Posted in ครอบครัว, เด็ก, เรื่องเล่า

เรื่องเล่าจากพี่นำบุญ

วันที่ผมเขียนบทความนี้ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2564

หากย้อนไปในเดือนตุลาคมเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นช่วงที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เพิ่งเริ่มหัดทำเว็บไซต์นี้ในวิชาเรียนระดับปริญญาโท โดยเป็นการทำเว็บไซต์ที่ผมไม่มีความรู้พื้นฐานใด ๆ เลย ทั้งในแง่การสร้างเว็บไซต์ การเขียนคอนเทนต์ การทำภาพประกอบ การหา KEYWORD การทำ SEO และอื่น ๆ

ในตอนนั้น ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผมมี คือ การเสียบปลั๊ก กดปุ่มสตาร์ท เปิด Word พิมพ์นิทาน กดเข้าเฟซบุ๊ก  กดดูยูทูบ และการโหลดคลิปจากยูทูบมาดู (ซึ่งตอนนั้น ผมยังใช้การแชร์ไวไฟจากโทรศัพท์มือถือเพื่อการเล่นเน็ต และไปใช้เน็ตความเร็วสูงที่มหาวิทยาลัยในการโหลดคลิปยูทูบมาดูที่บ้าน เพราะเสียดายเงิน) เรียกได้ว่า ผมเป็นคุณลุงตกยุคที่เริ่มมาทำสื่อดิจิทัลเป็นครั้งแรกแบบงงที่สุด

ในตอนนั้น อาจารย์ให้ทำเว็บไซต์ด้วย WordPress โดยให้คิดแนวทางของเว็บไซต์ ตั้งชื่อเว็บไซต์ และต้องมีคอนเทนต์ 2-3 คอนเทนต์อยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งในการสร้างเว็บไซต์ อาจารย์ได้เชิญอาจารย์พิเศษมาเป็นคนแนะนำและให้เริ่มสร้างไปทีละขั้นตอนพร้อม ๆ กัน (ผมเลยเปิดเว็บไซต์ได้สำเร็จ)

เมื่อสร้างเว็บไซต์ได้แล้ว นักศึกษาแต่ละคนก็ต้องแยกย้ายกันไปเขียนคอนเทนต์เพื่อนำมาใส่ในเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งผมไม่เคยอ่านบทความในเว็บไซต์ต่าง ๆ มาก่อน (ปกติอ่านหนังสือกับเนื้อหาในเพจต่าง ๆ) จึงนึกภาพไม่ออกเลยว่า บทความในเว็บไซต์ควรเขียนอย่างไร ใช้ภาษาอย่างไร ทำภาพประกอบอย่างไร พาดหัวอย่างไร แถมยังไม่เข้าใจว่า “คอนเทนต์” หมายถึงอะไร (ตอนนั้นผมแปลว่า บทความ จึงคิดว่า คือ ข้อเขียนเหมือนบทความในหนังสือ ไม่เกี่ยวกับภาพประกอบ และคงใช้วิธีเขียนแบบการเขียนเรียงความก็ได้)

ผมใช้เวลาทำเว็บไซต์และลงคอนเทนต์ 2-3 คอนเทนต์นานมาก ปุ่มต่าง ๆ ในการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์เป็นเรื่องใหม่ที่ผมไม่เข้าใจเลยจริง ๆ (โชคดีที่มีเพื่อนบางคนช่วยแนะนำและปรับแก้ให้ในเบื้องต้น) หนำซ้ำ ผมเข้าเว็บหา Keyword เพื่อนำมาเขียนคอนเทนต์ตามที่อาจารย์สั่ง แต่ด้วยความไม่เข้าใจ ผมจึงหา Keyword ในเว็บนั้นนานเกินไป (คือหาติดต่อกันราว 8 ชั่วโมง) จนเว็บขึ้นข้อความว่า “ลุงค้นหาKeyword มากเกินไป ต้องหยุดพักเป็นเวลา 24 ชั่วโมงจึงจะกลับมาใช้งานได้ใหม่” และผมอาจกดอะไรผิดพลาดไป ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่ม จนเป็นเรื่องเป็นราวต้องขอยกเลิกการใช้งานกับทาง Google (เพราะกลัวจะทำผิดแล้วเขาตัดเงินจนหมดบัญชี)

