Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

พ่อค้ากับพรานทะเล

เมื่อนึกถึงนิทานจีนก่อนนอน หลายคนอาจนึกถึงนิทานแนวจอมยุทธ์ยอดฝีมือ แต่ในความคิดของผมซึ่งเป็นลูกหลานจีน นิทานจีนหลายเรื่องที่เคยได้ยินก็ไม่ได้มีฉากการต่อสู้หรือการประลองยุทธ์เลยแม้แต่น้อย นิทานจีนจำนวนมากมักมีข้อคิดหรือคุณธรรมสอนใจให้แก่เด็ก ๆ

เมื่อผมอยากลองแต่งนิทานจีน ผมจึงทดลองแต่งนิทานโดยนำข้อคิดที่ได้จากอากุ๊ง (หรือคุณตา) มาใช้ อากุ๊งของผมป็นคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีน เป็นคนเข้มงวด แต่ใจดีกับหลาน ที่สำคัญ อากุ๊งเป็นคนซื่อตรงและรักษาคำพูดมาก ผมได้เรียนรู้สิ่งสำคัญนี้มาจากอากุ๊ง ผมจึงอยากนำคุณธรรมข้อนี้มาเล่าเป็นนิทานให้ทุก ๆ คนได้อ่าน หวังว่าคงชอบนิทานเรื่องนี้นะครับ

นิทานเรื่อง พ่อค้ากับพรานทะเล

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพรานทะเลผู้หนึ่งเป็นคนที่มีความสามารถในการหาสิ่งต่าง ๆ จากท้องทะเลได้ราวกับเนรมิต  ไม่ว่าใครต้องการของสิ่งใด  หากเขารับปากว่าจะหามาให้  เขาก็ไม่เคยผิดคำสัญญาเลยแม้สักครั้ง  ครั้นเมื่อพรานทะเลแก่ตัวลง พรานเฒ่าจึงตัดสินใจไปปักหลักพักอาศัยอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง แล้วรับจ้างหาปลาให้พ่อค้าตามกำลังที่ตัวเขาพอจะมีอยู่

วันหนึ่งในช่วงฤดูฝน  มีพ่อค้าสองคนชื่อไช่หยวนและหลี่ตงมาว่าจ้างให้เหล่าชาวประมงและพรานทะเลช่วยออกเรือเพื่อหาปลามาให้  แต่หลังจากที่พ่อค้าทั้งสองรายกลับไปได้ไม่นาน   พายุใหญ่ก็พัดเข้ามากระหน่ำเมือง  ซึ่งทำให้ชาวประมงทั้งหลายถอดใจไม่กล้าออกเรือ  เหลือก็แต่พรานทะเลผู้ยึดมั่นคำสัญญาเพียงคนเดียวที่ยอมเสี่ยงนำเรือออกทะเลจนสามารถหาปลามาได้ครบตามจำนวนที่รับปากเอาไว้

ครั้นเมื่อพรานทะเลเอาปลาขึ้นฝั่งแล้วนำไปส่งให้ไช่หยวน  ไช่หยวนซึ่งรู้ดีว่าวันฝนตกหนักเป็นวันที่ขายปลาได้ยากก็รีบปฏิเสธไม่รับปลาที่สั่งเอาไว้โดยอ้างว่า “ฉันปิดร้านทุกครั้งที่ฝนตก  พรุ่งนี้ท่านค่อยนำของมาส่งให้ฉันอีกทีก็แล้วกัน”

ในสมัยนั้น  การเก็บปลาค้างคืนให้สดเหมือนเพิ่งจับมาใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  คำพูดของไช่หยวนจึงเท่ากับเป็นการไม่รักษาสัญญานั่นเอง  เมื่อไช่หยวนไม่รับซื้อปลาของพรานทะเล  พรานเฒ่าจึงจำต้องทิ้งปลาเหล่านั้น  แล้วเอาปลาที่เหลือไปส่งให้แก่หลี่ตง

จริง ๆ แล้ว  พรานทะเลไม่ได้คาดหวังว่าหลี่ตงจะรับซื้อปลาจากเขา  แต่เมื่อหลี่ตงเห็นพรานทะเลนำปลาฝ่าพายุมาส่งให้  แม้หลี่ตงจะรู้ดีว่าเขาคงไม่สามารถขายปลาได้  แต่เขาก็ยินดีรับซื้อปลาที่สั่งเอาไว้ทั้งหมด  โดยเขาเลือกที่จะขาดทุนมากกว่าจะยอมเสียคำพูด  

