ชอบ ผมเองเป็นคนชอบดอกไม้บ้าน ๆ ผมจะชอบดอกไม้แบบนั้นจริง ๆ นะ เออ เราก็เปลี่ยนเป็นดอกไม้สีจางแล้วกัน ดอกอะไรก็ไม่รู้ นะ โลกของเรานี่ แล้วก็เล่าเรื่องไปว่า คนที่ 1 มาเจอ ไม่ชอบเพราะมันสีจางไป คนที่ 2 มาเจอก็ไม่ชอบเพราะกลิ่นมันจางไป อะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายวันหนึ่ง มันจะมีคนที่เห็นว่า ดอกไม้สีจางมันมีมุมสวย ๆ ผมคิดว่า ถ้ามีเด็กสักคนที่เห็นเรา เราก็ดีใจแล้ว เหมือนที่ผมโพสต์ลงไปในเพจว่า “ผมมีความสุขที่ได้อ่านนิทานของพี่” หรือ “ผมติดตามพี่ตั้งแต่อยู่ ขวัญเรือน ตอนนี้ผมโตแล้วนะ” แล้วเขาตามมาที่เพจ ส่งข้อความมา ผมก็แบบ…อือ อย่างน้อย สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำน่ะ มันทำให้เด็กได้อะไรบ้าง”
“หรืออย่างที่ผมเคยเล่าในเพจ ผมเคยสอนวิทยาศาสตร์ วันหนึ่งเด็กโตขึ้นมา เรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วบอกว่า ค่ายวิทย์ที่ผมเคยทำคือความทรงจำที่ดีที่สุดในวัยเด็กของเขา ซึ่งวันที่ผมรับรู้เรื่องนี้คือวันที่ผมกำลังดาวน์มาก งานผมมันไม่ได้ทำเงินหรอก พูดจริง ๆ เพราะผมไม่รวยน่ะ คือถ้าบ้านผมไม่ซัพพอร์ท ผมก็หมาตัวหนึ่ง หมาจริง ๆ คือไม่มีอะไรเลย เพราะว่ารายได้ที่เห็นมันน้อยมาก แต่เรามุ่งมั่นกับสิ่งนี้ เรารู้สึกว่า เด็กควรจะได้รับสิ่งดี ๆ เหมือนที่เราเคยได้รับตอนเด็ก ควรมีนิตยสารดีๆ มีรายการสำหรับเด็กอย่าง ผึ้งน้อย หรือรายการที่…อย่าง ชัยพฤกษ์การ์ตูน ที่เขาคลีนมาก ๆ คัดทุกอย่างมาให้เด็กแบบ…บริสุทธิ์น่ะ ผมก็อยากทำสื่อแบบนี้ อยากทำมาก (เน้นเสียง) ในสวีเดน ผมไปคุยกับโปรดิวเซอร์ที่โน่น คุยเสร็จผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมควรเกิดที่นี่ เพราะเขามีช่องโทรทัศน์แห่งชาติที่มีเงินก้อนแล้วก็เหมือนกับว่าบังคับคุณว่าคุณต้องทำรายการเด็ก เพื่อเด็กจริง ๆ โดยไม่ต้องไปอ้างอิงกับอะไร ผมไม่ต้องปรับชีวิต อาจต้องมีสปอนเซอร์นิดหน่อย แต่ผมไม่ยอม ไท-อิน เลยนะ ผมเคยคุยกับ พี่ซุป (วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ เจ้าของรายการ “ซูเปอร์จิ๋ว”) ซึ่งพี่เขาจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าผม เขาเป็นคนรักเด็กมาก ๆ แต่เขาก็ต้องเลี้ยงบริษัทให้อยู่ได้ เขาอยู่กับความเป็นจริงไง แต่ผมจะอยู่กับอุดมการณ์ เป็นแนวสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ดอน กิโฆเต้ มาก เป็นเรื่องที่ผมชอบนะ “สุดมือเอื้อมคว้าข้าจะฝัน” คือผมเลย”

