เมื่อปี 2536 สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิตยสาร สุดสัปดาห์ได้มาสัมภาษณ์ผม หลังจากที่ผมได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดรูปแบบรายการโทรทัศน์ ในโครงการสร้างฝันกับกันตนา และนี่คือบทสัมภาษณ์ครับ
สร้างไฟสู่ปลายทางฝัน
มีชีวิต มีความฝัน มีไฟแห่งการสร้างสรรค์ สร้างฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ใช่รายการฝันที่เป็นจริงหรอกนะคะ แต่วันนี้เราจะมารู้จักกับคนหนุ่มรุ่นใหม่ผู้มีไฟในการสร้างสรรค์ นำบุญ นามเป็นบุญ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนุ่มผู้คว้ารางวัลอันดับหนึ่ง ของโครงการสร้างฝันกับกันตนา เมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา
โครงการสร้างฝันกับกันตนา เป็นโครงการประกวดผลงานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานการผลิตรายการโทรทัศน์ของตนเองออกมา อันจะเป็นผลให้เกิดความตื่นตัวของผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่วงการโทรทัศน์ในอนาคต ในการที่จะผลิตรายการที่มีประสิทธิภาพออกสู่สังคม
นำบุญให้เหตผลของการเข้าร่วมประกวดโครงการสร้างฝันในครั้งนี้อย่างติดตลกว่า เป็นเพราะเห็นว่าเป็นการประกวดที่ให้เงินรางวัลมากที่สุดเท่าที่เขาเคยประสบมาในวงการนี้ ก่อนที่จะบอกถึงแรงจูงใจที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ในใบสมัครได้ระบุไว้ว่า หากรายการใดได้รับรางวัลชนะเลิศ รายการนั้นจะมีโอกาสได้ผลิตออกอากาศจริง ๆ
“ผมมาคิดว่า ถ้ารายการที่เราคิดเองได้ไปทำจริง มันก็น่าจะดี และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมรู้สึกว่ารายการที่เกิดขึ้นตอนนี้ หลาย ๆ รายการยังไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไหร่ รายการที่ดีก็มีบ้างเหมือนกัน แต่รายการที่ไม่ดีก็เยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีโอกาส มีความคิด เราก็น่าจะลองทำขึ้นมาสักรายการหนึ่ง ซึ่งถ้าเค้าเอาไปผลิต ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนดู”
นำบุญให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไปในขณะนี้ว่า ส่วนใหญ่มักจะสร้างรูปแบบออกมาในลักษณะเดียวกัน และมีหลายรายการทีเดียวที่เขาเห็นว่า ยังขาดเสน่ห์ในตัวเอง เช่น จะมีพิธีกรออกมาเป็นผู้ดำเนินรายการ มีการส่งต่อให้พิธีกรผู้ช่วยภายนอก มีการแบ่งรายการออกเป็นช่วง ๆ และจะอาศัยการพูดเชื่อมกันระหว่างรายการไปเรื่อย ๆ ซึ่งรายการในลักษณะนี้ไม่ดึงดูดความสนใจเท่าที่ควรในความรู้สึกของเขา
ด้วยเหตุนี้ รายการปกิณกะบันเทิงในนาม “บ้านเขียวหวาน” จึงเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของเขา ด้วยความหมายที่เขาบอกว่า บ้านเขียนหวานคือโลกใบหนึ่งที่อุดมไปด้วยคนที่เราอยากจะเป็นเพื่อนด้วย เป็นโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ รวมทั้งมีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย โดยรายการนี้จะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 15-25 ปี
