Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นิทานก่อนนอนสั้น ๆ : ครองแครงยอดนักขุด

เชื่อหรือไม่! นิทานก่อนนอนสั้น ๆ เรื่องนี้ เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) เขียนลงในนิตยสารขวัญเรือนและได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านเป็นครั้งแรก (หลังจากเขียนนิทานติดต่อกันมาหลายสิบเรื่อง)  ผมจำได้ว่า มีคุณพ่อคนหนึ่งเขียนจดหมายเข้ามาที่คอลัมน์ห้องรับแขก แล้วชมว่า “ผมอ่านนิทานเรื่องนี้ให้ลูกชายฟัง ลูกชายผมชอบมาก ฝากขอบคุณผู้แต่งด้วยนะครับ”    จดหมายชมเชยจากผู้อ่านเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับคนที่ทำงานด้านเด็ก เพราะในสมัยนั้น ความเป็นไปได้ที่เด็กจะเขียนจดหมายเข้ามาหา เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ  คนที่ทำงานเด็กจึงเหมือนคนที่ทำงานอยู่ในความเงียบ ทำงานโดยไม่รู้เลยว่ามีคนอ่านผลงานมากน้อยแค่ไหน และชอบผลงานที่นำเสนอออกไปบ้างหรือเปล่า  ซึ่งเสียงตอบรับที่มีต่อนิทานธรรมดา ๆ เรื่องนี้  จึงมีความหมายและเป็นกำลังใจที่มีค่าสำหรับผมจริง ๆ ครับ

นิทานเรื่อง ครองแครงยอดนักขุด

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งชื่อว่า “ครองแครง”   ครองแครงอาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ในบ้านหลังเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับแนวป่าละเมาะที่ห่างไกลจากผู้คน

ครองแครงชอบเวลากลางคืนมากกว่าเวลากลางวัน เพราะช่วงกลางคืนคุณพ่อคุณแม่จะอยู่กับเขา  ผิดกับเวลากลางวันที่คุณพ่อคุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งมันทำให้ครองแครงรู้สึกอ้างว้างจนแทบจะกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่  ครองแครงอยากให้คุณพ่อคุณแม่อยู่กับเขาทั้งกลางวันและกลางคืน  แต่เขาเองก็ไม่รู้ว่าเขาควรจะทำอย่างไรเพื่อให้สิ่งที่เขาใฝ่ในนั้นเป็นจริงขึ้นมาให้ได้

อยู่มาวันหนึ่ง  หลังจากที่ฝนตกลงมาติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน  ครองแครงตื่นขึ้นมาในตอนเช้าพร้อมกับเห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ปรากฏขึ้นในสวนหลังบ้าน  ครองแครงมองเห็นดอกไม้หลากสีผลิบานขึ้นมาจากลานดินที่เคยรกร้างว่างเปล่า  เขาแน่ใจว่าเขาไม่เคยเห็นคุณแม่ปลูกดอกไม้สนสวยเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว  แล้วดอกไม้เหล่านี้มันจะงอกงามขึ้นมาได้อย่างไร

ครองแครงรู้สึกสงสัยเป็นกำลัง  เขาสงสัยมากเสียจนอดใจเอาไว้ไม่ไหว  ในที่สุด  เขาจึงหยิบจอบเล็ก ๆ ส่วนตัว แล้วเดินตรงเข้าไปในแปงดอกไม้ เพื่อขุดหาคำตอบที่ตัวเขากำลังสงสัยอยู่

ครองแครงเริ่มต้นขุด…ขุด…แล้วก็ขุด  เขาค่อย ๆ ขุดลงไปในดินทีละนิด…ทีละนิด  และหลังจากที่เขาขุดดินอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ในที่สุด  ครองแครงก็ได้คำตอบว่า ดอกไม้งอกงามขึ้นมาจากรากของดอกไม้ดอกนั้น ๆ นั่นเอง

ในวันรุ่งขึ้น ครองแครงหยิบจอบส่วนตัวแล้วเดินตรงเข้าไปในแปลงดอกไม้อีกครั้ง  คราวนี้เขาเกิดความสงสัยครั้งใหม่ขึ้นมาว่า แล้วใต้รากของดอกไม้ล่ะ…มันมีอะไรซ่อนอยู่

ครองแครงเริ่มต้นขุดดินอีกครั้ง  เขาลงมือขุด…ขุด…แล้วก็ขุด  เขาค่อย ๆ ขุดลงไปในดินลึกลงไปเรื่อย ๆ และหลังจากที่เขาขุดดินอยู่เกือบตลอดทั้งวัน  ในที่สุด ครองแครงก็พบสิ่งที่เขาไม่คาดฝัน เพราะใต้รากของดอกไม้นั้น มีโพรงของครอบครัวกระต่าย ซึ่งมีลูกกระต่ายที่แสนน่ารักนอนหลับอย่างอุ่นสบายอยู่ถึง 12 ตัว

เช้าวันต่อมา  ครองแครงไม่รีรอที่จะหยิบจอบส่วนตัว แล้วเดินตรงเข้าไปในแปลงดอกไม้อีกครั้ง  คราวนี้ ครองแครงเกิดความสงสัยครั้งใหม่ขึ้นมาว่า แล้วใต้โพรงของครอบครัวกระต่ายล่ะ…มันมีอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง

ครองแครงลงมือขุดดินอีกครั้ง  เขาตั้งใจขุด..ขุด..แล้วก็ขุด  เขาค่อย ๆ ขุดลงไปในดินลึกลงไปเรื่อย ๆ และหลังจากที่เขาขุดดินอยู่เกือบตลอดทั้งวัน  ในที่สุด  เขาก็ค้นพบสิ่งที่เขาไม่คาดฝัน  เพราะใต้โพรงของกระต่ายนั้นมีซากกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ยักษ์พันธุ์ใหม่ ซึ่งไม่เคยมีใครค้นพบมันมาก่อนเลยแม้แต่คนเดียว

ครองแครงเล่าถึงสิ่งที่เขาค้นพบให้คุณพ่อคุณแม่ฟังในตอนกลางคืน  และในเช้าวันรุ่งขึ้น คุณพ่อก็รีบแจ้งให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไดโนเสาร์เข้ามาตรวจสอบสิ่งที่ครองแครงค้นพบโดยด่วน และหลังจากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่ชั่วโมง  หนังสือพิมพ์ก็เริ่มประโคมข่าวถึงการค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในแนวตะเข็บป่า

ไม่นานนัก  ใครต่อใครต่างก็พากันมาชมซากกระดูกของ “ครองแครง-โครซอรัส” ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ซึ่งมีชื่อละม้ายคล้ายกับเด็กน้อยที่ค้นพบมัน คุณพ่อจำเป็นต้องเลิกทำงานในที่ไกล ๆ เพื่อมาขายบัตรและดูแลคนที่สนใจเรื่องราวของไดโนเสาร์ ส่วนคุณแม่ก็ต้องลาออกจากงานเก่า เพื่อมาทำขนมอร่อย ๆ ให้ผู้คนที่มาดูซากไดโนเสาร์ได้ซื้อกินกัน

ในที่สุด คุณพ่อคุณแม่ของครองแครงก็ได้กลับมาอยู่กับครองแครงทั้งกลางวันและกลางคืน  ครองแครงจึงไม่รู้สึกอ้างว้างอีกต่อไป  และแล้ว นิทานเรื่องนี้ก็จบลงได้…อย่างมีความสุข

#นิทานนำบุญ

………………………

One thought on “นิทานก่อนนอนสั้น ๆ : ครองแครงยอดนักขุด

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.