“แล้ววันหนึ่งก็รู้ว่า เราไม่ต้องคว้ามากก็ได้ มันเหนื่อย (หัวเราะ) แต่กว่าเราจะรู้ก็ผ่านมา 20 ปี”
ระยะเวลาที่ผ่านไป บวกประสบการณ์ที่พบเจอในโลกจริง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากชายหนุ่มผู้มองโลกผ่านแว่นตาสีรุ้ง กลายเป็นหนุ่มใหญ่ที่สวมแว่นตาใสธรรมดา โลกที่สวยงามกลายเป็นโหดร้าย ความเชื่อที่เคยมี ลดน้อยลงจนกระทั่งไม่อาจเล่าเรื่องราวใหม่ ๆ ได้
“ผมเริ่มอยู่กับความจริงมากขึ้น เราเห็นความจริงว่าโลกน่ะ ไม่ได้มีแต่เด็กนะ มันมีผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่ที่ดีก็มี ผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวมาก ๆ ก็มี ผู้ใหญ่ที่…ใช้คำว่ามนุษย์ดีกว่า มนุษย์ที่เห็นแก่ตัวที่แก้ไขอะไรไม่ได้ก็มี คนที่พร้อมจะให้ทุกคนมันก็ยังมี มันก็อยู่ปะปนกัน การมองโลกแบบนิทานทั้งหมดอาจจะดีกับเด็กในการกล่อมเกลาเขา แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องให้เขาเห็นความจริงของโลกว่า โลกจริง ๆ มันมีมุมไหนบ้าง เพื่อเขาจะได้ปลอดภัยจากอันตราย”
“แล้วทำไมถึงหยุดเขียน?” ฉันสงสัย
“ส่วนหนึ่งมันคือความไม่พร้อมของเราด้วย” เขาตอบ “ตอนนั้น ผมอายุ 43 ผมเขียนนิทานมาสามร้อยกว่าเรื่องแล้ว หรือสี่ร้อยประมาณนี้ ผมเริ่มรวมเล่ม โดยลดเงื่อนไขลงที่ว่า ไม่ต้องให้พี่ที่วาดให้ผมที่ขวัญเรือนวาดก็ได้ ผมเคยมีช่วงที่ทำสำนักพิมพ์เอง ลงทุนเอง ซึ่งเหนื่อยมาก เพราะต้องดีลกับนักวาด ทะเลาะกับโรงพิมพ์รุนแรงมาก หลาย ๆ อย่าง แล้วผมรู้สึกว่า ทำไปไม่ได้กำไร แต่มันไม่ได้ขาดทุนมาก ผมหมดเงินกับหนังสือที่ทำเองเป้นครึ่งล้านน่ะ เพื่อ? แล้วเราไปอบรมกับหน่วยงานที่เขาได้เงินจากรัฐมาจัด แล้วจะเอาลิขสิทธิ์เราไปอีกหรือ? คนที่เป็นคนสร้างสรรค์งานจริง ๆ เป็นนักเขียน ตกลงได้อะไร ได้ค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุม เดินทางครั้งละพัน ไปหกครั้งได้หกพัน เหรอ? แค่นี้เลยเหรอ? นี่คือสังคมเราหรือวะ? ผมไม่โอเค. ผมไม่ลำบากเรื่องการเงินจริง ๆ นะ แต่ว่าถ้าคนประสานงานได้เงินมากกว่าคนสร้างงาน ผมไม่โอเค (หัวเราะ) ผมพูดแรงมากเลยนะ คุณจะมาหวานใส่ผม มาประสานงาน คุณมีเงินเดือนเดือนละสามหมื่น แล้วผมทำโปรเจ็คท์นี้ ผมได้เงินหมื่นนึง โปรเจ็คเดียวนี่นะ…เพื่อ? ผมไม่ทำ ผมอีโก้ก็อรโก้นะ ผมไม่รู้จะพูดยังไง ผมซัฟเฟอร์ ผมทำไม่ได้”
