รูปแบบการจัดการเรียนการสอนปฐมวัยสำหรับเด็กในช่วงที่มีโรคระบาดรุนแรงนั้น พ่อแม่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้ลูก แทนการเสี่ยงส่งลูกไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนและครูก็ยังมีความสำคัญ ในการจัดแผนการสอนตามหลักสูตรและการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์มายังพ่อแม่
แนวทางการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
1) ผู้ใหญ่เป็นคนจัดเตรียมกิจกรรมให้เด็กได้ทำ เพื่อส่งเสริม “พัฒนาการ และ การเรียนรู้” ให้เหมาะตามช่วงวัยของเด็ก (ในส่วนนี้ควรมีแผนและเป้าหมายในการทำที่ชัดเจน ซึ่งครูจะทราบเรื่องนี้ดี)
2) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เมื่อ เด็กเลือกทำสิ่งที่สนใจอย่างอิสระ คือเด็กสนใจอะไร ก็จะเข้าไปลองทำ และเกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง (การจัดสิ่งแวดล้อมในสถานที่เรียนรู้ จึงมีความสำคัญ)
เมื่อเด็กมีการเรียนรู้จากการที่ผู้ใหญ่จัดกิจกรรมให้ และการเลือกทำอะไร ๆ ตามที่สนใจแล้ว สิ่งที่พ่อแม่และครูต้องทำต่อไป คือการสังเกตพฤติกรรมและประเมินว่า “เด็กมีพัฒนาการและการเรียนรู้” เหมาะสมตามช่วงวัยหรือไม่ ถ้ายังขาดอะไร ก็จัดกิจกรรมเสริม เพื่อพัฒนาเด็กให้ได้ตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็น
ดังนั้น ในยุคโควิด ครูอาจทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการสอน ว่าในแต่ละสัปดาห์ ผู้ใหญ่ควรชวนเด็ก ๆ ทำอะไรบ้าง (พ่อแม่จึงสามารถจัดกิจกรรมให้ลูกได้โดยไม่เคว้งคว้าง ไร้ทิศทาง) โดยครูต้องสื่อสารกับพ่อแม่ ให้พ่อแม่รับแนวทางนั้นไปทำ (ผ่านทางออนไลน์)
ในขณะเดียวกัน ครูอาจช่วยเตรียมอุปกรณ์เป็นชุด ๆ ส่งเป็นสื่อการเรียนรู้ไปให้พ่อแม่ (ด้วยม้าเร็วทั้งหลาย) เพื่อลดภาระของพ่อแม่ และอาจช่วยประเมินพัฒนาการเด็กผ่านการสังเกตออนไลน์
นอกจากนี้ ถ้าครูทำไหว ครูอาจต้องคัดเลือกคลิปวิดีโอจากยูทูบหรือแหล่งต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแผนการสอน เพื่อให้พ่อแม่ใช้เป็นสื่อให้ลูก ๆ ได้ดู (ถ้าไม่ถนัด อาจหาผู้เชี่ยวชาญมาทำงานในส่วนนี้)
คุณครูอาจต้องทำคลิปออกกำลังกาย คลิปเล่านิทาน คลิปรีแคปวิดีโอยูทูบที่แนะนำไป เพื่อให้พ่อแม่ใช้เปิดให้ลูกดู เพื่อใช้เป็นสื่อเสริม เติมเต็มช่วงเวลา และเชื่อมความ “มีอยู่” ของครู ซึ่งทั้งหมดจะทำให้การไปเจอครูหลังโรคระบาดจบไป เป็นเรื่องง่ายขึ้น และช่วยสนับสนุนการทำงานของพ่อแม่
จริง ๆ แล้ว การเรียนรู้ในห้องเรียนของเด็กอนุบาลในแต่ละวันมีกิจกรรมไม่มาก บางช่วงเป็นการเลือกเข้ามุมที่สนใจอย่างอิสระ ดังนั้น ถ้าบ้านมีมุมให้เด็กเลือกเล่น พ่อแม่ก็จะพอมีเวลาทำงานส่วนตัวไปด้วย แถมช่วงบ่าย เด็ก ๆ ยังต้องนอนกลางวัน (พ่อแม่อาจนอนด้วย) และเมื่อตื่นก็สามารถจัดกิจกรรมเสริมทักษะทางภาษาด้วยการให้ฟังเพลงหรือดูการ์ตูนภาษาอังกฤษที่คัดสรรแล้ว (พ่อแม่จึงอาจเหนื่อยมากหน่อยเฉพาะในช่วงเช้า)
การจัดหลักสูตรเปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน พ่อแม่สามารถปรับหลักสูตรได้ตามเหมาะสม เลือกช่วงเวลาเรียนได้ (ยืดหยุ่น) และหา Trainer หรืออาจารย์พิเศษตามคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ มาช่วยเสริมได้ (เช่น อยากเสริมเรื่องภาษา ก็อาจหาคอร์สภาษาสำหรับเด็กเล็ก อยากเสริมเรื่องทักษะการคิด หรือเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ก็หาคอร์สที่สอนออนไลน์ด้วยสื่อที่เหมาะสม เป็นต้น) ดังนั้น ถ้าเราวางแผนให้ดี ๆ ลูกของเราก็น่าจะยังคงได้เรียนรู้และได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างไม่ขาดตอน โดยที่พ่อแม่ไม่เหนื่อยมากจนเกินไป
