หลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำผ้าย้อมคราม อ่านแล้วก็ทึ่งกับภูมิปัญญาของชาวบ้านรวมทั้งนับถือผู้คนที่สืบสานภูมิปัญญานี้ จนสามารถสร้างแบรนด์สินค้าที่ขายไปได้ไกลถึงต่างประเทศ ในเวลาต่อมา ผมนึกสนุกจึงอยากลองแต่งนิทานเกี่ยวกับผ้าย้อมคราม แล้วก็นึกถึงการทอผ้าเป็นลวดลายอย่างโบราณ ตอนนั้น ผมยังไม่เคยเห็นใครทอลายผ้าแบบในนิทานเรื่องนี้ ผมจึงแต่งนิทานแปลก ๆ เรื่องนี้ออกมา (แต่ตอนนี้คงไม่แปลกแล้ว) ความยากในการโพสต์นิทานเรื่องนี้ คือการหาภาพมาประกอบนิทาน เพราะในจินตนาการของผม ภาพของลวดลายบนผ้าเป็นแบบหนึ่ง (แบบโบราณ) แต่ผมหาภาพไม่ได้สักที สุดท้าย จึงต้องลองทำภาพประกอบเองเท่าที่เป็นไปได้ (แม้จะไม่ตรงกับจินตนาการสักเท่าไหร่) อย่างไรก็ตาม ผมหวังว่านิทานเรื่องนี้จะเป็นนิทานอีกเรื่องที่เด็ก ๆ ชอบ และเป็นนิทานที่ทำให้เด็ก ๆ ที่อยู่ในครอบครัวที่ทอผ้า เกิดความภูมิใจและได้แรงบันดาลใจในการทอผ้าของตัวเองต่อไปนะครับ
นิทานเรื่อง ฝ้ายกับคราม
กาลครั้งหนึ่ง ยังมีคุณยายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลักเล็ก ๆ กับหลานชายหญิงสองคนที่กำพร้าพ่อแม่ แม้คุณยายจะมีฐานะไม่สู้ดีนัก แต่เพราะความรักที่มีต่อหลาน คุณยายจึงอดทนทำไร่ทำนาและใช้เวลาว่างทอผ้าขาย เพื่อหาเงินดูแลชีวิตน้อย ๆ ทั้งสองให้อยู่ดีมีสุขเท่าที่กำลังของคุณยายจะมี
หลานสาวคนโตของคุณยายมีชื่อว่า “ฝ้าย” ส่วนหลานชายมีชื่อว่า “คราม” คุณยายตั้งชื่อหลานตามชื่อผ้าฝ้ายย้อมครามซึ่งเป็นงานที่คุณยายรักและได้เรียนรู้สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่สองพี่น้องรู้ความ ทั้งคู่ก็สัมผัสได้ถึงความรักที่คุณยายมีให้ เด็กทั้งสองจึงตั้งใจช่วยงานคุณยายทุกอย่าง โดยฝ้ายขอเรียนวิธีทอผ้าจากคุณยายตั้งแต่เธออายุได้เพียง 8 ขวบ ส่วนครามรับอาสาดูแลหม้อครามที่คุณยายใช้หมักใบครามเพื่อทำสีย้อมผ้า ซึ่งถือว่าเป็นงานยากแต่สำคัญ โดยเด็กน้อยตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ในขณะที่ฝ้ายตั้งใจเรียนรู้วิธีการทอผ้า ครามก็ศึกษาวิธีดูแลหม้อครามด้วยความเอาใจใส่ ทุกวัน ฝ้ายมักเห็นน้องชายพูดคุยกับหม้อครามแล้วหัวเราะคิกคักอย่างอารมณ์ดีจนฝ้ายอดแปลกใจไม่ได้ แต่การมีความสุขในสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ฝ้ายจึงไม่ได้เข้าไปสอบถามอะไร ซึ่งหลังจากที่เด็กทั้งสองทำหน้าที่ของตัวเองด้วยหัวใจ สามปีต่อมา ฝ้ายก็ทอผ้าได้เก่งขึ้น ส่วนครามก็ดูแลหม้อครามได้ดีจนน้ำครามในหม้อให้สีที่สวยจนคุณยายเอ่ยปากชม
แม้คุณยายกับหลาน ๆ จะทุ่มเททอผ้าย้อมครามอย่างเต็มกำลัง แต่เนื่องจากงานทอผ้าเป็นงานฝีมือที่มีคนเก่ง ๆ ทอขายอยู่ไม่น้อย ผู้ซื้อจึงมักซื้อผ้าทอจากกลุ่มทอผ้าที่มีผลงานดีและมีชื่อเสียง ผ้าทอย้อมครามของคุณยายกับหลาน ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก จึงขายได้ยาก ทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานที่มีคุณภาพไม่แพ้กัน
คุณยายพยายามหาช่องทางในการขายด้วยการพาหลาน ๆ ไปจัดร้านขายผ้าร่วมกับหน่วยงานของราชการ แต่เนื่องจากลายผ้าของคุณยายเป็นลายแบบโบราณที่แทบไม่แตกต่างจากผ้าทอของร้านอื่น ๆ คนที่มาเที่ยวงานจึงมักเดินผ่านไปโดยไม่มีใครซื้อผ้าของคุณยายเลย