“เจอบทเรียนแบบนี้บ่อย ๆ จนถึงวัย 43 ผมก็โอเค งั้นเราตั้งหลักใหม่ จะไม่ทำสนพ.เราเองแล้ว เราส่งไปที่สนพ.อื่ร ไปขายเขา เพราะเรามีเรื่องเยอะ ก็ใช้เส้นสายเล็กน้อยแบบ…คือการไปขอเขา ผมไม่เคยไปขอเขาไง ผมไม่ใต้โต๊ะ แต่พอเราตรง ๆ ก็ไม่เคยได้ สุดท้ยายก็มีสนพ.ที่ยอมพิมพ์ ก็ต้องขอบคุณเขามาก ๆ บก.รู้จักกัน ก็ช่วยนำเสนอ ช่วยขัดเกลา ก็ได้หนังสือดี ๆ ออกมาหลายชุด ซึ่งผมก็แฮ็ปปี้ รู้สึกว่าเท่านี้ก็โอเคแล้วสำหรับชีวิตเรา พอดีมีอุบัติเหตุในชีวิต ทั้งเรื่องอาม่า ทั้งเรื่องส่วนตัว เหนื่อยจังเลย ชีวิตมันเหนื่อยจังเลย ชีวิตเข้ามาถึงช่วงกลางคนแล้ว ศรัทธาในเรื่องการทำความดีเริ่มลดถอยลงมาก ๆ ศรัทธาในการทำงานเด็กมันหายไป มันเห็นความจริงของชีวิตว่ามันเป็นยังไง เริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด”
“เพราะฉะนั้น งานที่ผมเคยเชื่อมาตลอด ผมเริ่มไม่เชื่อ ถ้าผมเริ่มไม่เชื่อ ผมไม่อยากจะเอามันออกไปน่ะ คือผมรักงานทุกชิ้นจริง ๆ นะ มันอาจจะไม่ทุกชิ้น แต่ผมรักมันมาก ผมรักนิทานผมเกินร้อยเรื่อง ผมรักมันจริง ๆ นะ แล้ววันหนึ่งที่ผมไม่มั่นใจในมัน ผมก็ไม่อยากนำมันไปให้เด็กที่ผมรักมากได้อ่าน”
ความขี้เล่นในน้ำเสียงหายไปแล้ว นำบุญยอมรับว่าเขาขาดพลัง ขาดแรงบันดาลใจเช่นเดียวกับความรู้สึกที่ว่าตัวเองเหมาะสมกับการทำงานเด็ก “ผมไม่แน่ใจว่า ผมใช้คำถูกหรือเปล่านะ คือผมเคยคิดมาตลอดตอน…ก่อนเข้าวัดนะครับว่า ถ้าเราเป็นคนดี ไม่ได้อะไรตอบแทนเท่าไหร่ แต่เราก็จะมีชีวิตที่โอเคประมาณหนึ่ง ไม่ได้แย่มาก แต่ปรากฏว่า พอถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ช็อค เฮ้ย! มันไม่ใช่แล้ว เราไปศึกษาความจริงมากขึ้น เราก็เลยรู้ว่ามีอะไรลึกซึ้งมากกว่านิทาน แล้วก็งานเด็กคืองานเพื่อคนอื่น เราทำมามาก ทำมามากจริง ๆ ตลอด 20 ปีของผม และมันไม่ใช่แค่นิทาน แต่มีทั้งการสอนในห้องเรียน การทำรายการโทรทัศน์ด้วย ทำค่ายเจอกับเด็กจริง ๆ ด้วย มันไม่ใช่งานแบบเปเปอร์ในกระดาษ รวมถึงตอนเรียนป.โท ปฐมวัยด้วย”
“และผลลัพธ์ก็คือ เราทำงานเต็มที่ขนาดนั้น แล้วเราเรียนไม่จบ มันก็บอกอะไรเราหลายอย่างว่า ในโลกความจริง ตัวจริง ของจริง ความทุ่มเทของเราจริง ๆ มันไม่ได้บอกว่า เราจะได้ผลแบบ…ดีทั้งหมด จะเรียนเพื่อไปทำให้คนอื่น เรียนเพื่อไปทำหนังสือให้เด็ก ใช่เหรอ? ชีวิตวันนี้ เรายังไม่พบกับความสุขร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบ..ความสุขน่ะ เพราะฉะนั้น เราน่าจะใช้ชีวิตตามฝันของเราจริง ๆ

“แล้วความฝันจริง ๆ ของนำบุญ คืออะไร?”
