Posted in เรื่องเล่า

หนังสั้น : ก-ฮ

ปี 2536 ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เรียนอยู่ชั้นปีสุดท้ายที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามปกติแล้ว หลักสูตรของคณะวารสารศาสตร์ฯ ใช้เวลาเรียน 4 ปี แต่เนื่องจากผมมีความสนใจใน 2 สาขาวิชา คือ วิชาด้านโฆษณา และวิชาด้านภาพยนตร์ ผมจึงเลือกเรียนวิชาของทั้งสองสาขาจนสามารถเลือกจบได้ทั้งสองเอก ในเวลา 5 ปี ซึ่งสุดท้าย ผมได้ตัดสินใจเลือกจบเอกภาพยนตร์ โดยการทำหนังสั้นสารนิพนธ์ เรื่อง ก-ฮ ซึ่งเป็นการทำหนังสั้นขนาดยาว ที่เริ่มตั้งแต่การวางแผนโครงการ การเขียนบท การคัดเลือกตัวแสดง การวางแผนถ่ายทำ การออกแบบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ประกอบฉาก การถ่ายทำ การกำกับการแสดง การตัดต่อและการพากย์เสียง ซึ่งเป็นการศึกษากระบวนการทำหนังสั้นทั้งกระบวนการและได้นำความรู้จากการเรียนตลอด 5 ปีมาใช้อย่างเต็มที่

หนังสั้นเรื่อง ก-ฮ ใช้งบประมาณการถ่ายทำราว 8 หมื่นบาท (เป็นทุนส่วนตัว) โดยเงินเกือบครึ่งหนึ่งหมดไปกับค่าฟิล์มถ่ายหนัง 16 มิลลิเมตร (หากจำไม่ผิด ในสมัยนั้น ฟิล์มถ่ายหนังความยาวหนึ่งนาที ราคาราว 1000 บาท) โดยหนังสั้นเรื่องนี้ใช้กล้องถ่ายหนังแบบไขลานของคณะวารสารศาสตร์ฯ ซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์นัก และมีการเช่ากล้องถ่ายหนังจากสตูดิโอภายนอกมาใช้ในบางฉากที่ต้องการถ่ายทำฉากต่อเนื่องที่ยาวเกินความสามารถของกล้องไขลาน นอกจากนี้ การล้างฟิล์มในยุคนั้นก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานมาก เพราะร้านที่รับล้างฟิล์มถ่ายหนังมีเพียง 1-2 ร้าน ซึ่งคุณภาพในการล้างฟิล์มบางม้วน ทำให้ต้องยกกองเพื่อถ่ายซ่อมใหม่ทั้งหมด และสีสันหรือความคมชัดของฟิล์มแต่ละม้วนที่ได้ออกมา ก็เรียกได้ว่า “ต้องภาวนา” ให้ออกมาพอใช้ได้ก็ยังดี!

หลังจากยุคที่ผมทำหนังสั้นเรื่องนี้ไม่กี่ปี การใช้กล้องวิดีโอในการถ่ายหนังสั้นและการตัดต่อด้วยคอมพิวเตอร์ก็เริ่มเข้ามา (สมัยที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มิลลิเมตร การตัดต่อในแลปที่ต้องการให้มีเทคนิคพิเศษ เช่น Fade in – Fade out – Dissolve หรืออะไรก็ตาม คิดราคาเทคนิคละ 500 บาทต่อจุดที่ต้องการใส่เทคนิค) หนังสั้นเรื่อง ก-ฮ จึงน่าจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของการเรียนภาพยนตร์ในยุคเก่า ที่มีความท้าทายตามข้อจำกัดในยุคสมัยนั้น และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำหนังสั้นของนักศึกษาในอดีตพอสมควร

หนังสั้นสารนิพนธ์ : ก-ฮ (ปี 2536)

อนึ่ง ในการศึกษาเรื่องการทำหนังสั้นครั้งนี้ ผมในฐานะของนักศึกษาที่เป็นเจ้าของโครงการ ต้องขอขอบพระคุณคณาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษา พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ของคณะ เพื่อน ๆ ที่มาช่วยเป็นทีมงานในการถ่ายทำ และนักแสดงทุกคน ที่มีส่วนทำให้หนังสั้นเรื่อง ก-ฮ สำเร็จลุล่วงลงได้ ความทรงจำในวันนั้น ยังคงประทับใจมาถึงวันนี้ครับ ขอบคุณจริง ๆ

ประสบการณ์สำคัญที่ได้จากการทำหนังสั้นเรื่อง ก-ฮ ที่น่าสนใจมากคือ ในช่วงวัยที่ผมทำหนังเรื่องนี้ ผมภูมิใจและรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ “ยอดเยี่ยมเหลือเกิน” แต่เมื่อเวลาผ่านไป การได้ย้อนกลับมาดูงานของตัวเองใหม่ ทำให้เห็น “ความไม่ยอดเยี่ยม” หรือ “ความไม่เอาไหน” ปรากฏอยู่เต็มไปหมด ประสบการณ์ครั้งนี้จึงสอนผมว่า ผลงานของเราที่เราเชื่อมั่นว่าถูกหรือดีในช่วงเวลาหนึ่ง อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะในช่วงเวลานั้น เราอาจประเมินผลงานโดย “หลง” เข้าข้างตัวเองอย่างไม่รู้ตัว

หมายเหตุ : ถ้ามีโอกาส ผมจะนำสารนิพนธ์ของหนังสั้นเรื่องนี้ มาให้อ่านกันนะครับ เนื้อหาค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเป็นการอธิบายแนวคิดของหนังสั้นเรื่องนี้ รวมทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ซ่อนไว้ในเรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ผู้สนใจสามารถศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเขียนบทหนังสั้นต่อไปได้ครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.