Posted in ครอบครัว, นิทาน, เด็ก

วันเบิกบาน

นิทานเรื่อง “วันเบิกบาน” เป็นนิทานที่ผม (นำบุญ นามเป็นบุญ) แต่งในช่วงที่เพิ่งเรียนรู้ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ โดยได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์เอนก เตชวโร เจ้าอาวาสวัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่น เป็นพระอาจารย์ผู้คอยชี้แนะ

นิทานเรื่องนี้แต่งขึ้นจากความพยายามในการทำความเข้าใจเรื่อง “การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว” กับการทำให้ความทุกข์คลายลง ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อผมได้ฝึกการเจริญสติมากขึ้น ความเข้าใจในเรื่องนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

อย่างไรก็ตาม นิทานเรื่องนี้อาจมีประโยชน์ในการเป็นประตูบานแรก ที่จะนำพาเด็ก ๆ ไปรู้จักกับการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากหากได้เรียนรู้และฝึกฝนอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง

นิทานเรื่อง วันเบิกบาน

กาลครั้งหนึ่ง ณ ป่าแสนสุข มีลูกลิงช่างคิดตัวหนึ่งกับลูกนกอีกตัวหนึ่งเป็นเพื่อนรักกัน 

ลูกลิงมักใช้เวลาทั้งวันนั่งคิดนู่นคิดนี่ โดยเฉพาะการคิดเปรียบเทียบตัวเองกับสัตว์อื่น ๆ  ส่วนลูกนกมักใช้เวลาว่างขยับปีกเคลื่อนไหวเล่น ๆ เป็นจังหวะไปมาและมีสติอยู่กับปัจจุบันไม่คิดฟุ้งซ่านให้ปวดหัว

อยู่มาวันหนึ่ง  ลูกนกเห็นลูกลิงนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดดูไม่มีความสุขเลย  ลูกนกจึงบินเข้าไปถามไถ่ด้วยความเป็นห่วง

เมื่อลูกลิงเห็นลูกนกบินมาหา  ลูกลิงจึงระบายความอัดอั้นตันใจให้ลูกนกฟัง “คิด ๆ ดูแล้ว ฉันรู้สึกแย่จังเลยนะ ดูหน้าตาของฉันสิ ไม่เห็นน่ารักแบบสัตว์อื่น ๆ เลย  ฉันเกิดมาทำไมนะ ฉันช่างโชคร้ายเสียจริง ๆ” ลูกลิงรำพึง “ไม่ใช่แค่นี้นะ ดูขนของฉันสิ มันไม่อ่อนนุ่มปุกปุยแบบขนของสัตว์ที่น่ารักทั้งหลายเลย ฉันเกิดมาทำไมนะ ฉันช่างโชคร้ายเสียจริง ๆ”  ลูกลิงพูดพลางทำตาแดง ๆ เหมือนจะร้องไห้ “แต่ที่แย่ที่สุดนะ ลองดูก้นของฉันสิ  มันแดงแจ๋น่าเกลียดไม่เหมือนก้นของสัตว์อื่น ๆ เลย ฉันเกิดมาทำไมนะ ฉันช่างโชคร้ายเสียจริง ๆ”  ลูกลิงเริ่มน้ำตาไหลแล้วก็ร้องไห้โฮด้วยความทุกข์ที่เกิดจากความคิดของตัวเอง

ลูกนกสงสารลูกลิงที่หลงอยู่ในห้วงของความคิดโดยไม่รู้สึกตัวเลยว่า ในความเป็นจริงไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ

ลูกนกจึงตัดสินใจอาสาคลายทุกข์ให้ลูกลิงด้วยการชวนลูกลิงเล่นเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะตามที่ลูกนกขยับปีก โดยลูกนกรับประกันว่าลูกลิงจะสบายใจขึ้นแน่ ๆ ถ้าหากลองทำตามโดยรู้ตัวว่าตอนไหนมือกำลังเคลื่อนและตอนไหนที่มือหยุดนิ่ง 