“คือถ้ามองในแง่ธุรกิจแล้ว กลุ่มเป้าหมายนี้ผมว่าน่าจะขายง่าย เพราะเป็นกลุ่มที่ชมโทรทัศน์กันค่อนข้างมาก และมีรายการประเภทนี้อยู่ค่อนข้างเยอะ แต่รายการสำหรับวัยรุ่นอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่ง ผมมองว่ามันยังอ่อนอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาเรื่องของความคิดเข้าไปสู้ ซึ่งตรงตัวรายการตอนที่ผมส่งไปก็ไม่ได้เน้นว่า ตัวพิธีกรรายการจะต้องหล่อ น่ารัก คือหน้าตาไม่เกี่ยวเลย เราสู้ที่สาระมากกว่า เพราะว่าคอนเซ็ปต์ของรายการเราอยู่ที่ความสุข ชี้หนทางให้คนดูเห็นว่า เค้าสามารถที่จะหาความสุขได้จากอะไรบ้าง
“ผมก็เลยคิดว่ารายการมันน่าจะมีเสน่ห์ด้วยตัวเอง บ้านเขียวหวานก็เลยเอาวิธีของการละครเข้ามาช่วย คือสร้างให้มันเหมือนกับละครเรื่องหนึ่ง เป็นชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง โดยที่เราจะเน้นเรื่องราวของปกิณกะ 6 อย่างที่จะพูดถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนดูคงจะชอบและจะได้ประโยชน์จากมัน แม้บางอย่างจะยังไม่เป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมายเท่าไร แต่เป็นส่วนหนึ่งที่คล้าย ๆ กับว่าเราอยากจะรับผิดชอบรายการโทรทัศน์มันน่าจะมีอะไรตรงนี้บ้าง”
นำบุญอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบรายการของบ้านเขียวหวานว่า เขาจะใช้ตัวละคร 6 คนเป็นผู้ดำเนินเรื่องราว ในฐานะคล้าย ๆ พิธีกร ซึ่งแต่ละคนจะมีบุคลิกเฉพาะตัว และรับบทของปกิณกะในแต่ละเรื่องไป เช่น เรื่องของคนรักบ้าน สัมภาษณ์ หนังสือ ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการท่องเที่ยว เรื่องของภาพยนตร์ โทรทัศน์ และวงการสื่อสารมวลชน และสุดท้ายก็คือเรื่องราวของวิทยาศาสตร์”
“อย่างเรื่องของคนรักบ้านก็จะมีเรื่องการดูแลรักษาบ้าน เรื่องการทำอาหาร การกำจัดขยะเปียกขยะแห้ง แยกขยะยังไงให้มันถูกต้อง ขัดห้องน้ำยังไงให้มันประหยัดและปลอดภัย สบายใจ อะไรอย่างนี้เป็นต้น อย่างเรื่องการสัมภาษณ์ก็มีคนที่ชอบคนพูดเจ๊าะแจ๊ะเป็นคนดูแลในส่วนนั้น ส่วนเรื่องของหนังสือก็จะมีการแนะนำหนังสือ พูดคุยกับนักเขียน เพราะผมรู้สึกว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ยังไม่นิยมการอ่าน ก็เลยอยากเอาตรงนี้เข้ามา ส่วนเรื่องของศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการท่องเที่ยว เรื่องของภาพยนตร์และโทรทัศน์ และวงการสื่อสารมวลชน ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคนส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจด้วย”