หลังจากที่ส่งเว็บไซต์ให้อาจารย์ตรวจและจบวิชานั้นไป ผมก็ทิ้งเว็บไซต์ไว้เฉย ๆ มุ่งเรียนปริญญาโทให้จบ ตั้งใจทำวิทยานิพนธ์ และมุ่งที่จะนำวุฒิไปสมัครเป็นอาจารย์สอนด้านนิเทศศาสตร์ดิจิทัลในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด

เมื่อผมเรียนจบปริญญาโท และรอเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครอาจารย์ ผมมีเวลาว่างจึงคิดว่า ถ้าเราอยากเป็นอาจารย์ด้านนี้ นอกจากความรู้เชิงวิชาการแล้ว เราก็ควรมีทักษะในการทำสื่อดิจิทัลที่ดีพอที่จะนำไปแนะนำนักศึกษาได้ ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจกลับมาทำเว็บไซต์อีกครั้ง (หลังจากหยุดไปเกือบ 2 ปี) โดยตั้งใจว่า จะทำเว็บไซต์นี้ให้เป็นเว็บไซต์นิทาน เพื่อให้เด็ก ๆ มีแหล่งรวมนิทานดี ๆ เอาไว้อ่านแบบฟรี ๆ โดยที่ตัวผมไม่คาดหวังว่าจะต้องได้อะไรตอบแทน (ยกเว้นแค่คาดหวังว่าตัวเองจะได้เรียนรู้วิธีทำสื่อเว็บไซต์เพื่อนำความรู้ไปบอกเล่าให้นักศึกษาฟัง) ซึ่งในช่วงแรก ผมก็ยังคงทำคอนเทนต์อย่างงง ๆ เหมือนเดิม ทำทั้งคอนเทนต์นิทานและบทความเกี่ยวกับความรู้ด้านการศึกษาปฐมวัย (เพื่อดึงคนเข้ามาอ่านให้ได้มากที่สุด) ซึ่งหลังจากที่ทำไปหลายเดือน ยอดผู้ชมก็ขึ้นมาที่ 20 คนต่อวัน หรือราววันละ 70 วิว (ตอนนั้นคือดีใจมากแล้ว)

ในช่วงนั้น ผมพยายามทำภาพประกอบเพิ่ม โดยหาภาพฟรีจากเว็บไซต์ Pixabay การหาภาพให้ตรงกับนิทานหรือบทความที่เขียนเป็นเรื่องยาก แต่ผมก็พยายามทำ ทำจนมีคนเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น ราว 50 คนต่อวัน หรือราววันละ 100 วิว ผมดีใจมากจึงนำตัวเลขไปอวดเพื่อน แต่ต่อมา เพื่อนได้นำตัวเลขยอดผู้รับชมและยอดวิวของเว็บท่องเที่ยวที่เพื่อนทำมาให้ดู ซึ่งตัวเลขยอดผู้เข้าชมราว 1000 คนของเพื่อน ทำให้ผมได้รู้ว่า “ผมเหมือนกบในกะลา” เพราะโลกเกี่ยวกับสื่อดิจิทัลของผมคับแคบมาก (แล้วยังคิดจะไปเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาอีก) เมื่อผมรู้แบบนี้ ผมจึงตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยการหาคอร์สเรียนออนไลน์เกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ และการทำ SEO เพื่อให้เว็บไซต์เข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้น จากนั้น ผมก็ปรับปรุง Content และเรียนรู้วิธีใช้แอพพลิเคชั่นในการสร้างภาพปก ซึ่งภาพปกที่ผู้อ่านเห็นอยู่ในปัจจุบัน บางภาพเกิดจากการนำภาพฟรีไปปรับแต่งผ่านแอพต่าง ๆ มากถึง 5 แอพ!