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การนำ Project Based Learning เข้ามาเสริมในการจัดการเรียนรู้ เช่น การให้ทุกครอบครัวในชั้นเรียนเดียวกัน ทำโครงการศึกษาอะไรสักอย่างร่วมกัน เช่น การทำโครงงานศึกษาเรื่องไข่ไก่ วิธีจัดการเรียนรู้แบบนี้ก็จะทำให้ “ชีวิตมีสีสัน การเรียนรู้สนุกสนานไม่น่าเบื่อ” โดยการทำโครงการ ครูอาจเป็นหัวเรือใหญ่ โดยเริ่มคิดหัวข้อร่วมกันผ่านการไลฟ์สด ยกมือเลือกหัวข้อ แล้วสนับสนุนการสืบค้นในแต่ละช่วงให้ทุกครอบครัวก้าวไปพร้อม ๆ ในแนวทางเดียวกัน เป็นต้น

สรุปแนวทางจัดการเรียนรู้ที่บ้าน :
2. ครูประจำชั้น มีหน้าที่สนับสนุนพ่อแม่และเด็ก ดังนี้
2.1) วางแผนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงโดยปรับแผนให้เหมาะสำหรับการสอนที่บ้าน (ต้องคำนึงว่า พ่อแม่เป็นผู้ดูแลลูก + ลูกมีจำนวน 1 คน ไม่ใช่เด็กทั้งห้อง + ระยะเวลาของกิจกรรมไม่เหมือนในห้องเรียน)
2.2) ส่งแผนการสอนประจำสัปดาห์และแนะนำวิธีทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กให้พ่อแม่ทุกวันศุกร์ (เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาศึกษาข้อมูลและสอบถาม ในวันเสาร์อาทิตย์)
2.3 ครูประจำชั้นอาจมีการไลฟ์สดหรือทำคลิปทักทายเด็ก ชวนเด็กออกกำลังกาย สวดมนต์ ทุกเช้า เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเด็กและลดภาระงานของพ่อแม่
2.4) ครูประจำชั้นเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านโครงงานโดยมีทุกครอบครัวทำโครงงานเดียวกัน และนำความคืบหน้ามาแชร์กัน (อาจจัดประชุมออนไลน์พูดคุยดูความคืบหน้าร่วมกันในแต่ละครอบครัว)
2.5 ครูประจำชั้นต้องส่งรายการอุปกรณ์ที่ต้องใช้ประจำสัปดาห์หรือส่งอุปกรณ์จริงที่ต้องใช้เป็นสื่อการสอนให้พ่อแม่
2.6 ครูประจำชั้นต้องใช้ความเชี่ยวชาญช่วยพ่อแม่ในการประเมินพัฒนาการเด็กและหาวิธีส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมาะสม
3. พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูของเด็ก มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้เด็ก ดังนี้
3.1) จัดพื้นที่เฉพาะ จุดใดจุดหนึ่งในบ้านเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ (เป็นห้องเรียนสมมติ) เช่น พื้นที่นี้อาจเป็นที่นอนตอนกลางคืน แต่เมื่อถึงเวลาเรียน แค่เรานำโต๊ะพับมาวาง พื้นที่ตรงนี้ก็จะสมมติว่ากลายเป็นห้องเรียน (เป็นการทำให้เด็กรู้บทบาทหน้าที่ว่าตอนนี้เป็นเป็นเวลาเรียน) โดยพ่อแม่จะใช้พื้นที่นี้เป็นจุดในการจัดการเรียนรู้ตามหน่วยสาระ (ที่ครูจัดแผนการสอนมา)
3.2) จัดมุมเล่นอิสระ เพื่อให้เด็กเข้าไปเลือกเล่นในมุมที่ตนเองสนใจในช่วงที่พ่อแม่ปล่อยให้เรียนรู้เองผ่านการเล่น ซึ่งตัวอย่างของมุมที่จัดให้เด็กเล่น ได้แก่ มุมบล็อกไม้ มุมบ้าน (เพื่อเล่นบทบาทสมมติว่าอยู่ในบ้านน้อยของตัวเอง) มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมน้ำมุมทราย มุมส่งเสริมภาษา มุมดนตรี
3.3) ทำโครงงานร่วมกับครอบครัวอื่น ๆ โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางและมีครูเป็นตัวกลางในการประสานทุกครอบครัวเข้าด้วยกัน
3.4) การจัดประสบการณ์เพิ่มทักษะชีวิตและความเข้าใจโลกจากประสบการณ์จริง ซึ่งสามารถจัดประสบการณ์ให้เด็กได้หลายวิธี เช่น ให้ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือ พาเด็กออกไปนอกบ้าน (อย่างปลอดภัย)
3.5) การเลือกคอร์สออนไลน์และอาจารย์พิเศษที่เหมาะสมให้ลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ในเรื่องที่ลูกขาด
3.6) คัดสรรคลิปวิดีโอ ซึ่งอาจเป็นสารคดี บันเทิงคดี หรือการ์ตูน เพื่อใช้ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก
3.7) พ่อแม่ต้องสังเกตพฤติกรรมในการทำกิจกรรมและความสนใจของลูกแล้วรายงานครู เพื่อประเมินพัฒนาการของลูกร่วมกัน
หมายเหตุ 1 :
การจัดการเรียนรู้ อาจแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยช่วงเช้าดำเนินการตามแผนการสอนของครูประจำชั้นและใช้มุมอิสระในการส่งเสริมการเรียนรู้ ส่วนภาคบ่ายหลังเด็กตื่นนอน อาจเป็นช่วงเวลาของการใช้สื่อเสริมออนไลน์และอาจารย์เฉพาะทาง