“และสุดท้าย ก็มีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เพราะห้าอย่างที่ผ่านมาจะออกไปในทางศิลปะหมดเลย ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นไปในเรื่องของการสังเกต คิด ทดลอง แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์โดยตรง มันเป็นการประยุกต์เข้ามากับชีวิตประจำวัน อย่างเช่นเห็นถ่านอยู่ในตู้เย็นแล้วดูดกลิ่นได้ ห้องน้ำเราก็มีกลิ่น ทำไมเราไม่เอาถ่านเยอะขึ้น แล้วไปไว้ในห้องน้ำ เพื่อดูดกลิ่น เอ๊ะ…ถ้าเอาไปทำอย่างนั้นจริง ๆ มันจะดูดกลิ่นได้หรือเปล่า เป็นการกระตุ้นให้คนดูรู้จักคิด เพราะผมรู้สึกว่า คนไทยหลาย ๆ คนยังขาดตรงนี้ คือไม่ค่อยคิด หรือคิดแล้วไม่ทำก็ไม่รู้ (หัวเราะ)
“จริง ๆ แล้วความคิดเบื้องต้นของรายการนี้มันกำเนิดขึ้นมาจากการอยากอยู่หอ คิดว่าวัยรุ่นช่วงหนึ่งอยากออกมาอยู่กับเพื่อน แต่เพื่อนที่มาอยู่ด้วยน่าจะเป็นเพื่อนที่ดี อันนี้คือส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ที่ตัวเองมองก็คือว่า วัยรุ่นเป็นล้านที่ไปเดินตามศูนย์การค้า แต่มาเดินทำไมไม่รู้ คือไม่ได้โทษว่าเค้าผิด สังคมไทยจะมีสอนว่าคุณต้องเรียน พอเรียนจนถึงวันหยุดแล้ว ถ้าไม่เรียนพิเศษก็ไม่รู้จะทำอะไร สงสารวัยรุ่นว่าเค้าไม่มีทางเลือก เค้ามองไม่เห็นว่าชีวิตนี้จะทำอะไร นอกจากไปเดินเล่น เพราะฉะนั้นถ้าเราชี้ได้ว่าความสุขมันสามารถหาได้จากทุก ๆ ที่ และมันมีมากกว่าที่เค้าเห็นอยู่ ในบ้านก็มี พิพิธภัณฑ์ก็มี ที่ไหน ๆ ก็มี ซึ่งตรงนี้หาได้ 6 อย่างเลย
“ในขณะเดียวกัน รูปแบบรายการของเรามันก็จะมี THEME ของตัวละครด้วย มันจะแบ่งเป็นส่วนของปกิณกะกับส่วนของละคร THEME ในส่วนของละครก็คือดำรงชีวิตกับบุคคลอื่น ๆ แต่อยู่กับคนอื่น ๆ ในบ้านที่เห็นหอพัก จะมีความสุขได้คุณจะต้องมีทั้งการให้และการรับ ส่วนปกิณกะทั้งหกนั้นก็จะเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าคนเราจะมีความสุขได้ยังไงบ้าง”
นักสร้างฝันของเราบอกว่า เขาใช้เวลาในการคิดสร้างสรรค์ประมาณสองเดือนเต็ม ๆ กว่าจะออกมาเป็นรายการ “บ้านเขียวหวาน” ในรูปแบบที่สมบูรณ์ โดยที่เขาจะพยายามไม่ปรึกษาอาจารย์หรือใครเลย ด้วยเหตุผลที่ต้องการจะได้อะไรที่มาจากตัวเองแท้ ๆ ซึ่งในส่วนนี้เขาบอกว่า ส่วนใหญ่จะใช้เวลาหมดไปกับการอ่านหนังสือและสิ่งที่มีส่วนช่วยสำคัญในการสร้างฝันครั้งนี้ก็คือ ความรู้สะสม”
“ผมอ่านหนังสืออย่างมโหฬารมาก หนังสือแม่บ้านนี่ก็ต้องอ่าน และยืมหนังสือเยอะมาก อย่างหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นก็อ่าน เพราะผมชอบตรงที่มันมีโครงเรื่องง่าย ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ผมยอมรับว่า ในเรื่องของการเขียนบทละครนี่ ผมยังโง่มากในบรรดาการเขียนบททั้งหมด แต่มันก็คืออยากท้าทายด้วยว่าเราจะทำได้ขนาดไหนกับบทละคร ในขณะเดียวกัน มันก็ได้มาจากประสบการณ์ด้วยว่า ดูหนังฝรั่ง ดูละครมินิซีรี่ส์ ก็มาประยุกต์ ประมวล ประสานร้อยเรียงเข้าด้วยกัน”