หลังจากการเรียนวิชาทำเว็บไซต์และการทำ SEO เรียบร้อย ผมก็ลองนำความรู้มาใช้ ซึ่งผลที่ตามมาคือ ยอดผู้ชมพุ่งจาก 50 คนต่อวัน กลายเป็น 1000 คนต่อวัน และทะยานขึ้นสู่ยอดราว 2000 คนต่อวันในเวลาแค่ 1-2 เดือน

ในช่วงนั้น ผมพยายามสร้างคอนเทนต์โดยลงนิทานมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำภาพปกอย่างเต็มความสามารถ(ในขณะนั้น) รวมทั้งมีการปรับปรุงเว็บไซต์ จัดหมวดหมู่นิทานใหม่หลายรอบ จนปัจจุบัน มียอดเข้าชมนิทานราว 2800-3600 คนต่อวัน และมียอดวิวราว 10,000 วิวทุกวัน (ปัจจุบัน ยอดวิวรวมของเว็บไซต์อยู่ที่ 4 ล้านเศษ)

การทำเว็บไซต์นิทานนำบุญ ทำให้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำสื่อดิจิทัลในหลายแง่มุม ผมได้เข้าใจความหมายของคำว่า “Content is the king” ชัดเจนขึ้น เข้าใจความสำคัญของการทำ SEO และการทำงานของ Google รวมทั้งได้ค้นพบสิ่งที่สำคัญและมีค่ามากที่สุด ในชีวิตของคนทำสื่อสำหรับเด็ก นั่นก็คือ……เมื่อเราตั้งใจทำสื่อที่มีคุณภาพดีสำหรับเด็กและทำด้วยความจริงใจ ทำเพื่อให้ ไม่ใช่ทำเพื่อหาประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่และเด็ก ๆ (รวมทั้งผู้อ่านท่านอื่น ๆ ) สัมผัสได้ ซึ่งมันทำให้ผมได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพ่อแม่และผู้อ่านจำนวนมาก และทำให้ผมได้พบว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ของเว็บไซต์คือ คุณพ่อคุณแม่ที่นำนิทานในเว็บไซต์ไปอ่านให้ลูกฟังก่อนนอน

ในช่วงหนึ่ง ที่ผมนำคอนเทนต์ไปแชร์ในเพจนิทานนำบุญ ช่วงนั้น มีคุณพ่อคุณแม่ คุณครู และผู้อ่านที่ติดตามนิทานทักมาพูดคุยในกล่องข้อความและชื่นชมนิทานนำบุญเป็นจำนวนมาก (ทำให้ผมรู้ว่า ผู้อ่านถนัดสื่อสารกับเราผ่านทางเพจมากกว่าทางเว็บไซต์ และมีผู้อ่านจำนวนมากติดตามนิทานนำบุญมานานเกิน 2 ปี และอยากขอบคุณการทำเว็บไซต์นี้มาโดยตลอด) การที่นิทานในเว็บไซต์นิทานนำบุญได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาพิเศษของหลาย ๆ ครอบครัว ทำให้ผม (ในฐานะผู้แต่งนิทานและผู้ทำเว็บไซต์) รู้สึกขอบคุณและรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อผู้อื่น