พรานทะเลรู้สึกชื่นชมพ่อค้าหนุ่มยิ่งนัก  เพราะการรักษาคำสัญญาเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีค่าเหนือคนอื่น

หลายวันต่อมา  ไช่หยวนและหลี่ตงทราบข่าวจากทหารในวังว่า พระราชาทรงปรารถนาจะเสวยปลาเรืองแสง, หอยร้อยปีและสาหร่ายสายรุ้งในวันคล้ายวันเกิดของพระองค์  ซึ่งหากผู้ใดสามารถนำของทะเลหายากทั้งสามชนิดไปถวายได้  พระราชาก็จะทรงมอบรางวัลให้อย่างงาม

เมื่อไช่หยวนและหลี่ตงทราบข่าวดังกล่าว  พ่อค้าทั้งคู่จึงรีบติดต่อชาวประมงและพรานทะเลให้ออกไปหาของเหล่านั้นมาส่งให้เป็นการด่วน    

แต่อนิจจา!  หลังจากที่พวกเขาตกลงกันได้ไม่นานนัก  พายุอีกลูกก็หอบเอาลมและฝนเข้ากระหน่ำเมืองจนชาวประมงไม่กล้านำเรือออกทะเลเลยแม้แต่ลำเดียว 

อย่างไรก็ตาม  เมื่อพรานทะเลรับปากแล้ว  เขาก็ไม่เคยคิดผิดคำพูด  ด้วยเหตุนี้  พรานทะเลจึงนำเรือออกทะเลที่แสนบ้าคลั่ง  แล้วพยายามเสาะหาของทะเลทั้งสามชนิดอย่างสุดความสามารถ  

วันรุ่งขึ้น  ในขณะที่ฝนยังคงตกลงมาไม่ขาดสาย  ไช่หยวนพ่อค้าผู้ไม่รักษาคำพูดกลับลงทุนยืนรอพรานทะเลอยู่ที่ชายหาดตั้งแต่เช้าตรู่   แม้ไช่หยวนจะต้องเปียกปอนเพราะพายุฝน แต่เขาก็ยินดีหากมันจะทำให้เขาเป็นคนแรกที่ได้ของหายากไปถวายให้แก่พระราชา

หลังจากที่ไช่หยวนรอเรือของพรานทะเลอยู่พักใหญ่  ในที่สุด  พรานทะเลก็นำเรือเข้าทอดสมอใกล้ ๆ กับชายหาด  จากนั้น  พรานเฒ่าก็หอบเอาปลาเรืองแสง, หอยร้อยปีและสาหร่ายสายรุ้งลุยน้ำเข้าสู่ฝั่ง

ไช่หยวนดีใจมากเมื่อเห็นว่าพรานทะเลหาของที่พระราชาต้องการได้สำเร็จ  เขาตั้งท่าจะจ่ายเงินให้แก่พรานทะเลอย่างไม่รอช้า  แต่พรานเฒ่ากลับปฏิเสธพร้อมกับกล่าวว่า“ฉันรู้ว่าท่านปิดร้านทุกครั้งที่ฝนตก  ไว้ฝนไม่ตกฉันค่อยนำของไปส่งให้ท่านอีกทีก็แล้วกัน”  

หลังจากนั้น  พรานทะเลก็นำของทั้งหมดไปมอบให้แก่หลี่ตงตามที่ได้สัญญาเอาไว้ 

หลี่ตงขอบคุณพรานทะเลครั้งแล้วครั้งเล่า  และเมื่อเขาส่งของทั้งหมดเข้าสู่วังหลวง  พระราชาก็ทรงมอบทองคำร้อยชั่งพร้อมกับมอบตำแหน่งพ่อค้าอาหารทะเลประจำราชสำนักให้แก่หลี่ตงเป็นรางวัล

รางวัลที่หลี่ตงได้รับเป็นรางวัลที่สูงค่าสมกับความซื่อตรงของเขาเป็นอย่างยิ่ง   พรานทะเลดีใจมากที่เขาช่วยให้พ่อค้าผู้มีสัจจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่จากพระราชา  ในขณะเดียวกัน พ่อค้าผู้ไม่รักษาคำพูดและเห็นแก่ตัวอย่างไช่หยวนก็ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญที่เขาคงไม่อาจลืมได้ตลอดชั่วชีวิต

#นิทานนำบุญ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.