“ส่วนมากเป็นความรู้สะสมนะฮะ หมายถึงว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างเรียนที่มหาวิทยาลัยเราก็ได้เรียนรู้สังคมด้วยนะ ได้รู้ว่าคนในสังคมเป็นยังไงบ้าง แล้วเราต้องทำตัวยังไงบ้าง ปรับตัวอยู่กับคนอื่นยังไง หรือในเรื่องความรู้วิชาการ อาจารย์วันชัย (ธนะวังน้อย) สอนนี่ จะได้เยอะมากเลย ท่านแนะนำว่า คุณไม่ควรสอนคนดูนะ ทำไมรายการนั้นรายการนี้พิธีกรจะต้องพูด ‘ครับ’ ก่อน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบที่ดี เราเก็บเอาจากตรงนี้ด้วย เราก็จะได้ความรู้คร่าว ๆ ถ้าเกิดเราจะหยิบมันมาใช้ มันก็เหมือนกับมีตำรา มีอาวุธอยู่แล้ว เอามาลับเล็กน้อย มันก็จะคมขึ้น”
“และธรรมศาสตร์ก็ดีตรงที่ว่า เราสามารถเรียนหลายคณะได้ ผมก็ไปเรียนทั้งศิลปะศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เรียนหมด อย่างวิชาของเอกการละคร มีอยู่วิชาหนึ่งเป็นวิชาหุ่น ครูใจดีมาก จะพาไปทัศนศึกษาทั่วประเทศไทยและพาไปดูงานศิลปะที่อเมริกากับครู ไปดูมิวเซียม ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันคล้าย ๆ กับว่า เราไม่รู้ตัวว่าเราได้มาเมื่อไหร่ แต่ว่าเราได้ เราได้ความสนใจในศิลปะ…หรืออย่างไปช่วยเค้าขายบัตรละคร ไปเล่นเกมโชว์ มันก็ได้เรื่องความคิดเหมือนกัน เมื่อเราได้ประสบการณ์จากตัวเอง เวลาเขียนบทอะไรก็ดึงเอาที่ใกล้ ๆ ตัวออกมาใช้ได้ เหมือนกับว่าเราเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว เราสามารถเก็บได้มากเท่าไหร่ก็เป็นประโยชน์กับเรามากเท่านั้น”
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาใช้ชีวิตการเรียนที่มหาวิทยาลัยควบคู่กับการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายอาสาพัฒนา ประกวดร้องเพลง TU BAND เล่นละครเวทีของคณะ รวมทั้งแสดงละครและลิเกให้กับเอกการละครด้วย…และในขณะที่นักศึกษาทุกคนต่างเร่งรีบเพื่อให้เรียนจบเร็ว ๆ แต่เขากลับมีความคิดที่อยากจะเรียนต่อเป็นปีที่ 5 ทั้ง ๆ ที่สามารถจบได้ตามหลักสูตรภายใน 4 ปี
“คือตอนแรกเรียนไปทางด้านเอกโฆษณา แล้วก็…เอ๊ะ วิชาภาพยนตร์มันก็น่าเรียน ก็เลยลงเป็นวิชาเสริม ทีนี้ภาพยนตร์สารคดีก็ชอบมาก ภาพยนตร์ทดลองก็น่าสนใจ วิจารณ์ภาพยนตร์ วิเคราะห์ภาพยนตร์ ทฤษฎีภาพยนตร์ น่าเรียนทั้งนั้น ก็มาคิดว่า ถ้าจบไปแล้วไม่รู้ตรงนี้ มันก็เหมือนกับเราไม่ได้เรียนอะไรมาเลย แต่เมื่อเรามีโอกาสตรงนี้ จะพลาดได้ยังไง และอีกส่วนหนึ่งก็คือว่า สอบเทียบขึ้นมา ก็ประหยัดไปปีหนึ่ง และการที่เราจะเรียน 5 ปีก็เหมือนกับเราเท่าทุน แต่ในขณะเดียวกัน วิชาภาพยนตร์จะไปเรียนข้างนอกก็ไม่ได้ ถ้าเรียนข้างนอกมันก็แพง ก็คุยกับที่บ้าน เค้าก็โอเค”
“พอเรียน ๆ ไปก็เห็นว่า จบไปอาจจะต้องทำงานทางด้านโฆษณา แต่ในขณะเดียวกัน ผมมองว่าการโฆษณามันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คือมันเป็นการรณรงค์ดึงให้คนมาใช้ทรัพยากรมากขึ้นเรื่อย ๆ มี 1 ต้องมี 2 มี 2 ต้องมี 3 มีอันนี้ต้องมีดีกว่า มีดีกว่าต้องมีดีที่สุด มันไม่มีการหยุดเลย เพราะฉะนั้นมันอาจจะเกิดการเรียกร้องให้มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ผมว่าถ้าตัวเองเลือกได้ ตัวเองไม่อยากเลือกที่จะทำตรงนั้น แต่ถ้าสักวันหนึ่งเราต้องไปทำตรงนั้น เพื่อเงินหรือเพื่ออะไรก็ตาม ก็คิดว่าตัวเองจะเป็นคนทำที่มีจรรยาบรรณพอสมควร คนอื่นเค้าอาจจะเล่นว่ามี 1 ต้องมี 3 ผมอาจจะเล่นว่า มี 1 อาจจะมีเพิ่มซัก 1 ครึ่ง”