ฝ้ายกับครามเห็นคุณยายมีสีหน้าเศร้า ๆ จึงนึกห่วงและคิดว่าพวกเขาควรทำอะไรสักอย่าง ฝ้ายกับครามสังเกตว่า นอกจากลวดลายแบบโบราณแล้ว ผ้าของบางร้านมีการออกแบบลายที่ดูแปลกตา, บางร้านมีวิธีการย้อมผ้าที่ให้สีไม่เหมือนร้านอื่น และบางร้านมีการแปรรูปผ้าฝ้ายย้อมครามให้กลายเป็นสินค้าที่หลากหลาย เช่น เสื้อผ้า, กระเป๋าหรือสมุดบันทึก ฝ้ายกับครามรู้สึกเหมือน ๆ กันว่า เมื่อผ้าหรือสินค้าของร้านใดมีความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ ลูกค้าก็จะจดจำร้านนั้นได้ง่ายกว่า และดูเหมือนว่าร้านเหล่านั้นจะมีลูกค้าเข้าไปซื้อของแทบจะไม่ขาดสาย
การสังเกตของเด็กทั้งสองทำให้ทั้งคู่ตั้งใจที่จะปรับปรุงผ้าทอย้อมครามของคุณยายให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น ฝ้ายกับครามนั่งพิจารณาผ้าทอของคุณยาย แล้วทั้งคู่ก็ลงความเห็นเหมือน ๆ กันว่า ฝีมือการทอและสีสันของผ้าที่คุณยายทำงดงามไม่แพ้ใครอยู่แล้ว หากมีการทำลวดลายใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร ผู้คนก็น่าจะหันมาสนใจมากกว่าที่เป็นอยู่ ฝ้ายกับครามจึงตกลงกันว่าจะทำผ้าผืนตัวอย่างให้คุณยายช่วยแนะนำ โดยฝ้ายให้ครามเป็นคนคิดลาย ส่วนฝ้ายจะเป็นคนมัดลายและทอผ้า
หลังจากครามได้รับมอบหมายหน้าที่ เขาก็เฝ้าครุ่นคิดถึงลวดลายที่เหมาะสม ครามคิดไปคิดมาอยู่หลายวัน จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ในขณะที่เขาดูแลหม้อครามและคุยเรื่องที่คาใจให้หม้อครามฟัง จู่ ๆ เด็กน้อยก็มองเห็นฟองในหม้อครามหม้อหนึ่งดูคล้ายกับภาพของสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่ทำให้เขาอ้าปากค้างด้วยความดีใจ
ครามรีบวิ่งไปหาพี่สาว แล้วบอกพี่สาวว่า “พี่ฝ้าย เรามาทำผ้าทอเป็นลายไดโนเสาร์กันดีไหม ลายไดโนเสาร์อาจดูเป็นลายใหม่ แต่ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ยุคเก่า เพราะฉะนั้นก็น่าจะเข้ากับผ้าที่เป็นภูมิปัญญาโบราณได้เป็นอย่างดี แถมบ้านเรายังอยู่ในถิ่นที่เคยมีไดโนเสาร์มาก่อน ลายไดโนเสาร์จึงน่าจะเป็นลายเอกลักษณ์ที่เหมาะกับเรามากที่สุด”
ทันทีที่ได้ฟัง ฝ้ายก็พลอยตื่นเต้นและเห็นด้วยกับน้อง เด็กหญิงผู้พี่จึงรีบวาดลายไดโนเสาร์แล้วมัดลายทอผ้าด้วยทักษะที่ได้ฝึกฝน ซึ่งหลังจากนั้นราว 1 เดือน ผ้าย้อมครามลายไดโนเสาร์ผืนแรกก็เสร็จสมบูรณ์ และสองพี่น้องก็นำผ้าทอลายไดโนเสาร์ไปขอความเห็นจากคุณยายที่พวกเขารัก
เมื่อคุณยายทราบความตั้งใจดีของหลานและได้เห็นผ้าลายไดโนเสาร์ที่ดูประณีตและไม่ซ้ำใคร คุณยายก็ยิ้มน้อย ๆ พร้อมกับพยักหน้าอนุญาตให้หลานใช้ลายไดโนเสาร์เป็นลายเอกลักษณ์ในการทอผ้าได้ แต่คุณยายขอให้หลาน ๆ ทอผ้าลายโบราณไปด้วย เพื่อเป็นการอนุรักษ์งานแบบดั้งเดิมเอาไว้
หลังจากที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันและเริ่มโครงการทอผ้าลายเอกลักษณ์ได้สักพัก ผ้าทอย้อมครามลายไดโนเสาร์ก็กลายเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วทุกสารทิศ ไม่นานนัก คุณยายกับหลาน ๆ ก็มีชีวิตที่สุขสบายมากขึ้น และแล้ว…เรื่องราวก็จบลงอย่างมีความสุขพร้อม ๆ กับการเริ่มต้นของตำนานผ้าทอย้อมครามลายไดโนเสาร์ ที่เกิดจากสองพี่น้องผู้เป็นที่รักของคุณยายสุดหัวใจ.
#นิทานนำบุญ
…………………….