“ฝันผมเล็กมาก ผมอยากมีชีวิตที่เรียบง่าย มีชีวิตเล็ก ๆ อย่างมีความสุข” เขาพูดเสียงเบา “ถ้ามีเพื่อนได้ก็ดี สักคนสองคน สามคน สี่คนก็พอแล้ว ไม่ต้องอะไรมาก ทำงานกระจ๊อกกระแจ๊กไป ถ้าพอมีรายได้ได้-ก็ดี คือผมไม่ได้ฝันอะไรใหญ่ ไม่มีเลยจริง ๆ และถ้าเกิดไปเล่านิทานตามสื่ออะไรก็ตาม เพื่อจะเป็นดารา เพื่อให้โฆษณามาลง มันไม่ได้อยู่ในฝันผมน่ะ คือผมโง่ขนาดที่ว่าต่อมตัวเลขผมมันพัง ผมไม่รู้ว่าเลขหนึ่งหมื่นกับเลขหนึ่งแสนมันต่างกันยังไง คือผมไม่ได้เห็นคุณค่าในพวกนั้น”
“ผมรู้สึกว่า เป้าหมายในชีวิตมันไม่ใช่การมีชื่อเสียง แล้วก็การทำงานด้านเด็ก หากเราทำมากไปกว่านี้ มันจะกินตัวเรา เพราะเราทำมาถึง 20 ปี มันพิสูจน์แล้วว่าเราได้ทำ แต่เราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ถือว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วนะ ถึงเวลาที่เราต้องปล่อย ปล่อยวางแล้วเราไปทำพาร์ทชีวิตส่วนตัวที่เหลือของเรา ซึ่งอาจจะเหลือหนึ่งปี สองปี สิบปี ไม่รู้ ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายใจ ให้พออยู่ได้ในโลกใบนี้ ในแบบที่มันเป็น”
แม้จะไม่มีนิทานเรื่องใหม่มาเสนอ หากนำบุญก็ตัดสินใจทำเว็บไซต์ http://www.nitannambun.com คัดเลือกนิทานเก่า ๆ ที่เคยเขียนไว่้ มาจัดหมวดหมู่โดยมีเฟซบุ้กเพจ “นิทานนำบุญ” เป็นเหมือนช่องทางในการเชิญชวนให้คนแวะเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ และบางที..วันหนึ่งข้างหน้า อาจจะมีช่อง “คุยกับพี่นำบุญ” (อันนี้ฉันคิดเอง) ทางยูทูบ
อันที่จริง ความคิดในการทำเว็บไซต์และเพจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความต้องการของเขาโดยตรง “เพจนี่เริ่มทำตอนไปเรียนป.โท บังคับทำ ตอนแรกก็มีอยู่แค่ไม่กี่เ่รื่อง พอเพื่อนชวนทำเว็บไซต์ผมก็เอามาต่อยอด เออ ทำไปแบบเรียนรู้ ไม่คิดอะไรมาก ทำเป็นหน้าที่ ถามว่าแฮปปี้ในการทำมากมั้ย ก็ไม่มาก คือผมก็ยังรู้สึกไม่เชื่อในบางอย่าง แต่ค่อย ๆ คลี่คลายขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เฮ้ย มันก็ดีนะ เหมือนพอเวลามันผ่าน เราก็เห็นว่าในปัจจุบันนี้ ความจริงของโลกเป็นแบบนี้ แต่ฉันจะไม่ยอมให้ความจริงของโลกมาทำลายสิ่งที่ฉันทำความดีอยู่ ฉันจะทำมันโว้ย” เขาตะโกนใส่โทรศัพท์ของฉันที่ทำหน้าที่บันทึกเสียง “ก็จะเห็นว่าผมอัพถี่อัพบ่อย เพราะผมเริ่มมองเห็นว่า นิทานที่คนไม่มอง คนไม่เคยสนใจ ดอกไม้สีจางที่คนไม่ดู ไม่! เราแค่ทำมันไม่เป็น พอเราทำ SEO ทำให้คนเห็นงานเราได้ เขาก็มาดูงานเราทุกวันทุกคืนเลยนะ เพราะเขาชอบมัน งั้นเราก็ทำให้เขาสิ เราก็ทำให้เขาได้อ่านแบบไม่มีโฆษณาเด้งๆ”