“ก็เลยคิดว่า มาทำภาพยนตร์ดีกว่า แล้วภาพยนตร์มันมีลักษณะเป็นศิลปะมากกว่า ค่อนข้าง PURE กว่า และรู้สึกว่าตัวเองชอบตรงนี้ คือ ทำงานของกันตนาหรือของอะไรก็ตาม ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนวาดรูปใหญ่ ๆ ภาพหนึ่ง เหมือนกับสร้างงานศิลปะ ถ้าพูดถึงความชัดเจนตรงนั้น ภาพยนตร์นี่มันชัดเจนที่สุดเลยในบรรดาทั้งหมด
“ตอนนี้ก็เลยเอกภาพยนตร์ โฆษณาด้วย ทีวีนิดหน่อย แล้วก็มีเรียนละครด้วย ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศเพื่อนบ้านด้วย การตลาดด้วย ฯลฯ”
เมื่อถามถึงว่าเขาคิดอย่างไรกับการได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้ นำบุญแสดงความคิดเห็นว่า
“อาจจะเป็นด้วยตัวบทของเราค่อนข้างสมบูรณ์กว่าคนอื่นเค้า และอาจจะเกิดจากความได้เปรียบในการดำเนินรูปแบบรายการแบบละคร ที่นำมาใช้ร่วมกับวาไรตี้ มันยังไม่เคยเกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์เมืองไทย และทีนี้มันอาจจะเจาะใจกรรมการ”
“อย่างพี่ ๆ เค้าก็วิจารณ์ให้ฟังว่า อย่างรายการแต่ละตอนของผมจะแบ่งเป็น 4 เบรก แต่ละเบรก ผมจะมีความน่าตื่นเต้นที่จะทำให้ชมในช่วงเบรกต่อไป ซึ่งตรงนี้เค้าบอกว่าเป็นส่วนที่ดี เหมือนกับว่ากำลังแอบ ๆ ซ่อน ๆ อะไรอยู่ คนที่ไม่ควรจะเข้ามาเห็น ก็ดันเปิดประตูเข้ามา และก็เบรกโฆษณา คนดูก็จะคิดว่า เอ๊ะ มันจะเห็นหรือไม่เห็น มันจะรู้หรือไม่รู้ ความจะแตกหรือเปล่า และก็จะต้องคอยติดตามไปชมในช่วงที่สอง ซึ่งตรงนี้พี่บอกว่า น่าสนใจ และเค้าก็บอกว่าการทำบทภาพของผมค่อนข้างเคลียร์”
“ผมว่าสิ่งสำคัญในการทำรายการสื่อสารมวลชนอะไรก็ตาม มันอยู่ที่ WHAT คือจะพูดอะไรกับคนดู และจะเกิดประโยชน์กับคนดูขนาดไหน รูปแบบมันเป็นแค่เสื้อที่ประดับประดาให้ดูดีเท่านั้น”
ก่อนจะจบการสนทนาลงในวันนี้ นำบุญยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์บ้านเราในขณะนี้ว่า
“ผมว่าวงการทีวีมันถูกบีบด้วยธุรกิจโฆษณาเยอะ คือถ้าเกิดสปอนเซอร์เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง รูปแบบรายการจะทำออกมาในลักษณะเอื้อกับสินค้าชนิดนั้น เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพราะฉะนั้น ในรายการควรจะมีช่วงออกกำลังกาย ช่วงเสริมสวย ความงาม คือ คนดูมองไม่เห็นว่า เค้าใช้ถึงขนาดนี้ และมีอีกหลายลักษณะที่เข้ามาตรงนี้ คือจริง ๆ แล้วการโฆษณาแฝงมันก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันผิดหรือมันเลวอะไรมากมาย แต่การที่เอาโฆษณามากำหนดรูปแบบรายการ ผมมีความรู้สึกว่ามันไม่ดี อย่างน้อยที่สุดก็คือ มันทำให้ความเป็นคนของคนทำรายการมันหายไป”