หลังจากที่เว็บไซต์เริ่มมีผู้ชมเข้ามาติดตามเป็นจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอราว 3000 คน ผมจึงเกิดความคิดว่า ถ้าผมทำให้เว็บไซต์นิทานนำบุญอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยกำลังของผู้อ่าน ก็คงจะดีมาก ๆ กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ ผมจะนำเงินของตัวเองจ่ายค่าแพคเกจของ WordPress และค่า URL ชื่อเว็บไซต์ (ราว 4000 บาทต่อปี) เงิน 4000 บาทต่อปีสำหรับผมถือเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร และถ้าวันหนึ่งผมไม่อยู่แล้ว เว็บไซต์นี้ก็อาจล้มหายตายจากไปด้วย ดังนั้น ช่วงปลายปี 2563 ผมจึงคิดโครงการเชิญชวนให้ผู้อ่าน ช่วยเลี้ยงกาแฟผมคนละ 1 บาทต่อปี เพื่อที่ผมจะได้นำเงินค่ากาแฟนั้นมาจ่ายเป็นค่าดูแลเว็บไซต์ ซึ่งหลังจากที่ผมเริ่มโครงการดังกล่าวไปได้ราว 1 ปี ผลที่เกิดขึ้น ปรากฏตามข้อความที่ผมโพสต์ไว้ในเพจนิทานนำบุญ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ดังต่อไปนี้

ภาพการคำนวณค่าใช้จ่าย หลังจากไปอัพเดทสมุดบัญชีธนาคาร


วันนี้ พี่นำบุญแวะไปธนาคารเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน
เป้าหมายหลักในการแวะไป คือ การอัพเดทสมุดบัญชี ที่ใช้รับค่ากาแฟจากทุก ๆ คน
ยอดตัวเลขล่าสุด ทำให้ตกใจนิดหน่อย คือยอดขึ้นมาที่เลข 5
แต่บัญชีนี้ เป็นบัญชีที่มีเงินส่วนตัวของพี่นำบุญค้างอยู่ (เพราะเป็นบัญชีที่ใช้จ่ายค่าตู้นิรภัยของธนาคาร)
และในเดือนกรกฎา พี่นำบุญได้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นค่าดูแลเว็บ ด้วยเงินตัวเองในอีกบัญชีหนึ่ง
สรุปว่า ยอดเงินค่ากาแฟที่เหลือสุทธิในบัญชีนี้ เป็นเงิน
31, 036 บาท
…..
ปกติค่าแพกเกจและค่าโฮสต่อปีที่ใช้จะอยู่ที่ปีละ 3, 978 บาท ดังนั้น ยอดเงินที่มีอยู่ จึงน่าจะใช้ดูแลเว็บนิืทานนำบุญให้อยู่ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 8 ปีครับ
…..
ขอบคุณกำลังใจและความเชื่อใจที่มอบให้นะครับ พี่นำบุญยังคงยืนยันว่า เงินค่ากาแฟทั้งหมด จะไม่เอามาใช้ส่วนตัว แต่ขอใช้ดูแลเว็บตามที่เคยให้สัญญาไว้
ถ้าวันนึงไม่อยู่ ก็จะฝากน้องชายให้ช่วยดูแลต่อ
ความตั้งใจที่ดี ทำให้เว็บไซต์นิทานนำบุญ กลายเป็นเว็บไซต์สำหรับเด็กและครอบครัว ที่อยู่ได้ด้วยกำลังของคนอ่านอย่างแท้จริง
ขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ช่วยกันสร้างตำนานสื่อสำหรับเด็กบทนี้ให้เกิดขึ้นนะครับ

(หมายเหตุ : วันที่ 1 มกราคม 2565 ผมตัดสินใจปิดโครงการเลี้ยงกาแฟ เพราะคิดว่าได้รับการสนับสนุนมามากพอสมควรแล้ว ถ้าในช่วงปีที่ 7หรือ 8 หากจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อดูแลเว็บไซต์ต่อไป ผมก็อาจจะมาขอการสนับสนุนใหม่นะครับ)

…………………………………..

