Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว

นิทานก่อนนอนเรื่อง “นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว” เป็นนิทานที่ผมได้แรงบันดาลใจมาจากการเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ในยุคนั้น การสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุกเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน หัวข้อในการเรียนก็ยังไม่หลากหลายมากนัก แต่มีหัวข้อหนึ่งที่ผมสอน (ซึ่งเป็นหลักสูตรจากแคนาดา) มีชื่อว่่า “นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว” ซึ่งจากหัวข้อของบทเรียนดังกล่าว ก็นำมาสู่การแต่งนิทานเรื่องนี้ครับ

นิทานเรื่อง นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว

กาลครั้งหนึ่ง มีเด็กน้อยคนหนึ่งชื่อว่า “คิด” คิดเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่มักจะสอบได้เป็นที่สุดท้ายของชั้นเรียนเสมอ เพื่อน ๆ ในห้องจึงไม่ค่อยสนใจเขาสักเท่าไหร่  

อยู่มาวันหนึ่ง คุณครูให้เด็กนักเรียนออกมาเล่าว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เด็กส่วนใหญ่ต่างอยากเป็นหมอ, คุณครู, นักธุรกิจหรือดารานักร้อง แต่คิดกลับฝันต่างออกไป คือเขาอยากเป็น “นักประดิษฐ์” ผู้สร้างสิ่งที่มีประโยชน์ให้แก่ผู้คนทั้งหลาย

เมื่อเด็ก ๆ ในห้องได้ยินสิ่งที่คิดใฝ่ฝัน  เด็กทุกคนก็พากันหัวเราะขบขัน เพราะคนที่จะเป็นนักประดิษฐ์ได้ควรจะเป็นคนเรียนเก่งเท่านั้น  ซึ่งคิดไม่ใช่คนเก่งเลยในสายตาของเพื่อน ๆ

แม้คิดจะน้อยใจที่ถูกเพื่อน ๆ หัวเราะเยาะ แต่เขายังโชคดีที่มีคุณครูคอยให้กำลังใจ โดยคุณครูบอกว่า “สิ่งประดิษฐ์คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของคนเราสะดวกสบายมากกว่าที่เป็นอยู่ นักประดิษฐ์จึงไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่สังเกตเก่งคือมองเห็นความไม่สะดวกสบายของผู้คนและคิดสร้างสิ่งของเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ถ้าคิดตั้งใจจริง หมั่นฝึกสังเกต คิดต้องเป็นนักประดิษฐ์ได้แน่ ๆ ครูเชื่ออย่างนั้น”

คำพูดของคุณครูทำให้คิดมีกำลังใจมากขึ้นเป็นร้อยเท่า  เมื่อคิดกลับถึงบ้าน เขาจึงเริ่มสังเกตว่าคนในบ้านมีความไม่สะดวกสบายอะไรในชีวิตบ้างไหม

คิดพยายามสังเกตแล้วสังเกตอีก  แต่ดูเหมือนว่าคนในบ้านทุกคนต่างมีความสุขกันดี (เพราะมีเครื่องอำนวยความสะดวกไว้ใช้เต็มไปหมด) ในขณะที่คิดเกือบจะเลิกการสังเกตอยู่แล้ว  จู่ ๆ คิดก็ได้ยินเสียงคุณแม่ร้องบอกให้ทุกคนช่วยกันหาไม้เท้าของคุณยายซึ่งคุณยายไม่รู้ว่าลืมไว้ที่ไหนในบ้าน

จริง ๆ แล้ว คุณยายลืมไม้เท้าทิ้งไว้ตรงนู้นตรงนี้แทบทุกวัน  บางครั้งก็หาง่าย บางครั้งก็หายาก  แม้เรื่องการลืมไม้เท้าจะเป็นเรื่องเล็ก  แต่ถ้าทุกคนไม่ต้องเสียเวลานาน ๆ ในการหาไม้เท้า ทุกคนก็คงจะ “สะดวกสบาย” มากขึ้น!

