นิทานก่อนนอนเรื่อง “คำแนะนำของตลกหลวง” เป็นนิทานที่มีเนื้อหาน่าสนใจ คล้าย ๆ กับนิทานเรื่อง “หมู่บ้านย้อนเวลา” ข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้ หากนำมาใช้จริงก็อาจจะเกิดประโยชน์ได้ในวงกว้าง หรืออย่างน้อย แง่คิดในเรื่องความตั้งใจและการร่วมแรงร่วมใจที่มีพลังมากกว่าเงินจำนวนมาก ๆ ก็เป็นแง่มุมที่น่าสนใจสำหรับเด็ก หวังว่าผู้อ่านจะชอบนิทานเรื่องนี้กันนะครับ
นิทานเรื่อง คำแนะนำของตลกหลวง
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอาณาจักรแห่งหนึ่งปกครองโดยพระราชาผู้รักเด็กสุดหัวใจ
วันหนึ่ง พระราชาทรงทุบกระปุกออมสินของตนเอง แล้วนำเงินในกระปุกจำนวน 200 ล้านเหรียญทองไปปรึกษากับผู้คนในพระราชวัง เพื่อหาวิธีใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการนำไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ
หลังจากที่ข้าราชการได้ฟังความประสงค์ของพระราชา เหล่าข้าราชการจึงเสนอให้พระราชานำเงินทั้งหมดมาสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในเมืองหลวง เพราะเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร
แต่นักการเมืองเสนอว่า พระราชาควรแบ่งเงินให้แต่ละภูมิภาคเท่า ๆ กัน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็กในแต่ละภูมิภาค เพราะเด็ก ๆ จะไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายกว่า
ส่วนทหารเสนอว่า หากนำเงิน 200 ล้านเหรียญทองมาหารแบ่งตามจำนวนเมือง เพื่อให้แต่ละ เมืองสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็กของตนเอง แบบนี้น่าจะเกิดประโยชน์ทั่วถึงมากที่สุด
หลังจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เสนอความคิดเห็นจนครบถ้วน ตลกหลวงก็กล่าวว่า ” วิธีที่ทุกท่านเสนอล้วนน่าสนใจ แต่ข้าพเจ้าคิดว่ามันก็คล้าย ๆ กับโครงการอื่น ๆ คือ แนวคิดดูดี แต่พอลงมือทำทีไร สุดท้าย โครงการก็มักจะไม่สำเร็จ แล้วเงินก็ไม่รู้หายไปไหนหมด” ตลกหลวงยิ้มแล้วพูดต่อไปว่า “ในมุมมองของข้าพเจ้า ถ้าเราแบ่งเงินให้ทุกเมือง เมืองละ 1 ล้านเหรียญทอง เพื่อให้นำไปทำพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ ภายในเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด หากเมืองใดสร้างพื้นที่แห่งความสุขได้ดีที่สุดก็จะได้รับรางวัลอีก 100 ล้านเหรียญทอง แบบนี้รับรองว่า ทุกเมืองจะต้องมีพื้นที่แห่งความสุขชั้นยอดเกิดขึ้นแน่ๆ”
พระราชาทรงทึ่งกับข้อเสนอแนะที่ไม่เหมือนใครของตลกหลวง จริงดั่งที่ตลกหลวงพูด หลายโครงการที่มีการปรึกษาหารือกันเป็นอย่างดี แต่เมื่อลงมือทำ ผลที่ได้กลับมีเพียงความว่างเปล่า ด้วยเหตุนี้ พระราชาจึงตัดสินใจทำตามแนวความคิดของตลกหลวงทันที
แม้ผู้คนในพระราชวังจะไม่มั่นใจในความคิดอันแปลกประหลาดของตลกหลวง แต่ไม่มีใครกล้าคัดค้านการตัดสินใจของพระราชา ดังนั้น เมืองต่าง ๆ จึงได้รับเงินจากพระราชาในการสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็กเมืองละ 1 ล้านเหรียญทอง โดยมีเงินอีก 100 ล้านเหรียญทองเป็นรางวัลล่อใจ
เมื่อผู้คนในเมืองต่าง ๆ ได้ทราบถึงรางวัล 100 ล้านเหรียญทอง ชาวเมืองทุกคนจึงพร้อมใจกันสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็กที่ดีที่สุดเพื่อชิงรางวัลอันมีค่ามหาศาล ชาวเมืองทั้งหลายสร้างสรรค์พื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ ทั้งในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์, สวนสนุก, ห้องสมุด, สนามกีฬา ฯลฯ ซึ่งแต่ละเมืองก็พยายามสร้างจุดเด่นให้ตนเอง และสอบถามความชอบของเด็กเพื่อสร้างให้ถูกใจเด็ก ๆ มากที่สุด ที่สำคัญ เมื่อเงิน 1 ล้านเหรียญทองเริ่มร่อยหรอ ชาวเมืองทั้งหลายก็พร้อมใจกันนำเงินส่วนตัวมาสมทบเพื่อทำให้พื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ ในเมืองของตนมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หนึ่งปีผ่านไป เมืองทุก ๆ เมืองจึงมีพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ ที่โดดเด่นกันโดยถ้วนหน้า ครั้นเมื่อพระราชา พาตัวแทนชาวเมืองต่าง ๆ ไปดูพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ ทั่วทั้งอาณาจักรเพื่อลงคะแนนตัดสิน ทุกคนก็รู้สึกคล้าย ๆ กันว่า การตัดสินเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ เมื่อมีเงินทุนจำนวนหนึ่ง บวกเข้ากับการร่วมแรงร่วมใจกัน แม้เงินทุนอาจไม่มาก แต่พวกเขามั่นใจว่า พวกเขาจะต้องสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ให้แก่เมืองของตนเองได้อย่างแน่นอน
ครั้นเมื่อพระราชาขอให้ตัวแทนชาวเมืองตัดสินใจว่าควรมอบเงิน 100 ล้านเหรียญทองให้แก่เมืองใดดี ตัวแทนของชาวเมืองจึงกราบทูลพระราชาว่า “หากพระองค์ไม่ว่าอะไร พวกเราอยากแบ่งเงินรางวัลกันเมืองละ 1 ล้านเหรียญทอง เพื่อนำเงินไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับคนชราบ้าง เพราะพวกเราเชื่อว่า เมื่อเราสร้างสถานที่ดี ๆ สำหรับเด็กจากเงินเท่านี้ได้ เราก็ต้องสร้างสถานที่ดี ๆ สำหรับผู้สูงอายุได้เช่นกัน”
พระราชาทรงยิ้มเมื่อได้ฟังคำขอจากตัวแทนของชาวเมือง เมื่อชาวเมืองเชื่อในพลังของตนเอง พระองค์จึงไม่มีเหตุผลที่จะคัดค้าน
หนึ่งปีหลังจากนั้น ชาวเมืองก็สร้างสิ่งที่พวกเขาตั้งใจได้สำเร็จ. ส่วนพระราชาก็ทรงปูนบำเหน็จให้แก่ตลกหลวงที่เสนอแนะวิธีที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้พื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็ก ๆ ทั่วทั้งอาณาจักรแล้ว ยังได้พื้นที่แห่งความสุขสำหรับผู้สูงอายุ และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้คนในอาณาจักรได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
#นิทานนำบุญ