“ผมชอบรายการเล็ก ๆ อย่าง ทุ่งแสงตะวัน รายการริมระเบียง คือถึงแม้ว่ารายการเค้าจะมีเรทติ้งที่ไม่สูงมากนัก แต่รายการเค้ามีคุณค่ากับคนในสังคม คือดูแล้วยกย่องคนทำ ว่านี่คือคนสื่อสารมวลชนที่แท้จริง ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า อุดมคติกับธุรกิจมันต้องแชร์กัน แต่สัดส่วนขนาดไหนที่เรียกว่าพอเหมาะ อันนี้คงต้องระลึกกันดี ๆ ไม่ใช่ว่าเห็นสื่อมันมีประโยชน์กับตัวเอง และจะมากอบโกย เพราะว่าส่วนหนึ่งก็คือ มีเด็กที่ดูรายการโทรทัศน์อยู่เยอะมาก”
“ถ้าพูดถึงรายการที่ผมคิดจะทำนั้น ผมอยากทำรายการเกี่ยวกับคนชรา มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์พูดถึงรายการเกี่ยวกับคนชรา ตัวเองก็มาคิด เออ ใช่ มันขนาดหายไป แล้วตัวผมก็เคยไปดูการแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์มาบ้าง ก็เห็นว่ามีคนแก่ ๆ มาดูกันเยอะแยะ อย่างตัวเองขึ้นรถเมล์ยังเหนื่อยเลย แล้วคนแก่ ๆ ที่ต้องขึ้นรถเมล์มาทุกวันศุกร์ล่ะ มันโหดร้ายนะ โอเค มันก็ดีนะที่มาดูสด ๆ แต่บางครั้งบางคนมาไม่ได้ มันก็น่าจะเข้าไปหาเขาบ้าง และก็มีคิดเรื่องรายการท่องเที่ยวที่สนุกกว่ารายการท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไป คือไม่ใช่แบบสวัสดีครับ นี่คือพระธาตุ …. มีตำนานมาตั้งแต่สมัยไหน ๆ คือไม่อยากรู้แค่นั้น เราอาจจะไปดูคน ดูชีวิต เพราะคนไทยเขาน่ารักนะในต่างจังหวัด การท่องเที่ยวมันไม่ใช่ไปดูแค่สถานที่ แต่มันคือการศึกษา การเรียนรู้เรื่องราวชีวิตคน ผมว่ามันแตกไปได้อีกเยอะ มันสนุกกว่าและสามารถดีกว่าที่เป็นอยู่”
“จริง ๆ แล้ว ผมอยากจะบอกว่าผมไม่เก่งเลย ที่ได้มานี่อาจจะเป็นเพราะคนที่เก่งจริง ๆ เค้าไม่ได้ลงมาเต็มที่ แต่ปีหน้าคงหนักขึ้น แต่ในส่วนตัวก็ภูมิใจพอสมควร เพราะว่าเวลาที่ทำงานครั้งนี้จะมีความรู้สึกบ่อยมากก็คือ เฮ้ย ทำไปทำไม มันไม่ใช่วิชาเรียน เราไม่ทำก็ได้ เพราะมันไม่มีข้อผูกมัด แต่ก็มาคิดว่าไม่ได้นะ ในเมื่อเราลงมาแล้ว เฮ้ย อีกเฮือกเดียว พยายามอีกนิดเดียวน่ะ เพื่อ…ไม่ใช่เพื่อเงิน เพื่อคล้าย ๆ ว่า ทำแล้วมันต้องทำให้สำเร็จให้ได้ มันท้าทายตัวเองด้วยว่า ได้แต่คิดหรือเปล่า และในที่สุด มันก็ทำได้”
“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น มันอาจจะดูเชย แต่มันคือความจริง จะทำอะไรก็ตาม ถ้าเราตั้งใจและทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่ ผมว่ามันคงประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง และทุก ๆ งาน เราจะต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ต้อง BUILD มันขึ้นมา”
ด้วยมันสมองและสองแขน มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ความฝันอันสวยงามให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้ และหนุ่มผู้นี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ไฟแห่งการสร้างสรรค์และความมุมานะพยายาม ได้นำเขาไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจในระดับหนึ่งแล้ววันนี้
(คอลัมน์ก้าวใหม่ไฟแรง โดย ลันตา พิมพ์ในนิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์ ปีที่ 10 ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2536)