เมื่อนึกถึงคำว่า “สะดวกสบาย”  เด็กน้อยก็รู้ในทันทีว่าโอกาสแสดงฝีมือของเขาได้มาถึงแล้ว  

คิดตัดสินใจเริ่มต้นงานของเขาด้วยการนำข้าวของมาวางกอง ๆ ไว้  เขามองดูเชือก, หนังยาง, เทปกาว, ขวดน้ำ, โทรศัพท์มือถือเก่า ๆ, กล่องกระดาษ ฯลฯ  ซึ่งเป็นของเหลือใช้เท่าที่มีอยู่ในบ้าน  จากนั้น เขาก็พยายามคิดสร้างสิ่งประดิษฐ์จากสิ่งของเหล่านี้

เด็กน้อยคิด คิด…แล้วก็คิด  เขาใช้เวลาคิดอยู่พักใหญ่  ในที่สุด เขาก็คิดออก

คิดลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกในชีวิตของเขา ด้วยการนำเอาโทรศัพท์มือถือไปประกบกับไม้เท้าของคุณยายแล้วใช้เทปกาวพันจนแน่น  ครั้นเมื่อคุณยายลืมไม้เท้าอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น  แทนที่คิดจะเดินตามหาไม้เท้าอย่างที่คนอื่นทำ เขากลับโทรศัพท์ไปยังหมายเลขของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น คิดก็รู้ในทันทีว่าไม้เท้าของคุณยายอยู่ที่ไหน

การใช้ความคิดสร้างสิ่งประดิษฐ์อย่างง่าย ๆ ของคิดทำให้ทุกคนต่างทึ่งไปตาม ๆ กัน  เมื่อคิดนำเรื่องไปเล่าให้คุณครูฟัง คุณครูจึงขอให้คิดเขียนกระบวนการออกมาเป็นลำดับขั้นตอน แล้วคุณครูก็ส่งโครงงานที่ลูกศิษย์คิด เข้าร่วมประกวดในการแข่งขันนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋วระดับประเทศ!

สองเดือนผ่านไป  คณะกรรมการในงานประกวดซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสิ่งประดิษฐ์ได้ส่งจดหมายแจ้งผลให้ทางโรงเรียนทราบว่า  คิดซึ่งเป็นตัวแทนของโรงเรียนไม่ได้รับรางวัลที่ 1, ที่ 2 หรือที่ 3 จากการประกวด ทั้งยังไม่ได้รางวัลชมเชยใด ๆ อีกด้วย 

แต่ทางคณะกรรมการมีความเห็นว่า สิ่งประดิษฐ์ของคิดแสดงให้เห็นถึงความช่างสังเกตและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งของใกล้ตัวมาใช้ทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างน่าทึ่ง ทางคณะกรรมการจึงขอมอบรางวัลขวัญใจกรรมการให้แก่คิด และมอบสิทธิ์ให้เขาเข้าร่วมฝึกฝนความคิดกับกลุ่มนักประดิษฐ์มืออาชีพเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อทุกคนในโรงเรียนได้ทราบข่าว  ทุก ๆ คนก็ดีใจและปรบมือให้คิดจนดังสนั่นหวั่นไหวไปทั้งโรงเรียน  เพื่อน ๆ ที่เคยมองว่าคิดไม่เก่งก็เริ่มตระหนักว่า  ความเก่งมิได้วัดจากคะแนนสอบเท่านั้น  คนที่เรียนไม่เก่ง อาจมีความเก่งในด้านอื่น ๆ ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

คิดดีใจมากที่เขาได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองอย่างที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน  ส่วนคุณครูก็ดีใจไม่แพ้กันที่ลูกศิษย์ตัวน้อยได้ก้าวเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น….อีกหนึ่งก้าว

#นิทานนำบุญ


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.