“แล้วผมก็อยากทำยูทูบ มันมีอยู่ในใจว่า อยากทำเป็นพูดคุย วันนี้มีใครเหนื่อยบ้าง ผมก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ผมไปสัมภาษณ์คน ๆ หนึ่งมา เขาพูดมากเลย บ้านก็อยู่ในซอยลึกมากเลย แต่เขาก็มีมุมที่น่าสนใจเหมือนกันนะ อยากฟังมั้ย เหนื่อยก็นอนไปได้นะ เดี๋ยวพี่เล่าให้ฟัง อยากทำเรื่องเล่าแบบนี้ เหมือนพอดแคสต์ เหมือนอะไร ผมก็ใช้ชีวิตเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขงของผมไป อัดแบบนี้ใครอยากฟังก็ฟัง ผมไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วนี่ ถ้าไม่คาดหวังก็ไม่รู้สึกอะไร ทำแก้เหงา”
“ผมไม่อยากเป็นนำบุญ ผมเป็นใครก็ได้ ผมไม่ได้เกลียดคนฟังเลย ผมหวังดีกับเขา ผมไม่รู้ว่าคนในเพจรู้สึกยังไงกับผม เวลาแจกของผมไม่ได้หวังให้เขาจะมาดูเพจผมมากขึ้น หรือแชร์ออกไป ไม่เคยพูดประโยคนี้ แชรสิบแชร์แล้วให้ไม้จิ้มฟัน ซื้อเองก็ได้ มันไม่ใช่ ทุกอย่างต้องเป็นเงินเป็นผลประโยชน์ มันไม่ใช่ผม ผมไม่เอา นั่นคือส่วนดี ๆ ที่ยังเหลืออยู่ในใจผม ผมคิดอย่างนั้น แต่ผมต้องระวังใจดี ๆ ว่า ถ้าทำอย่างนั้น หมดตัวนะ แล้วผมก็ไม่ขอหน่วยงาน เพราะผมเป็นครีเอเตอร์ ให้ผมสร้างสรรค์งานแล้วต้องไปทำรายงานเพื่อนำเสนอ ไม่เอา ฉันไม่เขียนรายงาน (หัวเราะ)”
ก่อนปิดบทสนทนายาวนานในบ่ายวันนั้น ฉัน-ผู้เสียดายความสามารถในการเล่าเรื่องของเขา-หยอดคำถามสุดท้ายไปว่า…..

“จะกลับมาเขียนนิทานอีกไหม?”
นักแต่งนิทานผู้เล่าเรื่องตัวเองใน “ความฝันของชายที่รักดอกไม้สีจาง” – นิทานเรื่องสุดท้ายที่พิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือน – คิดนิดหนึ่งก่อนตอบ – นิทานอาจจะยาก เพราแพสชั่นไม่มี มันหายไป แพสชั่นของนิทานนะครับ เราเขียนมา 415 เรื่อง เรื่องที่ 416 มันเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญระหว่างเล่นเน็ตตอนที่คุยกับอาจารย์ที่ม.แห่งหนึ่ง เขาวิ่งทุกเช้า แล้วเขาวิ่งกับเพื่อน เขาบอกเขาต้องวิ่งแบบช้า ๆ เพื่อให้เพื่อนเขาวิ่งทัน เพื่อนเพิ่งหัดวิ่ง ผมก็แต่งนิทาน ปับ ๆ ๆ เสร็จในเวลาสามนาที พิมพ์เสร็จด้วย ส่งให้เลย ผมบอกว่าเอาไปลงเพจผมนะ เพราะว่าสิ่งที่เขาให้มันคือแก่นเรื่อง มันคือธีมที่แข็งแรงมาก อยากอยู่กับเพื่อนให้มีความสุข ก็ผ่อนแรงลงหน่อย คนอื่นอยู่กับเราได้ ก็เป็นเพื่อนกับเราได้ เพื่อนไม่ต้องวิ่งตามเรา เฮ้ย นี่มันพล็อตเรื่องดี ๆ เลยนะ ผมเขียนเสร็จภายในสามนาที พระเจ้า! คือมันไวขนาดนั้นน่ะครับ