หลังจากที่ผมได้เห็นว่า โครงการเลี้ยงกาแฟทำให้เว็บไซต์นิทานนำบุญ กลายเป็นเว็บไซต์ที่อยู่ได้ด้วยกำลังของผู้อ่านอย่างค่อนข้างยั่งยืนได้ ผมก็นึกถึงข้อความของผู้อ่านบางคนที่โอนเงินมาและถามผมเมื่อทราบว่า ผมจะนำเงินทั้งหมดไว้ใช้เพื่อดูแลเว็บ โดยไม่นำเข้ากระเป๋า ผู้อ่านถามว่า “แล้วพี่นำบุญเอาเงินที่ไหนใช้จ่ายคะ”

คำถามจากความห่วงใยในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยนึกถึงมาก่อน เพราะตอนที่เริ่มทำเว็บไซต์นิทานนำบุญ ผมก็คิดว่า ทำเพื่อให้เด็ก ๆ มีแหล่งรวมนิทานเอาไว้อ่าน ซึ่งเมื่อพ่อแม่จำนวนมากได้มาเห็นและนำไปอ่านให้ลูกฟังก่อนนอนจริง ๆ มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่า สิ่งที่ตัวเองตั้งใจไว้มันประสบความสำเร็จแล้ว (ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้ของตัวเองเลย)

ยิ่งพอเว็บไซต์อยู่ได้ด้วยกำลังของผู้อ่านอย่างยั่งยืน ผมก็ยิ่งรู้สึกว่า นี่คือความสำเร็จจริง ๆ ของคนทำสื่อ เพราะเว็บไซต์นิทานนำบุญเป็นสื่อสำหรับเด็ก ต้นทุนต่ำ แต่มีความตั้งใจสูง การที่เว็บไซต์นี้อยู่ได้อย่างค่อนข้างยั่งยืนด้วยกำลังของผู้อ่าน จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า สื่อที่ดีและมีประโยชน์ต่อเด็ก ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก เว็บไซต์นิทานนำบุญจึงเป็นเสมือนโมเดลของการทำเว็บไซต์ต้นทุนต่ำที่มีประโยชน์ต่อสังคม และอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยกำลังของผู้อ่านอย่างแท้จริง (ซึ่งสิ่งนี้คือความภูมิใจมาก ๆ ของผมครับ)

เมื่อผมนึกถึงสิ่งที่ผู้อ่านทักถาม ผมจึงคิดต่อไปว่า หากผมลองทำโครงการหารายได้จากเว็บไซต์ เพื่อพิสูจน์แนวคิดบางอย่างว่า หากมีคนทำเว็บไซต์ขึ้นมาโดยเริ่มจากการคิดถึงประโยชน์ของผู้อ่าน เมื่อมีผู้อ่านพอสมควรและเว็บไซต์ได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่านให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว หากคนทำเว็บไซต์จะหารายได้ให้ตัวเอง (เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าอาหาร ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าซ่อมคอมพิวเตอร์) มันจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน (ถ้าทำให้เกิดรายได้จริง มันอาจเกิดโมเดลของการทำสื่อเพื่อส่วนรวม แต่สามารถหล่อเลี้ยงคนทำสื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่สนใจหันมาทำสื่อแนวนี้มากขึ้นก็ได้ครับ)

แนวทางการหารายได้จากเว็บไซต์ที่ผมคิด ประกอบด้วย

  1. การขายสินค้า (เช่น ทำอีบุ๊คขาย หรือ หาสินค้ามาขาย)
  2. การขายพื้นที่โฆษณาให้ผู้ประกอบการรายย่อย (โดยเลือกที่เหมาะกับเด็กและครอบครัว)
  3. หาองค์กรธุรกิจมาเป็นผู้สนับสนุนเว็บไซต์ ในรูปแบบการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility)

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ผมได้ทำคลิปวิดีโอที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ไว้ ดังนี้ครับ

หลังจากทำคลิปออกมาแล้ว ผมได้นำสินค้าชิ้นแรกที่ทำไว้ออกมาวางจำหน่ายที่หน้าเพจ คือ หนังสืออีบุ๊กเรื่อง “นักเขียนนิทานและวิธีแต่งนิทานของเขา” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ผมดีใจมากที่ได้เขียนออกมาจนจบ เพราะมันเป็นเสมือนหนังสือบันทึกวิธีคิดและการทำงานในฐานะนักเขียนนิทานของผม ผมคิดว่า โลกของเรามีนักเขียนนิทานสำหรับเด็กไม่มากนัก การที่ผมเป็นนักเขียนนิทานและได้เล่าเรื่องราวรวมถึงวิธีคิดนิทานในแบบของผมให้ทุกคนได้อ่าน จึงเป็นหนังสือที่มีความหมายต่อตัวผม (อีบุ๊กฉบับนี้จะขายถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 เท่านั้นครับ)