ลูกลิงไม่เข้าใจว่าการเล่นเคลื่อนไหวมือจะช่วยให้มันหายเศร้าได้อย่างไร แต่อย่างน้อยการได้เล่นในเวลาที่ทุกข์ใจมาก ๆ ก็คงดีกว่าการปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉย ๆ  ด้วยเหตุนี้ ลูกลิงกับลูกนกจึงเริ่มเล่นเคลื่อนไหวมือด้วยกัน

เมื่อลูกนกเริ่มขยับปลายปีกแล้วหยุดคล้ายการพลิกมือ ลูกลิงก็พลิกมือตาม แล้วหยุดนิ่งอย่างมีสติรู้ตัว พอลูกนกยกปีกขึ้นแล้วหยุด ลูกลิงก็ยกมือขึ้นแล้วหยุดบ้าง ครั้นเมื่อลูกนกขยับปีกเปลี่ยนท่าเคลื่อนไหวต่อไปเป็นจังหวะ ลูกลิงก็ยกมือเคลื่อนไหวตามได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน  ลูกนกกับลูกลิงเล่นเคลื่อนไหวมือไปมาทีละท่า ๆ ตามจังหวะของตัวเอง จนเวลาผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมง จู่ ๆ ลูกลิงก็เกิดความรู้สึกบางอย่างสว่างวาบขึ้นในใจ!

ความรู้สึกของลูกลิงเป็นความรู้สึกที่โปร่งเบาเบิกบานแตกต่างจากช่วงเวลาก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด  เพราะตลอดเวลาที่ลูกลิงเล่นเคลื่อนไหวมือ สมองของลูกลิงที่เคยอัดแน่นไปด้วยความคิดแย่ ๆ ก็กลายเป็นสมองว่าง ๆ ที่เหลือเพียงแค่การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของมือเท่านั้น  ซึ่งเมื่อสมองปลอดโปร่ง ความทุกข์ก็ค่อย ๆ จางลง และลูกลิงก็กลับมาอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น

ในชีวิตจริง  ทุกคนมีทั้งจุดดีและจุดด้อย แค่เราพอใจในสิ่งที่เรามีเราเป็น ไม่ปล่อยให้ความคิดมาหลอกให้เราหลงอยากมีแบบคนอื่นหรืออยากเป็นแบบคนอื่น เพียงเท่านี้…ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น

ลูกลิงยิ้มกว้างแล้วบอกกับลูกนกว่า “ฉันเข้าใจแล้วล่ะ การเล่นเคลื่อนไหวมือแบบนี้ ทำให้สมองปลอดโปร่งและช่วยให้หัวใจของฉันเบิกบานเหมือนดอกไม้ที่บานรับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เลยนะ”

“นี่แหละ ความมหัศจรรย์ของการเล่นเคลื่อนไหวมือล่ะ เรามาเล่นด้วยกันทุก ๆ วันดีไหมจ๊ะ” ลูกนกชวน

“ได้สิ เล่นเคลื่อนไหวมือแบบนี้ดีกว่านั่งคิดอะไรเรื่อยเปื่อยจนปวดหัวเยอะเลยล่ะ” ลูกลิงตอบ

นับจากวันนั้น เพื่อนรักทั้งสองจึงเล่นเคลื่อนไหวมือด้วยกันทุกวัน ซึ่งทำให้ทั้งคู่มีสติและมีความสุขมากขึ้น ๆ จนใครต่อใครในป่าพากันมาขอเล่นด้วย  และในเวลาต่อมา การเล่นเคลื่อนไหวมือก็กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยม ณ ป่าแสนสุขที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต่างมีความสุขกันโดยถ้วนหน้า

#นิทานนำบุญ

—————————

หมายเหตุ :   

ผู้เขียนขอขอบพระคุณพระอาจารย์เอนก เตชวโร เจ้าอาวาสวัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่น ที่เมตตาแนะนำการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.