“ถามว่าผมอยากทำงานนิทานต่อไปมั้ย ผมถามตัวเองกลับไปว่า นำบุญเขียนนิทานมา 415 เรื่อง มันยังไม่พออีกเหรอ ฮีนส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน แต่งนิทานประมาณสองร้อยกว่าเรื่อง กริมส์ ไม่ได้แต่งแต่รวบรวม อีสปแต่งเองหรือเปล่าไม่รู้ ไม่มีใครบอก หรือรวบรวม เอ้า ยูแต่งเองนะ สี่ร้อยกว่าเรื่อง พอแล้ว และเราเองก็รู้ว่า ช่วงหลัง ๆ นิทานเริ่มวน มันเป็นแค่เปลี่ยนเสื้อ ใช้เทคนิคนำหัวใจ มีนิทานบางเรื่อง ด้วยความเก่งในการแต่ง ใครมันคล้าย แต่ธีมมันแข็งแรง หมัดน็อคมันน็อคได้ มันจึงสวยงาม แต่มันไม่ได้มีความแบบ “วิบวับ” เหมือนช่วงปีแรก ๆ”
“นิทานบางเรื่องมันมาได้ยังไงไม่รู้ คือต้องเป็นตัวละครนี้เท่านั้น และต้องเจอตัวนี้เท่านั้น บทสรุปต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น คือ กลม จบ ถ้าไม่ใช่จากนี้ผมจะเฉย ๆ ไม่เจ๋ง เพราะฉะนั้นพอมันเจ๋งปุ๊บ ฉันจะไม่มีวันทำสูตรนี้ได้เจ๋งกว่านี้อีกแล้ว อย่าง “เม่นน้อยกับโยคี” เป็นนิทานทดลอง “วิธีคิดแบบภาพยนตร์ทดลอง” ตอนนั้นจำได้ว่าอ่าน Never Ending Story หน้าแรก ๆ เขาพิมพ์ภาษาไทยเป็นหมึกสองสี แค่นี้เอง “ฉันจะแต่งนิทานสู้ Never Ending Story” (หัวเราะ) ในนิทาน บรรทัดที่คำพูดมันพูดถึงเม่นน้อย ตัวหนังสือจะเป็นสีเขียว โยคีเป็นสีส้ม เม่นน้อยเดินทางไปไหนเจอใครจะเป็นสีเขียวตลอด โยคีเจออะไรจะเป็นสีส้ม สลับกันไปเรื่อย ๆ พอมาผสมกันจะเป็นส้มบวกเขียวจะกลายเป็นสีนี้ สมมตินะครับ หมึกจะรวมกัน นั่นคือเรื่องของหมึก เรื่องมันก็โอเค เทคนิคก็โอเค. โห เจ๋งว่ะ คิดได้ไง เขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว”
เขายิ้มนิด ๆ แล้วทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาในบ่ายนั้นด้วยบทสรุปที่ว่า…..
“ผมเป็นนักเขียนนิทานเด็ก ผมไม่ได้เขียนหนังสือสละสลวยเหมือนคนอื่น แต่ผมเชื่อว่าคุณค่ามันมี อย่างน้อยมันก็ทำให้เด็กบางคนยิ้มได้จริง ๆ ทำให้เด็กบางคนบอกว่า หนูจะไม่ทำแบบนี้ เขาพูดเอง แม่ไม่ได้สอน ผมโอเคมากเลย เพราะผมไม่ได้ทำให้พ่อแม่มาสอน แต่ตั้งใจให้เด็กรู้สึกกับเรื่องนั้นเอง”
#นิทานนำบุญ
………………………………………………………………………………….
หมายเหตุจากนำบุญ : เมื่อผมได้อ่านบทสัมภาษณ์อีกครั้งตอนที่นำมาลงในเว็บไซต์ ผมเห็นว่ามีข้อความบางช่วงที่พาดพิงถึงนิทานในขวัญเรือนของผู้แต่งท่านอื่น ซึ่งผมคิดว่า เป็นถ้อยคำที่ไม่สมควรเลย (เพราะงานของทุกคนล้วนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง และผมก็ไม่ได้ติดตามอ่านนิทานของท่านเหล่านั้นอย่างจริงจัง) ด้วยเหตุนี้ ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) จึงขออภัยหากมีข้อความใดที่ดูเหมือนเป็นการล่วงเกิน ขอโทษจริง ๆ ครับ 🙂