https://bit.ly/3qE5yT5

ในส่วนของการขายโฆษณา เมื่อผู้อ่านไม่ได้คัดค้านเรื่องการหารายได้จากขายพื้นที่โฆษณา ผมจึงลองกำหนดเงื่อนไขในการลงโฆษณาในเว็บไซต์นิทานนำบุญ โดยเป้าหมายไม่ใช่เรื่องการทำกำไรแบบร่ำรวย (สังเกตได้จากอัตราค่าโฆษณาที่ถูกมาก คือ 200 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 6 บาทเศษ) ซึ่งการตั้งราคาแบบนี้ น่าจะช่วยให้ผู้อ่านที่มีกิจการเล็ก ๆ หรือทำสินค้าขายในครัวเรือน สามารถซื้อโฆษณาได้โดยไม่ลำบากเกินไป ซึ่งการลงโฆษณาในเว็บไซต์นิทานนำบุญ ที่มียอดวิววันละ 10000 วิว ก็อาจช่วยให้กิจการหรือสินค้านั้น ๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้มากขึ้น

ผลจากการชักชวนให้ผู้สนใจลงโฆษณา ปรากฏว่า ณ วันนี้ มีผู้สนใจลงโฆษณาแล้ว 2 ราย ซึ่งทั้งสองรายมีความปรารถนาดีและอยากสนับสนุนการทำเว็บไซต์นิทานสำหรับเด็ก โดยข้าวมันไก่ไหหน่ำหนั่ง ต้องการให้กำลังใจเว็บไซต์เล็ก ๆ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่วนกิจการ Rose Corner เป็นธุรกิจของคุณแม่ที่อ่านนิทานนำบุญกับลูกอยู่แล้ว เมื่อเห็นการเปิดรับโฆษณาจึงให้การสนับสนุนทันที (ขอบคุณมาก ๆ นะครับ)

https://www.facebook.com/hainumnangchickenrice
https://www.facebook.com/rosecornergarden

ในขณะเดียวกัน รุ่นพี่ของผมซึ่งเป็นนักเขียนนิทานก็เอ่ยปากว่า อยากซื้อโฆษณาด้วย โดยโฆษณาชิ้นแรกจะเป็นการโฆษณาให้ร้านขนมเบเกอรี่เล็ก ๆ ที่รู้จักกัน ส่วนอีกชิ้นจะขอซื้อโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซต์นิทานของตัวเอง (จริง ๆ คืออยากสนับสนุนการทำงานของผม)

https://bit.ly/3qoMfi8

ผมไม่แน่ใจว่าโครงการลงโฆษณาในเว็บไซต์นิทานนำบุญจะดำเนินไปได้ด้วยดีขนาดไหน แต่เมื่อครบ 1 ปี ผมจะมาสรุปผลว่า แนวคิดเกี่ยวกับ “คนทำเว็บไซต์จะหารายได้ให้ตัวเองจากการทำเว็บไซต์ได้จริงหรือไม่” ยังไงรอติดตามกันนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ช่วยทำให้นิทานที่ผมแต่งมีค่ามากขึ้น เพราะนิทานที่เขียนเสร็จแล้วและวางไว้เฉย ๆ คงไม่มีค่าเท่ากับนิทานที่มีคุณพ่อคุณแม่นำไปอ่านกับลูก หรือ นิทานที่คุณครูนำไปอ่านกับนักเรียน รวมทั้งการที่น้อง ๆ บางคนนำนิทานนำบุญไปอ่านให้แฟนฟังก่อนนอน ขอบคุณทุก ๆ คนนะครับ

#นิทานนำบุญ

…………………

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.